เข้าใจการเมืองในกลุ่มประเทศ GCC (7)
ดร.ศราวุฒิ อารีย์
ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าตุรกีคือพันธมิตรที่ยืนเคียงข้างกาตาร์จากวิกฤตทางการทูตในประเทศกลุ่ม GCC รอบล่าสุด นอกจากนั้น ทั้งสองประเทศยังมีจุดยืนเดียวกันต่อการก่อรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกของอียิปต์เมื่อปี 2013 นั่นคือการแสดงความไม่พอใจต่อคณะผู้ก่อรัฐประหาร พร้อมทั้งประกาศตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับขบวนการภราดรภาพมุสลิมภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีมุรซีแห่งอียิปต์
ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับกาตาร์ดังกล่าวถูกมองว่าเป็นอะไรที่เหนือกว่าผลประโยชน์แห่งชาติ หากแต่ยึดโยงอยู่กับอุดมการณ์บางอย่างที่ทั้ง 2 ประเทศมีอยู่ร่วมกัน
แต่เนื่องจากข้อจำกัดในองค์ความรู้เรื่องกาตาร์ ผมจึงเลือกที่จะสะท้อนพัฒนาการและอุดมการณ์ของพรรครัฐบาลปัจจุบันของตุรกีแทน ทิ้งประเด็นเรื่องแนวคิดอุดมการณ์และนโยบายของรัฐบาลกาตาร์ไว้ให้พวกเราช่วยกันแลกเปลี่ยนมุมมองกันนะครับ
ตุรกีภายใต้อำนาจกลุ่มการเมืองอิสลาม
ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 นักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับ “อิสลามการเมือง” หรือ “Political Islam” ส่วนหนึ่งมีความเห็นว่า กระแสอิสลามการเมืองได้เสื่อมถอยลงและกำลังสูญสิ้นไป สิ่งที่ยังคงดำรงอยู่อย่างแข็งแกร่งคืออำนาจรัฐที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมเป็นรากฐาน
พูดอีกอย่างหนึ่งคือ โลกมีความตื่นตัวและหวาดหวั่นต่อการปรากกฎขึ้นของอิสลามการเมืองอยู่ชั่วขณะหนึ่งหรือในระดับหนึ่งเท่านั้น โดยอาจเป็นเพียงคู่แข่งหรือภัยที่รัฐจะต้องจับตามอง แต่สุดท้ายก็ไม่มีพลังมากพอที่จะแทนที่หรือล้มล้างระบอบเดิมได้
แต่ปัจจุบันเรากลับเห็นบทบาทของการเมืองอิสลามที่เพิ่มมากขึ้นในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นกรณีชัยชนะของฮามาสในการเลือกตั้งปาเลสไตน์ปี 2005 เรื่อยไปจนถึงการมีอิทธิพลของกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ในรัฐบาลชุดปัจจุบันของเลบานอน และกรณีอื่น ๆ อีกมากทั้งในตูนีเซีย อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย ฯลฯ เพียงแต่บทบาทของการเมืองอิสลามยุคปัจจุบันนั้นไม่เหมือนในอดีตอีกต่อไป เพราะพวกเขาส่วนใหญ่เรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการเคลื่อนไหวและรูปแบบกิจกรรมเพื่อความอยู่รอดในสภาพการเมืองที่แนวคิดเสรีนิยมเข้ามายึดกุมพื้นที่จนเกือบเบ็ดเสร็จ
กรณีที่พิสูจน์ให้เห็นถึงข้อสมมติฐานข้างต้นคือพรรค “พัฒนาและความเป็นธรรม” (justice and development party: AKP) ของตุรกี ซึ่งถือเป็นพรรคนิยมแนวทางอิสลามอีกกลุ่มหนึ่ง และเพิ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สามติดต่อกัน
ย้อนกลับไปในอดีตเมื่อปี 1980 ขณะนั้นกองทัพตุรกีทำรัฐประหาร ล้มล้างกลุ่มนิยมแนวทางอิสลาม หลังจากนั้นมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยทหารเผด็จการ ในรัฐธรรมนูญนี้ศาลมีอำนาจมากมายที่จะแทรกแซงการเมือง ศาลตุรกีใกล้ชิดกับทหารและพยายามยุบพรรค AKP ทั้งๆ ที่ได้รับเสียงส่วนใหญ่จากประชาชน โดยใช้ข้ออ้างว่าพรรค AKP เป็นพรรคอิสลาม
ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่พรรครัฐบาล AKP จะพยายามเรียกร้องและพลักดันมาตลอดให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2011 ที่พรรค AKP ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย
อิทธิพลของกองทัพในการเมืองตุรกีสมัยใหม่ที่มีมากอย่างเหลือล้นนั้น น่าจะเริ่มต้นขึ้นในปี 1923 หรือหลังจากที่อาณาจักรออตโตมันพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นายทหารชื่อ มุสตอฟา กามาล อะตาเติร์ก (Mustafa Kemal Atatürk) ได้นำกองทัพปลดแอกของตุรกีสู่ชัยชนะและมีการก่อตั้งตุรกีเป็นสาธารณรัฐ โดยยกเลิกตำแหน่งสุลต่าน
หนึ่งปีหลังจากนั้นมีการยกเลิกตำแหน่งทางการเมืองของผู้นำศาสนาอิสลามและละเมิดหลักการศาสนาหลายประการด้วยกัน เขาพยายามแปรประเทศไปเป็นประเทศทันสมัยโดยการแยกศาสนาออกจากการเมือง ซึ่งกลายเป็นกระแสสำคัญจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันฝ่ายขวาในประเทศตุรกี มีฐานอำนาจสำคัญในระบบข้าราชการพลเรือนและในกองทัพ แนวการเมืองของพวกนี้เน้นความคิดชาตินิยมสุดขั้ว การต่อต้านประชาธิปไตย และการต่อต้านศาสนา ในขณะที่พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยดำรงอยู่อย่างอ่อนแอจนต้องร่วมมือกับทหาร
แต่พรรคอิสลามอย่าง AKP กลับกลายเป็นพรรคที่คนส่วนใหญ่ชื่นชอบ ดังจะเห็นได้ว่า AKP กลายเป็นพรรครัฐบาลนับแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2002 และนับแต่นั้น รอซิบ ตอยยิบ เออร์โดกัน ก็ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีตุรกีติดต่อกันถึงสามสมัย และเป็นประธานาธิบดีหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบัน
ตุรกีเปรียบเสมือนมีเมืองหลวงคู่อยู่ในประเทศเดียวกัน ด้านหนึ่งคือพื้นที่แทบทะเลมาร์มารา ซึ่งเป็นพื้นที่แคบ ๆ ทว่าเป็นที่ราบลุ่มและอุดมสมบูรณ์คั่นกลางระหว่างทะเลดำและทะเลอีเจียน ประชากรในพื้นที่บริเวณนี้มีความสัมพันธ์และมีการติดต่อค้าขายอันยาวนานกับทวีปยุโรป พื้นที่นี้เป็นที่ตั้งของอิสตันบูลซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของตุรกี
ในขณะที่ลึกไปในพื้นทวีปแถบเอเชียกลางหรือที่เรียกกันว่าบริเวณที่ราบสูงอนาโตเลีย ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่ใหญ่โต แต่แห้งแล้งกว่าบริเวณมาร์มารา พื้นที่นี้เป็นที่ตั้งของอังการา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศตุรกีปัจจุบัน โดยทั่วไปประชากรในเขตอนาโตเลียจะมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจน้อยกว่าแถบมาร์มารา และมีความใกล้ชิดกับชาวอาหรับมุสลิมที่อยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลางมากกว่า
แต่เมื่อเวลาผ่านไปตุรกีได้ใช้ทรัพยากรจำนวนมากจากมาร์มาราหล่อเลี้ยงแถบอนาโตเลีย จนกระทั่งทำให้ในปัจจุบันอนาโตเลียสามารถสร้างวงจรทางเศรษฐกิจและยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง
ในตุรกีจึงมีความเป็นพลวัตจากทั้งความเคลื่อนไหวที่ออกไปในทางเสรีนิยม ซึ่งเป็นอิทธิพลจากฝั่งมาร์มารา และการเคลื่อนไหวที่เน้นแนวทางนิยมมุสลิมจากฝั่งอนาโตเลียไปควบคู่กัน ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้ปกครองตุรกีก็จำต้องพยายามหาสมดุลระหว่างสองกระแสนี้
ฉะนั้น พรรค AKP ซึ่งมีรากฐานมาจากอนาโตเลีย จึงมีแนวทางที่เน้นความคิดนิยมอิสลามในขณะที่ยังรักษาการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ สะสมความนิยมจากการสร้างภาพให้ประชาชนชาวตุรกีเชื่อว่าการประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจของตุรกีในปัจจุบันมาจากการบริหารของพรรค AKP ตั้งแต่ปี 2003 โดยปัจจุบันเศรษฐกิจตุรกีมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของโลก (เมื่อเทียบกับกำลังซื้อภายใน) ทำให้ในตุรกีกำลังค่อย ๆ กลับมามีอิทธิพลต่อทั้งยุโรปและตะวันออกกลางอีกครั้งอย่างช้าๆ
