Skip to main content

 

ไอเอสเข้าไทย ความเสี่ยง และการตั้งฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ตอน 1)

 

ดร.มาโนชญ์ อารีย์

ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

เมื่อวันก่อนมีโอกาสให้สัมภาษณ์โทรทัศน์รายการหนึ่งช่อง TV24 ในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์การหลบหนีของสมาชิกกลุ่มไอเอสจากมาเลเซียเข้าไทย เนื้อหาของการสนทนาหลัก ๆ มุ่งวิเคราะห์ความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ไอเอสจะเข้ามาปฏิบัติการณ์ในไทย รวมทั้งการจะมาตั้งฐานตั้งสาขาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผมเห็นว่าเป็นประเด็นนี้หลายท่านสนใจจึงอยากจะนำมาสรุปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เริ่มจากประเด็นแรกคือข่าวที่ไอเอสหลบหนีเข้าไทยจากฝั่งมาเลเซีย หลังจากที่ถูกทางการมาเลเซียพยายามติดตามไล่ล่าอย่างหนัก 
ไอเอสเข้าไทยและความเป็นไปได้ในการก่อเกตุเหตุรุนแรง

อันที่จริงก็ไม่เฉพาะไทยเท่านั้นที่กำลังเจอปัญหาในลักษณะนี้ ประเทศอื่น ๆ ก็กำลังเฝ้าระวังการแฝงตัวเล็ดรอดเข้ามาของกลุ่มไอเอสที่อยู่ในช่วงแตกกระสายซานซ่านเซ็นเพราะเสียพื้นที่ครอบครองหรือที่มั่นไปหลายแห่งทั้งในในอิรักและซีเรีย พลเมืองที่ไปร่วมรบกับไอเอสจากหลายประเทศ บางส่วนต้องทยอยกลับมาตุภูมิและอาจกลับมาก่อเหตุในประเทศของตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายความมั่นคงของประเทศนั้น ๆ ต้องติดตามไล่ล่ากลุ่มเหล่านี้อย่างหนัก รวมทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ไทยได้รับการแจ้งเตือนจากมิตรประเทศเป็นระยะ ๆ เกี่ยวกับการเดินทางเข้ามาของสมาชิกไอเอส ไม่ว่าจะเป็นการเตือนจากสหรัฐอเมริกา รัสเซีย ออสเตียเรีย และในทางลับอาจมีการประสานกับหน่วยข่าวกรองระหว่างประเทศโดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย แต่ที่ผ่านมายังไม่ปรากฏว่ามีไอเอสเข้ามาก่อเหตุในประเทศไทย เพราะฉะนั้นอาจเป็นการเข้ามาเพื่อใช้ไทยเป็นทางผ่าน หรือเป็นสถานที่วางแผนและกบดาน หรือใช้เพื่อการพักผ่อน 
จนกระทั่งล่าสุดมีการนำเสนอโดยสื่อต่างประเทศว่าสมาชิกกลุ่มไอเอสจากมาเลเซียบางส่วนได้หลบหนีเข้าไทยพร้อมอาวุธในระหว่างการปฏิบัติการไล่ล่าของทางการมาเลเซีย อย่างไรก็ตามแม้จะยังไม่สามารถยืนยันได้ถึงรายละเอียดข้อเท็จจริงตามการรายงานของสื่อ แต่ก็ทำให้เกิดความกังวลว่าไอเอสที่เข้ามาในไทยไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ใดจะก่อเหตุรุนแรงในประเทศของเราหรือไม่

หากย้อนมองปฏิบัติการที่ผ่านมาของไอเอสในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการก่อเหตุในยุโรป อเมริกา เอเชียใต้ หรือแม้แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยส่วนใหญ่ไอเอสจะใช้พลเมืองหรือสมาชิกของตัวเองที่อาศัยหรือเติบโตมาภายในสังคมของประเทศนั้น ๆ เป็นผู้ลงมือก่อเหตุหรือที่ภาษาทางการเรียกว่า homegrown terrorist ตัวอย่างหลายเหตุการณ์ในยุโรปและอเมริกาก็จะเป็นฝีมือของมุสลิมที่อาศัยอยู่ที่นั่น หรือกรณีการโจมตีกลางกรุงจากาตาร์ประเทศอินโดนีเซียเมื่อต้นปี 2015 ก็เป็นคนอินโดนีเซีย เราจะไม่ค่อยเห็นการปฏิบัติการของคนนอกพื้นที่ ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะข้อจำกัดเรื่องความสะดวก ความชำนาญพื้นที่ การวางแผน และประสานงานเครือข่ายง่ายกว่า โดยข้อสังเกตสำคัญคือจะใช้สมาชิกหรือเครือข่ายของสมาชิกในประเทศนั้น ๆ ที่เคยไปร่วมรบในอิรักและซีเรีย เช่น กรณีมือระเบิดรถไฟใต้ดินที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของรัสเซียก็มีความเกี่ยวข้องกับไอเอสและถือสัญชาติรัสเซีย อีกกรณีหนึ่งคือเมื่อต้นปีที่ผ่านมาไอเอสประกาศขู่ส่งนักรบชาวอุยกูร์กลับไปปฏิบัติการโจมตีในจีน เป็นต้น

