Skip to main content

 

บีอาร์เอ็นประกาศจะไม่หยุดยิงจนกว่ารัฐบาลไทยเจรจาสันติภาพ 2 ฝ่ายเท่านั้น

(ลิงค์ต้นฉบับ)

 

กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (Barisan Revolusi Nasional - BRN) ซึ่งเป็นกองกำลังหลักที่ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดกว่าสิบปี ให้สัมภาษณ์พิเศษ บีบีซีไทย เมื่อต้นสัปดาห์ เรียกร้องรัฐบาลไทยให้มาเจรจาสันติภาพโดยตรงกับกลุ่มบีอาร์เอ็น แทนการเจรจากับกลุ่ม "มารา ปาตานี" แต่ หัวหน้าทีมเจรจาฝ่ายไทยขอร้องให้หยุดตั้งคำถามใครตัวจริง-ตัวปลอม

เหตุไม่สงบที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เมื่อเดือนสิงหาคม 2017Image copyrightREUTERS

"บีอาร์เอ็น จะปฏิบัติการทางทหารต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่ารัฐบาลไทย จะเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายมาหาหนทางยุติความขัดแย้งร่วมกัน "ปฏิบัติการทางทหารของเราไม่ใช่จุดหมายหมายทาง แต่มันคือ วิถีทางสู่เป้าหมาย" ตัวแทนจาก "ฝ่ายข้อมูลข่าวสาร" ของ บีอาร์เอ็น ที่เรียกตัวเองว่า "ยูซุฟ" กล่าว

เหตุความไม่สงบใน ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ บางอำเภอของ สงขลา นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2547 ได้คร่าชีวิตพลเรือน ทหาร ตำรวจไปแล้วเกือบ 7,000 คน ท่ามกลางความพยายามหลายครั้งของทางการไทยในการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ แต่ไม่สามารถยุติได้

เหตุไม่สงบที่ปัตตานีและนราธิวาสImage copyrightREUTERS
คำบรรยายภาพเมื่อวันที่ 19 เมษายนปีนี้เกิดเหตุไม่สงบหลายจุดในพื้นที่อย่างน้อย10 อำเภอ ทั้งในจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส

ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา รายงานวันที่ 28 ก.ย. ว่า การหารือระหว่าง คณะพุดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ชุดใหญ่ฝ่ายรัฐบาลไทย นำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยฯ กับกลุ่มมารา ปาตานี ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของผู้เห็นต่างจากรัฐ 5 กลุ่ม โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งนัดหมายหารือกันในวันที่ 27-28 ก.ย. 2560 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ต้องถูกเลื่อนออกไปโดยฝ่ายมารา ปาตานี และยังไม่มีการแจ้งวันนัดพูดคุยรอบใหม่

ก่อนหน้านี้การพูดคุยของ "คณะพูดคุยชุดเล็ก" ในประเด็นการกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" อำเภอแรก เมื่อวันที่ 11-12 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้ล่มลง โดยทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกันได้ หลังจากนั้นก็แถลงกล่าวหากันและกันว่าอีกฝ่ายไม่พร้อม

นายอาวัง จาบัด กลุ่มมารา ปาตานีImage copyrightGETTY IMAGES
คำบรรยายภาพนายอาวัง จาบัด ประธานกลุ่มมารา ปาตานี ระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2015

อยากเห็นสันติภาพ

โฆษกของบีอาร์เอ็น บอกกับบีบีซีไทยว่าพวกเขาพร้อมที่จะเห็นสันติภาพเกิดขึ้นในพื้นที่ พร้อมที่จะวางอาวุธชั่วคราว และนี่เป็นเหตุผลที่ได้ออกแถลงการณ์เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ สื่อสารไปยังรัฐบาลไทยเพื่อย้ำข้อเสนอ 3 ข้อที่เคยเสนอไว้ ทว่าถูกรัฐบาลปฏิเสธ

"หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าเราได้พักรบชั่วคราวมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพราะเรารู้ดีว่าการแก้ปัญหาต้องอาศัยความเชื่อมั่นของทั้งฝ่าย เราได้แสดงให้เห็นว่าเราสามารถคุมกำลังของเราได้ แต่คำถามคือว่ารัฐบาลไทยสามารถคุมกองกำลังและอาวุธของตนในพื้นที่ได้หรือไม่ รัฐบาลควรสร้างความมั่นใจในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป้องกันไม่ให้กองกำลังปฏิบัติการรุนแรงในพื้นที่"

เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2015 นักศึกษาและชาวบ้านในพื้นที่ปัตตานีร่วมละหมาดขอพรให้เกิดความสงบสุขImage copyrightGETTY IMAGES
คำบรรยายภาพเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2015 นักศึกษาและชาวบ้านในพื้นที่ปัตตานีร่วมละหมาดขอพรให้เกิดความสงบสุข

