Skip to main content

โดย คำนึง ชำนาญกิจ และ โซรยา จามจุรี

                                      

เมื่อเร็วๆนี้ ทีมเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (civic women)  ได้ไปเยี่ยมบ้านครอบครัวของ น.ส.รัตติกาล จ่าวัง หรือ “น้องกิ่ง”  ที่เสียชีวิต จากเหตุถูกคนร้ายยิงจนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2559 บริเวณถนนสาย 42 ปาลัส   ต.ควน  อ.ปานาเระ   จ.ปัตตานี  น่าเศร้าสะเทือนใจมาก ที่เธอเสียชีวิตพร้อมลูกในท้องอายุ 9 เดือน

วันไปเยี่ยมบ้าน เราพบปะกับสมาชิกหลายคนในครอบครัวน้องกิ่ง มีทั้งสามีน้องกิ่งซึ่งเป็นคนจากจังหวัดพัทลุงเพิ่งแต่งงานอยู่กินกับน้องกิ่งมาเพียงสามปี เรายังได้พบกับแม่ และพ่อของน้องกิ่งด้วย สิ่งที่เราสังเกตเห็น คือร่องรอยแห่งความเศร้าของ นางวรรณาภร   แก้วแก่นเพชร  ผู้เป็นแม่ของน้องกิ่ง ที่ยังทำใจยอมรับกับความสูญเสียครั้งนี้ยังไม่ได้  เธอเล่าว่าเธอแยกทางกับสามีแล้ว แต่ก็ยังสามารถเป็นเพื่อนกันได้  เธอเล่าว่าเธออยู่กับลูกสองคนคือน้องกิ่งและลูกอีกคน ที่เป็นน้องชายของน้องกิ่ง อายุ 17 ปี  ส่วนสามีหรือพ่อของน้องกิ่ง หลังจากแยกทางกันก็ไปอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ และได้เดินทางกลับมาตอนที่น้องกิ่งถูกยิงเสียชีวิต ส่วนตัวเธอเอง มีอาชีพขายผลไม้สดในตลาดที่อำเภอสายบุรีทุกวัน

ในตอนแรกๆ ของการพบปะกัน  แม่น้องกิ่ง และคนในครอบครัวดูเงียบๆ ไม่ค่อยอยากพูดคุยกับเราสักเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะยังอยู่ในอาการโศกเศร้าอยู่ และผู้ที่มาเยี่ยมก็เป็นแขกแปลกหน้าที่ไม่คุ้นเคย...เราถามว่า “แม่รู้สึกอย่างไรที่เครือข่ายเราที่เป็นมุสลิมทั้งนั้น มาเยี่ยมบ้านวันนี้”

 “แม่เข้าใจ แม่แยกออกว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ได้ว่าทุกคนเป็นคนทำ” เธอตอบสั้นๆ

 

ภาพที่ 1: วันไปเยี่ยมแม่น้องกิ่ง (ภาพซ้ายมือ) หรือ นางวรรณาภร แก้วแก่นเพชร ที่บ้าน ต.ควน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี 

 

หลังจากนั้นพวกเราก็ชวยคุยเกี่ยวกับเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ ซึ่งครอบครัวได้รับการช่วยเหลือไปแล้วเบื้องต้นเป็นเงินห้าแสนบาท บรรยากาศการพูดคุยไม่ค่อยลื่นไหลนัก ส่วนใหญ่จะเป็นการถามคำตอบคำมีความเงียบเข้ามาแทนที่เป็นระยะ ๆ จนเราคิดว่าคงไม่เหมาะจะรบกวนเวลาของครอบครัว ก็เลยขอลากลับ ก่อนกลับเราก็เข้าไปกอดแม่ของน้องกิ่ง พื่อให้กำลังใจพร้อมกับพูดว่า

”ขอบคุณที่เปิดใจรับทีมงานที่เป็นมุสลิมมาเยี่ยม และขอเป็นกำลังใจให้คะ  สิ่งไหนที่ทางเครือข่ายสามารถช่วยเหลือได้ก็บอกจะได้ช่วยกันดูแลถึงพวกเราจะเป็นมุสลิม แต่จะบอกแม่ว่ามุสลิมที่ไม่ต้องการความรุนแรงก็มีอีกเยอะ”

ที่เราพูดและแสดงออกมาแบบนั้น เพราะจะได้ลดความรู้สึกหวาดระแวง และความไม่ไว้วางใจที่ครอบครัวอาจจะมีต่อพวกเราที่เป็นมุสลิมมันเป็นเรื่องธรรมดาที่เราเข้าใจได้ว่า เหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับชาวพุทธหลายครั้งในสถานการณ์ความไม่สงบทำให้ชาวพุทธบางที รู้สึกหวาดกลัวและหวาดระแวงต่อมุสลิมโดยทั่วไปด้วย เราคิดว่าวินาทีนี้ คงไม่มีอะไรดีเท่ากับการสื่อสารทางกาย และการบอกเล่าความรู้สึกของเราตรงๆ  เราจับมือเธอไว้ แล้วถามต่อว่า “ตอนนี้แม่รู้สึกดีขึ้นบ้างไหมคะ”

