Skip to main content

 

เหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี ปี 2559: จังหวะในการเปลี่ยนผ่าน จากการต่อสู้ด้วย “อาวุธ” สู่แนวทาง “สันติวิธี”

 

สุวรา แก้วนุ้ย, อาจารย์นักวิจัย

สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้

 

ภาพจาก สถิติเหตุการณ์ชายแดนใต้ในรอบปี 2559

สถิติปีที่ 13 กับเหตุการณ์ความรุนแรงชายแดนใต้/ ปาตานี

เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน นับรวมระยะเวลาได้ 13 ปีเต็ม ทางคณะทำงานฐานข้อมูลเหตุการณ์ชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Incident Database- DSID) สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รวบรวมสถิติเหตุการณ์ในพื้นที่ โดยทำการรวบรวมและตรวจสอบข้อมูลจาก 4 แหล่งข่าว ได้แก่ (1) ส่วนปฏิบัติการและรับแจ้งเหตฉุกเฉิน ศูนย์ปฏิบัติการร่วม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) (2) งานการข่าว ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) (3) ศูนย์ประสานงานเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ จังหวัดยะลา และ (4) หนังสือพิมพ์/สื่อมวลชน

จากผลการรวบรวมข้อมูล ใน ปี 2559 พบว่า มีจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งสิ้น 807 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต จำนวน 307 ราย และบาดเจ็บ จำนวน 628 ราย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากสาเหตุการก่อความไม่สงบในพื้นที่ 348 เหตุการณ์ รองลงมาคือ สาเหตุที่ยังไม่ชัดเจน/ยังไม่สามารถระบุได้ 268 เหตุการณ์ โดยมีรูปแบบการก่อเหตุสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ 1) การยิง 370 เหตุการณ์ 2)การระเบิด 197 เหตุการณ์ และ 3) การก่อกวน 105 เหตุการณ์

ในปี 2559 หากจำแนกพื้นที่การก่อเหตุในระดับจังหวัด พบว่า พื้นที่ที่มีจำนวนเหตุการณ์สูงที่สุด คือ จังหวัดปัตตานี จำนวน 309 เหตุการณ์ และมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสูงที่สุด คือ เสียชีวิต 106 ราย และบาดเจ็บ 259 ราย รองลงมาคือ จังหวัดนราธิวาส มีเหตุการณ์จำนวน 270 เหตุการณ์ เสียชีวิต 97 ราย และบาดเจ็บ 210 คน จังหวัดยะลา มีจำนวน 175 เหตุการณ์ เสียชีวิต 77 คน และบาดเจ็บ 96 ราย และจังหวัดสงขลา จำนวน 53 เหตุการณ์ เสียชีวิต 27 ราย และบาดเจ็บ 63 ราย

หากจำแนกพื้นที่การก่อเหตุในระดับอำเภอ พบว่า 5 อำเภอที่มีเหตุการณ์สูงสุดได้แก่ 1) อำเภอมายอ จ.ปัตตานี และ 2) อำเภอเมืองปัตตานี จ.ปัตตานี มีเหตุการณ์เท่ากันจำนวน 43 เหตุการณ์ 3) อำเภอบันนังสตา จ.ยะลา 4) อำเภอเมืองยะลา จ.ยะลา มีเหตุการณ์เท่ากัน จำนวน 41 เหตุการณ์ และ 5) อำเภอสุไหง-โกลก จ.นราธิวาส จำนวน 39 เหตุการณ์

สถิติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในรอบปี 2559 จำแนกตามกลุ่มเป้าหมาย พบว่า กลุ่มเป้าหมายเปราะบาง (soft target) อันได้แก่ราษฎรที่เป็นพลเรือนในพื้นที่ กลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้หญิง ได้รับผลกระทบทางชีวิตสูงกว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ (hard target) โดยกลุ่มเป้าหมายเปราะบางเสียชีวิต สูงกว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ประมาณ 3 เท่า โดยกลุ่มเป้าหมายเปราะบาง เสียชีวิต จำนวน 230 ราย บาดเจ็บจำนวน 347 ราย และกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ เสียชีวิต จำนวน 77 ราย บาดเจ็บจำนวน 281 ราย

สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นในกลุ่มของผู้หญิงและผู้ชายในพื้นที่ พบว่า ผลกระทบต่อร่างกายทั้งการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ฯ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในกลุ่มของผู้ชายสูงกว่าผู้หญิง ในปี 2559 มีผู้ชายเสียชีวิต 283 ราย และได้รับบาดเจ็บ 500 ราย และผู้หญิง เสียชีวิต จำนวน 24 ราย และบาดเจ็บ 128 ราย นอกจากนี้ยัง สถานการณ์ความรุนแรงยังส่งผลให้เด็กและเยาวชนที่อายุไม่เกิน18 ปี เสียชีวิตถึง 9 ราย และ บาดเจ็บอีก 50 ราย ซึ่งทั้งเด็กและเยาวชน และกลุ่มผู้หญิงล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องการการปกป้องดูแล

มุมมองต่อความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านของกลุ่มเคลื่อนไหว

ความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม โครงสร้างและอำนาจ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ ปาตานี ได้เปลี่ยนมุมการต่อสู้ด้วยวิธีทางการเมืองในอดีต มาเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธ ก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่มากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงหลังปี 2547 ซึ่งขยายมากขึ้นจนเกิดความรุนแรงไปทั่วทุกพื้นที่

แต่ในการต่อสู้ที่มีความยืดเยื้อเรื้อรัง ก็มีเรื่องให้กลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวที่เลือกต่อสู้ด้วยอาวุธ ขบคิดมากอยู่เช่นกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ เกี่ยวกับการก่อเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น ย่อมมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบกับคนทุกคนในสังคม ซึ่งเมื่อคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเริ่มขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ ในทุกกลุ่ม ไม่เว้นใครคนใดคนหนึ่ง ไม่เว้น เด็ก ผู้หญิง คนแก่ กลุ่มคนอ่อนแออื่นๆ ไทยพุทธ มุสลิม ด้วย ซึ่งผลกระทบที่เกิดตามมาไม่ใช่เพียงความสูญเสียทางร่างกาย การตาย การบาดเจ็บ แต่มันยังส่งผลไปถึงปากท้องของชาวบ้าน ความยากจน การศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางสังคมอื่นๆ อีกด้วย เมื่อผลกระทบขยายวงกว้างออกไป บางครั้งในสิ่งที่กลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวกำลังทำ อาจจะส่งผลให้เสียมวลชนมากกว่าได้มวลชนก็เป็นได้

นอกจากนี้ ยังต้องมีการตั้งคำถามกับคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาในเส้นทางการต่อสู้ว่าจะยังมีอุดมการณ์แบบเดิมหรือไม่? หรือ คนรุ่นใหม่จะมีโอกาสเปลี่ยนไปตามกระแสโลกหรือไม่? ซึ่งโลกยุคใหม่จะเข้ามามีอิทธิพลทางความคิดได้ เพราะโลกทุกวันนี้แคบลง การติดต่อสื่อสาร การรับข่าวสารต่างๆ ง่ายขึ้น เมื่อทุกคนมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร กฎของข่าวลือเฉกเช่นในอดีตก็อาจจะไม่ได้ผลกับมวลชนรุ่นใหม่ก็เป็นไปได้

แต่การเปลี่ยนแปลงจากการต่อสู้ด้วยอาวุธไปสู่การต่อสู้ทางการเมืองอีกครั้ง อาจจะยังไม่สามารถทำได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะภายใต้ทุกความเปลี่ยนแปลงย่อมมีความไม่มั่นคงแอบซ่อนอยู่ ซึ่งอาจมาจากคำถามใหญ่ที่ต้องคิด คือ “เมื่อวางอาวุธแล้ว หยุดความรุนแรงแล้ว จะกลับมาต่อสู้ทางการเมืองหรือวิธีอื่นได้จริงหรือ จะได้ผลหรือ เขา(รัฐ)จะจริงใจ หรือไม่?” หรืออาจจะเป็นความคิดอื่นๆ อีกมากมายก็เป็นได้ ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจระหว่างคู่ขัดแย้งคงเป็นเรื่องหลักที่ต้องเร่งดำเนินการ

ความพยายามสู่การต่อสู้ในแนวทางสันติวิธี

นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2556 กระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข ระหว่างคู่ขัดแย้งหลักในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ ปาตานี คือ รัฐบาลไทยและกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ได้ปรากฏตัวอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการแก้ไขปัญหาที่มุ่งใช้สันติวิธีอย่างเป็นรูปธรรม โดยตั้งอยู่บนฐานคิดที่จะทำความเข้าใจถึงมุมมองและความต้องการของกันและกันเพื่อปูทางสู่หาแสวงหาทางออกที่พอยอมรับกันได้

กระบวนการพูดคุยสันติภาพในช่วงปีแรกที่ดำเนินการในช่วงรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยและขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani -- BRN ) ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้ประสานงานและมีการพูดคุยอย่างเป็นทางการ จํานวน 3 ครั้ง แต่กระบวนการเจรจาในรัฐบาลนี้ได้หยุดชะงักลงเพราะสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งรัฐบาลส่วนกลางได้มีการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลพลเรือน ไปสู่รัฐบาลทหาร

อย่างไรก็ดี ในช่วงของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีการสานต่อกระบวนการพุดคุยสันติภาพ/สันติสุขอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกำหนดในเชิงนโยบายในการจัดตั้งกลไกการในการสนับสนุนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตาม คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 230/2557 เรื่อง การจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุย โดยมีกลไกรับผิดชอบ 3 ระดับ คือ 1) คณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 2) คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ มี พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นประธาน 3) คณะประสานงานระดับพื้นที่ มี ผอ.รมน.ภาค 4 เป็นประธาน

ในห้วงเวลานั้น ทางกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวได้มีการจัดตั้งองค์กรร่มโดย 6 องค์กรขบวนการนักต่อสู้ปาตานีเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 โดยใช้ชื่อว่า MAJLIS SYURA PATANI (มัจลิสชูรอปาตานีหรือสภาชูรอแห่งปาตานี) หรือ MARA Patani องค์กรนี้เกิดจากการริเริ่มโดยกลุ่มเคลื่อนไหว BRN กลุ่มหนึ่งที่เริ่มการเคลื่อนไหวในนาม MAJLIS AMANAH RAKYAT PATANI (มัจลิสอะมานะหฮ์ระยัตปาตานี หรือ สภาอามานะฮ์ประชาชนปาตานี) มาตั้งแต่ 25 ตุลาคม 2557 และในวันที่ 5 มิถุนายน 2558 สภาชูรอแห่งปาตานีก็ได้มีการประกาศการจัดตั้ง MARA Patani อย่างเป็นทางการ โดยมีตัวแทนจากทั้ง 6 องค์กรเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง

ดังนั้น การพูดคุยสันติสุขรอบ 2 ก็คือการพูดคุยระหว่างคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย (ในนามฝ่าย A) กับคณะพูดคุย MARA Patani (ในนามฝ่าย B ในขณะที่รัฐบาลมาเลเซียยังคงมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกเช่นเดิม ซึ่งยังดำเนินต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

เสียงจากประชาชนหนุนการจัดการปัญหาด้วยแนวทางสันติวิธี

จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Peace Survey) ที่จัดทำโดย15 องค์กรเครือข่าย ในครั้งที่ 1 เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2559 และ ครั้งที่ 2 เมื่อช่วงเดือน กรกฎาคม - สิงหาคม 2559 การสำรวจทั้ง 2 ครั้ง พบว่า ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่สนับสนุนที่จะใช้การพูดคุยเจรจาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยหากมองไปในอีก 5 ปีข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่ต่างมีความหวังว่าจะเกิดข้อตกลงสันติภาพขึ้นได้ แต่การจัดการปัญหาต้องมาจากความตั้งใจจริงของคู่ขัดแย้ง และการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม โดยเฉพาะนักการเมือง ผู้นำศาสนาอิสลาม อุสตาซ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ประชาชนคิดว่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้กระบวนการพูดคุยประสบความสำเร็จได้

ในแง่ของการมีส่วนร่วมจากประชาชนในกระบวนการสันติภาพ พบว่า รูปแบบการมีส่วนร่วมที่ประชาชนทั่วไปมองว่าจำเป็นมากที่สุด คือ การรวมตัวกันขององค์กรภาคประชาสังคมเพื่อนำเสนอความต้องการของประชาชนต่อรัฐบาลและขบวนการบนโต๊ะพูดคุย

จากการสำรวจ 2 ครั้ง พบว่ามีประเด็นที่คิดว่าทั้งสองฝ่ายควรจะคุยกันในขณะนี้ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจชีวิตความเป็นอยู่ ประเด็นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การแก้ไขปัญหายาเสพติด และการศึกษา ส่วนมาตรการเร่งด่วนที่อยากให้รีบดำเนินการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางบวกในพื้นที่ คือ การแก้ไขปัญหายาเสพติด การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน และการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และการเยียวยาให้มีความเป็นธรรม นอกจากเรื่องเฉพาะหน้าเหล่านี้แล้ว หากต้องการจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนนั้น คนส่วนใหญ่เห็นว่าจำเป็นต้องคุยกันถึงเรื่องรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับพื้นที่ด้วย โดยสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นมากที่สุดคือ การกระจายอำนาจมากขึ้นด้วยโครงสร้างการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่นี้ภายใต้กฎหมายของประเทศไทย

บทสรุป

เมื่อพิจารณาสถิติแนวโน้มความรุนแรงในรอบ 13 ปีที่ผ่านมา พบว่า ตั้งแต่ ปี 2557 เป็นต้นมา เริ่มมีสัญญาณเชิงบวกสะท้อนให้เห็น คือ จำนวนเหตุการณ์ การเสียชีวิต และบาดเจ็บมีแนวโน้มที่ลดลง โดยจำนวนเหตุการณ์ลดลงประมาณ 2.7 เท่า เมื่อเทียบจากปีที่มีเหตุการณ์สูงสุด (ปี 2548) นอกจากนี้ผู้เสียชีวิตรายวันก็ลดลง จากประมาณ 2-3 คนในระยะแรก เป็นการประมาณการลดลงเหลือประมาณ 1 คนต่อวัน และจากที่มีผู้บาดเจ็บรายวันประมาณ 4 คน ก็มีทิศทางประมาณการลดลงเหลือ 2 คนต่อวันด้วย

การริเริ่มการจัดการปัญหาด้วยแนวทางสันติวิธีของทุกฝ่ายในช่วงที่ผ่านมา นับเป็นแนวทางสำคัญในการเปิดพื้นที่ให้ทุกผู้คนในสังคมมามีส่วนร่วมในการขยับกระบวนการสันติภาพอย่างแท้จริง ซึ่งการดำเนินการในส่วนนี้ได้ส่งผลให้ประชาชนเริ่มมีความรู้สึกร่วมที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกันอันจะนำไปสู่ความสุขของประชาชนที่มากขึ้น และหากแนวทางการพูดคุยในปี 2560 เริ่มขยับมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องพื้นที่ปลอดภัย สิ่งนี้จะเป็นส่วนสำคัญให้เกิดการสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจให้กับคู่ขัดแย้งหลักทั้งสองฝ่าย และประชาชนในพื้นที่ได้

สิ่งสำคัญอีกประการของการเปลี่ยนผ่านการต่อสู้จาก “อาวุธ” ไปสู่แนวทาง “สันติวิธี” คือ เมื่อเริ่มวิธีการต่อสู้ด้วยสันติวิธีแล้ว มีความจำเป็นจะต้องสร้างความต่อเนื่องในประเด็นต่างๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ ซึ่งประชาชน พลเรือน ภาคประชาสังคมในพื้นที่ จะต้องเป็นกลไกสำคัญที่ทำงานคล้ายกับตาข่ายนิรภัยที่โอบอุ้ม และหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ผ่านการสร้างพื้นที่ทำงานร่วมกัน การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และการสร้างโอกาสให้คู่ขัดแย้งได้ทำงานร่วมกันได้ด้วย อันจะนำไปสู่สันติภาพอย่างยั่งยืน

อ้างอิง

1. ฐานข้อมูลเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้” (Deep South Incident Database). (ธันวาคม 2559). ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี สืบค้นจาก http://www.deepsouthwatch.org/

2. คณะทำงานสร้างพื้นที่สันติภาพจากคนใน. (2557). เราจะทำให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าได้อย่างไร?. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ: บริษัทธรรมดาเพรส จำกัด

3. อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม. (2558). อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม: หนึ่งปีการพูดคุยสันติภาพ เราอยู่ตรงจุดไหน?. สืบค้นจาก http://www.deepsouthwatch.org/dsj/7940

เรียบเรียงโดย สุวรา แก้วนุ้ย, อาจารย์นักวิจัย

สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้

 

#บันทึกนึกขึ้นได้วันนี้4มกราคม