Skip to main content

Chayanith Pulayarath
Faculty of Political Science, Thammasart University
 
The clash between military officers and National United Front for Democracy against Dictatorship or UDD on the night of 10 April 2010...

 

     การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เมื่อคืนวันที่ 10 เมษายน จนนำไปสู่ยอดการเสียชีวิตกว่า 25 ศพและมีผู้บาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 865 ราย และความรุนแรงที่เกิดขึ้นอีกครั้งในคืนวันที่ 22 เมษายน เมื่อระเบิด M79 จำนวน 5 ลูกถูกยิงไปตกที่แยกสีลม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 คนและบาดเจ็บอีกหลายสิบ นับเป็นความรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นใจกลางเมืองหลวงอันเลวร้ายที่สุดอีกครั้งหนึ่งในรอบ 18 ปี ผู้คนจำนวนมาก (กว่าร้อยละ 60 จากผลสำรวจความคิดเห็นของสวนดุสิตโพล) ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเจอเหตุการณ์แบบนี้ในประเทศไทย และอีกไม่น้อยถึงกับสรุปว่านี่คือความพ่ายแพ้ของสันติวิธี แต่จริงหรือที่ว่าสันติวิธีไม่มีที่ทางในสังคมนี้อีกต่อไป ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงสังคมไทยมีทางเลือกอื่นใด และทางเลือกนั้นจะนำพาสังคมของเราให้เป็นอย่างไร

     ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง หลายฝ่ายอ้างความชอบธรรมของตนผ่านวิถีทางที่เรียกว่าสันติวิธี ทว่าแต่ละกลุ่มกลับมีนิยามของคำนี้แตกต่างกันไป แม้ว่าสันติวิธีจะไม่ได้มีคำจำกัดความที่ตายตัว หากก็คงไม่ได้หมายถึงอะไรก็ได้ ตามแต่ใครอยากจะเลือกนิยาม ในระดับพื้นฐานที่สุด สันติวิธีคือการไม่ใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่นในทางกายภาพ หากพิจารณาตามหลักการเบื้องต้นนี้ จะพบว่าก่อนเหตุการณ์การปะทะกันในวันที่ 10 เมษายน หลายฝ่ายพยายามยึดมั่นในหลักการสันติวิธีอยู่ไม่น้อย ทั้งการชุมนุมแสดงพลังโดยปราศจากอาวุธของกลุ่มต่างๆ ควบคู่ไปกับการอำนวยการจากภาครัฐ คงยากจะปฏิเสธว่าพลังแห่งสันติวิธีนี้มีส่วนสำคัญให้คู่ขัดแย้ง ได้แก่ ตัวแทนจากรัฐบาลและแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. สามารถนั่งร่วมโต๊ะเจรจากันได้ ถึงแม้การเจรจาระหว่างสองฝ่ายจะไม่อาจนำไปสู่ข้อยุติของความขัดแย้ง แต่ภาพการเจรจาดังกล่าวก็ได้จุดประกายความหวังให้แก่สังคม อีกทั้งยังเป็นอีกหมุดหลักสำคัญในเส้นทางสันติวิธีและประชาธิปไตยไทย

     ต่อมาไม่นาน ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ตึงเครียดที่สุดของคืนวันที่ 10 เมษายน ขณะเจ้าหน้าที่ทหารกำลังถอนกำลังที่สี่แยกคอกวัว ชายฉกรรจ์คนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งพากันรุกคืบเข้าไปหา ชายหนุ่มซึ่งไม่มีอาวุธในมือแม้แต่ชิ้นเดียว ตัดสินใจเข้าไปยืนขวางระหว่างคนสองกลุ่มเพื่อพยายามห้ามปราม ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่กลุ่มชายฉกรรจ์ก็ยอมรับฟังและหยุดอยู่กับที่ ไม่มีใครรู้ว่าหากเหตุการณ์ในมุมเล็กๆ ไม่ได้คลี่คลายไปเช่นนั้น จะต้องมีคนบาดเจ็บล้มตายมากกว่าที่เป็นอยู่อีกเท่าไร สำหรับหลายคน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าการใช้สันติวิธีในมุมเล็กๆ โดยคนธรรมดาคนหนึ่งสามารถรักษาชีวิตไว้ได้ แม้เพียงชีวิตเดียว ก็อาจถือได้ว่าเป็นความสำเร็จที่สำคัญยิ่งแล้วไม่ใช่หรือ

     แม้ในปัจจุบันที่สถานการณ์ตึงเครียด มีการแบ่งฝ่ายและหวาดระแวงกันมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ยังมีผู้คนอีกไม่น้อยที่เชื่อมั่นในสันติวิธีอย่างไม่ลดละ อาสาสมัครกลุ่มหนึ่งยังคงทำหน้าที่ของตนโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ ในฐานะ “สันติอาสาสักขีพยาน” เพื่อบันทึกความเป็นไปในพื้นที่ชุมนุม กระทั่งต้องยอมเสี่ยงอันตรายสวมบทบาทเป็นผู้ร่วมไกล่เกลี่ยคลี่คลายสถานการณ์ระหว่างคู่ขัดแย้งในบางเวลา ผู้คนอีกกลุ่มรวมตัวกันในนาม “เพื่อนรับฟัง” เดินทางไปเยี่ยมเยียนเพื่อให้กำลังใจและฟังความทุกข์จากบรรดาผู้ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 10 เมษายน โดยไม่แบ่งฝักฝ่าย ขณะที่อีกหลากหลายองค์กรภาคประชาชนยืดหยัดเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้สันติวิธีและการเจรจาในการยุติข้อขัดแย้ง คุณยายวัย 60 ปีคนหนึ่งกล่าวว่าเธอออกมาร่วมแสดงพลังกับกลุ่มเหล่านี้เป็นครั้งแรกในชีวิต เพียงเพราะไม่อยากเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้

