Skip to main content

รอฮานี จือนารา

ผู้ปฏิบัติงานศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ม.อ.ปัตตานี

 

อ่าน  - องค์กรภาคประชาสังคมในรัฐมอนแทน่า ประเทศอเมริกา (ตอนที่ 1) : การบริจาคคือการลงทุนที่สำคัญยิ่ง 

         - องค์กรภาคประชาสังคมในรัฐมอนแทน่า ประเทศอเมริกา (ตอนที่ 2 ) : เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ และสร้างอาสาสมัคร

        -  องค์กรภาคประชาสังคมในรัฐมอนแทน่า ประเทศอเมริกา (ตอนที่ 3 ) : เรียนรู้วัฒนธรรมผ่านครอบครัวในชุมชน (Host Family)

 

Montana Innocent Project (MTIP)  เป็นองค์กรที่ดิฉันได้ไปฝึกงานผ่านโครงการ YSEALI 2017 โดยใช้เวลาทั้งหมด 3 สัปดาห์  MTIP เป็นองค์กรที่ช่วยผู้ต้องขังที่ถูกกล่าวว่าเป็นผู้กระทำผิด หรือเรียกง่ายๆ ว่า ช่วยเหลือผู้ต้องขังที่เป็นแพะ  MTIP ก่อตั้งเมื่อปี 2008 (อ่านประวัติองค์กรเพิ่มเติม)  โดยสำนักงานตั้งอยู่ที่คณะกฎหมาย (Law school) ของมหาวิทยาลัยมอนแทน่า เป็นองค์กรเอกชนที่ได้รับงบประมาณหลักจากการบริจาคของชุมชน องค์กรดังกล่าวนี้จะประกอบด้วย ทนายความ สื่อซึ่งเป็นผู้ดูแลเพจและคอยส่งอีเมลล์ โดยเพจและอีเมลล์จะเกี่ยวข้องกับการหาทุนให้กับองค์กร  และมีทีมวิจัย

ระบบการคัดเลือก

อย่างไรก็ตามการคัดเลือกของ MTIP ในการค้นหาผู้ต้องหาที่จะว่าความ มีขั้นตอนการสกรีนก่อน โดยจะให้แต่ละคนที่สนใจเข้าร่วมโครงการได้กรอกใบสมัครให้ครบถ้วน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น หากทาง MTIP พิจารณาว่าผู้สมัครไม่ได้เป็นผู้บริสุทธิ์จริงก็จะส่งจดหมายเพื่อตอบปฏิเสธ และหากพบว่าผู้สมัครเป็นผู้บริสุทธิ์จริงหรือคดีมีความพิรุธก็จะส่งจดหมายตอบกลับ และส่งเจ้าหน้าที่ไปสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าตัวหรือครอบครัว และระหว่างนั้นก็จะทำการอนุญาตให้ถอนทนายความคนเก่า และมีเอกสารเพื่อขออนุญาตสอบถามข้อมูลอีกด้วย จะเห็นได้ว่า องค์กรของเขาทำงานค่อนข้างมีระบบมากๆ

ช่วงระหว่างที่ได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้องค์กรดังกล่าวนี้นอกจากเขาจะจัดให้พูดคุยกับคณะทำงานของเขาแล้ว เขายังได้พาเครือข่ายของเขามานั่งคุย และที่น่าตื่นเต้นคือ เขาได้พาไปพบปะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้พิพากษา  เจ้าหน้าที่ในเรือนจำ แล็บชันสูตรหลักฐาน  (Crime Lab) และได้สังเกตการว่าความในศาลระดับเทศบาลด้วย (Municipal Court) นอกจากนั้นเรายังได้มีโอกาสพูดคุยกับอดีตผู้ต้องหาที่ทาง MTIP ได้ต่อสู้จนได้ชัยชนะอีกด้วย

