Skip to main content

 

 ยาเสพติด : จะแก้อย่างไร... ภายใต้สังคมไร้ระเบียบ “Chaos”

 

 

พิศิษฐ์ วิริยสกุล

ผู้อำนวยการศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดบ้านชีวิตใหม่

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ร.บ. ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕

 

                ยาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญเรื้อรังมาตลอดหลายยุคหลายสมัย ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาต้องกำหนดนโยบายแก้ไข บางรัฐบาลมีนโยบายดูดีแต่เมื่อสู่ภาคปฏิบัติเกิดปรากฏการณ์ไหลเฉื่อย บางรัฐบาลฮึกเหิมเหมือนเปิดแชมเปญเมื่อหมดแรงอัดก็แผ่วลง ไม่ใช่แต่ละรัฐบาลไม่ตั้งใจที่จะแก้ปัญหาจริง แต่เมื่อแก้ปัญหาหรือตัดหญ้าหน้าดินไปได้ระยะหนึ่ง ยาเสพติดก็กลับขึ้นเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทยอีกเช่นเดิม

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ยาเสพติดเหมือนปีศาจร้ายในสังคมไทย เคยถามผู้เกี่ยวข้องว่า หากนโยบายยาเสพติดที่ผ่านมาถูกต้องทำไม คนถึงเข้าไปอยู่ในคุกกว่า 70 % ทำไมการปราบปรามทำสงครามกับยาเสพติดคนเสียชีวิตไปกว่า 2,000 คน แล้วทำไมชาวบ้านถึงยังบอกว่ายาเสพติดยังรุนแรงอยู่[1]

โครงการสำรวจคุณภาพชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนเพื่อประมาณการจำนวนประชากรที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด พ.ศ. 2554 สำรวจประสบการณ์ ใช้ สารเสพติดชนิดต่างๆ ในประชากรอายุ 12-65 ปี ทั่วประเทศ พบว่า ประชากรไทยประมาณ 3.53 ล้านคนเคยใช้สารเสพติด (ไม่รวมสุราและยาสูบ) อย่างน้อยหนึ่งชนิดในชีวิต[2]

และในรอบ 1 ปี และ 30 วัน จำนวนผู้ใช้ยาลดลงตามลำดับ ตัวอย่าง “ยาบ้า” พบว่า มีผู้เคยใช้ยาบ้าจำนวน 902,224 คน หรือประมาณ 18.7 ต่อหนึ่งพันคน และผู้ที่ใช้ยาบ้าใน 1 ปี จำนวน 92,510 คน หรือ 1.92 ต่อหนึ่งพันคน รวมทั้งมีผู้ที่ใช้ยาบ้าใน 30 วัน จำนวน 36,834 คน หรือประมาณ 0.76 ต่อหนึ่งพันคน[3]

จากข้อมูลดังกล่าว พอจะอนุมานได้ว่า ผู้ใช้ยาเสพติด ส่วนหนึ่ง “เลิกเสพได้เอง” หรือ “เสพเป็นครั้งคราว” แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่ใช้ยาเสพติดประจำ จนกระทั้งวันใดที่สมองไม่ได้รับสิ่งที่ทำให้เกิดมึนเมา จะเกิดอาการขาดยา (Withdrawal) รุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของยาและความต่อเนื่องในการเสพ บุคคลส่วนนี้จึงเป็น “ผู้ติดยาเสพติด” ตัวจริง และหากไม่ได้รับการแก้ไขจะเป็น “ผู้เสพติดเรื้อรัง” ในที่สุด ภาษาที่เขาบอกตัวเอง “เลิกไม่ได้...ลงทุนมามากแล้ว” คือปล่อยตัวตามยถากรรม เหลือเพียงความมึนเมาเป็นพลังชีวิตเขา

