Skip to main content

 

จดหมายเปิดผนึกถึงอาจารย์มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง

 

ตามที่อาจารย์ได้เขียนจดหมาย”ส่วนตัว” แต่เผยแพร่ “สาธารณะ” ในเว็บไซต์ Deep South Watch

ดู http://www.deepsouthwatch.org/node/10296

พาดพิงถึงดิฉันและอาจารย์อันธิฌา ซึ่งเป็นคู่ชีวิตของดิฉัน (มิใช่แค่เพื่อนร่วมงาน) ดิฉันมีข้อโต้แย้งหลายจุดและขอชี้แจงดังต่อไปนี้ ในฐานะที่เป็นทั้งคู่ชีวิตและผู้ร่วมก่อตั้งห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู

  (1) ในหัวข้อที่ (2) ที่อาจารย์กล่าวว่า “ แม้ข้อถกเถียงของอาจารย์มีประโยชน์อย่างมากในการทำความเข้าใจการถูกกดทับทางเพศ (อำนาจ) ของผู้หญิง “ในสังคมมลายูปาตานี” โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ชี้ให้เห็นถึงการครอบงำทางอำนาจของผู้ชายที่อำพราง หลบซ่อนอยู่ในกิจกรรมสาธารณะ”

ข้อเท็จจริงคือ ทุกครั้งที่ห้องเรียนเพศวิถีจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) นั้น มิได้หมายถึงแค่เฉพาะบริบทในสังคมใดสังคมหนึ่งเท่านั้น หากหมายรวมถึงระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่ฝังรากลึกอยู่ในทุกๆสังคม ไม่ว่าจะเป็นในสังคมมลายูปาตานี หรือในสังคมยุโรป อเมริกา แอฟริกา เอเชีย กล่าวให้ถูกต้องคือ ระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่นั้นได้แฝงฝังหยั่งรากลึกลงทั่วทุกมุมโลก ผ่านคำอธิบายด้วยคำว่าจารีต ประเพณี ศาสนา วัฒนธรรมท้องถิ่น และอื่นๆ จึงเป็นการไม่ถูกต้องหากอาจารย์นำสิ่งที่อาจารย์อันธิฌาและห้องเรียนเพศวิถีมาอธิบายเฉพาะบริบทของสังคมมลายูปาตานีเพียงแห่งเดียว เพราะข้อเท็จจริงคือ ทุกๆครั้งที่จัดกระบวนการเรียนรู้ ห้องเรียนเพศวิถีจะนำเสนอตัวอย่างระบบคิดชายเป็นใหญ่ที่กดทับผู้หญิงหรือผู้มีความหลากหลายทางเพศจากทุกๆศาสนา จารีต และวัฒนธรรม จากทั่วโลก มิใช่แค่จากศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือชาติพันธุ์ใด ชาติพันธุ์หนึ่ง

(2) การที่อาจารย์กล่าวถึง พื้นที่ (Space) อื่นๆ ที่ผู้หญิงควบคุม (Dominated) เช่น ในตลาด หรือในสนามแอโรบิก ซึ่งอาจารย์อ้างว่า รู้สึกตัวลีบเล็กเมื่อพลัดหลงเข้าไปอยู่ตรงนั้น แต่การกล่าวอ้างเช่นนี้ เป็นการขาดการตระหนักรู้ถึง “อำนาจ” ที่ไม่เท่ากันในการควบคุมการใช้พื้นที่ เพราะในความเป็นจริง ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่หรืออำนาจอยู่ใน “ตลาด” หรืออยู่ใน “สนามแอโรบิก” เท่านั้น แต่ผู้หญิงควรจะสามารถเข้าไปใช้พื้นที่สาธารณะอย่าง “สนามกีฬาฟุตบอล” หรือ “พื้นที่ทางศาสนา”  ได้ โดยต้องไม่ถูกประณามหรือต่อว่าจากผู้ชาย แต่ในความเป็นจริง หากผู้หญิงเข้าไปใช้พื้นที่สาธารณะเหล่านั้น กลับถูกตำหนิต่อว่าหรือถึงขั้นบอกว่าเป็นสิ่งไม่ถูกหลักศาสนา ซึ่งในทางตรงกันข้าม ผู้ชายสามารถที่จะเข้าไปใน “พื้นที่” ซึ่งอาจารย์อ้างว่าผู้หญิงเป็นผู้ “ควบคุม” ได้โดยไม่ถูกต่อว่าหรือประณาม สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงอำนาจที่ “ไม่เท่ากัน” ระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ดังนั้นตัวอย่างที่อาจารย์ยกขึ้นมา จึงเป็นแต่เพียงการ”จำกัด” พื้นที่ให้ผู้หญิงมีอำนาจควบคุมจัดการได้เฉพาะในพื้นที่ผู้ชายเป็นคนกำหนดเท่านั้นหรือไม่

