Skip to main content

                                                                                                                                                                                        อิมรอน โสะสัน

 

“สายฝนเทลงสู่กระท่อมปลายนาท่ามกลางความหนาวเหน็บเมื่อฤดูหนาวแวะมาทักทาย มันเป็นช่วงแห่งปลายฝนต้นหนาว ต้นข้าวถึงคราวต้องจากท้องนา ชาวนาเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตของตน ถึงแม้ราคาข้าวปีนี้แลจะไม่ดีนัก แต่พวกเขาก็ไม่มีทางเลือกอื่น ยังไงก็ต้องขายข้าวเพื่อประทังชีวิต ยังมีครอบครัวที่จะต้องคอยเลี้ยงดูอีกไม่น้อย”

“นาดา” สาวน้อยผู้น่ารัก เธอกำลังเริ่มต้นชีวิตวัยรุ่นได้ไม่นาน ปีนี้พ่อแม่ของเธอต้องตัดสินใจส่งเธอให้ไปอาศัยกับคุณปู่คุณย่า ณ ใต้สุดด้ามขวานของประเทศ มุ่งหวังให้ได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัวใหญ่ฝ่ายพ่อ พ่อของเธอย้ายเข้ามาทำงานในภาคอีสานก่อนเธอลืมตาดูโลก เธอถูกเลี้ยงดูให้อยู่กับชาวบ้าน กับท้องนา ท้องไร่ ญาติฝ่ายคุณแม่รักเธอมาก พวกเขาอาจไม่พอใจนักที่นาดาต้องจากไป แต่ด้วยความจำเป็นของการศึกษา พวกเขาก็รับได้ที่ต้องปล่อยให้หลานสาวคนโตของบ้านจากไป และก็หวังว่า ไม่นานนัก สาวน้อยยิ้มเก่ง จะกลับมาหาพวกเขาอีกครั้ง

"นาดา" ต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับเพื่อนๆที่พูดคนละภาษา ความไร้เดียงสาของเด็กอาจสื่อความหมายถึงกันผ่านอารมณ์ ความรู้สึกได้อย่างไม่ต้องเขินอายท่ามกลางเพื่อนๆของเธอ เธอเริ่มเรียนรู้ภาษาถิ่นของคนที่นี่ ฝึกพูด ฝึกสังเกต ฝึกเลียนแบบ คุณปู่คุณย่าของเธออาจไม่ใช่คนที่ได้ศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ท่านก็เข้าใจว่า “การศึกษา” คือกุญแจไขโอกาสให้กับหลานรักของท่าน ท่านเลยทุ่มเทกับการเรียนของนาดา

ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยดีนัก ราคายางก็ลุ่มๆดอนๆ นั่นไม่ใช่เหตุผลทำให้การดิ้นรนของครอบครัวนาดาลดน้อยลง พวกเขาตั้งหน้าตั้งตารอคอยการเติบโตของสาวน้อยด้วยความรัก ความห่วงใย

เมื่อถึงวัยอันควร นาดาถูกส่งเข้าโรงเรียนประจำ เธอต้องปรับตัวอีกครั้ง ครั้งนี้เธอต้องจากบ้านไปอยู่กับเพื่อนๆรุ่นราวคราวเดียวกัน มีเพียงรุ่นพี่ ครูหอพัก ครูในโรงเรียนที่พอจะช่วยทำให้เธออุ่นใจได้บ้างว่าเธอยังมีผู้ใหญ่อยู่ใกล้ๆ