ทุกวันนี้ภาพที่เราเห็น วัยรุ่นยกพวกตีทำร้ายกัน แข่งรถซิ่ง อาชญากรเด็ก เปลื้องผ้าถ่ายคลิปโชว์ ตบตีแย่งเพื่อนชายกัน แข่งนับแต้มเปลี่ยนคู่นอนอวดกัน และอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้ความมึนเมาจากยาเสพติดเข้ามาช่วยปรุงรสกิจกรรมหรือบดบังสำนึกต่อการกระทำที่จะทำหรือได้ทำลงไป

สังคมไทยในอดีตเคยแกว่งตัวเองอย่างช้าๆ ตามบริบท “สังคมเกษตรกรรม” โดยมีวัฒนธรรมสังคมควบคุมพฤติกรรมผู้คนให้อยู่ในขอบเขตร่วมสังคมกันได้ เปลี่ยนมาเป็น “สังคมพลวัต” ที่เคลื่อนไหวรวดเร็วตามกระแสโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน ทำให้เกิดปัญหาซับซ้อนมากมายหลายปัญหา ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด รายได้ไม่เพียงพอ ความแตกแยกในครอบครัวและชุมชน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ฯลฯ  เมื่อเกิดปัญหาหนึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาใหม่อีกปัญหาหนึ่ง เกิดความยุ่งเหยิงในสังคม หรือภาวะ สังคมไร้ระเบียบ “chaos” ตามมา

ความไร้ระเบียบในความหมายทางวิทยาศาสตร์ คือ สภาพและกระบวนการของระบบที่ไร้เสถียรภาพ (unstable) อันมีความอ่อนไหวสูงยิ่งและเปราะบางเมื่อมีการกระทบเพียงเล็กน้อยในสาเหตุเบื้องต้น (initial condition) แต่เมื่อเกิดบ่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหตุเล็กๆ เพียงเบื้องต้น ทำให้เกิดพัฒนาของระบบที่ดำเนินไปอย่างไม่เป็นเส้นตรง เป็นเส้นทางคดเคี้ยว กวัดแกว่ง บางครั้งถึงก้าวกระโดดฉับพลัน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงทำนายให้ถูกต้องแม่นยำได้ยาก[4] ตัวอย่างการแพร่ระบาดยาเสพติดในลักษณะสังคมไร้ระเบียบ ที่มีพลังมหาศาลข้ามน้ำข้ามทะเลกระจายไปเกือบทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย

ผีเสื้อตัวเล็กเริ่มขยับปีกครั้งแรก ค.ศ. 1940 ที่ซานฟรานซิสโก อัลเลน กินสเบิร์ก (Allen Ginsbirg,1929-1997) และเพื่อนกวี นักเขียน ศิลปินรวมตัวกันเรียกตัวเองว่ากลุ่มบีตเจเนเรชัน (Beat Generation) เรียกร้องความเป็นอิสรเสรี ฉีกตัวเองออกจากกรอบวัฒนธรรมเดิม ต่อต้านวัตถุนิยม ใช้ชีวิตสุดโต่ง โดยมีความรัก เซ็กซ์ และยาเสพติดเป็นแรงขับเคลื่อน สวนทางกับสังคมส่วนใหญ่ที่ใช้ชีวิตหรูหรา สะดวกสบายจากวัตถุ และความขัดแย้งทางทหาร จนเป็นเหตุให้รบราฆ่าฟันและสงครามโลก ครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939 ถึง 1945)  

Howl (หอน,1955) กวีนิพนธ์เล่มแรกของกินสเบิร์ก ได้รับความนิยมสูงในเวลาต่อมา สามารถกระแทกหัวใจคนอเมริกันจำนวนมากที่เห็นปรากฏการณ์และคล้อยตามกัน จนถูกทางการจับและตามยึดหมด แต่ต่อมาก็ได้กลายเป็นกวีนิพนธ์ที่มีการอ่านอย่างแพร่หลายที่สุดในรอบศตวรรษ มีการแปลมากกว่า 20 ภาษา 

.