ระบบศาลยุติธรรม

หลายสิ่งหลายอย่างก็แตกต่างจากบ้านเรา ขอเล่าสิ่งที่ประทับใจก่อน เราได้มีโอกาสไปพูดคุยกับผู้พิพากษา  ในระดับรัฐด้วย ขอบอกก่อนว่า ตามระบบของอเมริกานั้น  ในแต่ละรัฐนั้นจะมีศาลทั้งหมด เป็นสามศาลคือ ศาลระดับเทศบาล ศาลระดับมลรัฐ(ระดับท้องถิ่น)  และศาลระดับสหพันธรัฐ (ส่วนกลาง) และที่น่าแปลกคือ ผู้พิพากษาจะได้รับการแต่งตั้งจากนักการเมืองในพื้นที่  ผู้พิพากษาที่เราเจอนั้นก็มีบุคลิกการแต่งกายเหมือนคุณหญิงบ้านเรา แต่ท่านก็คุยค่อนข้างเป็นกันเอง โดยเฉพาะตอนที่ท่านว่าความบนศาล และอีกเรื่องที่น่าทึ่งคือ ตอนไปสังเกตการณ์การว่าความบนศาลเทศบาล เห็นการแต่งกายของผู้ที่ไปขึ้นศาลนั้น  แต่งตัวแบบสบายๆ มาก บางคนสวมเสื้อกล้ามไป บางคนก็สวมเสื้อที่เพิ่งออกจากทำงาน(น่าจะทำงานในอู่ซ่อมรถ)  บางคนใส่เสื้อที่มีข้อความบนเสื้อที่ไม่ค่อยสุภาพเอาเสียเลย ซึ่งทุกคนก็ไม่ได้แคร์กับการแต่งกาย แตกต่างกับบ้านเรามากที่ต้องแต่งกายเรียบร้อย  สิ่งเหล่านี้ได้เรียนรู้ว่า คนที่นี่ไม่ได้ให้คุณค่ากับสิ่งภายนอกมากเกินไป และที่น่าแปลกคือ ที่นั่งของผู้พิพากษานั้นไม่ได้สูงเหมือนบ้านเราคะ และหากผู้ต้องขังคนใดไม่อยากมาที่ศาลก็สามารถวิดีคอนเฟอเร็นซ์ก็ได้

Crime Lab

ที่นี่มีสำนักงานแล็บชันสูตรหลักฐานคดีอาชญากรรมเฉพาะ  ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรม ทั้งนี้หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ หรือทนายความ มีหลักฐานที่ต้องการพิสูจน์ ก็จะส่งหลักฐานมาให้ทางแล็บช่วยชันสูตร หรือวิเคราะห์ให้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ต้องการรู้ตัว DNA แต่สิ่งที่เขาประสบขณะนี้คือ มีหลายเคสมากที่ถูกส่งไปให้ชันสูตร ในขณะที่เจ้าหน้าที่แต่ละแผนกนั้นมีไม่กี่คน ซึ่งทางองค์กรก็กำลังปรับและพัฒนาอยู่ แต่ก็ทำให้การชันสูตรหลักฐานรวดเร็วกว่าเดิม

สำหรับเรือนจำ จะมีระบบการควบคุมที่แน่นหนามาก ประตูเข้าออกทุกบานจะถูกควบคุมในรูปแบบอัตโนมัติ โดยจะมีผู้ควบคุมดูแลในการเปิดปิด หากจะหลบหนีเหมือนที่เราดูในหนังดูท่าจะยากมากๆ และเมื่อได้เข้าไปดูข้างในที่ผู้ต้องขังอาศัยอยู่นั้นค่อนข้างอึดอัด คือ ไม่มีเอาท์ดอร์เหมือนบ้านเรา (มีที่หายใจบ้าง)  อาคารจะประกอบด้วยสองชั้น ข้างบนเป็นห้องนอน และข้างล่างก็เป็นสนามโล่ง เป็นที่นั่งคุย หรือเล่นกีฬา บางคนก็ออกกำลังกายโดยขึ้นลงบันได ในนั้นก็จะมีตู้โทรศัพท์ด้วย เจ้าหน้าที่ควบคุมก็จะอยู่ข้างนอกโดยมีกระจกปิดกั้น

การเลือกปฏิบัติยังคงมีอยู่

เท่าที่ไปสังเกตการณ์ก็มีผู้ต้องขังที่เป็นทั้งที่เป็นคนผิวดำและผิวขาว แต่จากงานวิจัยของทีม MTIP พบว่า ความยุติธรรมในประเทศอเมริกายังมีการเลือกปฏิบัติ คนผิวดำยังคงติดอันดับมากที่สุดที่อยู่ในเรือนจำ จากสถิติเมื่อปี 2008 ผู้ต้องขังในอเมริกาที่เป็นคนผิวดำมีทั้งหมด 3,200 คนต่อประชากร 100,000 คน และมีชาวเสปน 1,300 คน ต่อประชากร 100,000 คน และน้อยที่สุดคือ คนผิวขาวมีเพียงแค่ 500 คนต่อประชากร 100,000 คน   นักวิจัยบอกว่า คนผิวดำมักจะถูกจับตามอง หรือมักเป็นผู้ต้องสงสัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งระบบกฎหมายของอเมริกาก็เหมือนบ้านเรา เป็นระบบกล่าวหา ดังนั้นหากเจ้าหน้าที่สงสัยใครแล้วก็สามารถเรียกไปสอบปากคำได้

