Skip to main content

 

ไทย-ผู้เห็นต่าง ตกลงจัดตั้งเขตปลอดภัย “นำร่อง” ในหนึ่งพื้นที่

 

อารยา โพธิ์จา และ ฮาตา วาฮารี 
กรุงเทพฯ และ กัวลาลัมเปอร์
 
 
 
 
 
    170228-TH-peace-620.jpg
    นายอาบู ฮาฟิซ อัลฮากิม โฆษกมาราปาตานี (คนที่สองจากซ้าย) และตัวแทนองค์กรมาราปาตานี แถลงข่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมเรื่องการตั้งพื้นที่ปลอดภัยในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่จัดขึ้นในกัวลาลัมเปอร์ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560
    ฮาตา วาฮารี/เบนาร์นิวส์
     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

    ในวันอังคาร (28 กุมภาพันธ์ 2560) คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข และองค์กรมาราปาตานี ของฝ่ายผู้เห็นต่าง ได้บรรลุข้อตกลงในกรอบการดำเนินการเพื่อจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดภัยนำร่อง” เพื่อเป็นการทดลองขึ้นหนึ่งเขต โดยในชั้นนี้ ได้ให้ทั้งสองฝ่ายเสนอพื้นที่ที่น่าจะเป็นไปได้ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 5 พื้นที่ ซึ่งจะคัดเลือกให้เหลือเพียงหนึ่งพื้นที่ ในขั้นสุดท้ายอีกครั้ง

    ทั้งสองฝ่ายได้ให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนว่า ในวันนี้ ได้มีการประชุมแบบเต็มคณะในประเทศมาเลเซีย ในวันนี้ โดยมีสำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข หรือ Joint Working Group-Peace Dialogue Process (JWG-PDP) ซึ่งเป็นฝ่ายอำนวยความสะดวกของประเทศมาเลเซีย เป็นผู้ประสานงาน

    หลังการเจรจาสิ้นสุดลง นายอาบู ฮาฟิซ อัลฮากิม โฆษกมาราปาตานี ได้อ่านเนื้อความในเอกสารผลการพูดคุย เป็นภาษามาเลย์ ให้แก่ผู้สื่อข่าวที่ติดตามการประชุมได้รับทราบด้วย

    “ในการประชุมในวันนี้ สำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข (JWG-PDP) ได้ตรวจสอบและเห็นชอบในการจัดกรอบการดำเนินการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง โดยได้เห็นชอบต่อพื้นที่ที่เสนอมาห้าพื้นที่ ซึ่งมีพื้นที่ในปัตตานี 1 แห่ง ในยะลา 2 แห่ง และในนราธิวาส 2 แห่ง ซึ่งจะคัดเลือกไว้เพียงหนึ่งแห่ง เพื่อเป็นโครงการนำร่อง” เนื้อความในเอกสารแถลงผลการประชุมระบุ

    “หลังจากนั้น ทีมเทคนิคร่วม จะเข้าสู่รายละเอียดในเรื่องกฎกติกา และกระบวนการในการแต่งตั้งคณะประเมินผลร่วม ที่จะตรวจเยี่ยมพื้นที่ที่เสนอไว้ ซึ่งคณะประเมินผลร่วมจะเสนอผลการประเมินไปยังทีมเทคนิคร่วม และสำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข เพื่อจัดตั้งคณะปฏิบัติงานร่วมในพื้นที่” เนื้อความในเอกสารแถลงผลการประชุมอีกท่อนหนึ่งระบุ

    “คณะปฏิบัติงานร่วมในพื้นที่ประกอบด้วยตัวแทนจากปาร์ตี้เอ (รัฐบาล) ปาร์ตี้บี (มาราปาตานี) ตัวแทนจากองค์กรเอ็นจีโอ ภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะร่วมกันจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย”

    นายอาบู ฮาฟิซ อัลฮากิม ได้ตอบคำถามเบนาร์นิวส์ ในเรื่องกรอบเวลาในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยว่า คณะปฏิบัติงานร่วมในพื้นที่ “จะใช้เวลาในการเตรียมการดำเนินการสามเดือน และการจัดตั้งสามเดือน”

    ทางด้านคณะพูดคุยฯ ของไทยได้ให้ข้อมูลว่า หลังจากนี้ คณะทำงานเทคนิคร่วมฯ ของทั้งสองฝ่าย จะจัดทำรายละเอียด หลักการ และขั้นตอนการปฏิบัติ รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผล โดยคณะกรรมการจะลงพื้นที่อำเภอต่างๆ ที่มีการเสนอชื่อมาก่อนประเมินความเหมาะสม และส่งให้คณะพูดคุยฯ ชุดใหญ่ตัดสิน กระบวนการดังกล่าวจะใช้เวลา 3 เดือน โดยมีการดึงภาคประชาสังคมและตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมด้วย ขณะที่ฝ่ายมารา ปาตานี จะส่งตัวแทนเข้ามาประเมินพื้นที่ด้วยเช่นกัน ซึ่งฝ่ายรัฐบาลไทยจะให้ความคุ้มครอง

    ส่วนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องการพูดคุยฯ ในวันนี้ โดยกล่าวว่า ตนเป็นคนกำหนดหัวข้อในการหารือของทั้งสองฝ่าย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องวาระแห่งชาติ ซึ่งโครงการพื้นที่ปลอดภัยนำร่องจะเป็นการตรวจสอบศักยภาพของฝ่ายผู้เห็นต่าง

    “อย่ามาถามผมว่าผมไม่รู้เรื่อง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของวาระชาติ เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีต้องรู้ ตั้งแต่การไปหารือ การไปพูด การกำหนดประเด็นในการที่จะหารือหรือการพูดคุยผมเป็นคนกำหนดสิ” พลเอกประยุทธ์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

    “การกำหนดพื้นที่ปลอดภัยต่างๆ เหล่านี้ ถ้ามันเกิดขึ้นจริง ไม่เกิดขึ้นจริง มันก็แสดงถึงศักยภาพคนที่เจรจากับเรา พูดคุยกับเราว่ามีศักยภาพจริงหรือไม่ ถ้ามันจริงมันก็คุยกันต่อเรื่องอื่นได้”

    การเจรจาคืบหน้า

    นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ตามการเก็บข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ปรากฏว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วราวเจ็ดพันคน รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รื้อฟื้นการเจรจาขึ้นอีกครั้งในปลายปี 2557 หลังจากที่การเจรจาที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556 สะดุดลงหลังถูกรัฐประหาร

    มาราปาตานี ประกอบด้วย สมาชิกจากกลุ่มบีอาร์เอ็น (แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมาลายู)  กลุ่มบีไอพีพี (แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปัตตานี)  กลุ่มจีเอ็มไอพี (ขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี)  และกลุ่มย่อยของขบวนการพูโล (องค์กรปลดปล่อยรัฐปัตตานี) สองกลุ่ม ได้เจรจาเต็มคณะกับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข เป็นครั้งแรก ในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558

    ทั้งนี้ การจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย เป็นหนึ่งในเงื่อนไขเบื้องต้นสามประการที่ทางฝ่ายไทยเรียกร้องจากฝ่ายมาราปาตานี ซึ่งประกอบด้วย หนึ่ง การจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย  สอง การพัฒนาพื้นที่  และสาม การเข้าถึงความยุติธรรมของทุกฝ่าย

    ส่วนนายมะสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะเจรจาของกลุ่มมาราปาตานี กล่าวว่า มาราปาตานี ได้เสนอข้อเรียกร้องไปจำนวน 3 ข้อ คือ  หนึ่ง ให้ยกปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ  สอง ยอมรับกลุ่มมาราปาตานี และ  สาม ให้ความคุ้มครองทางกฎหมายต่อตัวแทนพูดคุยของมาราปาตานี

    ทั้งนี้ เงื่อนไขเบื้องต้นทั้งหมดของทั้งสองฝ่าย จะเป็นกุญแจสำคัญต่อการเจรจาเพื่อสันติสุขต่อไปในอนาคต ซึ่งพลตรีนักรบ บุญบัวทอง ในฐานะเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของไทย (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) กล่าวว่า การเจรจามีสามขั้นตอน คือ หนึ่ง การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (ที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้) สอง ขั้นตอนการลงสัตยาบันยินยอมพร้อมใจในการแก้ไขปัญหาในเรื่องต่างๆ  และ สาม การทำโรดแม๊ปและดำเนินการตามโร๊ดแมปเพื่อแก้ไขปัญหาที่มี

    ในเรื่องนี้ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า "เรื่องนี้คงต้องติดตามต่อไปน่ะค่ะ ว่าจะเป็นจริงตามที่สองฝ่ายตกลงกันหรือไม่ โดยเฉพาะฝ่าย B ว่าจะควบคุมพื้นที่จริงไหม และจะต้องรอดูว่าจะประกาศพื้นที่ที่ไหนบ้าง แล้วคงต้องรอดูว่าจะเกิดความรุนแรงไหม"

     

    เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/news/peace-plan-02282017141650.html (2017-02-28)