ภาพจาก Internet

แนวคิดของกลุ่มบีตเจเนเรชัน ซึ่งภายหลังเรียกตัวเองว่า"บีทนิก" (Beatnik) ได้รับการยอมรับและขยายวงพูดถึงกันมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นได้ก่อตัวแสดงสัญลักษณ์ของตัวเองเป็นรูปธรรมในนาม “ฮิปปี้”(Hippie) หรือที่คนไทยเรียก บุปผาชน” (Flower people)  เมื่อต้นทศวรรษ 1960 โดยไม่สนใจการเมืองการปกครอง ใช้ชีวิตอิสระกับธรรมชาติ ดนตรี ยาเสพติด เซ็กซ์เสรีเป็นวัฒนธรรมใหม่สวนทางกับจารีตเดิม

ผีเสื้อแตกรังฝูงใหญ่ และเมื่ออเมริกานำตัวเองเข้าไปสู่สงครามเวียดนาม ปี 1965 คนอเมริกันมองเห็นการสูญเสียมากกว่าจะได้ประโยชน์ แม้จะมีตัวอย่างความมั่งคั่งหลังชัยชนะสงครามครั้งที่ 2 ที่ผ่านมาก็ตาม แต่เมื่อรายชื่อทหารลูกชาวบ้านเสียชีวิตจำนวนมาก  จึงเกิดกระแสต่อต้านอย่างกว้างขวางในรูปแบบต่างๆ เช่น มูฮำหมัด อาลี อดีตนักมวยแชมป์โลก เฮฟวี่เวท ยอมติดคุกโดยปฏิเสธการร่วมรบในสงครามเวียดนาม ด้วยคำพูดอมตะว่า "ผมไม่เคยมีเรื่องราวอะไรกับพวเวียดกง" มีบทความ/วรรณกรรมมากมายเผยแผ่ และบทเพลงเรียกร้องสันติภาพจากศิลปินดังๆ เป็นต้น

ในปี 1967 ได้มีการจัดงาน “ฤดูร้อนแห่งความรัก”  (Summer of Love) โดย ฮิปปี้ ที่ซานฟรานซิสโก สร้างความโด่งดังและการยอมรับจากวัยรุ่นอเมริกันอย่างมาก อีก 2 ปีถัดมา  เทศกาล “วู้ดสต็อก” (Woodstok) ในปี 1969 ณ ทุ่งนา เมืองเบทเฮล รัฐนิวยอร์ก ผู้คนแนว “ฮิปปี้” หรือ “บุบผาชน” ประมาณ 450,000 คน วันที่ 15-17 สิงหาคม 1969 ท่ามกลางสายฝน คลุกโคลน กัญชา แอลเอสดี และฟรีเซ็กซ์

การรณรงค์ยับยั้งสงครามด้วยเสียงเพลงค่อนข้างจะได้ผล มีเพลง ร็อก เนื้อหาต่อต้านสงคราม จากวงดนตรีชั้นนำหลายวงที่คนไทยรู้จักกันดี เช่น เพลง Who’ll Stop The Rain ปี 1970 ที่สื่อออกมาเรียกร้องให้หยุดทิ้งระเบิด ของวง “ซี.ซี.อาร์.” (C.C.R.) หรือ เพลง “อิแมจิ้น” (Imagine) ปี 1971 ที่สื่อออกมาเรียกร้องสันติภาพของจอห์น เลนนอน เป็นต้น

ภาพจาก Internet

ในขณะที่คนทั่วโลกกำลังชื่นชมการรณรงค์ต่อต้านสงครามด้วยดอกไม้และเสียงเพลง แทนการตอบโต้ด้วยกำลังและอาวุธของเหล่าศิลปินต่างๆ แต่วัยรุ่นทั่วโลกสมัยนั้น มองไปที่พฤติการณ์แสดงออกของเหล่าฮิปปี้ จากเทศกาลวู๊ดสต๊อก จากภาพยนตร์ที่โด่งดังในเวลาต่อมา ตลอดจนการที่ฮิปปี้เหล่านี้เดินทางไปประเทศไหนทั่วโลก ก็จะนำทัศนคติและการปฏิบัติตัวไปด้วย จึงเกิดพฤติกรรมเลียนแบบในกลุ่มวัยรุ่นทั่วไป

