จดหมายจากสหรัฐอเมริกาถึงปาตานี ฉบับที่ 1.2
Assalamualaikum, Selamat pagi Patani dan Selamat malam Amerika
ในวันศุกร์ที่ผ่านมาผมได้สวมเสื้อธงปาเลสไตน์ที่มี wording ว่า "Patani Solidarity For All" และเราได้เดินทางไปยังสถานที่แห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า YATES community center หรือ เป็น YATES. คำว่า YATES นั้นเป็นชื่อของตึกนั่นซึ่งเคยเป็นตึกของโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในละแวกนั้น และหนึ่งในความภาคภูมิใจของเขาคือเคยมีศิษย์เก่าจากโรงเรียนนั้นสองคนที่ได้รับรางวัล Nobel. ตอนนี้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่รองรับ Refugees โดยที่เขาจะสอนภาษาอังกฤษให้กับผู้ลี้ภัยที่เพิ่งมาใหม่ และที่น่าสนใจคือเขาไม่ได้สอนแค่เด็กๆเท่านั้นแต่เขาก็มีหลักสการสอนสำหรับผู้ใหญ่และพ่อแม่ของเด็กๆ ส่วนใหญ่แล้วผู้ใหญ่จะเรียนเรื่องทักษะการทำงานมากกว่า เช่น ตัดเย็บเสื้อผ้า เพาะปลูก และเรียนรู้ถึงสังคม การใช้ชีวิต รวมไปถึงกฎระเบียบต่างๆของการใช้ชีวิตอยู่ Omaha (เมืองหลวงของรัฐ Nebraska). ส่วนใหญ่แล้วผู้ลี้ภัยที่มาอยู่ที่นี่นั้นมาจาก Sudan, Burma (Myanmar), Somalia, Puthan (Nepal) และเพิ่มเติมคือ Syria ที่เพิ่งมาเมื่อปี 2016 แต่ก็ไม่เยอะเท่ากับ 4 ประเทศที่ได้กล่าวไปไว้แล้วข้างต้น. เหตุผลที่ผมใส่เสื้อปาเลสไตน์ในวันนี้เพราะผมคิดว่าผมจะเจอกับพี่น้องผู้ที่ลี้ภัยมาจากปาเลสไตน์ที่อยู่ที่ YATES แต่ผมไม่เจอ. ผมได้เข้าไปทำกิจกรรมกับเด็กๆ เราเล่นเกมส์กัน เรากินขนม เรายิ้มให้กันและกันอย่างสนุก โดยส่วนตัวผมเป็นคนชอบเด็ก (นึกถึงบรรยากาศตอนที่เป็นพี่เลี้ยงของค่ายเด็กกำพร้าที่จัดโดย DEEP PEACE) เด็กๆที่ YATES เขามีความกล้าหาญมาก มีความมั่นใจในตัวเอง มีคำถามเยอะแยะที่ถามผมและเพื่อนคนอื่น. หลังจากนั้นผมก็ได้ไปดูบรรยากาศในห้องเรียนของผู้ใหญ่ ก้าวแรกที่ผมก้าวไปในห้องนั้นต่างคนต่างก็จ้องมองเราอย่างแปลกและเราก็ได้ทักทายกัน ในห้องนั้นมีผู้หญิงที่มาจากซีเรียประมาณสี่คน คนหนึ่งกำลังอุ้มลูกตัวเล็ก พวกเขาดูน่าสงสารมาก แต่เขาก็ยิ้มให้ผมและผมก็ได้ให้สลามกับพวกเขา เขาก็ถามว่า "คุณเป็นมุสลิมหรอ?" ผมตอบว่า "ใช่, ผมมุสลิม" ผมเป็นมุสลิมมาจากทางภาคใต้ของประเทศไทยหรือเป็นที่รู้จักว่า "ปาตานี" เขายิ้มและพูดว่า Alhamdulillah and nice to meet you. ผมก็ได้คุยกับเขาได้ไม่นานเพราะผมต้องเปลี่ยนไปอีกห้องหนึ่ง และผมก็ได้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเพื่อถ่ายรูปในห้องนั้น และเขาก็อนุญาต และผมก็เอากล้องมาเพื่อจะถ่ายรูป แต่รูปที่ผมได้นั้นพวกเขาหลบหน้ากล้อง เขาไม่ได้ปฏิเสธ หลังจากผมถ่ายแล้วพวกเขามองผมอย่างที่ผมไม่สามารถอธิบายเป็นตัวหนังสือได้ แต่ผมพอจะสัมผัสความรู้สึกของเขาได้ว่าทำไมเขาถึงหลบหน้ากล้อง ผมเลยตัดสินใจลบรูปนั้นออกไป มารยาทนั้นเป็นสิ่งที่ยากมากที่จะปฏิบัติ แต่ที่ยากมากกว่านั้น คือ การเคารพถึงความรู้สึกของคนๆหนึ่งที่เขาไม่ได้สื่อสารด้วยคำพูดที่เป็นวาจา. และผมก็ได้เจอกับเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเป็นมุสลีมะห์ เขา Reina เขาเกิดที่อัฟกานิสและย้ายมาอยู่ลอนดอนตอนเขา 5 ขวบ เขาได้เล่าว่าพ่อแม่เขาเป็นคนอัฟกานิสถานและลี้ภัยจากสงครามมาอยู่ที่ลอนดอน เราโตมาที่ลอนดอน แต่เราก็ยังคิดถึงบ้านเรา เราพูดภาษาของเราในบ้าน เราเสียใจที่ต้องจากบ้านไป แต่เมื่อสงครามได้ปะทุในประเทศเรา มีผู้คนล้มตายเพราะสงครามเป็นจำนวนมากจนทำให้พ่อของฉันตัดสินใจพาครอบครัวหนีมาอยู่ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อปกป้องคนที่เขารักจากสภาวะสงคราม เขาทิ้งท้ายประโยคหนึ่งว่า "ไม่มีผู้ลี้ภัยคนไหนต้องการเป็นผู้ลี้ภัย"
เวลาเที่ยงกว่าๆผมและเพื่อนมุสลิมบางส่วนได้แยกจากกลุ่มให้เพื่อเดินทางไปละหมาดวันศุกร์ที่สุเหร่าแห่งหนึ่งโดยที่ต้องขับรถยนต์ไปประมาณ 30 นาที จากที่นั่น และมีผู้ร่วมละหมาดไม่ถึง 40 คน รวมทั้งหญิงและชาย ก่อนบีหล่าลอ่านคุตบะห์เขาได้กล่าวต้อนรับผมและเพื่อนๆอีกสี่คน เขาได้แนะนำพวกเราให้กับมะมูมห์ว่านี่เป็นส่วนหนึ่งแกนนำเยาวชนจากกลุ่มประเทศอาเซียนที่มาเรียนในอเมริกาเป็นเวลา 5 สัปดาห์ เขาเรียนรู้ประเด็น civic engagement กับโครงการของYSEALI ณ มหาลัย University of Nebraska Omaha UNO. หลังจากละหมาดเสร็จเราก็ได้พูดคุย ดื่มชา และมีชายสองคนเดินตรงมายังผมแล้วบอกว่า "I like your shirt" ผมชอบเสื้อคุณน่ะ เขาบอกว่าต่อว่าเขาเป็นคนปาเลสไตน์ เขาดีใจที่มีคนคอยสนับสนุนประเทศเขา และเราก็จับมือสลามและกอดกัน ผมได้เล่าถึงที่มาที่ไปของเสื้อ และบอกเล่าถึงปัญหาที่ปาตานีที่เราได้ประสบมาพอสมควร เขาดีใจ ผมดีใจ เราดีใจ ดีใจที่เจอคนที่อยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ดีใจที่เจอคนที่เข้าใจความรู้สึกของกันและกัน ดีใจที่เขาดุอาให้ปาตานีด้วย ในที่สุดผมก็เจอกับชาวปาเลสไตน์โดยที่ผมไม่ได้คิดว่าวันนี้จะได้เจออย่างที่ใจตั้งไว้.
พอผมลองย้อนมาดูที่ปาตานี ผมมีพี่น้องหลายคนที่ต้องลี้ภัยจากสงครามที่ปาตานี ไม่ว่าจะเป็นในประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเทศราชอาณาจักรสวีเดน ประเทศแคนาดา ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน และอื่นๆที่ผมไม่มีข้อมูล. พวกเขาคงคิดถึงบ้านมากสิน่ะ การเริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างแดนมันไม่ได้สนุกอย่างที่ทุกคนคิด ไหนต้องเปลี่ยนสังคม วิถีชีวิต วัฒนธรรม โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน มันดูไม่ยากแต่ความเป็นจริงแล้วมันยาก และยากมากที่จะเปลี่ยน แต่เมื่อความปลอดภัยในชีวิตไม่มีเลยต้องจำเป็นหนีไปอยู่ประเทศที่สามรับรองความปลอดภัยแก่ชีวิตให้กับตนเองและคนที่เรารัก. ถ้าเรองสัมผัสจริงๆไม่มีใครต้องการจากบ้านของตนเองไปอยู่ที่อื่นหรอกไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เช่น เหตุการณ์ 113 คนปาตานีลี้ภัยไปอยู่ในมาเลเซีย วันนี้พวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง? ทำไมเขาต้องหนีไปมาเลเซีย? แล้วเขาจะทำงานอะไร? ลูกๆของเขาเรียนในระบบการศึกษามาเลเซียได้ไม่? หรือต้องจ่ายค่าอะไรเพิ่มเติม? วันนี้พวกเขาใช้ชีวิตกันอย่างไรบ้าง? ถ้าพวกเขามีตัวเลือก ผมคนหนึ่งต้องขอยืนยันว่าพวกเขาอยากอยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน กินข้าวที่บ้าน ไปเล่นนำ้คลองหลังบ้าน ไปเตะบอลกับเพื่อนๆตอนเย็น.
ในจดหมายฉบับนี้เป็นฉบับที่ 1.2 ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ผมถอดจากหนึ่งในประสบการณ์ที่ผมได้จากที่นี่ ผมอยากบอกว่ามาตุภูมินั้นสำคัญ ไม่มีใครต้องการจากมาตุภูมิที่ตนเคยโตมาและบรรพบุรุษของตนเคยอยู่อาศัย โดยเฉพาะมาตุภูมิที่ต้องได้มาด้วยการเสียเลือดเนื้อของคนในมาตุภูมินั้นๆ ผมรักปาตานี และคนปาตานีอื่นๆก็รักปาตานีเช่นกัน
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จดหมายจากสหรัฐอเมริกาถึงปาตานี
จดหมายจากสหรัฐอเมริกาถึงปาตานี ฉบับที่ 1.1