(3) การยกตัวอย่างขุนช้าง ขุนแผนขึ้นมานั้น ไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกไปจากการพยายามโต้กลับว่าสิ่งที่สังคมมลายูปาตานีทำ ก็เป็นแบบเดียวกับที่สังคมไทยทำ ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญที่ต้องยกขึ้นมาอ้าง เพราะห้องเรียนเพศวิถีนั้น “วิพากษ์” ทุกสังคมโดยไม่มีข้อยกเว้น จึงไม่ทราบว่าอาจารย์ยกตัวอย่างเรื่องขุนช้างขุนแผนขึ้นมาด้วยสาเหตุใด เพราะอันที่จริงห้องเรียนเพศวิถีไม่เคยจำกัดการวิพากษ์ “การครอบงำ” เหล่านี้จากทุกสังคม ไม่ว่าจะไทยหรือมลายู และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่อหน้าที่อาจารย์กล่าวว่า

“เราต้องช่วยกันขจัดการครอบงำทางโครงสร้างให้หมดไป แต่การมุ่งเป้ามาที่อิสลามและสังคมมลายูอาจจะทำให้เข้าใจไปได้ว่ามีเป้าหมายเพื่อล้มล้างอิสลามและวิถีของชาวมุสลิม”

ในย่อหน้าที่อาจารย์ทิ้งท้ายไว้นี้ เป็นการกล่าวอ้างแบบลอยๆและขาดหลักฐานหรือข้อเท็จจริง ที่กล่าวว่าห้องเรียนเพศวิถีนั้นมุ่งเป้าไปที่อิสลามและสังคมมลายู ถึงขั้นว่ามีเป้าหมายเพื่อล้มล้างอิสลามหรือวิถีของชาวมุสลิม เพราะในความเป็นจริง ห้องเรียนเพศวิถี “ไม่เคย” มุ่งเป้าโจมตีอิสลามหรือพยายามล้มล้างสังคมมุสลิมแต่อย่างใด แต่ห้องเรียนเพศวิถีมุ่งเป้าไปที่การรื้อถอนการครอบงำจากโครงสร้างทางสังคม ไม่เฉพาะสังคมใดสังคมหนึ่ง และไม่ใช่การพยายาม “ทำลาย” ศาสนาใด ศาสนาหนึ่ง แต่เป็นการพยายาม “รื้อถอน” แนวคิดเรื่องการครอบงำและกดขี่จากทุกๆสถาบันทางสังคม

(4) ย่อหน้านี้ทั้งหมด “ ในรายการอาจารย์พยายามชี้ให้เห็นว่าความเป็นผู้หญิงและความเป็นผู้ชายจริงๆ แล้ว มันถูกสังคมซึ่งก็คืออำนาจ (ทางศาสนาซึ่งมีผู้ชายคุมอยู่) สร้างมันขึ้นมา (socially constructed) อาจารย์พูดหลายครั้งหลายครา ผมเข้าใจว่าเนื่องจากข้อถกเถียงหลักของอาจารย์มาจากทฤษฏีอำนาจ-ความรู้ ของฟูโก แต่ด้วยเหตุที่ฉากหลัง (background) ของการพูดคุยของอาจารย์เป็นกลุ่มเด็กผู้หญิงที่สวมฮิญาบ ดังนั้นคำสอนทางศาสนา (ที่ไม่ถูกเอ่ยถึง) แต่แสดงออกมาเป็นผู้หญิงสวมฮิญาบแน่นอนว่าคือศาสนาอิสลามที่มีคำสอนว่ามีเฉพาะผู้หญิงและผู้ชายเท่านั้นจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่อำนาจ (ผู้ชาย) สร้างมันขึ้นมาหาใช่เป็นสิ่งจริงแท้ไม่ หรือมันไม่ได้ดำรงอยู่จริงตามคำสอนของศาสนาอิสลามนั่นเอง การเอาเด็กผู้หญิงคลุมฮิญาบมาออกทีวีและมีอาจารย์ออกมาพูดในเชิงทฤษฎีว่าอำนาจสร้างความเป็นผู้หญิงและผู้ชายขึ้น คล้ายกับบอกว่าสิ่งที่เด็กผู้หญิงเหล่านั้นปฏิบัติแท้ที่จริงแล้วมิใช่อะไรอื่นนอกจากเป็นผลจากอำนาจ (ของผู้ชาย) ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความรู้สึกจุกอกมาก ผมไม่แน่ใจว่าเป็นประเด็นเดียวกันที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่มุสลิมปาตานีหรือไม่”

อาจารย์กล่าวว่า อาจารย์อันธิฌาใช้ทฤษฎีของฟูโกต์มาอธิบายเรื่อง อำนาจ-ความรู้ เป็นการ "คาดเดา” หรือ “คิดไปเอง” และเป็นการคาดเดาที่ “ผิด” ไปจากข้อเท็จจริง เพราะข้อเท็จจริงที่ “ถูกต้อง” ห้องเรียนเพศวิถีและอาจารย์อันธิฌา ใช้กระบวนการเรียนรู้โดยอ้างอิงจากแนวคิดเรื่อง ประเภทของ “อำนาจ” 3 แบบ โดยเป็นแนวคิดของ

โจอันนา เมซี (Macy and Brown 1988) นักปรัชญาและนักกิจกรรมด้านนิเวศวิทยา และ สตาร์ฮอล์ก (Starhawk 1977) นักสตรีนิยมแนวจิตวิญญาณที่ทำงานด้านสันติวิธี ซึ่งทั้งสองได้นำเสนอเรื่องของอำนาจเอาไว้ โดยหลักๆคือ

1. อำนาจเหนือหรืออำนาจนำ (Power Over) หมายถึง การที่บุคคล กลุ่มคน สถาบัน รัฐ หรือชาติใช้แหล่งอำนาจของตนที่มีอยู่ เช่น เพศ ระดับการศึกษา ตำแหน่งหน้าที่ สถานภาพ วัย ความอาวุโส ทรัพย์สิน เงินทอง ข้อมูล นโยบาย กฎหมายหรือกฎระเบียบ กองกำลังทหาร อาวุธ พวกพ้องเครือญาติ ฯลฯ

เพื่อการเอาเปรียบ แสวงหาประโยชน์ กดขี่ การควบคุม ตัดสินใจแทน หรือกำหนดคุณค่าและความหมายประสบการณ์ของบุคคลอื่นหรือคนกลุ่มอื่น ๆ ที่มักมีแหล่งอำนาจน้อยกว่า พฤติกรรมการใช้อำนาจเหนือกว่ามีได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การไม่รับฟัง การออกคำสั่ง การบังคับ การกดดัน การโน้มน้าว หรือการคิดตัดสินใจแทน เป็นต้น

ซึ่งอำนาจเหล่านี้สามารถถูกนำมาใช้ได้ในทุกๆกลุ่ม ไม่ใช่เฉพาะในศาสนาอิสลามอย่างที่อาจารย์กล่าวอ้าง

2.อำนาจร่วม (Power Sharing, Power with) หมายถึง การที่บุคคล กลุ่มบุคคล สถาบัน รัฐ หรือชาติใช้แหล่งอำนาจที่ตนมีอยู่ เช่น เพศ เงิน ทรัพย์สิน ตำแหน่งหน้าที่ อายุหรือวัย ประสบการณ์ ข้อมูล ความรู้ ระดับการศึกษา สถานภาพทางสังคม เวลา พวกพ้อง นโยบาย กฎระเบียบ กติกา ฯลฯ

เพื่อรับฟัง ปรึกษาหารือ ช่วยเหลือเกื้อกูล สนับสนุน และเปิดโอกาสให้อีกบุคคลหนึ่งหรืออีกกลุ่มหนึ่งที่มักมีแหล่งอำนาจน้อยกว่า ได้ร่วมในกระบวนการตัดสินใจ หรือสนับสนุนให้เขาตัดสินใจด้วยตัวเอง พฤติกรรมของการใช้อำนาจร่วมทำได้หลายรูปแบบ เช่น การฟังอย่างตั้งใจโดยไม่ตัดสิน ไม่แนะนำหรือสั่งสอน การให้กำลังใจ การแบ่งปันทรัพย์สิน เวลา ความรู้ข้อมูล หรือใช้แหล่งอำนาจของเราปกป้องสิทธิคนอื่น ๆ ที่ถูกเอาเปรียบ

3.อำนาจภายใน (Power Within) คือสภาวะของความสามารถหรือศักยภาพที่มาจากภายในที่บุคคลหรือกลุ่มมีอยู่ หรือหากไม่มีก็สามารถฝึกฝนพัฒนาขึ้นมาได้ และนำอำนาจภายในนี้มาใช้เมื่อเผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรคต่าง ๆ โดยเฉเพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับความกลัว ความสิ้นหวัง ความรุนแรง และความไม่ยุติธรรม และเพื่อให้สามารถตอบโต้กับสถานการณ์ดังกล่าวได้โดยสันติวิธี

ดังนั้นแนวคิดเรื่องอำนาจ ที่กระบวนการของห้องเรียนเพศวิถีนำมาอธิบาย จึงไม่ใช่การอ้างถึง แนวคิดเรื่อง อำนาจ จากทฤษฏีของฟูโก ตามที่อาจารย์กล่าวอ้างไว้แต่อย่างใด และไม่ได้หมายถึงอำนาจของพระเจ้าในศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แนวคิดเรื่อง “อำนาจ 3 แบบ”  เป็นแนวคิดที่ใช้เพื่อทำงานเสริมพลังให้กับกลุ่มคนชายขอบ ซึ่งถูกอำนาจนำจากสถาบัน กลุ่มคน โครงสร้างทางสังคม กดทับและควบคุม อาทิเช่น กลุ่มผู้หญิงในศาสนา และชนเผ่าต่างๆทั่วโลก กลุ่มความหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้บกพร่องทางร่างกาย เหล่านี้เป็นต้น

(5) ในหัวข้อนี้  "3) ในฐานะมุสลิมเมื่อผมดูสารคดีดังกล่าวและเมื่อมาดูคำอธิบายของอาจารย์อีกครั้งใน เว็บไซต์ประชาไทผมรู้สึกเหมือนมีคนสองคน (ตัวละครหลักคืออาจารย์และคุณดาริณี) ถือเลื่อยยนต์พยายามโค่นศรัทธา (Faith) ของผม (ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร) แต่ที่ทำให้ผมรู้สึกกระอักเนื่องจากเป็นการโค่นออกอากาศ โดยที่ผมไม่มีโอกาสได้พูดอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว อย่างน้อยควรจะเปิดให้ผมได้โต้แย้งข้อถกเถียง ของอาจารย์ บ้าง "

