Skip to main content

ข้อเสนอการสร้างพื้นที่ปลอดภัย:

โอกาส ข้อท้าทาย ความหวังในการสร้างสันติภาพชายแดนใต้/ ปาตานี

 

สุวรา แก้วนุ้ย อาจารย์นักวิจัย

สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ม.อ.ปัตตานี

 

ภาพ : กิจกรรมเดินรณรงค์เพื่อสันติภาพ เพื่อผลักดันประเด็น "พื้นที่สาธารณปลอดภัยต้องอยู่บนโต๊ะพูดคุย"

ถ่ายโดย Mattanee Juenara

 

เหตุผลต้นเรื่องของข้อเสนอการสร้างพื้นที่ปลอดภัย

 

ภายใต้เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ประทุขึ้นในปี 2547 ยังเป็นความขัดแย้งที่ยึดเยื้อเรื้อรัง ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึงเดือนมีนาคม 2559 มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นกว่า 15,500 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกันประมาณ 18,654 คน ในบรรดาผู้เสียชีวิต 6,613 คน ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม 3,891 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 58.81 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด โดยเป็นผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวพุทธ 2,543 คนหรือประมาณร้อยละ 38.45 ในทางตรงข้าม ในบรรดาผู้บาดเจ็บประมาณ 12,041 คน ส่วนใหญ่จะเป็นคนพุทธจำนวนประมาณ 7,154 คน หรือร้อยละ 59.41 และเป็นคนมุสลิม 3,907 คน หรือ ประมาณร้อยละ 32.45

จากสถานการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบที่เกิดขึ้นนี้ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่มในพื้นที่ ซึ่งหากพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ในพื้นที่ พบว่าผลกระทบจากเหตุการณ์มีทั้งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม อันประกอบด้วย การเสียชีวิตและบาดเจ็บ ความเป็นผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย (คนพิการ) การตกเป็นผู้ต้องสงสัย ถูกดำเนินคดีและคุมขัง การถูกพลัดพรากจากครอบครัวในกรณีที่คนในครอบครัวถูกกล่าวหาว่าเห็นต่างจากรัฐ และเด็กต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าจากการสูญเสียบุคคลในครอบครัว โดยประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งและความรุนแรง จะมีผลกระทบทางจิตใจที่อาจจะนำไปสู่ภาวะความซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล หรือแม้แต่การใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหาอีกด้วย

หลังจากที่ได้คลำหาทางออกมาหลายวิถีทาง ทั้งการใช้มาตรการความรุนแรง มาตรการทางการทหารและทางการเมือง ในช่วงที่ผ่านมาทุกฝ่าย ก็ได้ให้หันมาให้ความสำคัญต่อการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีการและกระบวนการสันติภาพ/สันติสุข ซึ่งทำให้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นวาระนโยบายระดับชาติซึ่งได้รับความสนใจ จากประชาคมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ โดยกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลและกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐภายใต้ภาพใหญ่ของความพยายามสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี ปรากฏตัวอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการแก้ไขปัญหาที่มุ่งสู่การใช้สันติวิธีอย่างเป็นรูปธรรม โดยตั้งอยู่บนฐานคิดที่จะทำความเข้าใจถึงมุมมองและความต้องการของกันและกันเพื่อปูทางสู่หาแสวงหาทางออกที่พอยอมรับกันได้

กระบวนการพูดคุยสันติภาพในช่วงปีแรกที่ดำเนินการโดย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยและขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani -- BRN ) โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้ประสานงานและมีการพูดคุยอย่างเป็นทางการจํานวน 3 ครั้ง แต่กระบวนการเจรจาในรัฐบาลนี้ได้หยุดชะงักลงเพราะสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง  อย่างไรก็ดี ในช่วงของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้มีการสานต่อนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างคณะผู้แทนรัฐบาลไทยกับสภาชูรอแห่งปาตานี (MARA Patani)

มีข้อสังเกตว่าภายหลังกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข เหตุการณ์ในความขัดแย้งในพื้นที่มีแนวโน้มลดลง แต่อย่างไรความขัดแย้งก็ยังคงดำรงอยู่ และผลกระทบส่วนใหญ่ยังตกอยู่กับประชาชนหรือพลเรือนในพื้นที่ ด้วยเหตุผลของความสูญเสียและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทุกผู้คนในพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชน และภาคประชาสังคมพูดถึงประเด็นความปลอดภัยของประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้คนมีความรู้สึกร่วมกันว่าความขัดแย้งจะต้องหาทางออกด้วยวิธีการสันติวิธี  โดยข้อเสนอต่อทุกฝ่ายในความขัดแย้ง ที่มีการเรียกร้องมาตลอดและอาจเป็นข้อเรียกร้องตลอดไปในสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่นี้ คือ การจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัย หรือ Safety Zone ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปราศจากความรุนแรง มีความปลอดภัยและความสบายใจในการดำเนินชีวิต

 

แนวคิดพื้นฐานในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย

 

พื้นที่ปลอดภัย ในภาษาอังกฤษอาจมีการเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น เป็น peace zones, safe zones, demilitarized zones, protected zones และ safety zone ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการกำหนดนิยามในแต่ละบริบทตามเป้าหมายและความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยพื้นที่ปลอดภัยนั้นมีความหมายกว้างและยืดหยุ่นมากกว่า “พื้นที่หยุดยิง” และมีขอบเขตการทำงานที่กว้าง เนื่องจากพื้นที่หยุดยิง ต้องมีการข้อตกลงชัดเจน และอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพื้นที่ปลอดภัย เมื่อพิจารณาเรื่องพื้นที่ปลอดภัย ข้อสำคัญในการจัดทำข้อเสนอนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจให้กับคู่ขัดแย้งหลักทั้งสองฝ่าย และประชาชนในพื้นที่ ความหมายกว้างๆ ของพื้นที่ปลอดภัย หมายถึง พื้นที่ที่ปราศจากความรุนแรงในพื้นที่ขัดแย้ง (ความปลอดภัยที่อยู่ในพื้นที่สงคราม) ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่ให้เรารู้สึกปลอดภัยทางกายภาพเท่านั้น แต่รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมของผู้คนในที่นั้นๆ ให้เอื้อต่อการสร้างความปลอดภัยและความสบายใจในการดำเนินชีวิต และการแสดงความคิดเห็นด้วย

จากการศึกษาถึงข้อเสนอในการจัดทำพื้นที่ปลอดภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ ปาตานี โดยส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อสร้างสภาพความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย ให้ประชาชนพลเรือนได้มีโอกาสใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะได้อย่างปกติสุข โดยไม่ต้องเผชิญกับความหวาดกลัว ความหวาดระแวงและความสูญเสียอีกต่อไป และเป็นมาตรการที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้คนในสังคม รวมถึงทุกฝ่ายที่มีความเกี่ยวข้องกับการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขด้วย

 

โอกาสในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่เป็นรูปธรรม

 

หากย้อนทบทวนถึงความพยายามในการผลักดันการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ ปาตานี ก็มีมาหลายครั้ง ช่วงแรกที่ปรากฎชัดเจนขึ้น ได้แก่ช่วงปี 2554 โดยในปีนั้นได้มีการกำหนดพื้นที่หยุดยิง ในอำเภอยี่งอ อำเภอบาเจาะ และอำเภอเจาะไอร้อง ระหว่างรัฐ กับกลุ่มผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ (ในขณะนั้นคือ กลุ่ม PLML) ซึ่งคณะพูดคุยทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าเหตุการณ์ความรุนแรงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่หน่วยงานฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ไม่ยืนยันได้ว่าเหตุการณ์ในพื้นที่ลดลง

นอกจากนี้ ในปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่มีการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ ทางฝ่ายรัฐไทยและกลุ่มผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ (ในขณะนั้นคือ กลุ่มขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี /Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani -- BRN) ได้มีการร่วมกันริเริ่มสันติภาพแห่งเดือนรอมฎอน (Ramadan Peace Initiative) เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 มาตรการการลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอนในครั้งนั้น ถือเป็นครั้งแรกที่การริเริ่มลดการใช้ความรุนแรงได้เปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งแม้จะเป็นสัญญาณที่ดีในตอนเริ่มแรก แต่กลับต้องประสบกับความล้มเหลวในเวลาต่อมา แต่ในมุมของสถิติการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง พบว่า ความรุนแรงต่อเป้าหมายพลเรือนผู้บริสุทธิ์ หรือ “เป้าหมายอ่อน (soft targets)” และเขตพื้นที่ชุมชนเมือง ได้ลดลงอย่างชัดเจนในช่วงประมาณสิบวันหลังจากที่คู่ขัดแย้ง