สหภาพยุโรปมองว่าประเทศตะวันออกกลาง (ซึ่งกำลังเผชิญกับกระแสการปฏิวัติประชาชนอยู่) น่าจะมองตุรกีเป็นประเทศต้นแบบในการแยกศาสนาออกจากรัฐ และความสำเร็จในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่จากการสำรวจของสถาบันวิจัยเชิงนโยบายอิสระ (Think Tank) ของตุรกีอย่างมูลนิธิศึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคมตุรกี (Turkish Economic and Social Studies Foundation หรือ TESEV) พบว่า
แม้ชนชั้นนำประเทศอาหรับจะให้ความนิยมต่อประเทศตุรกีเหนือกว่าประเทศอาหรับอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นก็จริง แต่เมื่อสำรวจลึกลงไป ก็พบว่าปัจจัยที่ตุรกีได้รับความนิยมเหนือประเทศอาหรับอื่น ๆ นั้นมาจาก วัฒนธรรมอิสลามในตุรกีมากเป็นอันดับหนึ่งถึง 15% ส่วนความสำเร็จด้านเศรษฐกิจนั้นรองลงมาที่ระดับ 12% ส่วนความเป็นประชาธิปไตยมาอันดับ 3 ที่ 11% ในขณะที่น่าสนใจที่การสนับสนุนกรณีปาเลสไตน์ต่อข้อขัดแย้งกับอิสราเอลทำให้ตุรกีได้รับความนิยมเป็นอันดับ 4 ที่ 10%
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ตุรกีพยายามเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (ซึ่งถูกกีดกันมาตลอด) แต่ผลของการสำรวจข้างต้นก่อให้เกิดคำถามขึ้นว่าเอาเข้าจริงแล้ว ตุรกีเองมีความต้องการจะเข้าเป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปหรือไม่ในปัจจุบัน ในเมื่อวันนี้แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกภาพของประชาคมยุโรป ตุรกีเองก็มีความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างเป็นที่น่าพอใจอยู่แล้ว ซึ่งดูจะสวนทางกับประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปด้วยซ้ำที่กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ในขณะที่พรรค AKP ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเป็นพรรคที่มีรากฐานจากอนาโตเลีย มี ความคุ้นเคยและใกล้ชิดกับความเป็นอิสลามมากกว่า ดูจะพอใจที่ได้แผ่อิทธิพลไปยังประเทศอาหรับในตะวันออกกลาง (รวมทั้งเอเชียกลาง) และเข้าไปมีบทบาทสำคัญในหลาย ๆ มิติในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ
นี่จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการเมืองอิสลามในโลกมุสลิมที่ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการเคลื่อนไหวและรูปแบบกิจกรรมเพื่อความอยู่รอดในสภาพการเมืองที่แนวคิดเสรีนิยมเข้ามายึดกุมพื้นที่ไว้เกือบทั้งหมด
นักวิชาการบางคนสรุปว่า ภายใต้การนำของพรรค AKP ระบบการเมืองตุรกีได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการผสมผสานที่ลงตัวอย่างน่าสนใจระหว่างการมีประชาธิปไตยเสรีนิยมภายใต้ระบบพรรคการเมืองและรัฐสภา กับการคงไว้ซึ่งหลักการศาสนาตามวิถีแห่ง “อิสลามการเมือง” ยุคใหม่
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
เข้าใจการเมืองในกลุ่มประเทศ GCC (1) : การเมืองว่าด้วยความชอบธรรม
เข้าใจการเมืองในกลุ่มประเทศ GCC (2) : ทำไมเยเมนจึงไม่ถูกรวมเป็นสมาชิกกลุ่ม GCC ?
ทำความเข้าใจการเมืองของกลุ่มประเทศ GCC (3) : “Rentier States”
เข้าใจการเมืองในกลุ่มประเทศ GCC (4) : กลุ่มประเทศ GCC กับกระแสอาหรับสปริง
เข้าใจการเมืองของกลุ่มประเทศ GCC (5) : ทำไมราชาธิปไตยในกลุ่มประเทศ GCC จึงดำรงอยู่อย่างมั่นคง?
เข้าใจการเมืองในกลุ่มประเทศ GCC (6) : ขบวนการภราดรภาพมุสลิม