Skip to main content

 

วันนี้เป็นวันที่ 4 มกราคม 2560 หลายคนคงจะไม่อยากนับวันเวลาที่ความรุนแรงกำลังดำเนินอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ ผมเองก็ไม่ตั้งใจที่จะนับว่าปีนี้ครบปีที่13ของความรุนแรงที่มีคนตายในชายแดนใต้ เราจะจำแค่วัน เวลา จำนวนเท่าไหร่ อย่างนั้นหรือ ผมคิดว่าเรามีความทรงจำมากกว่านั้น มากกว่าว่าวันเวลา ที่ถูกบันทึกไว้ แล้วเราลืมอะไรไว้บ้างในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ผมจึงคิดเขียนความทรงของเด็กชายอายุ 14 ปี ขึ้นมา เพื่อเล่าถึงความทรงจำตนเองที่ผ่านมาว่า จำอะไรได้บ้าง ด้วยตอนนั้นผู้เขียนอายุ 14 ปีเท่านั้น

 

4 มกราคม ปะทุระกลอกใหม่ของความรุนแรง

 

วันที่ 4 มกราคม 2547 จุดกำเนิดความรุนแรงระลอกใหม่ หลังจากที่ความรุนแรงซุกอยู่ใต้พรมมานานหลายสิบปี จนกระทั่งผู้ถูกกดทับไม่อาจจะซ่อนตัวได้อีกต่อไป จนไปสู่การเลือกสรรวิธีการตอบโต้ด้วยการใช้ความรุนแรง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงดึกและเช้าของวันที่ 4 มกรคม 2547 เป็นอะไรที่งุนงงของคนทั้งชาติ ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ชายแดนใต้ มีการปล้นปืนที่ ปิเหล็ง ปืนหายไม่ต่ำกว่าร้อยกระบอก เผาโรงเรียนอีกนับสิบๆจุด และวางระเบิดในเช้าวันเดียวกันอีกหลายจุด ทั่วสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การต่อสู้ของขบวนการเปลี่ยนกลยุทธ์การต่อสู้จากบนเขาลงมาสู้ในเมือง  พื้นที่สาธารณะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว เขตอภัยทานก็ไม่เป็นดั่งเดิมอีกต่อไป

น่าเสียดายอยู่นิดหนึ่งที่คำถามเหล่านั้นหายไปอย่างรวดเร็วเมื่อ ผลของความรุนแรงที่ออกมานั้น ทำให้ทุกคนมุ่งยังความสูญเสียที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรายชื่อของเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิต จำนวนผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บทั้ง เมื่อคำถามแรกเริ่มนั้นหายไป ตามด้วยความสถิติ และคำถามใหม่ว่า ทำไมผู้ก่อเหตุถึงได้กระทำความรุนแรง โหดร้ายทารุณ ทำได้แม้กระทั่ง โรงเรียนซึ่งเป็นสถานที่คอยฟูกฟักให้เด็กๆมีสติปัญญาและเป็นพลเมืองที่ดี และมีคำถามอื่นๆมากมายๆตาม ที่น่าสนใจของคำถามเหล่านั้น คือ ใครทำ ทำไม ทำไปเพื่ออะไร และทำไมต้องทำร้าย ฆ่าชีวิตลูกชายของเราด้วย ในท้ายที่สุดผู้ที่เสียชีวิตในสภาวะแบบนั้นมักจะถูกยกย่องให้เป็น วีรบุรุษ หรือวีระสตรี เสมอ ตามด้วยญาติ พี่น้อง เพื่อนผอง และคนอื่นๆ ที่เต็มไปด้วยคำถาม ทำไมต้องเป็นลูกของเรา ทำไมต้องเป็นญาติของเรา ทำไมต้องเป็นเพื่อนของเรา ความรู้สึกที่แฝงแน่นไปด้วยความคับแค้นและเกลียดชัง (Definding) และจะเป็นเช่นนี้กับทั้งฝ่ายหรือทุกฝ่ายที่ใช้กำลังความรุนแรงต่อกัน และมองฝ่ายตรงข้ามเป็นอื่น สร้างความหวาดระแวง ปฏิสัมพันธ์ในสังคมเริ่มมีปัญหา