ในสถานการณ์ปัจจุบันหากพิจารณาถึงโอกาสในการจัดทำนโยบายพื้นที่ปลอดภัย หรือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่เป็นรูปธรรมและถูกยอมรับจากทุกฝ่ายก็พบว่ามีสัญญาณเชิงบวกปรากฎให้เห็นชัดขึ้น โดยวันที่ 2 ก.ย. 2559 นี้ จะมีการสานต่อการพูดคุยเพื่อสันติสุขระหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ สภาชูรอแห่งปาตานี (MARA PATANI) ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งในการพูดคุยจะต้องมีความคืบหน้าของกรอบการพูดคุยหรือ TOR ของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในกรอบการพูดคุยร่วมกันแล้ว การพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขก็จะเดินหน้าต่อไปได้ในประเด็นสำคัญๆ ได้ ซึ่งมีโอกาสที่ข้อเสนอของประชาชนในเรื่องพื้นที่ปลอดภัย จะถูกบรรจุเป็นวาระสำคัญในการพูดคุยครั้งนี้ด้วยเนื่องจากเป็นข้อเสนอในกรอบการพูดคุยของฝ่ายรัฐไทย และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้ส่งสัญญาณไปในทางเดียวกันมาอย่างต่อเนื่องว่ามีความรู้สึกกังวลต่อเรื่องความปลอดภัย และคาดหวังว่าหากการพูดคุยเดินไปได้ก็จะส่งผลให้ความรุนแรงลดลงและร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่เป็นรูปธรรม

 

ข้อท้าทายในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย

 

ประเด็นที่น่าสนใจที่อาจเป็นข้อท้าทายในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย มีดังนี้

- การดำเนินมาตรการพื้นที่ปลอดภัยต้องมีความตกลงระหว่างฝ่ายที่มีความขัดแย้ง และเป็นเจตนาของทั้งทั้งสองฝ่าย (ตั้งใจให้เกิดขึ้น) โดยต้องกำหนดเป้าหมาย ขอบเขต และระยะเวลาที่แน่นอน ดังนั้นการให้นิยามความหมายของคำว่าพื้นที่ปลอดภัย/ เขตปลอดภัย ช่วงเวลา สถานที่ พื้นที่ เป้าหมาย ต้องเป็นที่ชัดเจน โดยคู่ขัดแย้งต้องมององค์ประกอบเหล่านี้ไปในทางเดียวกัน และ Party A และ Party B ควรมีแรงจูงใจ หรือความต้องการที่เข้าร่วมการจัดทำพื้นที่ปลอดภัยเหมือนกันหรือไปในทางเดียวกัน ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีวาระซ่อนเร้นในการเข้าร่วมการทำงานด้วยกันก็มีความยากที่จะเกิดผลสำเร็จ

- การสร้างพื้นที่ปลอดภัยเป็นปฏิบัติการที่สามารถทำแบบเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยก็ได้ แต่ต้องมาจากความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย ดังนั้น ทีมเจรจาที่เข้าไปเป็นตัวแทนของคู่ขัดแย้ง ต้องเป็นตัวแทนอย่างแท้จริง รวมถึงต้องเป็นตัวแทนที่ครอบคลุมทุกฝ่ายของความขัดแย้ง โดยแต่ละฝ่ายที่เข้าร่วมการจัดทำพื้นที่ปลอดภัยจะต้องควบคุมกองกำลังติดอาวุธได้ เนื่องจากข้อตกลงบางประการที่เกิดขึ้นจะมีความเชื่อมโยงไปยังกองกำลัง

- การดำเนินมาตรการพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) ต้องมีข้อตกลงในการดำเนินงาน และมีทีมในการประเมินติดตาม เฝ้าระวัง เพื่อติดตามผลการดำเนินงานว่าข้อตกลงเป็นไปตามที่คุยกันไว้หรือไม่ ซึ่งทีมในการประเมินอาจจะมาจากคู่ขัดแย้งหลักร่วมกับฝ่ายที่สาม ที่เป็นภาคประชาสังคม/ ประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นข้อตกลงในการจัดทำพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าว ต้องได้รับการสนับสนุนและการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง และกลุ่มต่างๆ ที่สำคัญอย่างกว้างขวาง

- การปฏิบัติการในบางเงื่อนไขสามารถเกิดขึ้นจากความตั้งใจฝ่ายเดียวก็เป็นได้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงเป้าหมาย การแสดงเจตจำนงค์ต่อสังคม แต่อย่างไรก็ตามควรเป็นการดำเนินงานที่มุ่งเน้นให้เกิดการสร้างความไว้วางใจ และเชื่อมั่นต่อการการพัฒนาวาระในการจัดทำพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าวร่วมกัน

- พื้นที่ปลอดภัย สามารถดำเนินการได้ในมิติต่างๆ จึงต้องมีการกำหนดที่ชัดเจน ดังนี้

·       มิติที่เชื่อมโยงกับทางภูมิศาสตร์ คือ การกำหนดพื้นที่หรือขนาดของพื้นที่ในการดำเนินงาน เช่น การกำหนดพื้นที่ปลอดภัยระดับตำบล อำเภอ  การกำหนดสถานที่ปลอดภัย อาทิ โรงเรียน วัด มัสยิด โรงพยาบาล ตลาด

