Skip to main content

“บัยตุลฮิกมะฮฺ” ศูนย์รวมปราชญ์แห่งโลกอิสลาม ตอนที่ 1

 

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

 

 

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเรื่องของการเหยียบบ่าต่อยอด คำๆนี้เป็นคำพังเพยมาจากภาษากรีกที่ว่า nanos gigantum humeris insidentes แปลว่าคนแคระเหยียบบ่ายักษ์ อยากมองเห็นไกล เดินทางไปได้เร็ว หากเป็นคนแคระต้องใช้วิธีเหยียบบ่ายักษ์ ยิ่งยักษ์ตัวใหญ่เท่าไหร่ คนแคระบนบ่าก็ยิ่งมองเห็นได้ไกลและยิ่งเดินทางไปได้เร็วเท่านั้น ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็เป็นเช่นเดียวกัน ว่ากันว่าเทคโนโลยีในโลกวันนี้พัฒนาก้าวหน้าไปมากก็เพราะต่อยอดมาจากยุคความเรืองรองทางปัญญา (Enlightenment) ที่เกิดขึ้นในยุโรปเมื่อสองร้อยปีมาแล้ว ความรุ่งเรืองทางปัญญาที่เกิดขึ้นในยุโรปที่ว่านั้นต่อยอดมาจากศิลปวิทยาการที่พัฒนาขึ้นในโลกอิสลามยุคก่อนหน้านั้นเช่นเดียวกัน

โลกอิสลามในยุคที่เรียกว่ายุคทองของอิสลามเกิดขึ้นในช่วงคริสตศตวรรษที่ 9-16 มีศูนย์กลางอยู่ที่นครแบกแดด และความรุ่งเรืองของแบกแดดเองต่อยอดมาจากโลกอิสลามที่มีศูนย์กลางอยู่ที่นครดามัสกัส ทั้งแบกแดดทั้งดามัสกัสในวันนี้ถูกหลายมหาอำนาจตะวันตกช่วยกันบดจนเป็นผงด้วยฤทธิ์ของสงครามกลางเมืองโดยการยุยงสนับสนุนให้พี่น้องเข่นฆ่ากันเอง ไม่รู้ว่าเป็นความจงใจเพื่อให้โลกอิสลามลืมเลือนประวัติศาสตร์ยุคทองของตนเองหรืออย่างไร

ความเรืองรองทางปัญญาของนครแบกแดดในคริสตศตรวรรษที่ 9 ที่ต่อเนื่องไปจนถึงการล่มสลายกลางคริสต์ศตวรรษที่ 13 คือ ค.ศ. 1258 จากการทำลายของกองทัพม้ามองโกลภายใต้การนำของฮูลากูข่าน คร่าชีวิตผู้คนในนครแห่งนั้นไปไม่น้อยกว่า 800,000 คนบ้างก็ว่าล้านคน ทว่าความรุ่งเรืองในโลกอิสลามยังคงดำรงอยู่และสืบเนื่องไปจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 เพื่อให้ชาวยุโรปได้เหยียบบ่าต่อยอด ความเรืองรองที่เริ่มต้นจริงจังในยุคศตวรรษที่ 9 เกิดขึ้นด้วยวิสัยทัศน์ของคอลีฟะฮฺในราชวงศ์อับบาสิยะฮฺองค์หนึ่งที่มีพระนามว่า “อัลมะอฺมูน” ในยุคของพระองค์ลากยาวไปจนถึงยุคหลังจากนั้น โลกอิสลามสร้างนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นมากมายพัฒนางานด้านดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ เลขาคณิต ตรีโกณมิติ ทิ้งไว้ให้โลกจนนับไม่ถ้วน หากจะชื่นชมใครสักคน อัลมะอฺมูนในฐานะคอลีฟะฮฺผู้ปกครองนี่แหละควรได้รับการยกย่อง

อัลมะอฺมูน (المأمون) มีพระนามเต็มว่าอบูญะฟัร อับดุลเลาะฮฺ อัลมะอฺมูน อิบนฺ ฮารูน อัรรอซิด เป็นโอรสของคอลีฟะฮฺฮารูน อัรรอซิด ประสูติใน ค.ศ.786 ครองราชย์ต่อจากพระเชษฐาหรือพี่ชายใน ค.ศ.813 จนถึง ค.ศ.833 สร้างจักรวรรดิได้ยี่สิบปีอันเป็นช่วงเวลาที่โลกอิสลามในยุคนั้นและยุคหลังจากนั้นเรืองรองไปด้วยศิลปวิทยาการแขนงต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความก้าวหน้าเช่นนี้หากไม่ได้ผู้ปกครองที่มีวิสัยทัศน์ก็ย่อมไม่มีทางที่จะสร้างอาณาจักรให้รุ่งเรืองขึ้นมาได้

ช้างเผือกเกิดในป่าตายในป่าไม่เคยมีใครได้เห็นคุณค่าของช้างเผือกเหล่านั้น ต่อเมื่อได้ผู้ปกครองหรือกษัตริย์ที่ทรงมีวิสัยทัศน์ยาวไกลช้างเผือกเหล่านั้นจึงถูกนำออกจากป่ามาสร้างคุณค่าให้สังคมได้สัมผัส ฉันใดฉันนั้น นักปราชญ์ด้านวิทยาศาสตร์จากโลกอิสลามที่มีชื่อก้องโลกอย่างอัลควาริซมียฺ, อัลกินดียฺ, อัลบัตตานียฺ, ซาบิต อิบนฺ ฆุรเราะฮฺ, อัลบีรูนียฺ และอีกมากมายคงเป็นได้แค่ช้างเผือกที่เกิดในป่าและตายในป่าหากคอลีฟะฮฺอัลมะอฺมูนไม่ทรงสร้างศูนย์รวมนักปราชญ์อย่าง “บัยตุลฮิกมะฮฺ” (بيت الحكمة‎‎) หรือบ้านแห่งปัญญาขึ้นและเชิญชวนบรรดาช้างเผือกเหล่านั้นให้ออกจากป่ามาร่วมกันรังสรรค์งาน ภายหลังจากนั้นโลกทางวิทยาการจึงเกิดความรุ่งเรืองกระทั่งสร้างยุคแห่งความเรืองรองทางปัญญาให้กับโลกอิสลามและกับโลกโดยรวม จึงควรค่าหากจะสรรเสริญพระวิสัยทัศน์แห่งคอลีฟะฮฺอัลมะอฺมูนพระองค์นี้