สำหรับประเทศไทย คนวัยเกษียณ หรือ 60 ปีขึ้นไป คงจะนึกภาพแฟชั่นฮิปปี้ หรือไม่ก็ จิ๊กโก๋ม๊อสกางเกงขาม้า และจิ๊กโก๋เด๊ปกางเกงขาลีบในกลุ่มวัยรุ่น ขวักไขว่ตามศูนย์การค้าต่างประเทศสมัยนั้น หากตามไปดูยามค่ำคืน ก็จะพบที่ชุมนุมเสพยาคละเสียงเพลงจากตู้เพลง หรือวันสุดสัปดาห์ก็จะมีการจัดให้วงดนตรีแนวร็อกหลายวง บรรเลงให้นักดิ้นได้วาดลวดลายโชว์กัน พร้อมกับกลิ่นอายยาเสพติดเพิ่มอารมณ์ตามไปด้วย

จากจุดเล็กๆ ของคนเสพยาไม่กี่คนในซานฟรานซิสโก ที่ศรัทธาต่อความเป็นชีวิตอิสรเสรี อาศัยเหตุการณ์สงครามและการเข่นฆ่าที่ฝืนสามัญสำนึกของปุถุชนทั่วไป ได้สื่อความคิดของตัวผ่านช่องทางต่างๆ ซ้ำๆ บ่อยๆ ส่งผลให้เกิดการรวมตัวของคนคิดเหมือนกัน และถ่ายทอดไปยังหนุ่มสาวจนเกิดคลื่นมหาชน “ฮิปปี้” กระจัดกระจายทั่วโลก ผู้คนสับสน สังคมไร้ระเบียบเห็นได้ชัดและเป็นกลายพันธุ์มาถึงทุกวันนี้

ศาสตราจารย์ เอ็ดเวิร์ด ลอเรนซ์ (Edward Lorenz) อธิบายทฤษฏีไร้ระเบียบว่า ในทางทฤษฎีอุตุนิยมวิทยา ผีเสื้อตัวหนึ่งกระพือปีกที่ฮ่องกง สามารถทำให้ดินฟ้า อากาศที่แคลิฟอร์เนียเปลี่ยนแปลงได้เมื่อหนึ่งเดือนให้หลัง[5]

ย้อนกลับมาปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดในประเทศไทยบ้าง :  เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา สมัยผู้เขียนรับผิดชอบศูนย์บำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด (เอกชน) แห่งหนึ่ง มักจะเอาข้อมูลผู้เข้ารับการบำบัดฯ มาศึกษาถึงสาเหตุที่ใช้ยาเสพติด เพื่อที่จะให้คำแนะนำเป็นรายบุคคล พบว่าส่วนใหญ่ อยากรู้อยากลอง, เพื่อนชวน, ครอบครัวแตกแยก ฯลฯ แต่มีอยู่รายหนึ่งตามประวัติเขียนว่า “เสพยาครั้งแรกอายุ 15 ปี” สาเหตุที่เสพยาครั้งแรก “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” ประโยคนี้ไม่มีใครเขียนกรอกในใบสมัครให้เห็นในสมัยนั้น จึงเป็นโจทย์ที่ชวนให้หาคำตอบต่อมา เมื่อดูจากใบสมัครคนอื่นๆ ก็พบว่าเริ่มเสพยาครั้งแรกอยู่ในเด็กโตถึงวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ หรือข้อมูลภาพรวมก็ไม่แตกต่างกันนัก  

 

    ภาพจาก Internet....สำนักที่ปรึกษา กรมอนามัย. http://advisor.anamai.moph.go.th/main.php?filename=env104

 

กราฟข้างต้นแสดงให้เห็นว่าเยาวชนที่ใช้สิ่งเสพติด อายุไม่ถึง 19 ปี  รวมแล้ว ร้อยละ 63.4 ในขณะที่หลายหน่วยงานรายงานเหมือนกันว่า ผู้ที่เริ่มเสพยาเสพติดครั้งแรก ส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 20 ปีลงมา

