Skip to main content

การเรียน VS เสพยา  “ย่อมมีฝ่ายชนะ-ฝ่ายแพ้” 

 

พิศิษฐ์ วิริยสกุล[1]

 

เสียดายอะไรบางอย่าง... หลังจากบรรยายให้กับผู้เสพติดเฮโรอีนเรื้อรังของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง  หัวหน้าพยาบาลประจำแผนกยาเสพติดได้พาผู้ปกครองของเด็กวัยรุ่นให้มาพูดคุยด้วย แต่ผู้ปกครองท่านนั้นบอกว่า “ผมตั้งใจพาเด็กมาขอยาจากหมอ เพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย” ท่านก็รีบไปรับยา แยกจากกัน

                เป็นธรรมดาที่พ่อ-แม่ หรือผู้ปกครองทุกคนที่เฝ้าถนอมเลี้ยงบุตรหลานมาตั้งแต่เท้าเท่าฝาหอย ย่อมต้องการเห็นบุตรหลานเติบโตมีอาชีพที่มั่นคงเป็นหลักเป็นฐาน แต่เมื่อบุตรหลานเสพยาท่านต้องพยายามที่จะแก้ไข การที่คุณพ่อตัดสินใจพาลูกมาขอรับยาจากหมอเพื่อไม่ต้องเสพยาเสพติดและเตรียมตัวสอบ จึงเป็นสิ่งที่พ่อ-แม่พึงกระทำตามความเข้าใจของคนทั่วไป แต่เสียดายที่ไม่ได้มีโอกาสได้คุยกับเด็กด้วย จึงไม่รู้ว่าเด็กเสพยาเพราะ “ติดเพื่อน” หรือ “ติดใจ” ความมึนเมาจาการเสพ

                วันนั้นไม่มีเวลาคุยกับผู้ปกครองนานนัก จะได้ช่วยทำความเข้าใจธรรมชาติของคนเสพยา...ถ้ารู้ว่าเด็กเสพยาตามเพื่อนหรือ “ติดเพื่อน” คงแนะนำอย่างหนึ่ง  แต่นี่เด็กคงเสพยาต่อเนื่อง จึงต้องขอยาไปทานเอง อาการขั้นนี้น่าจะอยู่ในขั้น “ติดใจ” ความมืนเมาจากการเสพมากกว่า ผู้ปกครองคงต้องเตรียมตัวตั้งรับทุกสภาพการณ์ที่จะตามมาด้วยความอดทน เคยมีคำที่คนทั่วไปมักพูดว่า “คนติดยาเสพติดเลิกไม่ได้ รักษาไม่หาย” ขอตอบว่า “คนติดยาเสพติดเลิกได้ แต่เลิกไม่ง่าย”

เพราะเหตุใด...?  คนเสพยาเสพติดที่ “ติดใจ” ความมึนเมาจากการเสพ “เลิกไม่ง่าย”   เนื่องจากเมื่อเสพสิ่งเสพติดเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม    ต่อมไร้ท่อใต้สมองหรือระบบลิมบิก (Limbic system)  จะถูกกระตุ้นให้เร่งหลั่งสื่อเคมีออกมามากกว่าปรกติ  เช่น ถ้าเราออกกำลังกาย ต่อมไร้ท่อใต้สมองจะหลั่งสื่อเคมีเอนดอร์ฟีน (Endorphin) ออกมาทำให้เกิดการผ่อนคลาย มีความสุข แต่ถ้าเสพเฮโรอีน  มอร์ฟีน  อนุพันธ์ของฝิ่นต่างๆ   ต่อมไร้ท่อใต้สมองจะเร่งการหลั่งสื่อเคมีออกมาเร็วและมากขึ้น ทำให้เกิดความสุข   เพลิดเพลิน   เคลิบเคลิ้ม ยิ่งขึ้นกว่าปรกติ เช่นเดียวกับ เสพยาบ้า  ยาอี  ยาเลิฟ ต่อมไร้ท่อใต้สมองจะเร่งสื่อเคมีโดปามีน (Dopamine) หรือซิโรโทนิน(Serotonin)  และนอร์แอดรีนาลีน (Noradrenalin) ทำให้เกิดความตื่นเต้น  มีกำลังวังชา  จิตใจสดใสรวดเร็วยิ่งขึ้นเป็นต้น ผู้เสพจึงชื่นชอบและติดใจกับความรู้สึกที่ได้รับ  และจะเสพสิ่งเสพติด เพื่อให้สมองเร่งความสุขจากสื่อเคมีด้วยวิธีทางลัด (Shortcut)  ตามความปรารถนาของตัวเอง  เมื่อคนเรา “ติดใจ” อะไรแล้ว มักจะทำซ้ำๆ บ่อยๆ นี่คือคำตอบว่า “เพราะเหตุใดจึงเลิกไม่ง่าย”

