Skip to main content

 

เรื่องเล่าจากคนปาตานีรุ่นแรกในเนเธอแลนด์

ทุกครั้งที่ผมไปต่างแดนสิ่งหนึ่งที่ผมชอบทำคือการติดต่อเข้าไปหาคนจากบ้านเดียวกัน ที่เข้ามาเรียนหนังสือหรือทำมาหากินต่างแดน เรื่องราวแบบนี้หาคนเล่ายาก การใช้ชีวิตต่างแดนนานๆ มันทำให้เขามีเรื่องราวของดินแดนที่เขาอยู่เล่าผ่านแว่นของคนบ้านเดียวกันได้สนุกยิ่งนัก

 

ผมได้ช่องทางติดต่อ แบซอฟี จากอดีตนักศึกษาไทยปาตานีที่มาศึกษาที่เนเธอแลนด์มาโดยบังเอิญ จัดการติดต่อนัดหมายเพื่อพบกัน แต่ปัญหาก็มากหลาย เพราะเมืองที่แบเขาอยู่ห่างจากเมืองผม 90 กม. ผมเลิกทำงาน 5 โมงเย็น เวลาละศีลอดคือ 4 ทุ่ม แล้วต้องกลับมาคืนนั้นเลย เลยต้องจัดสรรเวลาช่วงสั้นให้คุ้มค่าที่สุด ดีที่ระบบรถไฟระหว่างเมืองของประเทศนี้ดีมาก มีรถไฟวิ่งแทบทุก 10 นาทีในช่วงก่อนเที่ยงคืน

แบซอฟีเป็นอดีตนักศึกษาไทยในอิรัก เมื่อสักประมาณ 34 ปีที่แล้วในยุคสมัยที่สัดดัม ฮูเซ็น ปกครองประเทศ ในยุคสมัยนั้นปัญญาชนมุสลิมจากปาตานี หรือสามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมแล้วนิยมออกไปศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยมีประเทศหลักๆคือ อิยิปต์ ปากีสถาน ซาอุดิอาระเบีย ส่วนประเทศอาหรับอื่นๆมีอีกหลายประเทศ ทั้งคูเวต อิรัก ซีเรีย จอร์แดน ลิเบีย โมรอคโค

สถานะของปาตานีในสายตาของชาติอาหรับมุสลิมในสมัยนั้น จะเป็นในลักษณะของกลุ่มชนมุสลิมส่วนน้อยที่ถูกรัฐบาลกลางกดขี่ ผู้นำชาติอาหรับสมัยนั้นซึ่งมีแนวคิดชาตินิยม หรือศาสนานิยมจึงอุปถัมภ์และจัดทุนการศึกษาให้นักศึกษาจากปาตานีจำนวนมาก

นักศึกษาตะวันออกกลางในสมัยนั้นอยู่ดีกินดีพอสมควร รายได้จากทุนการศึกษาดีกว่าคนทำงานออฟฟิซในกรุงเทพสมัยเดียวกันเสียอีก อยู่ในมหาวิทยาลัยมีสวัสดิการทุกอย่างฟรี ผู้นำชาติอาหรับในสมัยที่ราคาน้ำมันทะยานขึ้นสุดๆก็จัดสวัสดิการทุกอย่างให้ประชาชนฟรีเช่นกัน น้ำ ไฟฟ้า รถสาธารณะ ฟรีหมด

พอมีเงินออมบ้างนักศึกษาบางคนจึงใช้เวลาว่างช่วงหน้าร้อน สามสี่เดือนในการท่องเที่ยวยุโรป บางคนก็ไปทำงาน ประเทศที่เลือกไปมากที่สุดก็จะเป็นประเทศเยอรมัน สมัยนั้นยังไม่ต้องขอวีซ่า เลยไปกันมากพอควร