บางครั้งเราจะมีการแบ่งแยกระหว่างคนสองกลุ่มในหมู่บ้านเดียว อีกกลุ่มได้รับการปฏิบัติและสิทธิประโยชน์อีกย่าง กลุ่มที่เหลือได้รับในสิ่งที่แตกต่างกันสิ้นเชิงและใกล้เคียงกัน และปรากฏการณ์ในลักษณะนี้เองที่ทำให้เกิดความเข้าใจกันในวงกว้างว่า มันคือสงครามศาสนา จากความหวาดระแวง การไม่เคารพความแตกต่างกัน ทั้งวิถีชีวิต ความเชื่อ และการปฏิบัติ

 

ค่ำคืนที่เสียงไซเรนดังข้ามวัน

 

ในเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 มีการออกปฏิบัติการ ด้วยจำนวนกำลังคนหลายร้อยนาย ยิ่งสร้างความงงงวยให้แก่ประเทศไทยว่า กองกำลังขนาดนั้นมาจากไหน ไปฝึกกันมาจากที่ไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร มีทั้งเยาวชนคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นก่อนหน้าปะปนอยู่ในกองกำลังเหล่านั้นที่เผชิญหน้ากับกองกำลังของรัฐ ด้วยอาวุธพื้นที่มีอยู่ เช่น มีพร้า ขวาน และอื่นๆ ด้วยชุดกางเกงลายพราง เสื้อสีดำ รองเท้าผ้าใบ (เท่าที่ผู้เขียนจำได้) กองกำลังหลายร้อยนาย (ราวๆ200นายตัวเลขไม่แน่ชัด) แยกย้ายไปตามจุดปฏิบัติการต่างๆที่ถูกเตรียมและวางเอาไว้ว่าจะเข้าโจมตีที่จุดไหนบ้าง จุดหลักในวันนั้นคือ มัสยิดกรือเซะ

 สัญลักษณ์ของความขัดแย้ง และการกดทับทางอัตลักษณ์ที่สยาม(รัฐบาลไทย)ได้สร้างขึ้นมาโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มัสยิดกรือเซะถูกสถาปนาขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของการกดทับทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรม ซึ่งตัวมัสยิดกรือเซะเองกลายเป็นตัวต่อทางประวัติศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เล่าขานประวัติศาสตร์ในอดีตกาล และประวัติศาสตร์ร่วมสมัยว่าด้วย ศาสนสถานที่มีคนตาย และพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ถูกลบกลืนให้หายไปตามกระแสของกาลเวลา ทั้งเรื่องราวและความสำคัญในอดีตของมัสยิดกรือเซะเอง และทำให้คนรุ่นใหม่หลายคนแทบจะลืมไปแล้วว่า วันที่ 28 เมษายน 2547 ผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่าร้อยชีวิตและมีปฏิบัติการณ์หลายสิบจุดทั่วทั้งสามจังหวัดชายแดนใต้และสี่อำเภอของสงขลา มีข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันนั้น ทั้งเรื่อง เขตอภัยทาน จำนวนคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมกับปฏิบัติการณ์ ในวันนั้น ว่า มีการใช้สารเสพติดหลอกล่อ ขบวนการพาคนไปตายหรือเปล่า เยาวชนคนรุ่นใหม่กำลังคิดอะไร จนไปถึง ผู้บัญชาการกองกำลังทหารในการปะทะของปฏิบัติการณ์มัสยิดกรือเซะว่า ทำเกินเหตุไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าจะใส่แว่นอะไรในการมองก็แล้วกัน

