Skip to main content

 

ย้อนกลับไปปี 2009 Dominique Moïsi ได้เขียนงานชิ้นหนึ่งเรื่อง the Geopolitics of Emotion ซึ่งนำเสนอว่า โลกถูกขีดแบ่งและขับเคลื่อนด้วยปฏิสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกอย่างน้อย 3 กระแสหลักที่หลอมตัวเป็นวัฒนธรรมของภูมิภาคต่างๆ คือ ความกลัว (fear) ปกคลุมในตะวันตก || ความหวัง (hope) จรัสแสงในเอเชีย (ตะวันออก) || และความรู้สึกถูกดูหมิ่น (humiliation) จับใจคนในโลกอาหรับ

และหากพิจารณาสำหรับแวดวงวิชาการ การขยับความสนใจต่อความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์ความรู้สึกกับการเมือง ก่อตัวขึ้นอย่างเด่นชัด อย่างน้อยก็ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 โดยเคลื่อนตัวไปใน 3 ขนบทางเดินสำคัญ คือ การวิเคราะห์เชิงจิตวิทยา (psychoanalysis) || การวิเคราะห์กระบวนการคิดรู้ (cognitive analysis) || และแนวทางประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) แต่กระนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า การพิจารณามิติของอารมณ์ความรู้สึกก็ยังเป็นส่วนที่ไม่มีที่ทางที่เข้มแข็งมากนักในการศึกษาการเมืองระหว่างประเทศ พอๆ กับที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า การทำงานของอารมณ์ความรู้สึกเป็นแรงเคลื่อนสำคัญต่อทิศทางและหน้าตาการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน 

งานเสวนาวิชาการนี้จึงจัดขึ้นในบริบทความรู้ดังกล่าว เพื่อร่วมกันออกท่องสำรวจว่า อารมณ์ความรู้สึกรวมหมู่สองกระแสหลัก คือ ความเกลียดตะวันตก และความหวาดกลัวอิสลาม จะพาสันติภาพของโลกเดินไปในทิศทางแบบไหน และเราจะอยู่อย่างไรในโลกแบบนี้ ทัวร์สำรวจของเรา "#เกลียดตะวันตก || #กลัวอิสลาม || และ #สันติภาพในประโยคคำถาม" จะเริ่มขึ้นในวันพุธที่ 26 เมษา 2560 เวลา 8.30-12.00 ณ ห้อง 3-101B อาคารอุไรรัตน์ มหาวิทยาลัยรังสิต

โดยได้รับเกียรติจากนักวิชาการ 3 ท่านที่อาสาเป็นไกด์นำทางพาไปสำรวจตรวจสอบประเด็น ได้แก่
1. อ.วิโรจน์ อาลี || อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2. อ.รุสตั้ม หวันสู || นักวิจัยโครงการ ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ
3. อ.รัฐวิศว์ เอื้อประชานนท์ II นักวิชาการศึกษา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
โดยมี อาทิตย์ ทองอินทร์ || หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นผู้ดำเนินรายการ

เรียนเชิญทุกท่านมาร่วมท่องสำรวจประเด็นนี้ไปด้วยกันนะครับ

 

Event date