ปัญหาการเมือง ต้องแก้ที่การเมือง

"บีอาร์เอ็นคิดว่า ปัญหาความไม่สงบเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ใช่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ หรือ เรื่องการก่อการร้าย ถ้าคุณต้องการแก้ปัญหาการเมือง คุณต้องใช้กระบวนการทางการเมืองแก้" โฆษกของบีอาร์เอ็น กล่าวเป็นภาษามลายู

"มันสมควรแล้วหรือที่มีการส่งกำลังทหาร และอาวุธลงไปในดินแดนปาตานีมาตลอด 13 ปี การทำเช่นนี้ไม่ได้ทำให้เราเข้าใกล้ทางออกของปัญหาเลย หรือรัฐบาลไทยทำได้เพียงแค่นี้ และเพราะเช่นนี้เราจึงต้องการสื่อสารไปยังรัฐบาลว่าหากยังใช้กลยุทธ์เช่นนี้ก็ไม่มีทางที่ความขัดแย้งจะยุติ"

ภาพการสวนสนามของกองทหารในนราธิวาส เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2015Image copyrightGETTY IMAGES

ในรอบกว่าสิบปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณหลายแสนล้านบาทซึ่งรวมทั้งงบด้านการทหาร พัฒนาเศรษฐกิจและการศึกษาลงไปยังพื้นที่ แต่ความไม่สงบยังดำเนินอยู่

แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนา จชต. ตาม พรบ. งบประมาณ
ปีงบประมาณ ล้านบาท
2547 13,450
2548 13,674
2549 14,207
2550 17,526
2551 22,988
2552 27,547
2553 16,507
2554 19,102
2555 16,277
2556 21,124
2557 25,921
2558 25,744
2559 30,887
2560 34,535
รวม 299,489
ที่มา:ศูนย์ข่าวอิศรา  

โฆษกของบีอาร์เอ็น กล่าวว่า การเจรจากับกลุ่มมาราปาตานี ซึ่งบีอาร์เอ็นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นเป็นเพียง "คอสเมติก" หรือ "เปลือก" เท่านั้น

ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยอธิบายว่า มารา ปาตานี ถือเป็น "องค์กรร่ม" ของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม ได้แก่ 3 กลุ่มย่อยขององค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี (PULO ) กลุ่มแนวร่วมปลดแอกอิสลามปัตตานี (BIPP) ขบวนการมูจาฮีดินอิสลามปัตตานี (GMIP) และบีอาร์เอ็น แต่ในภายหลัง PULO-P4 ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของ PULO ได้ถอนตัวออกไป

ปีกที่สนับสนุนการเจรจา ได้ร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อยุติความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ช่วงต้นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีImage copyrightREUTERS
คำบรรยายภาพพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ยอมรับข้อเสนอให้องค์ต่างประเทศเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องภายในประเทศ

ไทยไม่รับเจรจาตรงบีอาร์เอ็น

ด้าน พล.อ.อักษรา หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ให้สัมภาษณ์บีบีซีในวันนี้ (29 ก.ย.) ไม่รับข้อเสนอเปิดเจรจาตรงกับตัวแทนบีอาร์เอ็น แต่ไม่ปิดกั้นการเข้ามาพูดคุยด้วยแนวทางสันติวิธี

"เขาอยากเข้ามาร่วมวงพูดคุยอยู่แล้ว เพราะไม่มีทางให้ไปแล้ว แต่ต้องเข้ามาผ่านช่องทางที่เป็นทางการ คือผ่านผู้อำนวยความสะดวก ตอนนี้ฝ่ายเขายังไม่มีเอกภาพ ก็ต้องไปจัดการสมาชิกในขบวนการเอง แต่ฝ่ายเรามีเอกภาพมานานแล้ว และยืนยันเจตนารมณ์ในการพูดคุยตามเดิม" พล.อ.อักษรากล่าวทางโทรศัพท์

พล.อ.อักษราอธิบายว่า ในการแก้ปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องทำครบทั้ง 3 มิติคือ

1. งานยุทธศาสตร์ คือ รัฐไทยยืนยันแนวทางการพูดคุยเพื่อสันติ

2. งานยุทธการ คือ แบ่งพื้นที่ปฏิบัติการให้ชัดเจน เพื่อควบคุมและจัดวางกำลังพลให้เหมาะสม โดยงานมวลชนสำคัญที่สุด

3. งานยุทธวิธี เป็นการชิงไหวชิงพริบกันของ 2 ฝ่าย โดยฝ่ายรัฐไทยต้องเอาความผิดพลาดมาซ้อนกลผู้ก่อเหตุ และกวาดล้างให้หมดไปจากพื้นที่

