Skip to main content

คปต.เตรียมมอบ 50 ล้านบาท สนับสนุนภาคประชาสังคมแก้ปัญหาภาคใต้

มารียัม อัฮหมัด
ปัตตานี
TH-violence-1000
เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด ตรวจสอบจุดเกิดเหตุอาร์เคเคลอบโจมตีทหารพราน บนถนนในพื้นที่หมู่บ้านรือเปาะ นราธิวาส วันที่ 9 สิงหาคม 2560
 มาตาฮารี อิสมาแอ/เบนาร์นิวส์
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในวันจันทร์ (14 สิงหาคม 2560) นี้ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ในฐานะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ได้เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการการมอบเงินช่วยเหลือจากรัฐ มูลค่ารวม 50 ล้านบาท และกิจกรรมจัดอบรมให้แก่องค์กรภาคประชาสังคม ที่ต้องการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อสนับสนุนการทำงานระหว่างรัฐกับประชาชน โดยใช้สันติวิธีแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จังหวัดปัตตานี

พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ผู้แทนคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต. ส่วนหน้า) เปิดเผยว่า การมอบเงินสนับสนุน และจัดอบรมภาคประชาชนครั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาและพัฒนาโครงการของรัฐบาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้

“ภาคประชาสังคมเป็นรอยต่อระหว่างรัฐกับประชาชน จึงเสนอโครงการให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศชาติได้ เพราะประชาชนมีความไว้วางใจเชื่อใจกับภาคประชาสังคมการมีปฎิสัมพันธ์ที่ดีกับภาคประชาสังคม จะเป็นเรื่องที่ดีในการแก้ปัญหาในพื้นที่” พล.อ.อุดมชัยกล่าว

กิจกรรมของโครงการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งนี้ จัดขึ้นที่โรงแรมซี.เอส. ปัตตานี โดยเป็นการจัดอบรมให้แก่องค์กรภาคเอกชนที่ต้องการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเสนอโครงการเพื่อรับเงินสนับสนุน โดยมีตัวแทนจากองค์กรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมกว่า 500 องค์กร ซึ่งเงินสนับสนุนของโครงการนี้มีมูลค่ารวม 50 ล้านบาท จะจ่ายให้กับภาคเอกชนที่รัฐบาลพิจารณาเห็นว่ามีความพร้อมและความตั้งใจที่จะร่วมแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า โครงการนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง ศอ.บต. และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยจะดำเนินการระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม 2560 ในวงเงิน 100,000-1,000,000 บาทต่อองค์กร

“การแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลายองค์ประกอบ ดังนั้นเราจำเป็นต้องหาผู้ที่มีความรู้แต่ละด้านในการเข้ามาร่วมแก้ปัญหา วันนี้มีองค์กรภาคประชาสังคมกว่า 500 กว่าองค์กร ที่มาร่วมขอสนับสนุน สามารถเลือกทำงานเพื่อพัฒนาพื้นที่ได้ตามประเด็นที่ถนัด อะไรที่รัฐทำแล้วยังตกบกพร่อง กลุ่มเหล่านี้สามารถชี้แนะ และร่วมขับเคลื่อนได้เลย เพื่อความสันติสุขที่ยั่งยืนในพื้นที่” นายไกรศรกล่าว

“กิจกรรมครั้งนี้สามารถตอบโจทย์งานที่ประชารัฐทำมากขึ้น ลดความรุนแรงให้มาใช้สันติวิธี และรัฐต้องการให้มีส่วนร่วมในการสร้างความเข้าใจสิ่งที่รัฐทำมาทั้งหมด วันนี้ เราใช้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานตรงนี้” นายไกรศรระบุ

นายไกรศร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรอบการทำงานสำหรับองค์กรภาคประชาชนที่ต้องการของบสนับสนุนงบประมาณดังนี้ 1. งานการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  2. งานอำนวยความยุติธรรม 3. งานการสร้างความเข้าใจทั้งในและนอกพื้นที่และต่างประเทศ 4. งานการศึกษา ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม 5. งานการพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ และคุณภาพชีวิตของประชาชน  6. งานการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี 7. งานการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน 8. การขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2560-2562 9. งานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และ 10. งานพัฒนาสร้างศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคม

นายอาแว สูจา ชาวจังหวัดปัตตานี แสดงความคิดเห็นต่อโครงการสนับสนุนของรัฐบาลโครงการนี้ว่า เป็นเรื่องดีที่รัฐและประชาชนจะร่วมกันแก้ปัญหา แต่อยากให้นำข้อเสนอแนะจากคนในพื้นที่เข้าไปปรับใช้กับโครงการด้วย

“จะเป็นก้าวแรกที่ดีหากทั้งภาครัฐ และภาคประชาสังคมในพื้นที่หันหน้าทำงานในพื้นที่ด้วยความจริงใจ เพื่อเป้าหมายความสงบสุขของประชาชน ไม่ได้ใช้เงินเพื่อดึงพรรคพวกให้มาร่วมงานเท่านั้น ดีใจกับภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนงานเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง แต่ขออย่าทำตามจินตนาการในห้องแอร์ที่ประชาชนไม่ได้อะไร” นายอาแวกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายรักชาติ สุวรรณ ประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ที่เป็นหนึ่งกลุ่มประชาสังคม กล่าวว่า รัฐบาลยังรวบอำนาจในการจัดการโครงการในพื้นที่มากเกินไป

"ฟังปัญหาจากชาวบ้าน ที่นอกเหนือจากความมั่นคงในพื่นที่ๆ ไม่มีเหตุการณ์ กลับพบปัญหาที่มาจากโครงสร้างในกรอบอำนาจของรัฐ แม้แต่ข้าราชการที่ติดกับดักความมีอำนาจติดกับดักในชื่อของตำแหน่ง" นายรักชาติกล่าว

สำหรับความคืบหน้าในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยนำร่องนั้น เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพุดคุยเพื่อสันติสุข ได้เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ฝ่ายผู้เห็นต่างมาราปาตานี ได้เสนอรายชื่ออำเภอ 5 อำเภอ เพื่อให้ฝ่ายไทยได้คัดเลือกเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” แล้ว ซึ่งฝ่ายคณะทำงานของไทยจะได้คัดเลือกอำเภอเป้าหมายหนึ่งอำเภอต่อไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความไว้วางใจในกระบวนการพูดคุยสันติสุข

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/news/TH-peace-funding-08142017122354.html