Skip to main content

 

ปักหมุดหมาย: การขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพปาตานี/ชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย จำเป็นต้องฟังและดึงเสียงจากประชาชนรากหญ้าทุกกลุ่มขึ้นมาเพื่อร่วมกำหนดชะตากรรมของของตนเองในอนาคต ซึ่งวิทยุท้องถิ่น วิทยุชุมชนเป็นสื่อที่อยู่ใกล้ชิด เข้าถึงประชาชนมากที่สุดและเป็นช่องทางสำคัญในการทำหน้าที่นั้น การค้นหา การทำให้ "สื่อสันติภาพในระดับชุมชน" ปรากฎตัว และทำให้เขาและองค์กรเหล่านี้รวมตัวกันเป็น 'เครือข่ายวิทยุชุมชนชายแดนใต้' (Deep South Community Radio Network - DSR) และทำงานร่วมกันในการฟัง เปิดพื้นที่กลางการพูดคุย และดึงเสียงของ "คนใน" ออกมา พลังเหล่านี้จะกลายเป็นจักรสำคัญในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี

"ซาฮารี เจ๊ะหลง": วิทยุ ‘Bicara Patani’ คุยทุกเรื่องที่คนปาตานีต้องการ

โซเรดา หะยีมะสา 

 

         โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) สัมภาษณ์นายซาฮารี เจ๊ะหลง นักจัดรายการวิทยุ ‘Bicara Patani’ เผยคุยทุกเรื่องที่คนปาตานีต้องการ เพื่อความเป็นหนึ่งของคนปาตานี ที่หมายรวมถึงคนมุสลิม พุทธ จีนและคริสต์ในชายแดนใต้

          โดยนายซาฮารี พูดถึงรายการวิทยุที่ตัวเองรับผิดชอบซึ่งเชื่อมโยงกับงานขับเคลื่อนในพื้นที่ด้วย “ผมจัด 2 รายการ คือ รายการ Bicara Mingguan ทางสถานีวิทยุ ซูวารอมัจลิส ของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี คลื่น FM93.75 MHz ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-11.00 น. และรายการ Bicara Patani ทางสถานีวิทยุ Media Selatan ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 20.00-21.00 น.”

          “สำหรับรายการว่า Bicara Mingguan เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องเบาๆ และการสรุปข่าวในรอบสัปดาห์ บางช่วงนำเสนอเรื่องการลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ ในนามสำนักข่าว Wartani และอาสาสมัครเครือข่ายวิทยุ ในรายการเน้นการสื่อสารสองทาง โดยผู้ฟังสามารถโทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็นในรายการได้”

          ซาฮารี บอกว่ารายการ Bicara Patani มีนักจัดรายการ 2 คน คือ ตนเองกับนายตูแวดานียา ตูแวแมแง สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) เนื้อหารายการค่อนข้างหนัก เน้นการวิเคราะห์สถานการณ์ภาคใต้ ความรุนแรง สันติภาพ ประวัติศาสตร์ และทุกเรื่องที่เป็นความต้องการของคนปาตานี

          “รายการนี้แบ่งเป็น 2 ช่วง คือครึ่งชั่วโมงแรกเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ จากนั้นครึ่งชั่วโมงหลัง เปิดโอกาสให้ผู้ฟังโทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็น เมื่อเนื้อหาเป็นเรื่องหนักๆ แน่นอนคนก็ย่อมแสดงความเห็นหนักๆไปด้วย บางคนพูดถึงเรื่องเอกราชผ่านรายการเลยก็มี”

          “จุดประสงค์ของรายการนี้มี 3 ประการ คือ 1.การกระจายข้อมูลข่าวสาร ซึ่งกลุ่มผู้ฟังส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป 2.เป็นการเปิดพื้นที่กลางหรือพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ 3.สร้างความเป็นหนึ่งเดียวให้ชาวปาตานี ตามสโลแกน Satu Patani” ชายหนุ่มเล่าให้ฟังถึงแนวคิดการขับเคลื่อนการสร้างความเปลี่ยนแปลงท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี และให้ความชัดเจนเพิ่มขึ้น

          “Satu Patani หมายถึงความเป็นหนึ่งทั้งคนมุสลิม พุทธ จีนและคริสต์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหนึ่งเดียวทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ ประเพณี วิถีชีวิต ที่ไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น หรือที่เรียกว่าชาวปาตานี หรือ Patanian”

           “แน่นอนว่ารายการ Bicara Patani เชื่อมกับเวที Bicara Patani ที่จัดตามพื้นที่ต่างๆ และไม่ใช่แค่พูดเรื่องสันติภาพอย่างเดียว แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนปาตานีสามารถพูดได้ทุกเรื่องที่พูดได้ เช่น เรื่องความไม่เป็นธรรม สิทธิ การกำหนดอนาคต การวางวิสัยทัศน์ และกำหนดชะตากรรมร่วมกันของคนปาตานี เป็นต้น” ซาฮารี เล่าให้ฟังถึงความมุ่งมั่นในกลุ่มเพื่อนและเครือข่ายที่ทำงานร่วมกัน.

0000000000000000000000

บทสัมภาษณ์พิเศษนี้เผยพร่ครั้งแรกที่โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้
ติดตามอ่านสัมภาษณ์พิเศษ "เสียงสันติภาพ" เครือข่ายวิทยุชุมชนชายแดนใต้ได้ ดังนี้