แม้พิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ไม่มีค่าชดเชย

มีเคสหนึ่ง เป็นชายหนุ่ม โคดี มาเบล วัย 32 ปี เขาถูกจับตั้งแต่ปี 2002  เบื้องต้นเขาติดคุกเพราะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด แต่เมื่ออยู่ในเรือนจำแล้ว ถูกเจ้าหน้าที่ในเรือนจำกล่าวหาว่า ไปเกี่ยวพันกับชายในเรือนจำกลายเป็นคดีละเมิดทางเพศ เขาบอกว่า เขาไม่รู้อะไรกับคดีเลยและมึนงงกับข้อกล่าวหา แต่สุดท้ายพ่อของเขาได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของ MTIP เพื่อมาช่วยว่าความให้ และสุดท้ายเขาก็ได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์โดยทนายความ Larry Mansch ว่าเขาไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดจริง อย่างไรแต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้เงินชดเชยแต่อย่างใด

เราได้มีโอกาสคุยกับอีกเคสหนึ่ง เป็นคดีการละเมิดทางเพศเช่นกัน เขาเป็นอดีตนายแพทย์คนหนึ่ง ซึ่งกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่  FBI ว่าข้องเกี่ยวกับการละเมิดทางเพศ  แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อเขาพ้นจากคดีแล้ว กฎหมายของอเมริกามีกฎว่า ในระยะเวลา 15 ปีนั้นหลังจากออกมาจากเรือนจำแล้ว เขายังคงต้องอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  ที่สำคัญคือ ใบประกอบทางการแพทย์ของเขาถูกยึดไม่สามารถกลับไปทำงานใหม่ได้อีก จนกว่าจะต้องสอบอีกครั้ง  ทุกๆ เดือนจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาหาเขาที่บ้าน ถ้าบ้านเราก็เหมือนคนที่อยู่ใน พรก. ต้องไปรายงานตัวทุกเดือน บ่อยครั้งมักจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเยี่ยมบ้านของเขา ที่หนักกว่านั้นคือ มีข้อห้ามหลายอย่างที่เขาต้องปฏิบัติอีกคือ ห้ามมีโทรศัพท์ที่ติดตั้งอินเตอร์เน็ต ห้ามถ่ายรูป ห้ามดื่มเหล้าหรือกินสิ่งของมึนเมา ห้ามไปสร้างสรรค์นอกบ้าน ข้อห้ามเหล่านี้ทำให้เขาไม่ค่อยอยากจะออกข้างนอก อยากอยู่แต่ในบ้าน และถ้าเห็นเด็กผู้หญิง เขาก็ไม่อยากจะเจอหรืออยากจะคุยด้วย ทั้งนี้หากเจ้าหน้าที่พบว่า คนเหล่านี้ทำผิดพลาดก็สามารถนำไปเข้าเรือนจำใหม่ได้เลย ในกรณีนี้ จากสถิติพบว่า ผู้ต้องขัง 80 เปอร์เซ็นต์ส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้ต้องขังที่กระทำความผิดระหว่างได้รับการปล่อยตัวหรือพ้นจากคดี

และสิ่งที่แปลกที่ไม่เคยเจอคือ ผู้ต้องขังที่ออกมาแล้ว ทุกคนจะมีบัตรเฉพาะที่ระบุว่า เป็นอดีตนักโทษ ซึ่งดิฉันมองว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ หากเราไปสมัครงานที่ร้านอาหาร หากโชว์บัตรนี้แล้วเขาก็จะรับเป็นพนักงานด้วยไม่ยาก โดยเฉพาะร้านที่อยู่ในโครงการ นอกจากนี้สามารถไปนอนที่บ้านที่เขาเตรียมให้อดีตผู้ต้องขังด้วยได้ง่าย ทั้งนี้เนื่องจากว่า อดีตผู้ต้องขังส่วนใหญ่มักจะไม่กล้ากลับไปอยู่ในชุมชน เพราะเกรงว่าชุมชนไม่ยอมรับ ดังนั้นก็มีองค์กรภาคประชาสังคมหนึ่งที่ทำงานช่วยเหลือให้ผู้ต้องขังสามารถกลับไปอยู่ในชุมชนของเขาได้อีกครั้ง ดังนั้นองค์กรนี้เขาก็จะช่วยประสานงานกับร้านค้าให้รับงาน และติดต่อช่วยเหลือเรื่องที่พักอีกด้วย