ขออธิบายแบบบ้านๆ ให้เข้าใจง่ายๆ... หลายท่านเคยทานมะม่วงเปรี้ยว ลองหลับตาแล้วนึกว่าขณะนี้มะม่วงเปรี้ยวอยู่ตรงหน้าท่าน ปอกเปลือกเรียบร้อย กลิ่นเปรี้ยวเข้าจมูก ท่านจะนึกถึงน้ำปลาหวานขึ้นมาทันที คนที่เสพยาเสพติดถึงขั้น “ติดใจ” แม้เราอาจจะนำเขาไปรักษาอาการของยาเสพติดได้ หรือนำไปกักขังในเรือนจำก็ตาม  แต่เมื่อเขากลับมาเห็นสถานที่ที่เคยเสพ หรือเห็นเพื่อนที่เคยเสพด้วยกัน เขาก็จะอยากและหาโอกาสเสพทันที จึงเป็นที่มาของคำว่า “คนเสพยาเลิกไม่ได้ รักษาไม่หาย”

จะให้เขาเลิกได้ต้องทำอย่างไร?  คำตอบคือ “เปลี่ยนความคิดใหม่” คนเราจะแสดงพฤติกรรมอะไรออกมา เขาจะมีทัศนคติต่อสิ่งนั้นๆ ทั้งดีหรือไม่ดี ในขณะที่คนทั่วไปมองว่ายาเสพติดไม่ดี แต่คนที่เสพยาเสพติดเขาย่อมมีทัศนคติกับยาเสพติดในมุมบวกมากกว่าลบในสายตาของเขา เริ่มจากการรับรู้หรือพบเห็นในวัยค้นหาไอดอลหรือตัวแบบที่เด็กโตเริ่มกำลังมองหา ถ้าเขาประทับใจคนหนึ่งคนใดบังเอิญคนนั้นเสพยาเสพติดแต่เป็นคนดีในสายตาเขา ความเชื่อว่าคนเสพยาเสพติดเป็นคนไม่ดีเปลี่ยนไปเป็นคนดีสำหรับเขา และเป็นความคาดหวังที่จะคบหาสมาคมเข้าใกล้ พร้อมที่จะเลียนแบบพฤติกรรมของคนนั้น การเสพยาเบื้องต้นสำหรับเขาเป็นเพียงเครื่องมือเสริมกิจกรรมของกลุ่มเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการเสพเพื่อเสริมความบันเทิง หรือสนุกฮึกเหิมในการแข่งรถซิ่งก็ตาม ฯลฯ (ในระดับนี้ ถ้าผู้ปกครองรู้เท่าทัน รีบแยกเขาออกจากกลุ่มเพื่อนได้ จะช่วยไม่ให้เขาได้มีโอกาสเสพต่อเนื่อง)

ถ้าเขามีโอกาสเสพบ่อยเข้า นานเข้า  ความคิดและจิตไร้สำนึกของเขาจะไปจดจ่ออยู่กับความสุขจากรสชาติตัวยาที่เสพมากขึ้น หรือ  “ติดใจ” ดังที่กล่าว  เมื่อความคิดบางส่วนของเขาเริ่มพิการ จำเป็นที่จะต้องได้รับการเปลี่ยนใหม่ แต่ความคิดคนไม่ใช่อะไหล่รถที่จับเปลี่ยนได้ง่าย จำเป็นต้องใช้เวลา เพราะกว่าที่ลูกหลานเราจะเริ่มเสพยา เขาใช้เวลาสะสมการรับรู้ ความเชื่อ ความต้องการแสดงออก จนกระทั่งถึงการลงมือเสพ และสมองเปิดประตูยิ้มรับยาเสพติดอยู่ทุกวันนี้ ใช้เวลาหลายปี ผู้ปกครองบางคนเข้าใจผิดเห็นว่าลูกหลานเพิ่งเสพยาไม่เท่าไร แต่ไม่ได้มองไปถึงเขาสะสมความคิดบวกกับยาเสพติดมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว ดังนั้นผู้ปกครองจึงต้องเตรียมตัวตั้งรับทุกสภาพการณ์ที่จะตามมาด้วยความอดทน ช่วยให้เขามีโอกาสช่วยตัวเองได้ แต่อย่าตามแก้ปัญหาทุกครั้งที่เขาก่อจนกลายเป็นคน “ไร้จิตสำนึก” วันหนึ่งบทเรียนชีวิตที่เกิดจากการพิการความคิด จะถูกเติมเต็มด้วยความคิดและจิตสำนึกที่ดีเข้าไปทดแทน

อย่าลืมว่า ยารักษาได้เพียงอาการจากยาเสพติด แต่ไม่สามารถรักษาใจไม่ให้หวนกลับไปเสพซ้ำได้อีก เขียนมาถึงตรงนี้ คิดถึงผู้ปกครองวันนั้น เสียตายที่ไม่ได้ขอที่อยู่หรือเบอร์ติดต่อท่านไว้ จึงไม่ทราบว่าเด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้หรือไม่ ถ้าสอบเข้าได้ กำลังเรียนอยู่หรือจบแล้ว อยากจะตามไปศึกษาว่ามีปัจจัยใดทำให้เขาผ่านพ้นมาถึงจุดนี้ได้



[1] ผู้อำนวยการศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดบ้านชีวิตใหม่ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