แน่นอน เธอรู้ดีว่าเธอมีหน้าที่และความรับผิดชอบต้องขยันเรียนหนังสือ เพราะพื้นฐานทางภาษา และความรู้ศาสนาของเธอน้อยมากเมื่อเทียบกับเพื่อนคนอื่นๆที่ผ่านระบบโรงเรียนสอนศาสนาตั้งแต่เล็กๆ แต่นั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่เธอจะละความพยายามและทิ้งความฝันของเธอ “หนูจะกลับมาสอนศาสนาให้กับเพื่อนๆ ป้าๆ น้าๆที่หมู่บ้านคะ” นาดาตั้งเป้าหมายก่อนเธอก้าวจากบ้าน “หนูจะไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง หนูอยากเป็นครูศาสนา” เสียงนั้นยังก้องกังวานอยู่ทุกวี่ทุกวัน

การใช้ชีวิตกับเพื่อนต่างถิ่น ต่างภาษา ช่วงแรกเธออาจสับสนและลังเลว่าจะเดินต่อยังไง เธอเริ่มไม่มั่นใจตัวเองบางครั้งต้องร้องไห้ ไม่เข้าใจเนื้อหาที่ครูสอน แต่เธอก็ไม่ยอมหันหลังให้กับมัน ใช่! เธอรู้สึกว่า เธอโดดเดี่ยว ไม่มีใครเข้าใจ บ่อยครั้งที่ความคิดถึงพ่อกับแม่ทักท้วงให้เธอกลับบ้าน แต่ระยะทางไกลเกินที่เธอจะกลับไปหาได้ ถึงแม้ว่าเธอจะทำได้ เธอกลับไม่คิดว่านั่นจะเป็นทางออกที่ดี เธอต้องแก้ปัญหาด้วยตัวของเธอก่อน

“เป็นไงบ้างนาดา อยู่ได้ไหม เธอต้องอดทนนะ ชีวิตเธอต้องผ่านอะไรอีกมาก อย่าท้อนะ ครูว่าเธอทำได้” ครูนูรมาเข้ามาทักทายพร้อมกุมมือเธอ หลังห้องเรียนวิชาการอ่านอัลกุรอานจบลง ครูนูรมาคือครูคนเดียวของนาดาที่นาดามักแอบไปร้องไห้เป็นประจำ “ครูคะ ขอบคุณครูมาก หนูจะตั้งใจให้มากกว่านี้ หนูรู้ มันยากนะ แต่หนูก็จะสู้” เสียงของสาวน้อยนาดาสะท้อนถึงความมุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ต่อสิ่งที่เธอกำลังเจอ มันหมายถึง“การปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมทางภาษาและวิถีชีวิตที่เธอไม่ได้คุ้นเคยมาก่อน”

เพื่อนๆของเธอคงไม่เข้าใจเธอมากนัก เพราะเธอคนเดียวที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาถิ่นได้คล่องเหมือนคนอื่นๆ เธออาจจะใช้ภาษาไทยได้ชัดถ้อยชัดคำ แต่เธอเลือกที่จะไม่พูด เธอเลือกเรียนรู้ภาษาถิ่นเพื่อให้เข้าใจถึงความคิด วัฒนธรรมของเพื่อนๆและสังคมที่เธออาศัย “นี่คือบ้านเกิดของปู่ ของย่า และพ่อของฉัน” เธอมักเตือนสติตัวเองเสมอ

เวลาผ่านไปปีแล้วปีเล่า นาดาเติบโตขึ้นตามวัย เธอเริ่มพูดภาษาถิ่นได้ชัด เริ่มกล้าออกจากโรงเรียนไปหาความรู้ ประสบการณ์ในสังคมกว้างได้บ้างแล้ว งานประจำของเธอที่เธอทำมาตลอดปีกว่าๆคือการได้สอนศาสนาให้กับน้องๆในหมู่บ้านของเธอ เป็นโรงเรียนสอนศาสนาประจำมัสยิดในหมู่บ้านคุณปู่คุณย่า มีครูคนเดียวที่รับหหน้าที่สอนเด็กๆในหมู่บ้านกว่าสามสิบชีวิต เธอเลยตัดสินใจขออนุญาติปู่กับย่ามาอาสาช่วยครูสอนในช่วงปิดเทอมหรือวันหยุดยาว