"ที่ผ่านมาในทุกเวทีสาธารณะรวม 521 เครือข่ายได้ประกาศจุดยืน 'ไม่เอาก่อการร้าย ไม่ว่าจากขบวนการใด และ 'ไม่เอาโจร ไม่ว่าจะกลุ่มอิทธิพล กลุ่มยาเสพติด หรือกลุ่มของเถื่อนผิดกฎหมายใดๆ บรรดาโจรก็ต้องย้ายไปอยู่ประเทศอื่น และประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น หากมี "พื้นที่ปลอดภัย" เกิดขึ้น"

ทหารพรานเสียชีวิตในเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2017Image copyrightGETTY IMAGES
คำบรรยายภาพทหารพราน 6 นาย เสียชีวิตในเหตุซุ่มโจมตีที่นราธิวาสเมื่อเดือนเมษายนปีนี้

"พลาดยุทธวิธี แต่ไม่แพ้ยุทธศาสตร์"

"อยากขอร้องบรรดานักวิเคราะห์และสื่อว่าอย่าเอางานยุทธวิธีมาเหมารวมว่ายุทธศาสตร์เราแพ้ เห็นเขาก่อเหตุหน่อย ก็บอกว่าเจรจากันไม่ได้แล้ว มันไม่ใช่ เพราะในการพูดคุย มีแค่ปากกา กระดาษ และแว่นตา ไม่มีกำลังพล ปืน ไปท้ารบ เราก็พยายามดึงให้ทุกกลุ่มเข้ามาร่วม แต่สำหรับกลุ่มใช้ความรุนแรงที่หวังประกาศแบ่งแยกดินแดน ไม่มีประโยชน์ที่เราจะไปพูดคุย จะไปยกระดับเขาทำไม" พล.อ.อักษราตั้งคำถาม

หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ฝ่ายไทย บอกว่า หากกลุ่มหัวรุนแรงยังได้รับการสนับสนุนจาก "คนบางกลุ่ม" ก็จะออกมาเคลื่อนไหวต่อเนื่อง จึงอยากขอร้องให้เลิกตั้งคำถามว่าบีอาร์เอ็นที่อยู่ในร่ม มารา ปาตานี เป็นตัวจริงหรือตัวปลอม เพราะนี่คือเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่การแทรกแซงจากองค์กรภายนอก

เด็ก ๆ ในพื้นที่ภาคใต้Image copyrightGETTY IMAGES

แหล่งข่าวจากคณะพูดคุยสันติสุขฯ อีกราย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เป็นสัญญาณที่ดีที่บีอาร์เอ็นอยากมาร่วมกันพูดคุยสันติสุขฯ แต่การพูดคุย ยังอยู่ในกรอบการคุยกับฝ่ายผู้เห็นต่าง คือ มารา ปาตานี ที่มีนายสุกรี ฮารี เป็นผู้นำ ฝ่ายไทยไม่สามารถเปิดเจรจาตรงกับฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ แต่ ทางไทยไม่ปิดกั้นการขยายโควตาฝ่ายผู้เห็นต่างที่มาร่วมพูดคุย จากปัจจุบันมี 8-9 คน

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ยอมรับว่า ในการพูดคุยสันติสุขฯ นายสุกรี ฮารี จะเป็นผู้นำการประชุม ถือว่าได้รับการยอมรับพอสมควร โดยเป็นการเปลี่ยนบทบาทจากสมัยก่อนที่เป็น "ปีกทหาร" ของบีอาร์เอ็น มาสู่สันติภาพมากขึ้น จุดนี้อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในฝ่ายขบวนการเอง

ส่วนข้ออ้างเรื่องเรื่อง "พักรบชั่วคราว" เมื่อเดือนเมษายนนั้น ทางทีมพูดคุยฯ ของไทยไม่เคยได้รับการติดต่อในเรื่องนี้ โดยถือเป็น "ข้อมูลใหม่" ส่วนจะมีการติดต่อแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐไทยส่วนอื่นหรือไม่นั้น ต้องขอเวลาตรวจสอบก่อน

จากปลายด้ามขวานสู่เกาะอังกฤษ 25 เยาวชนไทย ชมและฝึกซ้อมกับทีมโปรด

ศึกชิงการนำ?

น.ส.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิชาการอิสระด้านการจัดการความขัดแย้งบอกกับบีบีซีไทยว่า การออกมาให้สัมภาษณ์อีกครั้งของบีอาร์เอ็น เป็นการตอกย้ำถึงการแย่งชิงการนำกันระหว่างกลุ่มมารา ปาตานี กับบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดความเห็นต่างภายในกลุ่มผู้ติดอาวุธ

เหตุระเบิดที่ปัตตานีเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2017Image copyrightREUTERS
คำบรรยายภาพเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดบนถนนสาย 41 (เก่า) อ.สายบุรี ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 4 นาย

"บีอาร์เอ็นแสดงความชัดเจนว่าไม่ได้ปฏิเสธการพูดคุยสันติภาพ แต่ต้องการให้รัฐบาลทำตามเงื่อนไขที่ร้องขอ ซึ่งก็นับว่าน้อยลงกว่าในตอนแรกแล้ว แต่รัฐบาลมีท่าทีไม่ค่อยยอมรับเงื่อนไขของอีกฝ่ายหนึ่ง แม้กระทั่งในกรอบที่พูดคุยอยู่กับมารา ปาตานี รัฐบาลก็ปฏิเสธข้อเรียกร้องหลายอย่าง ซึ่งทำให้การพูดคุยก็สะดุดชะงักอยู่เป็นระยะๆ"

น.ส.รุ่งรวี เห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลไทยจะไม่ยอมรับเงื่อนไขของบีอาร์เอ็นในเรื่องการให้มีผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศ ซึ่งที่จริงแล้วนับเป็น ข้อเสนอพื้นฐาน การเจรจาสันติภาพที่มีขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกก็มักมีผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยให้ การเจรจาประสบความสำเร็จ

"สิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้คือภาวะชะงักงันอันเจ็บปวดที่เกิดขึ้นมานานหลายปี การพูดคุยเดินไปไม่ได้ ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ไม่สามารถใช้ กำลังทางทหารปราบปรามได้สำเร็จ"

ภาพจากงานรำลึกเหตุการณ์ตากใบImage copyrightBBCTHAI
คำบรรยายภาพภาพจากงานรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมประท้วงที่หน้าสถานีตำรวจตากใบ โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ทำให้มีผู้ถูกยิงเสียชีวิต 6 คน และผู้ชุมนุมซึ่งถูกนำตัวขึ้นรถบรรทุกให้นอนทับซ้อนเป็นชั้น ๆ เสียชีวิตอีก 85 คน

วาระแห่งชาติ?

ด้าน นายแอนโทนี เดวิส นักวิเคราะห์ประจำประเทศไทยของกลุ่มไอเอชเอส - เจนส์ กล่าวกับบีบีซีไทยว่ากระบวนการเจรจาสันติภาพ กับมารา ปาตานี ไม่มีความเชื่อมโยงกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะผู้ก่อเหตุในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ บีอาร์เอ็น ไม่ได้อยู่ในกระบวน การเจรจา สองเหตุการณ์นี้อาจจะมาเกี่ยวข้องกันในบางครั้ง เมื่อ บีอาร์เอ็นปฏิบัติการทางทหารเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการไม่ตอบสนอง ต่อข้อเรียกร้องสันติภาพที่เสนอไป

"รัฐบาลทหารไทยรู้ทั้งรู้ว่าเจรจาไม่ถูกตัว แต่ใช้การเจรจาเพื่อเป็นหน้าฉาก เพื่อบอกว่าต้องการเห็นสันติภาพ แต่ดูเหมือนว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะยังไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วนของ คสช.ในขณะนี้"นายเดวิส ให้ความเห็น

น.ส. รุ่งรวี เห็นเช่นกันว่าการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มมารา ปาตานี นั้นขับเคลื่อนไปอย่างเชื่องช้า จนน่าตั้งคำถามว่าเรื่องนี้เป็น "วาระแห่งชาติ" อย่างที่รัฐบาลพูดจริงหรือไม่

"รัฐบาลแสดงท่าทีเหมือนอยากคุยแต่ก็ไม่ยอมรับข้อเสนอของอีกฝ่าย ส่วนอีกฝ่ายก็พยายามใช้ปฏิบัติการทางทหารกดดันต่อไป บีอาร์เอ็นพูดผ่าน ความรุนแรงมา 13 ปีแล้ว รัฐบาลจะเฉยชาต่อความสูญเสียเหล่านี้ต่อไปอีกนานเท่าไหร่ จะต้องมีเหตุการณ์ที่รุนแรงแค่ไหน ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ รัฐบาลไทยคิดว่ายอมจะพูดคุยและพร้อมที่จะแลกเปลี่ยน พร้อมที่จะพูดในเรื่องสาระสำคัญคือการจัดการความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่กับคนในพี้นที่ ที่น่าสงสารคือทหาร ตำรวจ คนในพื้นที่ทุกๆ ศาสนาที่ต้องเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่ยืดเยื้อยาวนานนี้"