เราต่างเคยพบเห็นคนจรจัดขี้เมาวัยกลางคนขึ้นไป บางคนสภาพร่างกายเสื่อมโทรมอมโรคเพราะเป็นผู้ที่เสพติดเรื้อรัง เรามักจะเอามาสอนลุกสอนหลานว่า อย่าเข้าใกล้คนเหล่านี้ คนไม่ดี ติดยา เดี๋ยวจะติดยาตามไปด้วย ความจริงคนกลุ่มนี้กลับเป็นกลุ่มที่ไม่น่ากลัว เพราะไม่ค่อยเป็นพิษเป็นภัยต่อสังคมมากนัก หาเงินเสพไปวันๆ ไม่มีศักยภาพมากนักที่จะก่ออาชญากรรมใหญ่ๆ และที่สำคัญภาพลักษณ์ไม่สามารถเป็นบุคคลในฝัน (Idol) เด็กและเยาวชนเลียนแบบได้

แต่ผู้ที่ผู้เสพเป็นครั้งคราว มักจะเป็นเยาวชนหรือวัยรุ่น คนกลุ่มนี้เป็นโจทย์สำคัญที่ต้องจับตามอง ส่วนใหญ่มักจะเกาะกันเป็นกลุ่ม สนุกรื่นเริงตามประสาวัยเปิดโลกใหม่  บางคนนำยาเสพติดเข้ามาแพร่ในกลุ่ม แสดงสรรพคุณของยาและแสดงความเป็นผู้นำให้เพื่อนเห็น และมักจะถูกกระตุ้นจากจิตอยากรู้อยากทดลอง จาก “มโนทัศน์” ของเด็กวัยรุ่นกลับมองบนฐานความคิดว่า “ไม่ติด”  เพราะภาพที่เขาเห็นจากเพื่อนวัยเดียวกัน บางวันก็นำยาเสพติดมาเสพ บางวันก็ไม่เสพ 

ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า วัยเด็กถึงวัยรุ่น สมองส่วนคิด (cerebral cortex) ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เทียบเท่ากับความเจริญเติบโตทางร่างกายภายนอก แต่การอยากทดลองเติมสิ่งแปลกใหม่สะสมประสบการณ์ให้ชีวิต เป็นความปรารถนาอันแรงกล้าสำหรับเด็กหรือเยาวชนวัยนี้ การแสดงออกจากทางอารมณ์ที่อยากจะทำ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบภายหลัง เป็นธรรมชาติของอารมณ์และวัยขนาดนั้น

เยาวชนส่วนใหญ่รู้ดีว่าพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย การเสพยาและสิ่งมึนเมา การแต่งตัว การคบเพื่อน ฯ เพื่อจะเป็นเด็กแนว , ฮิป หรือการแสดงพฤติกรรมแปลกๆวุ่นๆในแนวโดน นั้น อะไรดีไม่ดีหรืออะไรเป็นเรื่องถูกผิด อันที่จริงปมปัญหาใหญ่ส่วนหนึ่งอยู่ที่สังคมเพื่อนฝูงของวัยรุ่น และความต้องการการยอมรับ การแสวงหาตัวตนและอัตลักษณ์ตามวัยของพวกเขา ซึ่งก็คือปัญหาเชิงวัฒนธรรมอันซับซ้อนที่มีปัจจัยภายนอกตัววัยรุ่นอยู่ด้วย ดังนั้น มันอาจง่ายเกินไปที่จะใช้ชุดความคิดและชุดการอธิบายที่ว่า วัยรุ่นมีปัญหาเพราะครอบครัวไม่อบอุ่น[6]

