Skip to main content

ในภาพอาจจะมี 1 คน, สถานที่กลางแจ้ง และ ภาพระยะใกล้

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
หมอผู้ปกป้องสุขภาวะของประชาชน หรือผู้ทำลายความมั่นคงของชาติ ?

เป็นที่ร่ำรืออย่างหนาหูว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ได้ส่งสัญญาณกดดันไปยังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนโยกย้าย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา ให้พ้นจากพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินนโยบายการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของภาคใต้ หรือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา..ที่มี กฟผ. หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิต พยายามผลัดดันโครงการ

การแสดงความคิดเห็นของ นพ.สุภัทร ในเวที่ทำความเข้าใจเรื่องพลังงานภาคใต้ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ที่จัดขึ้นโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช.ที่ผ่านมาอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ยังความไม่่พอใจเกิดขึ้นกับผู้มีอำนาจในเวทีแห่งนั้น ด้วยข้อเสนอที่แสดงออกไปอย่างตรงไปตรงมา ประกอบกับท่วงทำนองของคุณหมดในช่วงปี สองปีที่ผ่านมาซึ่งท่านได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา หรืออาจจะรวมถึงการดำเนินนโยบายใดๆของรัฐบาลก่อนหน้าที่ที่จะยังผลให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งคือการส่งผลกระทบตรงต่อสุขภาพร่างกายของประชาชนโดยตรง

ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นหมอ ที่ไม่ได้เพียงแค่การรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ด้วยความคิด และความเชื่อที่ว่าการป้องกันการเจ็บไข้ได้ป่วย คือการรักษาที่ดีที่สุด และถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่ควรทำมากกว่าการรักษาพยาบาลคนป่วย ซึ่งบางรายอาจจะเป็นระยะสุดท้ายด้วยซ้ำไป

การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ถือเป็นกิจการที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงในการดำรงชีวิตของประชาชน ด้วยเหตุผลที่อ้างว่า “ถ่านหินสะอาด” หรือ “เทคโนโลยี่สะอาด” ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมันไม่เคยมีอยู่จริง เพราะในความเป็นจริงแล้วต่อเรื่องนี้ได้เป็นที่ประจักษ์ของประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ที่ต่างมีทิศทางในแนวนโยบายแห่งรัฐให้มีการลด ละ และเลิกการใช้ฟอสซิลทุกชนิด โดยเฉพาะถ่านหินเป็นเชื่อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่อันตรายที่สุด แม้จะใช้กระบวนการผลิตที่ทันสมัยแค่ไหนก็ตามก็ไม่อาจจะควบคุมมลพิษได้หมดร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือการจะอ้างถึงต้นทุนการผลิตว่าประหยัด และราคาถูกต่ำแค่ไหนก็ตาม แต่เมื่อประเมินความคุ้มค่าของสุขภาพร่างกายของประชาชนที่จะต้องแลกด้วยแล้ว ในทัศนะของนายแพทย์ที่มีความรู้ต่อเรื่องสุขภาพ และผลกระททบทางมลภาวะเหล่านี้เป็นอย่างดี ย่อมไม่อาจจะนิ่งเฉย และหลีกเลี่ยงที่จะแสดงออกต่อเรื่องนี้ได้ ดังนั้น นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ จึงได้พยายามที่จะใช้ทุกวิถีทางที่จะสื่อสารให้กับรัฐบาลทราบถึงข้อเท็จจริงต่อเรื่องนี้

หากการแสดงออกต่อเรื่องดังกล่าวอย่างตรงไป ตรงมา เพื่อที่จะบอกกับรัฐบาล หรือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เพื่อให้ทบทวนนโยบายดังกล่าวเสีย แต่กลับมีท่าทีในเชิงลบต่อคุณหมอท่านนี้ และยังพยายามเชื่อมโยงไปว่าพฤติกรรมของคุณหมออาจจะเป็นการสร้างความวุ่นวาย และไม่เคารพต่อนโยบายของรัฐบาล จนได้มีการยึดโยงเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องที่ฝ่ายรักษาความมั่นคงภายในแห่งราชอาณาจักรจะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงแล้ว ก็ถือว่าเป็นความคิดอันผิดเพี้ยนของผู้มีอำนาจในประเทศนี้อย่างไม่อาจเข้าใจได้

และการที่ กอ.รมน. หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ถึงขั้นต้องทำหนังสือกดดันไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อดำเนินการให้โยกย้าย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ออกจากพื้นที่จังหวัดสงขลานั้น ถือเป็นการกระทำที่เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่หรือไม่ อย่างไร เพราะมื่อได้ไปอ่านเนื้อหาของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 แล้ว ก็ยิ่งสงสัยว่าคุณหมอผู้ทำหน้าที่ปกป้องสุขภาวะของประชาชนเช่นนี้ จะไปขัดขวาง หรือทำลายความมั่นคงภายในของชาติได้อย่างไร 

สมบูรณ์ คำแหง
เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้)