ดังนั้น ในแง่ของการลงมือก่อเหตุ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่ ซึ่งเคยไปร่วมรบกับไอเอสในตะวันออกกลางแล้วกลับมาก่อเหตุในบ้านเกิดของตัวเอง แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่ปรากฎว่ามีคนไทยไปร่วมกับไอเอส หากมองในแง่นี้แม้ว่าข่าวการเข้ามาของไอเอสจะเป็นความจริงก็ไม่น่าที่จะมีจุดมุ่งหมายในการก่อเหตุในประเทศไทย โดยเฉพาะประเทศไทยไม่ใช่เป้าหมายโดยตรงของกลุ่มไอเอส ยกเว้นเสียแต่ว่ามีเงื่อนไขใหม่ที่ทำให้ไอเอสต้องปรับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีใหม่ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของสมาชิกไอเอสหรือแนวคิดนิยมไอเอสย่อมเป็นภัยคุกคามที่ต้องหาทางป้องกันและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ไม่ควรประมาทหรือชะล่าใจว่าเราไม่ใช่เป้าหมายโดยตรงของไอเอส

ไทยกับระดับความเสี่ยงของการตกเป็นเป้าของการโจมตี

จากสถานการณ์การก่อการร้ายที่ซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้หลายประเทศทั่วทุกมุมโลกต่างก็ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่เป็นเป้าหมายของการโจมตี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลุ่มก่อการร้ายอย่างไอเอสสามารถใช้ช่องทางเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่เพื่อการส่งผ่านอุดมการณ์ความคิดสุดโต่งไปยังกลุ่มคนหรือเยาวชนได้อย่างรวดเร็วและเข้าถึง สามารถสร้างแนวร่วมหรือดึงคนไปร่วมรบกับพวกเขาได้ระดับหนึ่ง เมื่อใดที่ไอเอสเรียกร้องให้แนวร่วมสมาชิกของตัวเองที่เคลื่อนไหวอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ก่อเหตุรุนแรงก็จะมีสมาชิกหรือแนวร่วมทั้งที่สังกัดและไม่สังกัดกลุ่มไอเอสก่อเหตุตามคำเรียกร้องนั้น ทำให้หลายประเทศต่างมีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเป้าหมายของการโจมตี เพียงแต่ว่าจะอยู่ในระดับความเสี่ยงมากน้อยเพียงใดเท่านั่นเอง

หากลองพิจารณาความเสี่ยงของกลุ่มประเทศต่าง ๆ ที่จะตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายไอเอส อาจแยกออกเป็นรายกลุ่มตามระดับความเสี่ยงได้ ดังนี้

1. กลุ่มประเทศมุสลิมในตะวันออกกลาง เพราะมีที่ตั้งอยู่ในขอบเขตพื้นที่ซึ่งไอเอสต้องการสถาปนาอำนาจของตนเองขึ้นมาเป็นรัฐอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศซีเรียและอิรัก แต่ที่ระบุว่าเฉพาะกลุ่มประเทศมุสลิมในตะวันออกกลาง ไม่รวมอิสราเอลเพราะไอเอสไม่เคยแสดงท่าทีคุมคามอิสราเอลหรือแม้กระทั้ง Moshe Ya’a lon อดีตรัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอลเคยพูดว่า เมื่อไม่นานมานี้กลุ่มไอเอสได้ขอโทษอิสราเอลที่โจมตีทหารซึ่งประจำการอยู่บริเวณเทือกเขาโกลาน โดยบอกว่าเป็นการการโจมตีที่ผิดพลาด (ไม่มีเจตนาโจมตีทหารอิสราเอล) กลุ่มประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดด้วยเหตุผลในเชิงพื้นที่

2. กลุ่มประเทศมหาอำนาจที่เข้าไปมีบทบาทและปฏิบัติการทางทหารในตะวันออกกลาง กลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงรองลงมา เพราะไปมีบทบาทโดยตรงในตะวันออกกลางทั้งการแทรกแซงทางการเมืองและการถล่มโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มไอเอส เข้าสนับสนุน ติดอาวุธบ้างกลุ่มและต่อต้านบ้างกลุ่มในลักษณะสงครามตัวแทน กลุ่มไอเอสจึงพยายามตอบโต้ด้วยการโจมตีในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เบลเยื่ยม และประเทศยุโรปอื่น ๆ

3. กลุ่มประเทศที่มีพลเมืองไปร่วมรบกับไอเอสในตะวันออกกลาง แล้วกลับมาก่อเหตุในบ้านเกิดหรือประเทศที่ตัวเองถือสัญชาติอยู่ ประเทศในกลุ่มเสี่ยงนี้มีอยู่ทุกภูมิภาคเพราะมีพลเมืองจากหลายสัญชาติไปร่วมกับไอเอส ไม่ว่าจะเป็นจากอัฟกานิสถานและปากีสถานในเอเชียใต้ หลายประเทศจากเอเชียกลาง ยุโรป สหรัฐอเมริกา รัสเซียและจีน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

4. กลุ่มประเทศที่ไม่มีบทบาทหรือความเกี่ยวข้องกับปัญหาในตะวันออกกลาง ทั้งนี้แม้หลายประเทศจะไม่มีความเกี่ยวข้องในทางตรงกับปัญหาในตะวันออกกลางและไม่ได้เป็นเป้าหมายโดยตรงของกลุ่มไอเอสเหมือนกับ 3 กลุ่มแรก แต่ด้วยกับการส่งผ่านความคิดสุดโต่งทางสื่อสังคมออนไลน์ที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่าย อาจทำให้บ้างกลุ่มคล้อยตาม และก่อเหตุโจมตีสัญลักษณ์หรือผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือบุคคลสำคัญ ๆ ของประเทศมหาอำนาจคู่ขัดแย้งโดยตรงในปัญหาการเมืองและการก่อการร้ายในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับทั้ง 3 กลุ่มประเทศอื่นที่กล่าวมา

ประเทศไทยจึงจัดอยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงน้อยที่สุด แต่ก็ควรมีมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มงวดและมียุทธศาสตร์ระยะยาวในการป้องกันการแทรกซึมเข้ามากลุ่มก่อการร้ายจากภายนอก โดยเฉพาะการแพร่กระจายแนวคิดสุดโต่งของกลุ่มไอเอส