Skip to main content

วาดความหวัง วาดความรัก วาดความฝัน ผ่าน กราฟชีวิต ของเยาวชน Hakam

               ก่อนอื่นขอเท้าความเกี่ยวกับโครงการก่อนว่า ชื่อโครงการของเรา  คือ โครงการเยาวชนต้นแบบเติมความหวังสู่สังคม หรือ Harapankampung หรือสั้นๆ คือ Hakam  ซึ่งจะมีโรงเรียนที่เข้าร่วมในโครงการทั้งหมด 6 โรงเรียนในจังหวัดยะลา โดยได้ดำเนินโครงการกับเยาวชนชั้นมัธยมต้นในระยะเวลาสามปี และแต่ละโรงเรียนก็จะต้องเสนอโครงการของตัวเอง ซึ่งปีนี้ ส่วนใหญ่โรงเรียนที่อยู่ในโครงการเลือกทำโครงการที่เกี่ยวข้องวัฒนธรรมท้องถิ่น สถานที่เด่นในท้องถิ่นของตัวเอง ได้แก่ ศาลาดูดวงจันทร์ของโรงเรียนยะหาศิรยานุกุล ,มโนราห์ของโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง 2 , ลิเกฮูลูของโรงเรียนกาบังพิทยาคม , กริชรามันของโรงเรียนรามันศิริวิทย์, กลองยาวของโรงเรียนลำพะยา และ คุกธารโตของโรงเรียนธารโตวัฑฒนวิทย์

               ภายในโครงการจะแบ่งกิจกรรมเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่ง กิจกรรมที่ดำเนินในโครงการ เช่น กิจกรรมปรับปรุงภูมิทัศน์คุกธารโต, กิจกรรมแผนที่เดินดิน, กิจกรรมพัฒนาศาลาดูดวงจันทร์ ,กิจกรรมฝึกลิเกฮูลู, กิจกรรมฝึกกลองยาว เป็นต้น

               ส่วนที่สองเป็นกิจกรรมที่เสริมทักษะด้านต่างๆให้กับเยาวชนในคาบเรียน โดยในหนึ่งสัปดาห์จะต้องลงไปในโรงเรียนเพื่อดำเนินกิจกรรมเสริมทักษะในห้องเรียน เช่น กิจกรรมเสริมทักษะด้านการนำเสนอ, กิจกรรมเสริมทักษะด้านการจับประเด็นสำคัญ, กิจกรรมเสริมทักษะการเป็นผู้นำ เป็นต้น และล่าสุดที่ได้สอนให้กับเยาวชนคือ กิจกรรมกราฟชีวิต

กิจกรรมกราฟชีวิตมีวัตถุประสงค์

-          เพื่อให้เยาวชนได้ทบทวนความสำเร็จในชีวิต

-          เพื่อให้เยาวชนเกิดแรงจูงใจในการดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายที่ดี

ขั้นตอน การเล่น

1.             แจกกระดาษให้แต่ละคน วาดเส้นตรง 1 เส้น เพื่อทำกราฟชีวิตของตนเอง ปลายข้างหนึ่งเขียนว่าเกิด และวันเกิด ปลายอีกข้างหนึ่งเขียนว่าตายและอายุที่คาดว่าจะตาย

________________________   ______________________________________________________

เกิด  มกราคม 2542                            ปัจจุบัน                                                                                  ตาย 100 ปี

2.             ให้เยาวชนทบทวนว่าตั้งแต่เกิดมามีเรื่องดีๆอะไรบ้างที่ประทับใจและในช่วงอายุเท่าไหร่ โดยวาดภาพเล็กๆและคำบรรยายประกอบตรงช่วงอายุนั้นๆด้วย

3.             ให้เยาวชนวางแผนว่าในวันข้างหน้าแต่ละช่วงอายุจะมีความสำเร็จอะไรเกิดขึ้นบ้าง เช่น อายุ 20 ได้ทำงานเป็นพยาบาล, อายุ 25 ปี เรียนจบปริญญาเอก, อายุ 30 ปี ได้เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย พ่อแม่ดีใจ

4.             เมื่อวาดกราฟชีวิตเสร็จ แบ่งกลุ่มเยาวชนกลุ่มละ 3-4 คน ให้แต่ละคนเล่าผลัดกันเล่ากราฟชีวิตของตนเองให้เพื่อนฟัง

                 กิจกรรมกราฟชีวิต ทำให้ฉันหวนคิดถึงกราฟชีวิตของตัวเองที่เคยได้วาดในสมัยมัธยมต้น จำได้ว่ามีพี่ๆจากมหาวิทยาลัยเข้ามาทำกิจกรรมในโรงเรียน และจำได้ลางๆว่า อดีต ปัจจุบัน และ อนาคตในตอนนั้น ฉันวาดอะไรไปแล้วบ้าง จนวันนี้ฉันมาเจอกับกิจกรรมนี้อีกครั้งโดยเปลี่ยนสถานะจากผู้เคยรับสาร มาเป็นผู้ส่งสาร

               กิจกรรมกราฟชีวิตนี้ทำให้ฉันรู้จักชีวิตของเยาวชนที่ทำกิจกรรมด้วยกันมากขึ้น เพราะในขณะที่ฉันหยิบกราฟชีวิตของพวกเขานำมาอ่าน ความรู้สึกมันปนเปไปหมด ทั้ง เศร้า ดีใจ ยินดี มีความหวัง และนึกถึงชีวิตของมนุษย์เรา ก็ย่อมมีขึ้น มีลง ตามกันไป ชีวิตของเยาวชนเหล่านี้ก็เช่นกัน เพียงแต่พวกเขายังเป็นผ้าขาวที่มีการแต้มสียังไม่มากพอ และรอการแต้มสีจากผู้ใหญ่และสีที่พวกเขาต้องค้นหาด้วยตัวเอง

                  แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันสนใจคือ การที่พวกเขากล้าที่จะวาดอนาคตของตัวเอง กล้าที่จะวาดความฝัน กล้าที่จะเขียนสเต็ปการใช้ชีวิตของพวกเขา สำหรับฉันมันเป็นสิ่งที่วิเศษมาก เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการสื่อสารออกมาจริงๆ  เช่น บางคนต้องการจะเป็นครู บางคนต้องการจะเป็นตำรวจ  บางคนต้องการจะเรียนด้านช่างซ่อมรถ เพื่อจะเปิดร้าน บางคนต้องการจะเรียนต่อด้านธุรกิจเพื่อกลับมาสานธุรกิจที่บ้าน  บางคนต้องการที่จะเป็นแพทย์เพื่อมากลับมาทำงานในบ้านเกิดของตัวเอง  เป็นต้น “อ่านแล้วก็อมยิ้มกันไป” ซึ่งความฝันเหล่านี้ของพวกเขาทำให้ฉันมีกำลังใจ  มีความหวัง มีความรัก ที่จะรอดูความฝันของพวกเขาต่อไป แม้ฉันเองจะรู้เต็มประดาว่า กราฟชีวิตอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่นั่นก็ไม่สำคัญไปกว่า “เยาวชนเหล่านี้มีความฝัน มีอนาคต และมีความหวัง “เราในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ คงจะต้องเนรมิตสภาพแวดล้อม และ อำนวยวิชา ให้พวกเขาต่อไป “