การแพร่ระบาดยาเสพติดที่เห็นกันอยู่นี้ เป็นอาการของการติดเชื้อทางความคิดชนิดหนึ่ง ก่อนที่จะลงมือเสพจริง หากศึกษาจากห้องเรียนระดับประถม มัธยมตอนต้น มัธยมตอนปลาย จะพบว่าเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด ส่วนใหญ่จะเริ่มที่ระดับมัธยมต้น โดยเฉพาะปลายปีที่ 1 เนื่องจากโรงเรียนส่วนใหญ่รับสมัครนักเรียนมาจากแหล่งที่อยู่อาศัยต่างกัน ก่อนหน้านั้นสิ่งที่เด็กแต่ละคนพบเห็น ค่านิยมของคนรุ่นพี่ๆ เป็นเพียงรับรู้รับเห็น ไม่ได้มีแรงผลักดันอะไรให้ปฏิบัติตามด้วยวัยยังไม่พ้นร่มเงาของครอบครัว  แต่ก็ซึมซับพฤติกรรมการแสดงออกของคนรุ่นพี่ไว้  เมื่ออยู่ในวัยเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนวัยรุ่น โลกในบ้านเล็กเกินไปสำหรับเขา ใครมีประสบการณ์สะสมใดๆ มา  ก็จะนำมาเทกองรวมกันตามประสาวัยที่ต้องการเรียนรู้ทางสังคมวัยเดียวกัน ยาเสพติดจึงเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเสริมกิจกรรมรวมกลุ่มกันเท่านั้น

ความอยากรู้อยากทดลองเป็นเพียงการแสดงออกเพื่อการสมาคมร่วมกับกลุ่ม ที่สำคัญคือ เด็กมีทัศนคติเชิงบวกกับยาเสพติด ตรงข้ามกับทัศนคติของผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์เชิงลบกับยาเสพติด แต่เมื่อเด็กเหล่านั้นมีโอกาสเสพซ้ำๆ เสพต่อเนื่องมากขึ้น จึงจะเกิดอาการโรคสมองติดยา โรคจิต-ประสาท โรคเอดส์ และโรคแทรกซ้อนอื่นๆ

ที่กล่าวมาเป็นเพียงบิกแบง ระเบิดการแพร่ระบาดยาเสพติดทางความคิด เข้าถึงจุดอ่อนธรรมชาติของเด็กและเยาวชนได้ง่ายที่สุด ต่างจากการแพร่ระบาด “ฝิ่น” ในอดีตที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นตัวกำหนด และยังมีปัจจัยภายนอก ที่เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างกระหน่ำซ้ำเติมเพิ่มขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจระดับต่างๆ, พฤติการณ์ที่คำนึงผลประโยชนส่วนตนของผู้คนในสังคมใหญ่, รวมไปถึงสื่ออินเตอร์เน็ต ที่รุกเข้าถึงห้องนอนของบุตรหลานที่คัดแยกความคิดได้ไม่มากนัก และอื่นๆ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงโหมกระหน่ำการแพร่ระบาดยาเสพติดรุนแรงยิ่งขึ้น ด้วยความต้องการสร้าง “ความสุข” เพื่อกลบ “ความทุกข์”  แต่กลับวกกลับไปสู่ปัญหาเดิมๆ ซ้ำเติมเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเป็นวิกฤติทางสังคมอยู่ทุกวันนี้

เดิมทีปัญหายาเสพติดเราแก้ไขด้วยบทลงโทษตามกฎหมายและการบำบัดรักษา ตั้งแต่ฮิปปี้หรือบุบผาชนกระพือปีกวูดสต๊อก ออกกฎหมายมาอีกกี่ฉบับก็ยังตามแก้ปัญหาไม่ทัน เนื่องจากความคิดส่งผ่านต่อกันได้

     มาคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwell) เรียก “ช่วงเวลาแห่งความพลิกผัน” หรือ “จังหวะมหัศจรรย์” ที่ทำให้เรื่องธรรมดากลายเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสความนิยมได้อย่างรวดเร็วว่าเป็น จุดแห่งการแพร่ระบาด (The Tipping Point)[7]                

