Skip to main content

ศูนย์ทรัพยากรสันติภาพ (PRC) ขอแนะนำหนังสือที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและสันติภาพสำหรับผู้สนใจ โดยจะทยอยนำเสนอเป็นตอนๆ ต่อไป

ชื่อหนังสือ : รัฐศาสตร์ไม่ฆ่า

ผู้เขียน :  ศาสตราจารย์เกล็น ดี. เพจ 

ผู้แปล : ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

หนังสือเล่มนี้มีคุณูปการต่อความก้าวหน้าของสันติวิธีและสันติภาพในคริสศตวรรษที่ 21 นี้ ศาสตราจารย์เกล็น ดี. เพจ  อธิบายไว้ในหน้าแรกของหนังสือว่า สังคมที่ปลอดจากการฆ่าเป็นสังคมที่ 1) ปราศจากการฆ่าฟันมนุษย์ 2) ปราศจากการขู่คุกคามว่าจะฆ่า 3) ปราศจากอาวุธที่ออกแบบมาให้ฆ่าผู้คน 4) ปราศจากเหตุผลรองรับให้กับการฆ่า และ 5) ปราศจากเงื่อนไขในสังคมที่มุ่งรักษาหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งใด ได้ด้วยการฆ่าฟังหรือขู่คุกคามว่าจะฆ่า

คำถามที่ตามมา คือ “สังคมที่ปลอดจากการฆ่ากันเป็นไปได้หรือไม่?  รัฐศาสตร์ไม่ฆ่าต้องเผชิญกับคำถามนี้และหนังสือเล่มนี้พยายามอภิปรายเนื้อหาในรายละเอียด โดยมีบทตอน ดังนี้

บทที่ 1  สังคมที่ปราศจากการฆ่านั้นเป็นไปได้หรือ?

บทที่ 2  ความสามารถเกิดสังคมปลอดการฆ่า

บทที่ 3   ความหมายต่อวิชารัฐศาสตร์

บทที่ 4   ผลต่อการแก้ปัญหา

บทที่ 5   ความเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบัน

บทที่ 6  รัฐศาสตร์โลกไม่ฆ่า

ดังนั้นรัฐศาสตร์ที่ไม่ฆ่าต้องเป็นรัฐศาตร์ที่เน้นการมีส่วนร่วมเพราะไม่มีสาขาวิชาใด อาชีพใด หรือสังคมใดที่จะมีปัญญาญาณ ทักษะและทรัพยากรที่จำเป็นอย่างพร้อมมูลไปหมด ทุกคนมีคุณค่าในฐานะมนุษย์ที่มีศักยภาพสร้างโลกที่ปราศจากการฆ่า การยุติความโหดร้ายในโลกจึงหมายถึง การเปลี่ยนแปลงรัฐศาสตร์ที่ยอมรับการฆ่าสู่ความเป็นศาสตร์ที่ไม่ฆ่า วิชารัฐศาสตร์ไม่ฆ่าจึงมีความเป็นไปได้แน่นอน

ชื่อหนังสือ : พลังแห่งสันติวิธี: การยุติปัญหาความขัดแย้งในรอบศตวรรษ

ผู้แต่ง: ปีเตอร์ แอ็คเคอร์แมน และ แจ็ค ดูวาลล์

ผู้แปล: ดรุณี แซ่ลิ่ว และ เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์

ในหนังสือได้กล่าวถึงว่า ชัยชนะไม่จำเป็นต้องเกิดจากอาวุธที่เหนือกว่าหรือมากกว่าเสมอไป บทเรียนจากขบวนการสันติวิธีทั่วโลกได้ชี้ว่า แม้ประชาชนต่อสู้ด้วยมือเปล่าก็สามารถบีบบังคับให้รัฐบาลที่ทรงพลังต้องยินยอม โอนอ่อนผ่อนตาม ทั้งนี้เพราะถึงที่สุดแล้ว ทุกรัฐบาลไม่เว้นแม้แต่รัฐบาลเผด็จการหรือผู้ปกครองอาณานิคม อยู่ได้ก็ด้วยความยินยอมของประชาชน รัฐบาลที่ถูกปฏิเสธหรือคว่ำบาตรจากประชาชนย่อมตั้งอยู่ไม่ได้

พลังแห่งสันติวิธี ให้รายละเอียดเกี่ยวกับพลวัตและพัฒนาการของการต่อสู้ด้วยสันติวิธีเกือบ 20 กรณี ซึ่งมีความแตกต่างทั้งในด้านยุทธวิธีและผลลัพธ์ ชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายของขบวนการสันติวิธี ขณะเดียวกันได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จและล้มเหลวของขบวนการเหล่านี้ จึงไม่เพียงช่วยให้เกิดความเข้าใจในความเป็นไปของโลกในศตวรรษที่แล้วเท่านั้น หากยังเป็นประโยชน์สำหรับผู้ปรารถนาขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองด้วยสันติวิธีอีกด้วย