อันที่จริง เธอเข้าใจว่า การที่เธอมาสอนเด็กๆในหมู่บ้านก็คือการเรียนรู้ของเธอ มากกว่าที่เธอจะสอนเด็กๆด้วยซ้ำ เธออาจจะรักการสอน รักเด็กๆและรักการเรียน ทุกครั้งที่เธอเห็นเด็กๆในหมู่บ้านเดินมาเรียนหนังสือ เธอจะมีความสุขและลืมไปเลยว่าเธอกำลังมีฝันที่จะต้องกลับไปบ้านเกิดแดนอีสาน ห่างจากหมู่บ้านนี้เป็นพันกิโลเมตร ซึ่งไม่แปลกเพราะเธอได้ปรับตัวและมีความรู้สึกว่าเธอคือส่วนหนึ่งของสังคมบ้านเกิดพ่อของเธอไปแล้ว

เธอเห็นชีวิตจริงของเด็กๆในหมู่บ้าน เริ่มเห็นสัจธรรมว่า หมู่บ้านแห่งนี้ยังขาดแคลนครูสอนศาสนา ครูประจำที่นี่สุขภาพไม่ค่อยสู้ดีนัก บางวันต้องกลับบ้านของสามีไปอยู่กับครอบครัวซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านนี้หลายเกือบร้อยกิโลเมตร ทั้งๆที่อีหม่ามประจำมัสยิดได้เตรียมห้องพักสำหรับครูไว้ก็ตาม

ทุกช่วงปิดเทอม ครูก็ไม่ค่อยได้มาสอน เพราะเห็นว่านาดากลับมาสอน เธอเลยมักจะขาดสอนบ้าง บางทีเธอคิดว่ามีคนมาแทนเธอได้แล้ว

เกือบสามปีแล้วที่นาดาเข้ามาผูกพันกับเด็กๆในหมู่บ้านนี้ในฐานะ “ครูสอนศาสนา” เธอเริ่มมีเพื่อนมากขึ้น เริ่มเข้ากับผู้คนในชุมชน เด็กๆเริ่มติดเธอ ผู้ปกครองก็เริ่มไว้ใจเธอ หลายๆอย่างดูราวกับว่าเธอเป็นคนในหมู่บ้านนี้โดยสมบูรณ์ อย่างน้อย ปู่ ย่า อา และหลานๆฝ่ายพ่อของเธอก็อยู่ใกล้ชิดเธอ คอยให้กำลังใจ ให้ความรัก เธอไม่ได้เหงาเหมือนเก่าอีกแล้ว

“หนูเป็นไงบ้าง แม่ ตา และ ยาย คิดถึงหนูมาก เทอมนี้เรียนจบแล้วใช่ไหม จะกลับมาเข้ามหาวิทยาลัยแถวบ้านไหมลูก ทุกคนรอหนูกลับมา” พ่อของเธอโทรทางไกลถามข่าวคราวถึงลูกสาวที่ห่างจากโอ้มกอดเกือบๆหกปีแล้ว

....นาดาวางสายพ่อหลังจากที่สนทนากันยาวกว่าชั่วโมง เธอน้ำตาไหล และหยุดนิ่งพักใหญ่ ก่อนจะเปิดคู่มือสมัครเรียนระดับมหาวิทยาลัยวันพรุ่งนี้..... “ครูดา ประโยคนี้อ่านว่าอะไรคะ หนูออกเสียงไม่เป็น” นาดาสะดุ้งจากภวังค์ก่อนหันกลับไปเห็นใบหน้าอาบด้วยรอยยิ้มของ “ฮันวา” ศิษย์รักของเธอ พรางวางคู่มือสมัครเรียนลงไว้บนโต๊ะ........

 

**ตีพิพม์ครั้งแรกใน หนังสือพิพม์กัมปงไทย ฉบับเดือน ธันวาคม 2559