Skip to main content

                                                     โดย......อิมรอน   โสะสัน

 

                                               (ภาพจาก http://mondafrique.com/la-face-cachee-de-tariq-ramadan/)

เมื่อความเป็นส่วนตัวปะทะกับเรื่องส่วนร่วม

         เมื่อผู้นำถูกร้องถามให้รับใช้ พวกเขาจะต้องพิจารณาทั้งในส่วนมิติความเป็นส่วนตัวและมิติส่วนรวมอย่างเคร่งครัด มิติความเป็นส่วนตัว หมายถึง ประการแรกที่ผู้นำจะต้องรับใช้คือตัวของผู้นำเอง ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราขอพร แบบอย่างท่านศาสนทูตได้สอนเราว่า เราจะต้องขอพรให้กับตัวเองก่อนและหลังจากนั้นเราจึงขอพรให้กับผู้อื่น เราเริ่มจากตัวเรา เพราะเราต้องมีความระมัดระวังในสิ่งที่เราขอจากพระผู้เป็นเจ้า หากเราเริ่มจากชุมชน อาจเป็นไปได้ว่าเรารับใช้ผู้อื่นโดยที่เราลืมดูตัวของเราเอง เรามีความเกี่ยวพันกับกิจกรรมมากมายก็จริงแต่มันทำให้เราลืมดูแลหัวใจของเราด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผู้นำจะต้องมีความเข้าใจในประเด็นนี้ก่อนเป็นอันดับแรก ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน เสริมว่า “ในมิติด้านจิตวิญญาณ เราต้องเริ่มต้นจากตัวของเราก่อน เราขอพรจากพระผู้ทรงสร้างให้ประทานพรเพื่อช่วยให้เราขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ ด้วยเหตุที่ว่า เราสามารถหลงลืมตัวตนของเราได้ สิ่งนี้นำมาสู่การละเลยต่อมิติอื่นๆอีกมากมาย”

การชำระล้างหัวใจให้บริสุทธิ์

          ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน กล่าวว่า ท่านศาสนทูตได้แนะนำพวกเรา “ให้ขอพรในยามค่ำคืนและเปลี่ยนโลกในตอนกลางวัน แต่ทว่า เราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้เลย หากเราหลงลืมบางอย่างในเวลากลางคืน เราไม่สามารถไปถึงความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ ถ้าเราไม่ได้รับการช่วยเหลือจากพระผู้ทรงอภิบาลของเรา”

          ด้วยเหตุนี้ อาจกล่าวในเชิงเปรียบเทียบได้ว่า ระหว่างกลางคืนนั้น เราต้องเรียนรู้ที่จะปลีกวิเวกเพื่อคิด ทบทวนตัวของเรา ภารกิจที่เราได้รับ เนื่องจากว่า “ภาวะผู้นำ” ไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าประสิทธิภาพการทำงานที่เห็นเป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่มันหมายถึงประสิทธิภาพภายในจิตใจของเรา มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “จริธรรม” “ความบริสุทธิ์ของจิตใจ” และ “อารมณ์” ดังนั้น จงเริ่มต้นจากตัวของเราก่อนเสมอ

ระหว่างมุสลิมที่กระตือรือร้นกับมุสลิมที่คอยก่อกวน

            ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน ได้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างมุสลิมสองจำพวก ได้แก่ มุสลิมที่กระตือรือร้น (Active Muslim) กับมุสลิมที่คอยก่อกวน (Agitator Muslim) ท่านให้นิยามว่า มุสลิมที่กระตือรืนร้นพวกเขาจะรู้ว่าพวกเขากำลังจะไปไหน (รู้ทิศทางที่ชัดเจน) ซึ่งต่างจากกลุ่มหลังที่ไม่มีความแน่นอน พวกเขาทำสิ่งต่างๆมากมาย แต่พวกเขาขาดวิสัยทัศน์ และสูญเสียการกำหนดทิศทางเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน มุสลิมที่กระตือรือร้นมีวิสัยทัศน์เป็นของตนเอง มีความอิสระ สามารถยืนหยัดด้วยตัวของตัวเอง และมีความมั่นใจในตัวเอง

ความเป็นตัวของตัวเอง การช่วยเหลือ และประชาชนของเรา

          ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน ได้เน้นว่า เราต้องพิจารณาสามมิติต่อไปนี้ คือ 1) ความเป็นตัวของตัวเอง 2) การช่วยเหลือ และ 3) ประชาชนของเรา ท่านกล่าวว่า “ประชาชนของเราหมายถึงผู้คนที่เราร่วมอาศัยอยู่กับเขา คนที่เราต้องคำนึงถึงว่า เราจะมีแนวทางการบริจาคซะกาต (ศาสนบริจาค) ให้กับพวกเขาอย่างไร? เพราะต้องตระหนักว่า  คนจน คนยากไร้เหล่านั้น วันหนึ่งเขาต้องกลับไปสู่พระผู้เป็นเจ้าและจะถามเราถึงสิทธิ์ของพวกเขา เพราะเราอยู่กับเขา” ท่านศาสนทูตบอกเรา “นี่คือประชาชนของเรา เรามีคนจน คนยากไร้อยู่ที่นี่ พวกเขาต้องการความช่วยเหลือจากเรา” ด้วยเหตุนี้ อิสลามสอนถึงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ให้พิจารณาสิ่งรอบตัวที่ใกล้ชิดกับเราก่อน หลังจากนั้นค่อยคิดถึงมิติอื่นๆต่อไป