ปรากฏว่าการแสดงออกของเราเช่นนี้ได้ผล เธอสัมผัสและรับรู้ได้ เราเองก็รู้สึกได้ว่า กำแพงของความเงียบงัน และไม่ไว้วางใจ กำลังถูกทำให้พังทลายลง

เธอคุยต่อกับเราอย่างพรั่งพรู ผิดจากตอนแรกอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้เรารู้สึกสบายใจขึ้นว่าการเยี่ยมของเราไม่ได้ทำให้ครอบครัวรู้สึกแย่ลง มากกว่านั้นมิตรภาพระหว่างผู้มาเยี่ยมกับผู้ถูกเยี่ยมกำลังทำงาน

ภาพที่ 2: ครอบครัวน้องกิ่ง พ่อ แม่ และแขกผู้มาเยือนต่างวัฒนธรรม

 

“ตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุ แม่กินอะไรไม่ได้เลย นอนก็ไม่ค่อยหลับ มันรู้สึกเต็มไปหมด เที่ยงก็กินแต่รังนกกับน้ำหนึ่งแก้ว ทุกๆ วันที่ศพลูกอยู่ในวัด ก็อยู่ได้กับรังนกและน้ำ”

“วันที่เผาศพน้องกิ่ง มีน้องเขาเอาขนมหัวล้านมาให้หนึ่งถ้วย ก็กินได้แค่สองลูก เพิ่งกินข้าวได้เมื่อวานนี้เอง มีน้องข้างบ้านเขาเอาแกงส้มมาให้ แม่ก็กินข้าวได้เยอะนิดนึง”

เธอยังย้อนกลับเล่าให้ฟังถึงเรื่องในครอบครัวอีกด้วยว่า เธอหย่าขาดจากสามีมาห้าปีแล้ว

“แต่แม้ว่าจะแยกทางกับพ่อของน้องแล้ว  แต่เราก็ยังเป็นเพื่อนกัน พ่อลูกเขาก็โทรคุยกันอยู่บ่อยๆตอนน้องกิ่งแต่งงานพ่อเขาก็มางานแต่ง”

“ แม่ยอมรับทุกคนที่เป็นมิตร”เธอทิ้งคำพูด ที่ทำให้เรารู้สึกชื่นใจก่อนเดินกลับออกมาจากบ้าน

ต่อมา เราก็ได้เดินทางไปที่บ้านพักข้าราชการตำรวจในเขตอำเภอเมืองปัตตานี  ซึ่งการเยี่ยมครั้งนี้เป็นครั้งที่สองแล้วโดยไปเยี่ยมครอบครัวของ จ.ส.ต.อนุรักษ์ รักบุตร คือน้องอร ซึ่งเป็นภรรยาของ  จ.ส.ต.อนุรักษ์  ย้อนไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2559  ซึ่งยังอยู่ในช่วงรอมฎอน 10 วันสุดท้าย สามีของเธอได้เข้าเวรอยู่บริเวณตรงข้ามร้านอาหารลอนดอนใกล้ๆ กับมัสยิดกลางปัตตานี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาจอดรถเพื่อละหมาดในช่วงกลางคืน  ในเย็นวันนั้นเองได้เกิดเหตุระเบิดทำให้สามีของเธอเสียชีวิต ขณะนั้นเธอตั้งท้องได้ 7เดือน และยังมีลูกชายอยู่อีกสองคน

 

ภาพที่ 3: น้อง.ด.ช.รัฐฐานันท์  รักบุตร (น้องนาวา) ลูกคนเล็กของน้องอร ในวันที่ไม่มีพ่อ

 

การเยี่ยมครั้งที่สองนี้ เธอคลอดลูกชายออกมาแล้ว หน้าตาน่ารักและสมบูรณ์มากทีเดียว วันที่เราไปเยี่ยมวันนั้นดูสีหน้าน้องอรสดใสกว่าครั้งแรกที่เราไปเยี่ยมเมื่อครั้งหลังเกิดเหตุได้เพียงสองอาทิตย์

“ดีใจคะที่พี่มาเยี่ยมหนูอีก คิดถึงพี่อยู่เหมือนกัน    หนูตามข่าวผู้หญิงท้องถูกยิงเสียชีวิต รู้สึกไม่สบายใจ หนูยังคิดเลยว่าพี่จะลงไปเยี่ยมเขาไหม” น้องอรยิ้มด้วยความดีใจ ถามเรากรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับน้องกิ่ง ที่เราเพิ่งไปเยี่ยมมา

“เยี่ยมแล้วคะ เพราะพี่ไม่เลือกพุทธมุสลิม น้องอรเป็นไงบ้างตอนนี้  รู้สึกดีขึ้นบ้างไหม”

“ก็ดีคะ”  พูดแล้วเธอก็น้ำตาไหล เธอหยิบเศษกระดาษที่ลูกชายวัยเก้าขวบเขียนขึ้นมาอ่านให้เราฟัง ว่าลูกเขียนถึงพ่อเขาอย่างไร   