·       มิติที่เชื่อมโยงกับบุคคลปลอดภัย เช่น แพทย์ พยาบาล เด็ก ผู้หญิง ผู้นำศาสนา

·       มิติที่เชื่อมโยงกับห้วงเวลาปลอดภัย เช่น ห้วงเวลาต่างๆ ที่สำคัญกับศาสนา

 

การสร้างพื้นที่ปลอดภัย การสร้างความหวังในการสร้างสันติภาพชายแดนใต้

 

การริเริ่มการสร้างพื้นที่ปลอดภัยของภาคประชาสังคม ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้/ ปาตานีที่ผ่านมา นับเป็นแนวทางสำคัญในการเปิดพื้นที่ให้ทุกผู้คนในสังคมมามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพอย่างแท้จริง ซึ่งการดำเนินการในส่วนนี้ได้ส่งผลให้ประชาชนมีความรู้สึกร่วมที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกันอันจะนำไปสู่ความสุขของประชาชนที่มากขึ้น สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันแม้ว่าการพูดคุยสันติภาพ/การพูดคุยเพื่อสันติสุขระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้เห็นต่างกำลังได้รับการรื้อฟื้นอย่างจริงจัง แต่ก็ยังมีเรื่องท้าทายอยู่อีกไม่น้อย ที่สำคัญการสร้างสันติภาพที่จำกัดการใช้ความรุนแรงนั้นต้องอาศัยความร่วมมือของผู้คนในสังคมอย่างกว้างขวาง การจะทำให้กระบวนการสันติภาพสามารถแสวงหาทางออกที่ยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องดึงผู้คนให้ก้าวเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และสร้างเครือข่ายที่ร่วมกันทำงานในรูปแบบ “safety net”  ด้วยเหตุนี้ การให้ความสนใจเสียงของผู้คนในพื้นที่ ซึ่งสะท้อนความคิดเห็น ความต้องการ และความ กังวลใจจะมีส่วนในการประเมินสถานการณ์และความเป็นไปได้ในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ โดยส่วนสำคัญที่จะคอยค้ำจุนในกระบวนการเดินหน้าไปอย่างมีความหมายต่อคนทุก กลุ่ม ตลอดจนสร้างแรงเหวี่ยงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สอดรับกับความต้องการและความเป็นจริงมากที่สุด

 

เอกสารอ้างอิง

1.       ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี. (2559). 19 ประเด็นกับความแปรปรวนที่เป็นพิษ: บทวิเคราะห์สถานการณ์ชายแดนใต้ในวันที่สภาวะคงที่กำลังเปลี่ยนไป. สืบค้นจาก http://www.deepsouthwatch.org/node/8580

2.       ฐานข้อมูลเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้” (Deep South Incident Database). (เมษายน 2559). ศูนย์เฝ้าระวัง สถานการณ์ภาคใต้ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี สืบค้นจาก http://www.deepsouthwatch.org/

3.       ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และคณะ. (2558). (ร่างรายงานวิจัย) โครงการสำรวจแนวโน้มทัศนคติของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบ ความยุติธรรม ปัญหาสังคม และการสร้างสันติภาพ. สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี

4.       15 องค์กรเครือข่าย. (2559). (ร่างรายงานวิจัย) โครงการสำรวจความคิดเห็นต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Peace Survey) ครั้งที่ 1. สถาบันพระปกเกล้า

5.       คณะทำงานสร้างพื้นที่สันติภาพจากคนใน. (2557). เราจะทำให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าได้อย่างไร?. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ: บริษัทธรรมดาเพรส จำกัด

6.       สุวรา แก้วนุ้ย. (2558). พื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) ในมุมมองประชาชน. สืบค้นจาก http://www.deepsouthwatch.org/node/8355

7.       ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และ รอมฎอน ปันจอร์. (2556). ไฟใต้กับการริเริ่มสันติภาพแห่งเดือนรอมฎอน 2556: ความรุนแรงที่ยืดเยื้อจะต้องถ่วงดุลด้วยพลังสันติภาพเท่านั้น. สืบค้นจาก http://www.deepsouthwatch.org/node/4570

8.       มูฮัมหมัดอายุบ ปาทาน. (2559). ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ระบุ คนชายแดนใต้ดันวาระพื้นที่ปลอดภัยเสนอ 2 ฝ่ายคุยจริงจังบนโต๊ะเจรจาสันติภาพ. สืบค้นจาก http://www.deepsouthwatch.org/node/9351

9.       คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้.(2559). ข้อเสนอเชิงนโยบาย “พื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงชายแดนใต้” . สืบค้นจาก http://deepsouthwatch.org/sites/default/files/khesnechingnoybaayphuuenthiisaathaarnapldphaysamhrabphuuhying-smbuurn_1_0.pdf