บางคนจบมาก็ขอไปเสี่ยงดวงที่ยุโรป ก่อนกลับบ้าน ทำงานรับจ้างตามร้านอาหาร เพราะงานในไทยสำหรับคนเรียนตะวันออกกลางหายากมาก กระทรวงศึกษาก็ไม่รับรองวุฒิ สมองไหลไปต่างประเทศจำนวนไม่น้อยเลย คนที่ไปอยู่ยุโรป่นาน ส่วนมากก็แต่งงานกับสาวปาตานีแล้วพาครอบครัวมาตั้งรกรากที่นี่เลย

แบเฟเป็นคนที่สองหรือสามที่มาเนเธอแลนด์ ตอนนี้นับแล้วสี่ครอบครัวในฮอลแลนด์ มาแรกๆก็มาทำงาน สักพักก็ลองไปสมัครเรียนปริญญาโทที่ University of Leiden ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ

วิทยาการการสะสมความรู้ของเนเธอแลนด์คงคล้ายกับชาติยุโรปอื่นๆ ที่พอผ่านช่วงแสงสว่างทางปัญญาแล้ว ก็มาค้นคว้าจัดการองค์ความรู้ทุกอย่างอย่างเป็นระบบ เช่นหากพวกเขาศึกษาศาสนาอิสลามแล้ว ความแตกฉานในความรู้จะอยู่ในระดับอุลามาอ์เพียงแต่ไม่ได้ศรัทธาในศาสนา เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Orientalist หรือนักบูรพาคดี

ความแตกฉานในความรู้เฉพาะของคนเหล่านี้ทำให้เขาขยายอาณานิคมได้กว้าง แม้ว่าดินแดนแม่จะเล็กนิดเดียว

Christiaan Snouck Hurgronje คือหนึ่งในนักบูรพาคดีที่โด่งดังที่สุด อยู่ในช่วงปลาย คศ. 1800 ถึงต้นคศ. 1900 เป็นศาสตราจารย์ด้านอิสลามและอาหรับ ศึกษาและเป็นศาสตราจารย์ต่อจากมหาวิทยาลัยเดียวกันคือ University of Leiden ทำวิทยานิพนธ์เรื่องฮัจญ์ เป็นคนยุโรปคนแรกๆที่ได้เข้าไปในพิธีฮัจญ์ด้วยการแกล้งทำเป็นรับอิสลาม ความเชี่ยวชาญของเขาถูกใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการอาณานิคมที่ใหญ่ที่สุดของดัตช์อย่างอินโดนีเซีย ซึ่ง Hurgronje เขียนบทความแนะนำบริษัทอีสต์ดัตช์ในการเข้าตีเมืองต่างๆ รวมถึงเป็นส่วนสำคัญในการเอาชนะศึกกับอาเจะดินแดนที่เคร่งครัดในศาสนาอิสลามที่สุด ที่ใช้เวลารบกันนานถึง 40 คร่าชีวิตคนนับแสน

การครองอาณานิคมชวาทำให้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชาติพันธ์มาลายา จาวาและอิสลาม ถูกรวบรวมไว้ใน Leiden library จำนวนมากและเป็นแหล่งค้นคว้าที่สำคัญของนักประวัติศาสตร์ ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมามีนักวิชาการไทยมลายูหลายคนที่วนเวียนเข้ามาศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลจากที่นี่

 

การรวบรวมองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ และจัดการองค์ความรู้ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่คนที่เขาจัดการได้ ก็ใช้วิชาตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งในการครอบครองดินแดนที่ใหญ่กว่าประเทศตัวเองเป็นพันเท่าประชากรมากกว่าเป็นร้อยเท่าได้

 

 

รูปที่ 1 Christiaan Snouck Hurgronje

นักบูรพาคดีที่แกล้งรับอิสลามเปลี่ยนชื่อเป็น อับดุลฆอฟฟาร เพื่อเข้าไปทำฮัจญ์ สุดท้ายมาเป็นที่ปรึกษาให้ข้อมูลในการยึดครองชวา

 

รูปที่ 2 Leiden University