ณ วันนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาการแพร่ระบาดและผลกระทบของยาเสพติด ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศ จนกล่าวได้ว่าแตะตรงไหนก็เจอตรงนั้น จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับโครงสร้างหมู่บ้าน/ชุมชนนั้นๆ และไม่ใช่ความผิดของครอบครัว ชุมชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนใดส่วนหนึ่ง เนื่องจากปัญหาดังกล่าวมีความซับซ้อน และทับซ้อนหลายชั้น สลับไปสลับมา คือแก้ปัญหาหนึ่งก็จะพบอีกปัญหาหนึ่ง เป็น “พลวัต” (dynamic) ทางสังคม 

กระนั้นก็ตาม เมื่อเราพบจุดแห่งการแพร่ระบาดได้ เราก็ควรจะหา “จุดคานงัด” ให้เจอ ที่มาของความหมาย “จุดคานงัด” คือจุดที่สามารถนำไม้คานเล็ก (แต่แข็ง) สอดใส่ใต้สิ่งของที่ใหญ่และหนักให้เคลื่อนไหลไปตามต้องการได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จุดที่เราสามารถใช้ พลังงานหรือทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามความต้องการได้

ความจริง “จุดคานงัด” ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมหรือแก้ปัญหายาเสพติดนี้ เราค้นพบมานานแล้ว ในทางทฤษฏี ได้แก่ A-I-C-เทคนิคกระบวนการวางแผนแบบมีส่วนร่วม A F P การพัฒนาระบบความร่วมมือของพหุภาคี โดยยืดพื้นที่เป็นแกนขับเคลื่อน หรือ สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี พยายามขับเคลื่อนสู่การปฏิรูปสังคม

ในทางปฏิบัติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พยายามพัฒนาการป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติด มาถึงจุดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหายาเสพติด ตั้งแต่ปี 2536 โดย จัดสัมมนาบุคลากรที่ทำงานด้านยาเสพติด ทั้งองค์กรภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน   และองค์กรชุมชน เพื่อทบทวนการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ผ่านมา และทดลองดำเนินการในพื้นที่ชุมชนจริง ก่อนนำเสนอรัฐบาล ต่อมานายชวน หลีกภัย (นายกรัฐมนตรี) ได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 141/2541 เรื่องนโยบายการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 การดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์“ราษฎร์–รัฐ ร่วมใจต้านภัยยาเสพติด” โดยกำหนดพื้นที่นำร่องอำเภอละหนึ่งหมู่บ้าน/ชุมชน

รัฐบาล พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้กำหนด “ ยุทธศาสตร์  พลังแผ่นดินขจัดสิ้นยาเสพติด ” ประกาศ Roadmap เอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืน  3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1  เน้นการทำลายโครงสร้างผู้สร้างผู้ผลิต/ผู้ค้า และรณรงค์สร้างกระแส ระยะที่ 2  เน้นกระบวนการแก้ไข/ฟื้นฟู  ควบคู่การจัดเตรียมชุมชนเพื่อรองรับผู้ค้าผู้เสพที่ผ่านกระบวนการปรับพฤติกรรมและกลับมาใช้ชีวิตในชุมชน   และระยะที่ 3  เน้นการพัฒนาที่ยังยืน  โดยการสร้างชุมชนเข้มแข็งเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันภัยยาเสพติดและปัญหาอื่นๆ ของชุมชน  (ระยะเวลา 1กุมภาพันธ์ 2546  – กันยายน 2547)  น่าเสียดาย เมื่อรัฐบาลประกาศชัยชนะสงครามยาเสพติด ธันวาคม 2546 การสร้างชุมชนเข้มแข็งเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันภัยยาเสพติดหายไปด้วย

และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นโยบาย 5 รั้ว 2 โครงการ จะพบว่าระยะหลังๆ การแก้ปัญหายาเสพติดจะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมก็ตาม แต่ยาเสพติดก็ยังมายืนเป็นลิงหลอกเจ้าอยู่หน้าบ้านกันสลอน ถึงวันนี้พัฒนาการป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดของประเทศไทยเรารุดหน้ามาถึงจุดวางระบบตั้งแต่นโยบายลงมาสู่หมู่บ้าน/ชุมชนแล้ว แต่เรายังหา “จุดที่จะสอดคานงัด” ไม่เจอ สาเหตุเพราะเรายังใช้รูปแบบ พ.ศ.2504 “ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม” หรือเปล่า ฝากคิดต่อ...