     ในบรรดาเสียงเรียกร้องที่ยังคงมีมาจากหลายฝ่าย ให้คู่ขัดแย้งกลับมาร่วมโต๊ะเจรจากันเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี กลุ่มที่สังคมไทยควรรับฟังมากที่สุดน่าจะเป็นเสียงของบรรดาผู้ได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรงในคืนวันที่ 10 เมษายนนั่นเอง ทั้งพลทหารและสมาชิกกลุ่ม นปช. ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความรุนแรง ต่างก็รู้สึกเหมือนกันว่าไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงแบบนี้ขึ้นกับใครอีก

     ในวันนี้ที่ความอดกลั้นของผู้คนในสังคมดูจะลดน้อยลงเรื่อยๆ กลุ่มคนเสื้อแดงประกาศจะยกระดับการกดดันให้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลก็มีแนวโน้มจะ “ขอพื้นที่คืน” จากกลุ่มผู้ชุมนุมอีกครั้ง และหลากหลายกลุ่มเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลจัดการกับปัญหานี้อย่างเด็ดขาดเสียที กระทั่งทยอยกันออกมาเคลื่อนไหวและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ด้วยตนเอง สังคมไทยเริ่มเห็นความรุนแรงเป็นวิธีการ “อันหลีกเลี่ยงไม่ได้” แต่คำถามสำคัญประการหนึ่งที่คนในสังคมอาจจำเป็นต้องช่วยกันตอบได้ให้ก่อน คือ เป็นไปได้จริงหรือที่จะสามารถมีสังคมสงบสันติ โดยก่อร่างสร้างขึ้นมาจากวิธีการรุนแรงท่ามกลางความเกลียดชังกันและกัน

     สำหรับอีกหลายคนที่เรียกร้องให้ความขัดแย้งครั้งนี้จบลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะโดยวิธีการอะไร อาจลองพิจารณาย้อนไปถึงรัฐประหารเมื่อปี 2549 ในฐานะวิธีการ “อะไรก็ได้” เพื่อให้ปัญหาจบไปโดยเร็ว ในเวลานี้น่าจะเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแล้วว่าไม่เพียงวิธีการอะไรก็ได้นั้นไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งในสังคมยุติหรือบรรเทาลง หากยังพอกพูนให้ปัญหามีความสลับซับซ้อนมากขึ้นไปอีก และส่งผลกระทบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น เหตุการณ์หลายครั้งในประวัติศาสตร์ที่สังคมไทยเลือกจะยุติปัญหาด้วยความรุนแรงควรจะเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับวันนี้ การที่คนไทยลุกขึ้นมาฆ่ากันเองทำให้เราบอบช้ำและยังคงต้องจ่ายราคาให้กับบาดแผลในอดีตกันไม่พออีกหรือ หลายคนจึงเรียกร้องให้เลือกความรุนแรงเป็นวิธีในการยุติปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่นี้อีกครั้ง

     แม้สันติวิธีจะไม่เคยรับประกันว่าผู้ใช้สันติวิธีจะไม่เผชิญกับความรุนแรงจากฝ่ายตรงข้าม แต่ความตั้งใจให้เกิดความสูญเสียไม่ว่าต่อผู้ใดฝ่ายใดเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ก็คงไม่อาจถือเป็นชัยชนะของสันติวิธีไปได้ เป็นไปได้ไหมว่าในวันนี้คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายจะนิยามชัยชนะแห่งสันติวิธีของตนเสียใหม่ สำหรับฝ่ายรัฐบาล อาจหมายถึงการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่ให้เกิดความรุนแรงและการสูญเสีย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการโดยไม่ใช้อาวุธและกระทำต่อผู้ชุมนุมในฐานะเพื่อนร่วมสังคม ส่วนชัยชนะแห่งสันติวิธีสำหรับกลุ่มคนเสื้อแดง อาจหมายถึงการแสดงพลังเพื่อกดดันรัฐบาลและสังคม จนกลายมาเป็นตัวแสดงสำคัญในทางการเมือง ทว่าพลังทางการเมืองโดยลำพังย่อมไม่ใช่จุดมุ่งหมายในตัวของมันเอง วันนี้โจทย์สำคัญสำหรับคนเสื้อแดงจึงอาจไม่ใช่การกดดันยืดเยื้อและมุ่งสร้างความเกลียดชัง โดยไม่สนใจว่าจะมีความสูญเสียใดตามมา หากแต่จะทำอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเรียกร้องของกลุ่ม โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือยังคงรักษาชีวิตของมวลชนเอาไว้ได้

     วันนี้ ไม่ว่าจะเลือกอยู่ฝ่ายใดหรือเห็นว่าสังคมการเมืองไทยควรดำเนินต่อไปในทิศทางไหน หากเราเห็นตรงกันว่าอยากให้อนาคตของสังคมไทยยังคงเป็นสังคมแห่งความสงบสุขสันติ อาจถึงเวลาแล้วที่ผู้คนในสังคมจะหันมายึดมั่นกับสันติวิธีอย่างจริงจังในฐานะวิถีทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป