Skip to main content

 

image
 
แถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน
เหตุปล้นรถและสังหารพลเรือนสองสามีภรรยา อ.เทพา จ.สงขลา
2 มีนาคม 2560

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์  2560 ในขณะที่กำลังมีการประชุมร่วมระหว่างตัวแทนมาราปัตตานี กับ ตัวแทนรัฐบาลไทยที่ประเทศมาเลเซียถึงการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย   แต่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้กลับเกิดเหตุความรุนแรงกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ ถึง 2 ราย คือกรณีปล้นรถยนต์และฆ่าสองสามีภรรยาเพื่อนำรถยนต์นำไปประกอบระเบิด  เหตุเกิดขณะสองสามีภรรยากรีดยางพารา ในพื้นที่หมู่ที่ 6 ต.ท่าม่วง อ.เทพา จ.สงขลา  ซึ่งฆาตกรรมดังกล่าวเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและละเมิดทั้งกฎหมายภายในประเทศและหลักสิทธิมนุษยชนไม่เพียงแต่เป็นการทำลายชีวิตและทรัพย์สินเท่านั้น  แต่ยังเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนต่อมาตรการรักษาความปลอดภัยต่อประชาชน    อีกทั้งประชาชนอาจสูญเสียความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจด้วยเพราะประชาชนเกิดความหวาดกลัวในการไปกรีดยางพาราในเวลาเช้าตรู่ซึ่งเป็นวิถีชีวิตและการดำรงชีพของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

องค์การสิทธิมนุษยชนที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์นี้เห็นว่าการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือนในทุกรูปแบบไม่ว่าจากฝ่ายใด อาจถือเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และผิดกฎหมายระหว่างประเทศ  นอกจากนี้ประเทศไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิง (The UN Declaration on the Elimination of Violence Against Women : CEDAW) และในปัจจุบันทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญต่อเนื่องในการปกป้องผู้หญิงและเด็กในภาวะสงคราม ดังที่มีการประกาศมติสมัชชาความมั่นคง 1325 ของสหประชาชาติว่าด้วย สตรี สันติภาพ และความมั่นคง (UN Security Council Resolution 1325 on Women, Peace and Security)  ซึ่งให้ความสำคัญในการไม่ยอมรับความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง  และ เรียกร้องให้กองกำลังและระบบการรักษาความมั่นคงให้ปกป้องผู้หญิงและเด็กหญิงให้พ้นจากความรุนแรงด้วย

เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนปาตานี มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ  กลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต และขอประณามการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือนและกลุ่มคนที่เปราะบางอาทิเช่นผู้หญิง และขอชื่นชมต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่สามารถระงับเหตุทีอาจเกิดขึ้นจากการใช้รถยนต์ไปก่อความรุนแรงได้  และขอเรียกร้องไปยังทุกฝ่ายดังนี้

  1. ขอให้มีการนำคนผิดมาลงโทษโดยการดำเนินตามหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน
  2. เรียกร้องให้ผู้ที่ใช้ความรุนแรงหยุดการกระทำต่อผู้บริสุทธิ์ พลเรือนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กและผู้หญิง
  3. ขอเรียกร้องให้รัฐที่มีพันธะหน้าที่ในการปกป้อง คุ้มครองให้ประชาชนได้มีชีวิตรอด ได้ดำเนินการหามาตรการป้องกันเหตุอย่างจริงจัง
  4. ขอสนับสนุนให้ทุกฝ่าย ทุกกลุ่มใช้แนวทางสันติวิธีและการเจรจาในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้