จุดคานงัดที่มีพลัง คือ ประชาชน (ชาวบ้านทุกคน) ต้องจัดการกับปัญหาตามบริบทและศักยภาพของแต่ละพื้นที่เอง เราไม่สามารถรู้ได้ว่าคนเสพยาคนหนึ่งมีปัจจัยใดให้เขาเสพยา, เราไม่สามารถรู้ได้ว่าครอบครัวใดมีความผิดปรกติเช่นใดที่ทำให้บุตรหลานไปเสพยา และเราไม่สามารถรู้ได้ว่าชุมชนใดมีจุดอ่อน/จุดแข็งอย่างไรที่จะช่วยให้ผู้คนในหมู่บ้าน/ชุมชนนั้น ร่วมมือกันป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดได้ ประชาชนที่จุดต้นทางดังกล่าวจะรู้ปัญหาได้ดี ทั้งหมดนี้เป็นความละเอียดอ่อนซับซ้อนกว่าสมัยผู้ใหญ่ลี ที่มีประชากรทั้งประเทศเพียง 26 ล้านคน (2503)

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยอาศัยพลังจากประชาชน จะต้องตอบคำถามจากประชาชนว่า ทำไมต้องเปลี่ยน..? และ ถ้าจะเปลี่ยนแล้วจะทำอย่างไร...? ตรงนี้ไม่ยากว่า “ทำไมต้องเปลี่ยน” เพราะประชาชนได้รับผลกระทบโดยตรง เขาย่อมอยากเปลี่ยน แต่ “ถ้าจะเปลี่ยนแล้วจะทำอย่างไร” ต้องใช้เวลาอีกระยะกับการนำความรู้จากตำราหรือประสบการณ์ของผู้ชำนาญการมาอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจและทดลองทำเองได้ง่ายๆ

ถึงวันนั้นเราน่าจะเป็นผู้นำในการแก้ปัญหายาเสพติดให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีบริบททางสังคมคล้ายกัน หรือเป็นศูนย์กลางในการเรียนการแก้ปัญหายาเสพติดบนโลกเล็กๆ ใบนี้ ถ้าเรากล้ากระโดดข้าม Comfort Zone ได้ ขอให้กำลังใจคนไทยทุกคน...  



[1] มติชนออนไลน์ http://www.matichon.co.th/news/254889

[2] สังเคราะห์สถานการณ์สารเสพติด พ.ศ.2545-2555 เสนอโดยคณะกรรมการบริหารเครือข่ายองค์กรวิชาการสารเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม หน้า 63

[3] สังเคราะห์สถานการณ์สารเสพติด พ.ศ.2545-2555 เรื่องเดียวกัน หน้า 36

[4] ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ .2544  “ทฤษฎีไร้ระเบียบ กับทางแพร่งของสังคมสยาม”  หน้า 11

[5] ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ .2544  “ทฤษฎีไร้ระเบียบ กับทางแพร่งของสังคมสยาม”  เรื่องเดียวกัน หน้า 33

[6] สุชาดา จักรพิสุทธิ์  “วิกฤตวัยรุ่น ปัญหาหรือปรากฏการณ์” : นักวิชาการอิสระด้านสื่อและเด็ก มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน http://v1.midnightuniv.org/midnight2545/document9708.html

[7] ปาริชาต สถาปิตานนท์ “ทฤษฎีว่าด้วยการแพร่ระบาดทางสังคม” หน้า 13 เอกสารส่วนหนึ่งของชุดโครงการวิจัยเรื่อง “การสื่อสารเพื่อชุมชน” สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย