Skip to main content

บันทึกจากตุรกีว่าด้วยผลประชามติถึงประชาธิปไตยไทย ตอนที่ 1§

ที่มา Patani Forum

อันวาร์ กอมะ*
 

 รูปภาพที่ 1ภาพโปสเตอร์ของฝ่ายรับ (Evet) ที่ Taksim อิสตันบูล 16/04/2017

ภาพถ่ายโดยคุณซัลมาน หมัดหมัน

ตอนที่หนึ่ง

00.43 น. หลังเที่ยงคืนของวันพฤหัสบดีก่อนการลงประชามติ 2 วันผมนั่งมองนาฟิกาบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือขณะเปิดเฟสบุคเพื่อดูข่าวก่อนนอน ข้อความแรกที่ผมเจอคือข้อความที่จ่ายค่าโฆษณาให้กับเฟสบุคของ The Economist ซึ่งเขียนว่า “มันไม่มีอะไรผิดสำหรับการมีประธานาธิบดีที่เข้มแข็ง แต่รัฐธรรมนูญใหม่ของตุรกีจะทำให้ประธานาธิบดีแอรโดอันกลายเป็นสุลต่านแห่งศตวรรษที่ 21”[1] ข้างใต้ข้อความดังกล่าวมีการแสดงความคิดเห็นไม่น้อยกว่า 1,700 ครั้ง มีผู้ส่งต่อไม่ต่ำกว่า 3,200 คน และแสดงอารมณ์ร่วมมากกว่า 8,400 คน

อีกข้อความหนึ่งจากระบบที่แสดงผลบนหน้าจอมาจาก Turkish Policy Quarterly Journal ซึ่งกล่าวถึงการลงประชามติที่ตุรกีสั้นๆ ว่า “มันเป็นหนึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองตุรกี”[2] จากนั้นผมเลื่อนหน้าจอลงมาด้านล่างก็พบข้อความของเพื่อนนักศึกษาไทยในตุรกีคนหนึ่งแชร์ข้อความข่าวของ Anadolu Agency ซึ่งเป็นสำนักข่าวชื่อดังในตุรกีโดยมีหัวข้อข่าวว่า “คนตุรกีคือผู้ที่จะกำหนดอนาคตของยุโรป”[3]

หลังจากอ่านข้อความข้างต้นแบบรวดเร็วผมกลับมาถามตัวเองว่าอะไรคือใจกลางสำคัญของการลงประชามติครั้งนี้ที่ทำให้คนตุรกีและนักวิชาการต่างชาติให้ความสนใจกับการลงคะแนนเสียงเพื่อรับรอง/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 18 มาตราที่เสนอโดยพรรคเพื่อการพัฒนาและความยุติธรรม (AKP) และพรรคขบวนการชาตินิยม (MHP) คำถามดังกล่าวทำให้ผมต้องนอนดึกและทำการบ้านติดต่อกันอีกหลายคืน

 

หนึ่งอาทิตย์ก่อนการลงคะแนนเสียงประชามติจะมาถึงผมถามเพื่อนชาวตุรกีที่พบเจอกันในหอพักนักศึกษาที่เมืองอิซมิร (Izmir) ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่า 200 คนว่าอยากให้ใครชนะและเพราะอะไร คำตอบส่วนใหญ่เทคะแนนให้เสียงฝ่าย Hayır (ไม่รับ) เพราะไม่อยากให้ประธานาธิปดีเรเจป ทายยิพ แอรโดอัน (Recep Tayyip Erdoğan) กุมอำนาจเบ็ดเสร็จแต่เพียงผู้เดียวซึ่งจะกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ระบบประชาธิปไตยของตุรกีมีปัญหาในอนาคต เช่นการขาดระบบถ่วงดุลอำนาจ การขาดระบบตรวจสอบที่โปร่งใส การเกิดทางตันระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติและการเป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ

อย่างไรก็ตามมีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนส่วนน้อยที่ผมเจอในห้องละหมาดของหอพักอยากให้ฝ่าย Evet (รับ) ชนะ เพราะมองว่าแอรโดอันเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและสามารถพาตุรกีผ่านอุปสรรคทางการเมืองต่างๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับกลุ่มฟัตฮุลลอฮ์ กูเลน (FETO) การสลายเครือข่ายรัฐเร้นลึก การปราบปรามกลุ่มผู้ก่อการร้าย (ISIS และ PKK)[4] การรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียและปัญหาปากท้องของประชาชน

