Skip to main content

 

ผลสรุปการประชุมฮาลาลในชิคาโก

โดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

 

 

ผมมาประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องอาหารฮาลาลที่ชิคาโกจัดโดยองค์กร Ifanca หรือสภาอาหารและโภชนาการอิสลามแห่งอเมริกา องค์กรนี้รับรองฮาลาลทั่วโลก มีสำนักงานสาขาอยู่ในกว่า 50 ประเทศ สมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายปากีสถาน ส่วนที่สำคัญคือองค์กรนี้มีความสัมพันธ์กับภาคธุรกิจอเมริกันและยุโรปขนาดใหญ่ค่อนข้างมาก

ผมมาประชุมฮาลาลในอเมริกาสองสามครั้ง บรรยากาศการประชุมแตกต่างจากบ้านเราและแถบอาเซียนอย่างสิ้นเชิง ในบ้านเราคุยกันเรื่องหลักชารีอะฮฺค่อนข้างมาก ส่วนที่นั่นเน้นไปในทางธุรกิจเป็นหลัก คุยกันเรื่องว่าจะรับรองอย่างไรให้เป็นไปตามมาตรฐาน พยายามผลักดันมาตรฐานให้เป็นไปตามมาตรฐานกระแสหลัก ให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมซึ่งทั้งหมดไม่ใช่มุสลิมยอมรับ ขณะที่การบรรยายของผมเน้นไปทางเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าธุรกิจ ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคซึ่งเป็นมุสลิมปลอดภัยที่สุดทั้งด้านกายภาพและจิตวิญญาณ

ผมได้รับเชิญมาบรรยายเนื่องจากผู้จัดสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่คาดกันว่าจะกลายเป็นอีกกระแสหนึ่งในอนาคต มีความจำเป็นต่อการรับรองฮาลาลที่ถูกต้อง เรามีตัวอย่างการรับรองค่อนข้างมากอย่างน้อยที่สุด 50,000 ตัวอย่างอาหารเราวิเคราะห์แล้ว กระทั่งทำ H numbers แทน E numbers แล้ว ทางกลุ่มเขายังไม่ได้เริ่มเลยแต่คิดว่าจะเริ่มด้วยการทำงานร่วมกับบริษัทด้านห้องปฏิบัติการระดับโลกอย่างเช่น Intertek, SGS และอื่นๆ หมายถึงก้าวเดินเข้าไปในจุดที่ประเทศไทยเคยผ่านมาแล้ว ในเรื่องนี้ดูเหมือนอินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน พากันคัดค้าน

ผมประเมินเอาเองว่าการมาร่วมประชุมฮาลาลครั้งนี้ให้ผลคุ้มค่า อย่างน้อยได้ทราบว่าการรับรองฮาลาลมีหลายกระแส มีผู้เล่นหลายรายเข้ามาแสดงบทบาท ประเทศที่น่าจับตาในส่วนกระแสทางธุรกิจโดยลดบทบาททางศาสนาลงคือยูเออี สหรัฐ ยุโรป ขณะที่กลุ่มประเทศเอเชียใต้ และอาเซียนยังให้ความสำคัญกับบทบาททางศาสนา น่าจับตาอินโดนีเซียที่ใน ค.ศ.2019 รัฐบาลจะเข้ามาคุมงานฮาลาล ดูว่าจะเดินไปในทิศทางไหน อย่างไรก็ตามชัยชนะตำแหน่งผู้ว่าการกรุงจาการ์ต้าของอานิส บาสึแวดัน อายุ 47 ปีซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายศาสนาอิสลามเมื่อวันที่ 19 เมษายนสดๆร้อนๆที่มีเหนือคนจากฝ่ายการเมืองอาจทำให้อินโดนีเซียหันมามองกลุ่มศาสนามากขึ้น ก็ต้องดูกันต่อไป

อีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจคือเกาหลีใต้ ปรากฏว่าองค์กรรับรองฮาลาลที่เข้าร่วมประชุมไม่ใช่มุสลิมเพียงให้อิหม่ามมาเป็นที่ปรึกษา ประกาศด้วยว่าจะประสบความสำเร็จเหมือนซัมซุงเอาชนะไอโฟนมาแล้ว ส่วนประเทศไทยเราเป็นประเทศส่งออกอาหาร ต้องมองตลาดข้างนอกเป็นหลัก ในเมื่อสองแนวทางคือธุรกิจแข่งกับศาสนาอย่างนี้ ในความเห็นของผม ผู้บริโภคคือคำตอบ ศาสนาจึงยังเป็นแรงขับสำคัญ

ในทั้งสองกระแสดูเหมือนวิทยาศาสตร์ฮาลาลยังได้รับความสนใจจากทั้งสองกลุ่ม ความได้เปรียบของประเทศไทยที่พัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลมาอย่างโดดเด่นจึงน่าจะอยู่ตรงนี้