“คุณพ่อครับ พ่อรักแม่ พ่อรักย่า พ่อรักปู่ พ่อรักป้าอู พ่อเป็นวิญญาณ (เขียนวิญญาณโดยใช้ตัว  ย )” ข้อความที่เป็นฝีมือลูก ที่ปรากฏอยู่ในกระดาษ เธอบอกว่า ลูกไม่ได้ตั้งใจให้เธอดู แต่ลมพัดเศษกระดาษนี้ปลิวมา เห็นแล้วเธอก็อดสะเทือนใจ  อดคิดถึงสามีไม่ได้   

ภาพที่ 4 : ฝีมือลูกคนโต “.ด.ช.รัชชรักษ์     รักบุตร ”ของน้องอร ที่เขียนถึงพ่อ

 

 “หนูได้ฟังข่าวระเบิดที่โต้รุ่ง หนูสงสารลูกน้องพี่เบิ้มมาก  มันทำให้หนูคิดว่าเค้าหนักกว่าหนูเยอะเลย หนูยังโชคดีถึงพี่นุ(สามี) จะเสียไป แต่แกก็ยังทิ้งอะไรไว้ให้เรามากมาย แต่ลูกน้องพี่เบิ้มเขาไม่เหลืออะไรเลย” เธอยังมีแก่ใจคิดถึงผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดร้านก๋วยเตี๋ยวเบิ้ม ที่ตลาดโต้รุ่งปัตตานี

ลูกน้องเบิ้ม ที่เธอกล่าวถึง คือ “น้องเบียร์” หรือ มโนชา พงษ์เสาร์ หม้ายลูกสามที่สูญเสียขาข้างขวา และ ต้องสูญเสียดวงตาข้างขวาอีกข้าง จากแรงระเบิดที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเบิ้ม เมื่อคืนวันที่ 24 ต.ค.2559

“อนาคตต่อไปจะเอาอย่างไงต่อ ทางผู้บังคับบัญชาให้อยู่ในบ้านพักนานแค่ไหน ถ้าสมมุติว่าเราไม่ทันจะบรรจุเป็นตำรวจ” เราถามต่อ เพราะเคยทราบจากเธอมาว่าทางหน่วยงานตำรวจ  ให้สิทธิเธอบรรจุเป็นตำรวจแทนสามีได้ แต่ก็น่ากังวลเกี่ยวกับความไม่มั่นคงแน่นอนของอนาคตเธออยู่ดี

“เขาให้อยู่สองปีคะ  หนูคิดว่าคงทันที่จะบรรจุ เพราะตอนนี้หนูส่งเอกสารอะไรเรียบร้อยแล้ว สมมุติไม่ทันจะบรรจุ และต้องย้ายออกจากบ้านพักไปก่อน หนูคิดว่ามีอยู่ที่เดียวที่จะไปอยู่ได้คือ บ้านแม่ที่สงขลา ส่วนบ้านพ่อแม่พี่นุ ( บ้านสามีซึ่งอยู่ที่ต.มะกรูด  อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ) หนูคงไม่ไปอยู่ เพราะหนูกลัวคะเพราะบ้านที่อยู่ เป็นไข่แดงตรงกลางเลย ล้อมรอบด้วยบ้านของมุสลิม” เธอตอบพร้อมกับพูดว่า

“พี่อย่าโกรธนะ ที่พูดออกมาแบบนี้”

ภาพที่ 5:  น้องอร (ภาพซ้ายมือ) ลูก  กับผู้มาเยือนต่างวัฒนธรรม

 

เราก็เข้าใจเธอนะ ที่เธอรู้สึกหวาดกลัวต่อเหตุการณ์และผู้คนรอบข้าง โดยเฉพาะครอบครัวสามีเธอเป็นครอบครัวชาวพุทธที่เหลืออยู่ไม่กี่หลังคาเรือนในหมู่บ้าน

จากการเยี่ยมบ้านแบบข้ามวัฒนธรรมเช่นนี้ แม้เราไม่มีอะไรในทางวัตถุให้แก่ครอบครัวผู้สูญเสีย แต่อย่างน้อย  เราก็อยากแสดงให้เห็นว่า  การตายของคนในสองครอบครัวนี้    ไม่ได้ถูกเมินเฉย และดูดายจากคนในสังคมส่วนใหญ่ที่นี่  อย่างน้อยก็มีพวกเรา ผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง ที่มีโอกาสแสดงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจในความเป็นความตาย และการได้รับผลกระทบของเพื่อนมนุษย์ทุกศาสนาที่ร่วมชายคาเดียวกัน ณ ชายแดนใต้/ปาตานีแห่งนี้ และอยากจะเป็นกำลังใจในการต่อสู้ชีวิตของทุกชีวิตที่เหลืออยู่ โดยเฉพาะผู้หญิงในทุกศาสนา ผู้เป็นแม่ เป็นเมีย  ซึ่งต้องเป็นผู้แบกรับภาระทุกอย่าง เมื่อคนในครอบครัวต้องสูญเสียไป......