มีการละเมิดเขตอภัยทานและพื้นที่ยกเว้นทางสงครามในการต่อสู้ แต่แล้วก็พอเข้าใจได้ว่านั่น คือส่วนหนึ่งของโครงสร้างรัฐที่กดทับอัตลักษณ์ และทำให้เกิดความเคียดแค้น จนทำให้การต่อสู้ในหนทางอื่นถูกปิดไป เหลือเพียงหนทางสุดท้ายกระนั้นหรือ ที่จะสามารถเลือกใช้ในการต่อสู้ จนนำไปสู่การถกเถียงในพื้นที่สาธารณว่า การสู้ของคนชายแดนใต้ เพื่อให้บรรลุถึงสิ่งที่ตนต้องการต้องสู้ด้วยแนวใด แนวการต่อสู้ความรุนแรงนั้นตอบโจทย์หรือไม่ หรือการต่อสู้ด้วยแนวทางอื่นจะสร้างอำนาจต่อรองได้มากน้อยเพียงใดเพื่อนำไปสู่ปลายทางที่คนชายแดนใต้ต้องการ การสั่งสมของความเคียดแค้น จากการถูกกดทับหรือไม่สามารถแสดงออกในวิถีของตนได้ คือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงและมีคนตาย ใช่หรือไม่ ถ้าไม่ใช่จะมีแรงจูงใจใดอีกเล่า

ยิ่งมองฝ่ายตรงข้ามไม่ใช่คนที่เราเมตตาอารีย์และปราณีแล้ว ยิ่งเอื้อให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น จากฐานความขัดแย้งเดิม

วิธีการเสี้ยมสอนให้คนของเรามองคนฝ่ายตรงข้ามเป็นอื่นที่ไม่อาจจะเมตตาปราณีได้แล้ว คือตัวกระตุ้นที่ทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นและขยายวงกว้างมากขึ้น ทั้งในแบบความรุนแรงอันแจ้งประจักษ์ และความรุนแรงที่มองไม่ให้ ผ่านกลไกต่างๆที่มีมากเลยทีเดียว ไม่ว่าจะผ่านการตีความผ่านหลักการศาสนา ตีความผ่านนโยบายของรัฐ และกระบวนทัศน์ของคู่ขัดแย้งหลักและประชากรทั่วไป ในปัจจุบันวิธีการและช่องทางการเสี้ยมมีมากหลายทาง ทั้งสื่อกระแสหลัก และสื่อทางเลือก นิทานก่อนนอน คำบอกเล่าและอารมณ์แค้นของผู้ที่ยังคงมีชีวิตเหลือรอดอยู่ด้วยเช่นกัน

 

ข่าวลือข่าวลวง อยุติธรรม ความตาย

 

วันที่  25 ตุลาคม  2548 คลื่นมหาชนมุ่งหน้าเข้าสู่ อ.ตากใบหนาแน่นกว่าทุก ประหนึ่งตากใบจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ

พื้นที่ตากใบ เป็นพื้นที่ขนส่งสินค้าและสามารถข้ามแดไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ง่าย คืนก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ ตากใบ วิปโยค มีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านถูกจับกุม หลังมีการปล้นปืนที่ฐานชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ในสายผู้บังคับบัญชาหรือประเทศไทย มองว่านั่นคือการสมรู้ร่วมคิดระหว่างชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านที่ไม่ยอมต่อสู้จนนาทีหรือปะทะกับคนที่มาปล้นปืน กลับปล่อยให้ผู้มาปล้นปืนสามารถปฏิบัติการได้สำเร็จ หลังจากนั้นญาติของผู้ต้องสงสัยในข้อหาสมรู้ร่วมคิดในการปล้น จึงออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยเหล่านั้น ข้อเรียกร้องนั้นไม่เป็นผล คลื่นมหาชนก็เริ่มมามากขึ้นพร้อมข่าวลือต่างๆนานา ว่า มีการแจกของมากมายที่สถานีตำรวจตากใบ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสารอาหารแห้ง ชุดนักเรียน และการละศีลอดในเดือนรอมฎอน ในตอนนั้นความคิดของผู้เขียนและตอนนี้ก็เช่นกัน ใครกันน่ะที่จะเลี้ยงอาหารละศีลที่สถานีตำรวจ เท่าที่จำความได้มีกี่เรื่องกันเชียวที่ใช้หน่วยงานรัฐฝ่ายปกครองเช่นตำรวจหรือหน่วยงานราชการอื่นๆเป็นศูนย์กลางในทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องงกับศาสนา (อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้) จนในที่สุดการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยซึ่งเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ผนวกรวมกับคลื่นมหาชนที่เข้าสัญจรไปและผู้ที่เข้าใจว่ามีกิจกรรมบางอย่างที่สถานีตำรวจตากใบรวมไปถึงผู้ที่อ้างว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ แค่มุงดูเฉยๆ แต่ก็ติดร่างแหการสลายการชุมนุมไปด้วย ณ ที่ตรงนั้นหมายถึงหน้าสถานีตำรวจตากใบ ไม่มีความผิดปกติหากจะมีคนสัญจรไปมาอย่างคึกคักยิ่งเป็นช่วงเดือนรอมฎอน เดือนที่สำคัญในศาสนาอิสลาม เดือนแห่งการพักผ่อน จับจ่ายซื้อของและเดือนแห่งการกลับบ้านของแรงงานไทยในประเทศเพื่อนบ้าน จุดผ่านแดนจึงคึกคักเป็นพิเศษอยู่แล้ว และแล้วคำสั่งการสลายการชุมนุมก็มาถึง