นอกจากนั้น ในช่วงสายของวันลงประชามติผมเดินไปซื้อถั่วและผลไม้ที่ตลาดนัดวันอาทิตย์และเข้าไปทักทายคุณลุงที่ขายน้ำผึ้งตามปกติซึ่งมีอายุราวๆ 70 ปี หลังจากถามทุกข์สุขกันเสร็จคุณลุงถามผมเชิงล้อเล่นว่าไม่ไปลงคะแนนเสียงหรอ ผมยิ้มแล้วถามคุณลุงกลับว่าคุณลุงไปลงมาแล้วยัง คุณลุงกำมือขวาอย่างแน่นและทุบลงบนฝ่ามือด้านซ้ายอย่างแรงพร้อมกับตอบกับผมอย่างสะใจว่า “ไปลงมาแล้ว” ผมยังไม่ทันได้ถามต่อ คุณลุงก็พูดขึ้นมาว่า “ยังไงผมก็ไม่รับ”

ตลาดนัดวันอาทิตย์ อิซมิร ตุรกี (ภาพเก่า)

อย่างไรก็ตาม คำตอบที่ผมได้รับจากการพูดคุยกับผู้คนที่อยู่ในเมืองอิซมิรอาจจะย้อนแย้งกับทัศนะทั่วไปของคนตุรกีส่วนใหญ่ซึ่งสำนักข่าวอานาโดลู (Anadolu Agency) ได้คาดคะเนว่าฐานเสียงของสองพรรคการเมืองที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่น่าจะเพียงพอต่อการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้[5] ซึ่งผลก็เป็นจริงอย่างที่ได้วิเคราะห์ไว้

หากกล่าวอย่างรวบรัด การลงประชามติในวันที่ 16 เมษายนนั้นเปรียบเสมือนสนามการต่อสู้ระหว่างกลุ่มที่จงรักษ์ภักดีต่อแอรโดอันและพรรคเพื่อการพัฒนาและยุติธรรม (AKP) กับกลุ่มที่ไม่นิยมแอรโดอันโดยมีพรรคสาธารณรัฐประชาชน (CHP) เป็นหัวขบวน

อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาดังกล่าวทำให้เห็นบรรยากาศก่อนการลงคะแนนเสียงที่มีชีวิตชีวา หลายมหาวิทยาลัยประกาศเลื่อนการสอบกลางภาคให้เร็วกว่าเดิมเพื่อเอื้อให้นักศึกษาสามารถเดินทางไปใช้สิทธิ์ได้อย่างสบายใจ นักศึกษาส่วนใหญ่ถือโอกาสนี้กลับไปเยี่ยมญาติที่บ้านเกิดเมืองนอนและเฝ้าติดตามผลการนับคะแนนร่วมกัน หากมองย้อนกลับมาดูสถิติจำนวนผู้มาลงคะแนนเสียงการเลือกตั้งในหลายครั้งที่ผ่านมา (ตารางที่ 1) จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมการลงประชามติครั้งนี้มีจำนวนผู้ที่ลงคะแนนเสียงมากถึงร้อยละ 86.6

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าแม้ได้มีความพยายามจากทหารกลุ่มหนึ่งที่เป็นเครือข่ายของรัฐเร้นลึกในการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2016 และมีการใช้ความรุนแรงของกลุ่ม PKK และ ISIS อย่างต่อเนื่อง แต่การมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยการลงคะแนนเสียงก็พิสูจน์ให้เห็นในระดับหนึ่งแล้วว่าตุรกีเป็นประเทศมุสลิมที่มีระดับความเชื่อมั่นในประชาธิปไตยค่อนข้างสูงและพฤติกรรมของมวลชนส่วนใหญ่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่เคารพในสิทธิเสรีภาพและไม่นิยมความรุนแรงในการเรียกร้องทางการเมือง[6]

ประชากร

80 ล้านคน

จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไป

79% (2002), 84% (2007), 83% (2011), 85% (2015)

จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิลงประชามติ 2017

86.6 %

ผลการลงประชามติ 16 เมษายน 2017

ฝ่ายรับ (Evet) ชนะ 51.41 %

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

1.67 พันล้าน ($)

ดัชนีการพัฒนามนุษย์

พัฒนาระดับสูง (71)

ดัชนีเสรีภาพ

ไม่มีเสรีภาพสื่อแต่มีเสรีภาพอินเตอร์เน็ตบางส่วน

คุณภาพของประชาธิปไตย

ระดับกลาง

ดัชนีประชาธิปไตย

ระบอบพันทาง

ตารางที่ 1ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับตุรกีและประชาธิปไตย

 