                                    (ภาพจาก http://www.albawabaeg.com/90968)

ชุมชนมุสลิมในอังกฤษ

         ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน ได้ยกตัวอย่างชุมชนมุสลิมในอังกฤษเป็นกรณีศึกษา เมื่อเราพูดถึงการรับใช้ชุมชนมุสลิมในอังกฤษ ท่านได้ตั้งคำถามว่า เราจะรับใช้ชุมชนมุสลิมของเราอย่างไร? ท่านบอกว่า จุดเริ่มต้นในการรับใช้ประชาชน คือ “การรู้จักพวกเขาอย่างถ่องแท้ โดยเข้าใจในสองประการดังนี้ 1) รู้จักลำดับความสำคัญของความรู้ในอิสลาม ซึ่งมีความหมายและมีความเฉพาะในตัวของมัน และ 2) ต้องรู้จักประเทศและเข้าใจบริบทของชุมชนที่เราอาศัยอยู่” สองสิ่งนี้จะช่วยให้เรารู้จักประชาชนของเราในประเทศของเรา

เราต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

          “เราต้องการประชาชนของเราในหลากหลายสาขาวิชาชีพ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และเราก็ต้องการคนของเราเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Specialist) ด้วยเหมือนกัน ดังนั้น อย่าเป็นผู้รู้เพียงผิวเผิน (superficial) ท่านจงเลือกสาขาที่ท่านจะอยู่กับมัน เราทุกคนต้องทำงานหนักเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เราเลือก ซึ่งมันสื่อถึงทักษะความเชี่ยวชาญในระดับที่สูงขึ้น” ศ.ดร.ฎอริก รอมฎอน กล่าวเน้นถึงความสำคัญ

 

                                 (ภาพจาก http://www.meltingpotinternational.com/Features1.html)

ประเด็นพหุวัฒนธรรม

         ศ.ดร.ฎอริก รอมฎอน กล่าวว่า นักประชานิยม (Populist) กำลังทำเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง พวกเขามีแนวทางสำหรับประเด็นพหุวัฒนธรรม ได้แก่ 1) มีคำตอบง่ายๆต่อคำถามที่ซับซ้อน 2) “สร้างความเป็นอื่น”ให้กับคนอื่น (creation of others) ความเป็นอื่นในวันนี้ หมายถึง “มุสลิม” พวกเขาทำให้อิสลามมีความเป็นอื่น โดยบอกว่า “อิสลามไม่ใช่ศาสนาของยุโรป” “อิสลามไม่ใช่ศาสนาของชาวอเมริกัน” อิสลามเป็นอื่นในสังคมของพวกเขา กล่าวคือ มุสลิมกลายเป็นเหยื่อของอาณานิคมที่พวกเขาสร้างขึ้นมา พวกเขากำลังก่อตั้งอาณานิคมให้กับมุสลิมอีกครั้ง และกำลังปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นเหยื่อให้มุสลิม นี่คือ การเมืองว่าด้วยเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก (This is emotional politics.)

การบูรณาการเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

          ศ.ดร.ฎอริก รอมฎอน ย้ำเตือนเสมอ “การบูรณาการหรือการผสมผสานชาวมุสลิมในยุโรปได้สิ้นสุดลงมานานแล้ว” (Integration is over) มุสลิมในปัจจุบันคือ ผู้ให้ และผู้สนับสนุนการเจริญเติบโตในยุโรป อิสลามคือศาสนาของชาวยุโรป และศาสนาของชาวอังกฤษ เพราะแผ่นดินนี้เป็นบ้านของมุสลิม นี่คือจุดยืนที่ชัดเจนและเป็นจุดยืนเชิงบวก (positive position) ที่จะต้องตระหนัก คำว่า “บูรณาการ” มันจบไปนานแล้ว “ความสำเร็จของการบูรณาการคือการหยุดพูดถึงการบูรณาการ” เราต้องเดินไปข้างหน้า และอย่าคิดสร้างวิธีการนี้ขึ้นมาอีกเลย

        “พึงรู้ไว้เถิด! สิ่งที่พวกเขาประชาสัมพันธ์ในเวทีระหว่างประเทศมีความต่างอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่พวกเขาทำในท้องถิ่นของพวกเขา”........ “จงปล่อยให้พวกเขาทำและพูดต่อไป มุสลิมไม่ควรเสียเวลาในการตอบโต้ บางครั้งคำตอบที่ฉลาดที่สุดคือ...การนิ่งเงียบ” ศ.ดร.ฎอริก รอมฎอน ฉายภาพการบูรณาการในยุโรปและกล่าวเตือนสติมุสลิม.....

......วัลลอฮุอะลัม วะอะลา วะอะห์กัม....

 

 

(หมายเหตุ  บทความนี้แปลและเรียบเรียงจากเนื้อหาที่  Dr. Mozammel Haque  เขียนสรุปไว้จากการบรรยายของ ดร.ฎอริก รอมฎอน  ศาสตราจารย์ด้านอิสลามศึกษาร่วมสมัย มหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษ เรื่อง Vision and Leadership in the Muslim Communities of Britain ในการประชุมที่  the Muslim Council of Britain’s  MCB LDP Alumni Dinner, จัดขึ้น ณ  the Muslim Cultural Heritage Centre, London เมื่อวันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน 2011)