Skip to main content

1

อารัมภบท

          ผมค่อนข้างกังวลในการที่จะเขียน blog ลงใน Deep South อยู่บ้าง เพราะที่เคยอ่านผ่านตามา โดยที่ส่วนใหญ่ ก็มักจะเขียนในเรื่อง สันติภาพ การเจรจา การเมืองและออกจะเป็นบทความทางวิชาการ ใน blog นี้ของผม เลยตั้งชื่อว่า Kisah Patani แปลว่า เรื่องเล่าปาตานี โดยที่ผมตั้งใจว่าจะเขียนสารพัดเรื่องที่ได้ยิน ได้อ่านและได้มีส่วนในการรับรู้มา ผ่านการเขียนแบบเล่าเรื่อง ทั้งในเรื่องประวัติศาสตร์ ตำนาน นิทาน เรื่องเล่า วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม เหตุการณ์ ปรากฏการณ์ มุมมองและอีกสารพัดเรื่องเท่าที่ผมจะนึกออกในเรื่องราวที่เกี่ยวกับปาตานี โดยอิงอยู่บนพื้นฐานแนวคิดของ Cultural Landscape คือการไม่กำหนดเขตของปาตานีตามแผนที่สมัยใหม่ แต่จะกำหนดตามเขตวัฒนธรรมของมลายูและปาตานี ซึ่งมันอาจจะกินอาณาบริเวณที่มากกว่าพื้นที่ของปาตานีและแหลมมลายู(Nusantara) เสียด้วยซ้ำ

________________________________________________________________________

 

โลกมลายู Nusantara - Patani

          ในอารัมภบทข้างต้น ผมได้เอ่ยถึงคำว่า นูซันตารา (Nusantara) หลายท่านคงเคยได้ยิน และหลายๆท่านก็คงไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร คำนี้แปลว่าคาบสมุทรมลายูหรือแหลมมลายูทั้งหมดเลยครับ อย่าไปคิดถึงเส้นเขตแดนนะครับ ว่าเป็นประเทศนั้น ประเทศนี้ คิดเป็นพื้นที่หลวมๆ กว้างๆ ไว้เลยว่าครอบคลุมอาณาบริเวณภาคใต้ตอนล่างของไทยจนสุดปลายแหลมเลยทีเดียว ปาตานีก็เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งที่อยู่ในนูซันตาราหรือเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนแหลมมลายูนี่แหละครับ

          แล้วปาตานีล่ะ ต่างตรงไหนกับปัตตานี...

          สำหรับมลายูมุสลิมที่พูดภาษามลายู โดยส่วนใหญ่แล้วเรารับรู้ว่า ปัตตานี คือ พื้นที่จังหวัดปัตตานีที่แบ่งเส้นเขตแดนในสมัย รัชกาลที่ 5 ในสมัยที่เริ่มเป็น Modern state เราเรียกคนปัตตานีและพื้นที่จังหวัดปัตตานีว่า “ออแฆตานิง” และ “ตานิง” คนที่พูดภาษาไทยท้องถิ่นก็จะเรียกว่า “ตานี, ตาหนี” ส่วนคำว่า “ปาตานี” เราหมายถึงพื้นที่ที่เป็นรัฐปาตานีก่อนที่จะเป็นรัฐชาติสมัยใหม่หรือ Modern state ซึ่งรวมพื้นที่จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส บางส่วนในประเทศมาเลเซีย เป็นพื้นที่ที่กว้างกว่าจังหวัดปัตตานี

          ถ้าไปดูในแผนที่เก่าที่เขียนโดยชาวต่างชาติ ก็จะพบคำว่า patani, patane, petani, patany, patania, patanam, patanij, patina, Fatoni etc. แต่ไม่ปรากฏว่ามีเขียนว่า pattani (โดยใช้ T สองตัว) มาก่อนเลย จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีการใช้คำว่า Pattani ซึ่งเป็นการใช้หลังจากที่เปลี่ยนการปกครองเป็น 7 หัวเมืองไปแล้ว คำว่าปาตานี คนมลายูมักจะออกเสียงว่า “ปตานี” และชาวอาหรับจะออกเสียงว่า “ฟาตอนี” ซึ่งหมายถึงอาณาบริเวณของรัฐปาตานีเดิมและบางครั้งก็หมายถึงรวมผู้คนในบริเวณนั้นด้วย

          ประเทศในแถบอาหรับ หรือแม้แต่ในนูซันตารา สุมาตรา บอร์เนียวและชวา จะเรียกชาวมลายูในสามจังหวัดภาคใต้ว่า คนปาตานีหรือชาวปาตานี โดยเรียกตามเชื้อชาติ (Bangsa) มากกว่าที่จะเรียกว่า คนไทยตามสัญชาติ แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกว่า ชาวปาตานีเองเมื่อต้องแนะนำตัวกับผู้คนเหล่านั้น มักจะแนะนำว่า เป็นชาวยะลา หรือชาวนราธิวาส ตามจังหวัดหรือถิ่นฐานที่ตัวเองอยู่ มากกว่าที่จะแนะนำว่าเป็นชาวปาตานีตามเชื้อชาติ (Bangsa) หรือชาวไทยตามสัญชาติ แต่กลับไปตอบตามที่ตั้งของถิ่นฐานแทน

 

                                                                                                                                             วัลลอฮู อะอ์ลัม

File attachment
Attachment Size
27003_gilles_robert_de_vaugondy_1749.jpg (1.27 MB) 1.27 MB