ที่มา Central Intelligence Agency, ‘Turkey’, The World Factbook [accessed 14 April 2017]; Freedom House, ‘Turkey’, Freedom House [accessed 15 April 2017]; UNDP, Human Development Report 2016: Human Development for Everyone (New York: The United Nations Development Programme, 2016), p. 211.; Hurriyet, ‘Turnout in Turkey’s Nov. 1 Vote over 85 Pct’, Hürriyet Daily News, 2015 [accessed 15 April 2017].; The Economist, ‘Democracy Index 2016’, Featured Topic: Democracy Index [accessed 16 April 2017];  David F. J. Campbell and others, Democracy Ranking 2012 (Scores) (Vienna: Democracy Ranking., 2012) [accessed 16 April 2017]; Economist Intelligence Unit, ‘EIU Democracy Index 2016’, The Economist Intelligence Unit’s Democracy Index [accessed 16 April 2017].; Hürriyet, ‘Referanduma Yoğun Katılım’, Hürriyet, 2017 [accessed 16 April 2017].; Anadolu Agency, ‘2017 Halk Oylaması’, Anadolu Agency, 2017 [accessed 16 April 2017].

 


§ ขอขอบคุณอาจารย์เอกรินทร์ ต่วนศิริ สำหรับคำวิพากษ์วิจารณ์บทความนี้ก่อนการเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ  คุณซัลมาน หมัดหมัน สำหรับการจัดหารูปภาพจากนครอิสตันบูล และปาตานีฟอรั่มที่อนุญาติให้นำมาเผยแพร่ต่อ

นักศึกษาปริญญาเอก Dokuz Eylül University, Turkey

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกที่ Patani Forum


[1] “There is nothing wrong with a strong president, but Turkey’s new constitution would make President Erdogan into a 21st century sultan” The Economist, ‘Facebook’, 13 April 2017 [accessed 14 April 2017].

[2] "It is one of the most significant events in Turkish political history" Turkish Policy Quarterly Journal, ‘Facebook’, 13 April 2017 [accessed 14 April 2017].

[3] “It is Turks who will shape Europe's future: Erdoğan” Anonymous, ‘Facebook’, 13 April 2017 [accessed 14 April 2017].

[4] ISIS ย่อมาจาก Islamic State of Iraq and Syria หมายถึงรัฐอิสลามในอีรักและซีเรีย สถาปนาขึ้นเพื่อก่อตั้งรัฐอิสลามที่มีคอลีฟะฮ์เป็นผู้นำสูงสุดและมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการดูแลกิจการด้านการเมืองและศาสนา ดูเพิ่มเติมที่ จรัญ มะลูลีม, ‘รัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย’, ed. by สุรชาติ บำรุงสุข, จุลสารความมั่นคงศึกษา, พฤศจิกายน 2557.149, 1–41.; ส่วน PKK ย่อมาจาก Partiya Karkerên Kurdistan คือพรรคแรงงานเคอร์ดิสถานที่ต่อสู้กับรัฐตุรกีเพื่อสถาปนารัฐอิสระขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ดูเพิ่มเติมที่ ศราวุฒิ อารีย์, ‘ตุรกีกับปัญหาชาวเคิร์ด: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต (2)’, Thai World Affairs Center (Thai World), 2550 [accessed 15 April 2017].

[5] Hatice Kesgin, ‘Turkish MPs Pass Articles 14-16 of New Constitution’, Anadolu Agency, 2017 [accessed 16 April 2017].

[6] บทความนี้ให้ความหมายของคำว่าประชาธิปไตยตามคำจำกัดความในเชิงรูปแบบ/กระบวนการ หรือเรียกว่าอย่างหนึ่งว่า minimalist definition of democracy ในแง่นี้ “ประชาธิปไตยคือระบบที่มีพรรคการเมืองที่แพ้การเลือกตั้ง” แต่เล่นอยู่ในกฎกติกาที่วางไว้ เกมส์ต้องเริ่มด้วยการเลือกตั้งโดยที่ไม่มีผู้เล่นคนใดสามารถควบคุมผลลัพธ์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ และผู้เล่นต้องเชื่อว่าประชาธิปไตยเท่านั้นคือกฎกติกาเดียวในเมืองแห่งนั้นโดยไม่มีการเล่นนอกเกมส์ ดังนั้นประชาธิปไตยทำให้มีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะแต่ผู้แพ้เลือกที่จะยอมรับและต่อสู้อยู่ในกฎกติกา เพราะเป็นกรอบที่เปิดให้มีการแข่งขันและสามารถกลับมาชนะได้อย่างชอบธรรมและสันติ ดูเพิ่มเติม Adam Przeworski, Democracy and the Market: Political and Economic Reforms in Eastern Europe and Latin America (Cambridge: Cambridge University Press, 1991), pp. 10–14.