อาจารย์กล่าวหาว่า เราทั้งสองคนคือ อาจารย์อันธิฌา และดิฉัน พยายามโค่นศรัทธาของอาจารย์ และเป็นการโค่นออกอากาศ โดยที่อาจารย์ไม่ได้มีโอกาสพูดอะไรเลย

ต่อข้อกล่าวหานี้ อาจารย์กำลังนำความรู้สึก “ส่วนตัว” ที่ไม่ใช่หลักวิชาการหรือทฤษฏี มากล่าวหาว่าเราพยายามไป “โค่นล้ม” ศรัทธาของอาจารย์ ซึ่งในทางความเป็นจริง ไม่มีทางเป็นไปได้ที่คนสองคน หรือ ใครก็ตาม สามารถที่จะโค่นล้มศรัทธาของอาจารย์ได้ ในทางกลับกัน ก็ไม่มีใครสามารถที่จะ “โค่นล้ม” ศรัทธาในแนวคิดเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนของเราทั้งคู่ได้เช่นกัน "ไม่มีใครสามารถโค่นล้มความศรัทธาของกันและกันได้ นอกจากผู้ศรัทธานั้นโค่นล้มศรัทธาของตัวเอง"

ในการดำรงชีวิตท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายนั้น สิ่งสำคัญคือการเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ไม่ว่าเราจะแตกต่างกันตามความเชื่อทางการเมือง ทางศาสนา เพศวิถี เชื้อชาติ สีผิว สุขภาพร่างกาย การศึกษา อาชีพ และอัตลักษณ์อื่นๆ แต่ต้องไม่ใช่การนำ (Faith) หรือศรัทธา ที่มีความหมายถึงความคิดความเชื่อทางศาสนาของตนเอง มาครอบคลุมหรือขยายเขตอำนาจไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วยการออกกฎเกณฑ์ กำหนด ควบคุม ให้คนในศาสนาหรือคนในพื้นที่อื่นๆ ไม่สามารถนำเสนอแนวคิดของตนเองในทางสาธารณะได้

จากที่กล่าวมาทั้งหมด เราในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งห้องเรียนเพศวิถี นักปกป้องสิทธิความหลากหลายทางเพศ และคู่ชีวิตของอาจารย์อันธิฌา แสงชัย

ขอเรียกร้องให้อาจารย์มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง แสดงความรับผิดชอบต่อการเผยแพร่จดหมายส่วนตัวถึงอาจารย์อันธิฌาและผู้เกี่ยวข้องกับห้องเรียนเพศวิถี ที่เผยแพร่ไปตามหน้าเว็บไซต์ต่างๆ และส่งผลให้เกิดการเข้าใจผิดและนำไปขยายความเพื่อโจมตีการทำงานของห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน และอาจารย์อันธิฌา แสงชัย ซึ่งตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีครั้งนี้ทั้งในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว จากนักการศาสนา หรือผู้ทำงานเกี่ยวข้องด้านสันติภาพหลายท่าน

การเขียนจดหมายส่วนตัวของอาจารย์ในครั้งนี้ หากเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ ควรนำส่งเป็นการส่วนตัว มิใช่นำมาเผยแพร่เป็นสาธารณะ เพื่อกล่าวหาและหาข้อสนับสนุนให้กับตัวเอง โดยใช้อาจารย์อันธิฌาและดิฉันเป็นเหยื่อในการขยายความเกลียดชังจากกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลามในสังคมมลายูปาตานีเช่นนี้

 

ดาราณี ทองศิริ

ผู้ร่วมก่อตั้งห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู

 

หมายเหตุ: คำอธิบายเรื่องอำนาจ 3 แบบ เรียบเรียงโดย อวยพร เขื่อนแก้ว นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีแนวจิตวิญาณ ศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม