Skip to main content

 

“เมื่อสันติภาพเดินทาง.” 

 

(ต่วนอิสกันดาร์ ดาโต๊ะมูลียอ  Prince Alessandro)

 

 

       หากถามถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ใช่ว่าปัจจัยสี่จะเป็นตัวเลือกที่ถูกต้อง “ที่สุด” เสมอไป เพราะประวัติศาสตร์ได้ชี้ให้เราเห็นว่า สิ่งที่มนุษย์โหยหามากที่สุดก็ว่าได้คือ “ความมั่นคง” ของชีวิตที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังความมั่นคงของกลุ่มและขยายไปยังสังคมที่ใหญ่ขึ้น จนถึงระดับประเทศ ภูมิภาค ทวีป หรือความมั่นคงของโลกในปัจจุบันที่ยังคงพยายามกันอยู่

       ปฏิเสธไม่ได้ว่าความมั่นคงที่ยั่งยืนนั้นมีคุณค่าและความหมายของ “สันติภาพ” เป็นรากฐานสำคัญอยู่ ดังนั้นหนึ่งในรากแก้วของความต้องการมนุษย์นั้น “สันติภาพ” ย่อมเป็นสิ่งที่ตอบสนองเบื้องลึกภายในจิตใจเป็นทุนเดิม นอกจากอานิสงส์ของสันติภาพที่ครอบคลุมถึงความปลอดภัยทางร่างกาย ความสุขทางอารมณ์แล้ว สันติภาพยังสามารถก่อรากสร้างนวัตกรรมและสร้างอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่เต็มความสามารถของมนุษย์เช่นเดียวกัน

       พระผู้เป็นเจ้าได้สร้างมนุษย์คู่แรกนามว่า “อาดัม” และ “พระนางฮาวา” บนสรวงสวรรค์ และทั้งคู่ได้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขบนดินแดนแห่งสันติภาพ จวบจนพระองค์ได้ส่ง “อาดัม” และ “พระนางฮาวา” บุรุษและสตรีท่านแรกของมวลมนุษย์มาบนโลก ในพื้นที่ที่ห่างไกลกัน และอาดัมนั้นก็ไม่ต่างจากพระนางฮาวาที่ได้คะนึงหาถึงช่วงเวลาแห่งความรัก ความสันติ จึงได้เพียรพยายามทุกวิถีทางที่จะพานพบกันให้ได้ จนประสบความสำเร็จในการเจอหน้ากันครั้งแรกของโลก ภายหลังผ่านความเหน็ดเหนื่อยและความรุนแรงของความเดียวดายมา ความพยายามของทั้งคู่นี้นับเป็น การเดินทางเพื่อหาสันติภาพ “ครั้งแรก” ของประวัติศาสตร์มนุษย์

       ภายหลังจากการหวนคืนถึงช่วงเวลาแห่งรัก ปรารถนาแห่งสันติภาพแล้ว ครอบครัวอาดัมก็ได้ขยายพงศ์พันธุ์กว้างขวางขึ้นจนถึงระดับหลายพันล้านชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ในปัจจุบัน  อย่างไรก็ดีการเดินทางของลูกหลานอาดัม ฮาวาทั้งหลายนั้นกลับเต็มไปด้วยช่วงเวลาแห่งความสุขและความทุกข์คละเคล้ากันไป บ้างก็เกิดความขัดแย้ง บ้างก็เกิดความรุนแรงถึงขั้นทำร้ายฆ่าฟัน หรือบ้างก็เป็นประตูสู่การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน บ้างก็ร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกัน เหล่านี้ได้กลายเป็นบริบทที่มีความหลากหลายอันอยู่บนรากฐานของเวลา สถานที่ อันแตกต่างกัน

       น่าสนใจที่การเดินทางของบรรดาลูกหลานอาดัมในหลายพื้นที่นั้นมักนำมาซึ่งประสบการณ์อันน่าตื่นเต้นเสมอ เราพบว่าบรรดานักเดินทางเหล่านั้นได้มีมุมมองและทัศนคติที่แตกต่างจากบรรดาผู้ที่ไม่มีประสบการณ์การเดินทาง แน่นอนว่าการเดินทางเป็นสื่อในการนำพาซึ่งคุณค่าหลายประการไปจากที่หนึ่งสู่อีกที่หนึ่ง เป็นต้นว่า วัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี  ภาษา วิทยาการต่างๆ เหล่านี้ย่อมสื่อให้เห็นได้ว่า คุณค่าของชีวิตที่เรียกว่าสันติภาพ ก็ย่อมแพร่ขยายไปด้วยการเดินทางเช่นเดียวกัน

       การนำตัวเองเดินทางไปยังสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ย่อมนำมาซึ่งประสบการณ์ที่ไม่เคยสัมผัส นับเป็นการเรียนรู้ที่ดีอย่างหนึ่ง การเปิดใจกว้างในการเรียนรู้จารีตที่ไม่คุ้นชิน กินอาหารที่ไม่คุ้นปาก ย่อมสร้างความเข้าใจในการใช้ชีวิตนี้มากขึ้น แม้กระทั่งการทักทายต่อผู้คนที่ไม่รู้จักก็ถือว่าเป็นการเปิดโลกทัศน์เล็ก ๆ อย่างหนึ่ง อันนำไปสู่การสร้างสัมพันธ์ใหม่ที่มีผลทำให้ทัศนคติมีมิติหลากรูปแบบขึ้น หรือการต้อนรับผู้คนต่างถิ่น ต่างภาษา หากเป็นด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดีงามแล้ว ย่อมเพิ่มพูนมิตรภาพจากแดนไกล สร้างความรู้สึกใหม่ ๆ ให้กับคนเดินทาง ให้เรียนรู้คุณค่าของชีวิต ต่อยอดภารกิจแห่งสันติภาพได้ไม่น้อย

       พันธสัญญาของพระเจ้า หรือทุกศาสนาความเชื่อ มักจะชี้ให้เราเห็นถึงบั้นปลายของชีวิตที่ผู้คนปรารถนาเป็นพื้นที่แห่งความสุข พื้นที่แห่งความสงบ พื้นที่ที่มนุษย์ไร้ซึ่งศัตรูใดๆ เราเข้าใจกันทั่วกันว่าเป็น “สรวงสวรรค์” และนั้นก็เป็นคำจำกัดความที่ดีถึง “พื้นที่สันติสุข” ซึ่งผู้ใดต้องการเดินทางเข้าไปในพื้นที่นั้น จำต้องยึดหลักการอันถูกต้อง และดำรงตนอยู่ในสติ ที่ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อความหมายสันติภาพใด ๆ คงจะแปลกไม่น้อยหากผู้คนที่ยังประกาศตนเป็นนักเดินทางสู่สันติภาพกลับกลายเป็นการเดินหันหลังจากสันติภาพเสียเอง เมื่อเราเชื่อในหลักศรัทธาธรรมแล้ว ย่อมมิอาจหลงใจได้เลยว่าบรรดาผู้ไม่หวังซึ่งมิตรภาพจะเป็นผู้ชี้ทางไปยังสันติภาพได้ 

       นับตั้งแต่วันที่ท่านอาดัมและพระนางฮาวาลงมาสู่โลกใบเดียวกับที่เราอาศัยอยู่จนถึงวันนี้ “สันติภาพ” ไม่เคยหยุดเดินทาง บางช่วงเวลาอาจจะเป็นการแตกหน่อของสัมพันธภาพให้เป็นการเดินทางร่วมกัน อย่างไรก็ดีไม่ว่าสันติภาพจะเดินทางไปยังที่ใด หัวใจของบรรดาผู้คนแห่งธรรมที่ล้วนแต่สถาปนาอาณาจักรแห่งสันติสุขย่อมไม่หยุดที่จะเรียนรู้ในคุณค่าและความหมายของสันติไปจนตราบชีวิตจะเดินทางไปยังอีกภพหนึ่งต่อไป

       “สันติภาพ” ไม่เคยจากไปไหนไกลเกินกว่าเราต้องการ เป็นความเมตตาอีกภาคหนึ่งของพระผู้สร้างที่แม้นเวลาผันผ่านไปเท่าใด มันก็ยังคงมีอยู่ และพร้อมต้อนรับบรรดาผู้ที่รักษามันอย่างดีตลอดมา.

 

 

บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือเรื่อง การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย เป็นหนังสือที่ระลึกในงานเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2560 ณ หอประชุม ม.อ.ปัตตานี ชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ (หอประชุมสำนักงานอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี) วิทยากรโดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ, ฮาดีย์ หะมิดง, ยาสมิน ซัตตาร์ และ อัยมี่ อัลอิดรุส ดำเนินรายการโดย อ.สุวรา แก้วนุ้ย โดยในหนังสือเล่มนี้มีผู้เขียนทั้งหมด 12 ท่าน 

 

ดาวน์โหลดหนังสือ

การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย [หนังสือ]

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

การเดินทางของความประหลาดใจ โดย อับกอรี เปาะเดร์

ความเกลียดชังที่รวันดา โดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

การเดินทางและสันติภาพ โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย โดย อัยมี่ อัลอิดรุส

การเดินทาง ความหลากหลาย และความขัดแย้ง โดย ยาสมิน ซัตตาร์

การเดินทางของความรู้ต่อความรุนแรงทางชาติพันธุ์แบบสุดโต่งฯ โดย อาทิตย์ ทองอินทร์

เริ่มแรก โดย รอมฎอน ปันจอร์

เมื่อสันติภาพเดินทาง โดย ต่วนอิสกันดาร์ ดาโต๊ะมูลียอ

คัชการ์ ฉันมาช้าไป โดย อาฎิล ศิริพัธนะ

คำถามจากการเดินทาง โดย อิมรอน ซาเหาะ

การเดินทางของสันติภาพ: บทเรียนเมื่อได้ไปเยือนตวนแสลงและเจือกเอ็ก โดย สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์

นิราศ โดย รอฮีมะห์ เหะหมัด

การเดินทาง การถูกกักตัว กับการได้รับรู้ และการได้กลับบ้าน โดย ชานิตยา จีน่า ดานิชสกุล

เก็บตกจากเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

เสียงจากเยาวชนผู้จัดงานเสวนากระเป๋าเป้และแว่นตาฯ โดย ริซกี มะสะนิง

"คำตอบเรื่อง ต้นทุนชีวิตที่ต่างกันและการเดินทาง" โดย อาฎิล ศิริพัธนะ

วงกลม 3 วง กับการเดินทางของผู้ชายที่ชื่อ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล โดย มุลยานา ดะอุแม

ชะโงกทัวร์ที่อาร์เมเนีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

โหดสัสรัสเซีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

โคลอมเบีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

ประมวลภาพงานเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" โดย อิมรอน ซาเหาะ

อาทิตย์นี้แล้วน่ะ “วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล” กับคนรุ่นใหม่ใฝ่สันติภาพ ในเวที‘กระเป๋าเป้และแว่นตาฯ’ที่ ม.อ.ปัตตานี โดย อิมรอน ซาเหาะ