ความทรงจำของคนรุ่นร่วมสมัย จำอะไรได้บ้าง โยนผู้ที่จับกุมได้ขึ้นรถบรรทุกทหารซ้อนกันเป็นชั้นๆ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน จนสหประชาชาติต้องเข้ามาสอบถามข้อเท็จจริง ทำไมสหประชาชาติเข้ามาสอบถามหรือติดตามข้อเท็จจริงเพียงแค่ว่า ขนย้ายยอย่างไรจึงมีคนตาย แล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสถานีตำรวจตากใบเล่า มีใครจำอะไรได้บ้างไหม

ความรุนแรงเชิงโครงสร้างยิ่งเพิ่มมากขึ้นและคงจะมีการกดทับซ้อนกัน ยิ่งเพิ่มความซับซ้อน เนื่องจากความรุนแรงเชิงโครงสร้างนั้นมีอำนาจทั้งการปกครอง ความมั่นคง และกฎหมาย เป็นตัวอำนวยหรือปัจจัยเอื้อให้เกิดความรุนแรงเชิงโครงสร้างมากขึ้นและส่งผลให้เกิดการกดทับทางอัตลักษณ์ผ่านโครงสร้างของอำนาจด้วย แต่อย่างไรก็ตาม คงจะอธิบายได้ว่า การรับมือกับสิ่งใหม่ๆในโครงสร้างอำนาจรัฐคงจะต้องมีการเรียนรู้และคาดการณ์ต่อไปเรื่อยๆว่าจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่แตกต่างกันไปและสถานการณ์ใหม่ๆอย่างไร

 

การชุมนุมที่นำโดยปัญญาชนกับการเรียนรู้ที่จะรับมือของฝ่ายความมั่นคง

 

รัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน 2549 คมช.ยึดอำนาจจากรัฐบาล ทักษิณ สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขสำคัญในการยึดอำนาจ แต่ก็ยังคงไร้วี่แววว่าจะหาทางออกได้

การชุมนุมประท้วงของเหล่าประชาชนและปัญญาชนคนรุ่นใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อ ปี 2550 หน้ามัสยิดกลาง ปัตตานี นี่อาจจะเป็นครั้งๆแรกที่มีการชุมนุมประท้วงด้วยมูลเหตุทางการเมืองของคนชายแดนใต้แล้วไม่มีการปะทะหรือความรุนแรงเกิดขึ้น ต่างจากเหตุการณ์ มัสยิดกรือเซะ และสถานีตำรวจตากใบ เป็นไปได้ว่า มีการปรับเปลี่ยนท่าที่และเรียนรู้การรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยน การสลายการชุมนุมสองครั้งที่ผ่านมาพบแต่บาดแผลของทั้งฝ่าย แน่นอนฝ่ายที่ถูกมองว่าทำให้เกิดบาดแผลมากที่สุด คงจะหนีไม่พ้นโครงสร้างอำนาจรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล ให้การปฏิบัติการทุกปฏิบัติการณ์เป็นไปตามครรลองของกฎหมายทั้งกฎหมายรัฐและกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งการชุมชนประท้วงใน ปี 2550 นั้น ฐานที่ตั้งของผู้ชุมนุมอยู่ในเขตอภัยทาน หากมีการปฏิบัติการที่ผิดพลาดนำไปสู่การสูญเสียแล้ว โครงสร้างอำนาจรัฐจะต้องพบเจอกับปัญหาอื่นๆตามมาอีกมากมายแน่นอน ถือว่าฝ่ายความมั่นคงทำการบ้านมาได้ดีมาก ผู้เขียนไม่ได้ว่ามีการเจรจาอย่างไรบ้าง แต่การชุมนุมก็ยุติลงไป จำได้ว่าช่วงนั้น ผู้เขียนกำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และตลอดระยะเวลาที่มีการชุมชนกันนั้นมีการตัดสัญญาณโทรศัพท์ตลอด 4-5 ของการชุมนุม ทำให้นักศึกษาบ้านไกลๆนอกพื้นที่ชายแดนใต้ ตกเป็นที่กังวลและห่วงใยของพ่อแม่พี่น้องทางบ้านอย่างมาก เมื่อสัญญาณมือถือใช้การได้ เสียงมือถือดังเป็นสายแรกๆคือเสียงสายมือถือจากที่บ้าน ผู้ปกครองโทรถามถึงความปลอดภัย เนื่องมีการนำเสนอข่าวแล้วไม่สามารถติดต่อกับบุตรหลานได้เลยตลอด4-5วันของการชุมนุมในครั้งนั้น

 

ผลสะท้อนของการกระทำ

 

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 การปฏิบัติการ ครั้งที่เป็นข่าวดังและที่จดจำด้วยความซับซ้อนของเหตุการณ์และตัวละครที่พบเจอ การลอบถล่มฐานที่มั่น นาวิกโยธิน ฉก.32 นราธิวาส ในตอนดึก เวลาราวๆ 01.00 น. ผู้เขียนไม่รู้จัก นาย มะรอโซ จันทราวดี แต่ชื่อของเขากึกก้องเมื่อมีการทำประวัติของเขาขึ้น หลังจากปฏิบัติการณ์ครั้งนั้นจบลงด้วยชัยชนะของ ฉก.32 ทำให้เรื่องบางเรื่องถูกยืนยันขึ้นมาว่าน่าจะเป็นจริงจริงๆ คือ การเป็นผู้ถูกผลักด้วยโครงสร้างอำนาจของรัฐ จนทำให้ผู้ถูกผลัก ต้องยืนอยู่ในที่ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามของอำนาจรัฐในมิติของความมั่นคง ความอยุติธรรม และการยัดเยียดข้อหา ในกรณีการชุมนุมตากใบ ทำให้มะรอโซ เลือกที่จะเดินทางในที่ลับเพื่อสู้กับอำนาจรัฐ และแน่นอนเชื่อว่ายังคงมีอีกมากมายที่ถูกรัฐกระทำด้วยความพลาดและอำนาจของกฎหมาย ผลักให้เขาเหล่านั้นไม่มีที่ยืนในสังคมจนต้องหนีเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธ ในเหตุ13Feb มีการกล่าวถึงกองทัพหรือการฝึกฝนกองกำลังขบวนการด้วยว่า มีการฝึกฝนตั้งแต่อายุเท่าไหร่ เข้าร่วมตอนอายุเท่าไหร่  ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่อย่าง แต่ก่อนหน้านี้ก็มีการพูดถึงมาพอสมควรแล้วเหมือนกัน

 

เที่ยงวันที่ฟ้าสดใส ความหวังที่ยังไม่หายห่าง

 

ในช่วงบ่ายของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นอีกครั้งที่คนไทยทั้งประเทศตกใจ และมึนงงว่า การลงนามในฉันทมติทั่วไปว่าการพูดคุยสันติภาพ เกิดขึ้นได้อย่างไร ไหนว่าไมมีขบวนการแบ่งแยกดินแดนไงเล่า ไหนว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ทั่วไปไงเล่า หรือนี่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีจริงๆ มีจริงมีตัวเป็นๆเลยล่ะ คือคนที่จับกับท่าน พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร ปรากฏการณ์นี้เหมือนปรากฏการณ์แห่งความหวัง หลังจากที่แทบไม่เคยรู้หรือรับรู้อะไร แต่วันนี้เราเห็นทางทีวี ขบวนการต่อสู้ มี นาย ฮาซัน ตอยิบ เป็นตัวแทนในการลงนาม จับมือกับ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ตัวแทนจากรัฐบาลไทย ทำสัญญากันว่าทั้งสองฝ่ายจะทำการพูดคุยกันถึงอนาคตชายแดนใต้ จะนำไปสู่สันติภาพ ท้องฟ้าสดใส สำหรับหลายๆคนคงจะยิ้มแก้มปริ ถึงการหาทางออกร่วมกันสักที แต่ภาวะที่ฟ้าเปิดเช่นนี้ก็อยู่ไม่นานนัก ในท้ายที่สุดการพูดคุยครั้งนั้นก็ล้มอย่างไม่เป็นท่า ปล่อยให้หลายคนฝันค้างต่อไปเรื่อยๆ

 

ความพยายามที่จะปิดประตูความรุนแรงสู่เส้นทางการต่อสู้ด้วยสันติวิธีอีกครั้ง

 

จนกระทั่งมีการรัฐประหารยึดอำนาจอีกครั้ง โดย คสช. แต่นั่นก็ยังสร้างความอัศจรรย์ใจแก่ผู้เขียนไม่น้อย เมื่อรัฐบาลยุค คสช. ประกาศว่า จะดำเนินการพูดคุยกันต่อ และไม่ใช่การพูดคุยสันติภาพ เราจะพูดคุยสันติสุขกัน จะภาพหรือจะสุข ขอให้เริ่มต้นที่สันติ ก็เพียงพอแล้ว ตัวละครต่างๆที่เกิดมาในการพูดคุยครั้งนี้ เป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ใจมาก ถึงกลุ่มต่างๆที่มีอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ ไม่ว่าจะมีอำนาจสั่งการฝ่ายทหารหรือไม่ แต่อย่างน้อยคงจะมีอิทธิพลทางความคิดอยู่บ้าง  ถึงแม้จะเป็นตัวจริงที่สั่งการได้หรือไม่ แต่นี่คือประตูสุ่การต่อสู้ในระยะใหม่  กลับคืนสู่หนทางแห่งสันติวิธี ต่อสู้ด้วยกลไกทางเมือง และการต่อรองงผ่านการพูดคุย และปรึกษาหารือกัน

หากการพูดคุยครั้งไม่ได้ส่งผลดีต่อชายแดนใต้ คนในชายแดนใต้เองที่ต้องส่งเสียงว่าอะไรที่จำเป็นต่อเรา อะไรที่เราไม่ต้องการ ไม่ใช่แค่ปล่อยให้คู่เจรจาพูดคุยกัน แบ่งสรรปั่นส่วนประโยชน์โดยข้ามประชาชนที่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

แนวทางของการพูดคุยคงจะพูดคุยกันต่อไปถึงจุดๆหนึ่ง จุดสุดท้ายอยู่ที่ไหนไม่สนใจ สนใจเพียงว่า จะคุยกันหรือไม่ จะต่อรองกันอย่างไร จะต่อรองกันบนฐานคิดอะไร

ความรุนแรงใต้พรมจะถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อแก้ไขหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคู่เจรจาจะพูดคุยกันในเรื่องอะไรบ้าง บนฐานคิดอะไรบ้าง แต่แล้วหากไม่ขจัดความรุนแรงเชิงอำนาจ การกดทับอาจจะเกิดได้ทุกเมื่อ เมื่ออำนาจเหนือเอื้อเฟื้อต่อการกดทับทางอัตลักษณ์อีกด้วยเช่นกัน หากความรุนแรงใต้พรมถูกมองข้ามไปแล้ว ความรุนแรงก็จะยังคงอยู่

 

อ้างอิง

http://www.isranews.org/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%88%E0%B8%99-%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B2/item/26470-pileng.html

http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9480000023402

http://news.mthai.com/webmaster-talk/439709.html

http://www.tnews.co.th/html/content/46090/

http://www.thairath.co.th/content/614189

http://thaipublica.org/2012/10/8-years-tak-bai-by-state-crime/

http://www.isranews.org/isranews-scoop/item/19405-

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/492647