Skip to main content

 

|| The Questions of Life: 3/6 ||

 

 

นักปรัชญาตะวันตกคนหนึ่ง ชื่อเรอเน เดการ์ต (René Descartes) เคยกล่าวว่า “นอกจากความรู้สึกของฉันเกี่ยวกับความบกพร่อง (ไม่สมบูรณ์) ในตัวของฉันแล้ว ในขณะเดียวกันฉันรู้สึกว่ามี ‘ซาต’ ที่สมบูรณ์ และฉันรู้สึกว่าในตัวของฉันถูกปลูกฝังโดย ‘ซาต’ ที่สมบูรณ์อันนั้น ซึ่งมีคุณลักษณะที่สมบูรณ์ในทุกสิ่งทุกอย่าง” ... ‘ซาต’ ที่สมบูรณ์ที่ เดการ์ต กล่าวถึงก็คือ อัลลอฮฺ นั่นเอง

ความรู้สึกเช่นนี้เกิดจากธรรมชาติที่แท้จริง เราพบว่าความเชื่อเกี่ยวกับการมีอยู่จริงของอำนาจหนึ่งซึ่งสูงส่งยิ่ง มีอำนาจเหนือธรรมชาติและเหนือสาเหตุของทุกสิ่ง เป็นเรื่องธรรมดาที่เราพบเห็นได้ในทุกเผ่าชนหรือทุกเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ก็ว่าได้ โดยไม่มีความแตกต่างในเผ่าพันธุ์ และในขั้นตอนของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

แอร์เนสต์ เรอนอง (Ernest Renan) นักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียง ได้กล่าวในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ศาสนา” (Études d'Histoire Religieuse) ของเขาว่า ทุกสรรพสิ่งที่มนุษย์รักนั้นจะสูญหายไป ความอิสระในการใช้สติปัญญา วิชาความรู้ และความอุตสาหะก็จะสูญหายไป แต่ชีวิตที่มีศาสนาจะไม่สูญสิ้นไปจากมนุษย์อย่างแน่นอน กลับตรงกันข้ามมันจะยั่งยืนนิรันดร อันเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนในความจอมปลอมของลัทธิวัตถุนิยม ที่มีจุดหมายเพื่อจำกัดความคิดของมนุษย์ในขอบเขตที่คับแคบ และไร้ซึ่งเกียรติ

ธรรมชาติที่ชี้นำไปสู่การตระหนักถึงการมีอยู่จริงของอัลลอฮฺนั้น มิใช่เกิดจากความรู้สึกส่วนลึกของหัวใจ หรือเกิดจากสติปัญญาเพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นผลของการผสมผสานของทั้งสองรวมเข้าไว้ด้วยกัน สติปัญญามีความเห็นเพียงว่า ความเชื่อ ความศรัทธาต่ออัลลอฮฺเป็นสิ่งที่แน่นอนมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นความเชื่อต่อความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล เพราะสติปัญญาจะไม่ยอมรับการกระทำที่ไม่มีผู้กระทำ และไม่ยอมรับการมีอยู่ของสิ่งใดๆ ที่ไม่มีผู้สร้าง

บนฐานของกฎเหตุและผลดังกล่าว ชาวชนบทอาหรับเมื่อพวกเขาถูกถามเกี่ยวกับการมีอยู่จริงของพระเจ้า พวกเขาจะตอบว่า มูลอูฐแสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของตัวอูฐ รอยเท้าบนทางเดินแสดงให้เห็นถึงการเดินไปมาของผู้คน เช่นเดียวกับจักรวาลที่มีเส้นทางในการโคจรของมัน ทั้งหมดนี้มิใช่เป็นการแสดงให้เห็นถึงการมีอยู่จริงของพระเจ้าหรอกหรือ?

ไอแซ็ก นิวตัน (Isaac Newton) นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงกล่าวว่า “ท่านจงอย่าสงสัยในการมีอยู่จริงของพระเจ้า ผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งมวล เพียงเพราะเห็นว่ามันไม่เข้ากับสติปัญญา แต่กลับเชื่อว่าโลกนี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ยิ่งมนุษย์มีความรู้เกี่ยวกับความลี้ลับ ความวิจิตรพิศดาร และการบังเกิดของจักรวาลเพิ่มขึ้นมากเท่าใด มนุษย์ก็จะยิ่งมีความเชื่อมั่นต่อการมีอยู่จริงของพระเจ้าผู้ทรงปรีชาญาณ ผู้ทรงยิ่งใหญ่ และคุณลักษณะอันสมบูรณ์ที่มีต่อพระองค์เพิ่มขึ้นมากเท่านั้น”

ฮาร์ซัล (Harsal) เคยกล่าวดังที่ สเป็นเซอร์ (Spencer) ได้อ้างไว้ว่า “ยิ่งมีการค้นคว้าทางด้านวิชาการ ก็จะยิ่งปรากฎหลักฐานอันมากมายเกี่ยวกับการมีอยู่จริงของพระเจ้า ผู้ทรงเดชานุภาพที่มีอำนาจอันไร้ขอบเขตจำกัด ด้วยเหตุนี้ นักธรณีวิทยา นักดาราศาสตร์ และนักฟิสิกส์ ต่างพัฒนาวิชาความรู้ ซึ่งเป็นการแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเอกะ”

สเป็นเซอร์ เคยกล่าวไว้ว่า "เมื่อนักวิทยาศาสตร์เห็นน้ำหยดหนึ่ง เขาจะรู้ว่าน้ำนั้นมีส่วนประกอบของอ็อกซิเจนและไฮโดรเจนกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากเปอร์เซ็นต์ของส่วนประกอบเหล่านี้เปลี่ยนไป นั้นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของน้ำที่กลายเป็นธาตุอื่นที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย จากจุดนี้นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อมั่นในความยิ่งใหญ่เดชานุภาพ ความปรีชาสามารถ และความกว้างไกลในความรู้ของพระองค์ ความเชื่อของพวกเขาจะยิ่งมั่นคง และหนักแน่นกว่าความเชื่อของคนที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ที่มองเห็นเพียงหยดน้ำหยดเดียวไม่ไกลไปกว่านั้น เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ที่มองเห็นก้อนหิมะที่มีรูปทรงสวยงาม ละเอียดอ่อน แน่นอนว่าเขาจะต้องรู้สึกถึงความวิจิตรของผู้สร้าง และประโยชน์ของมันมากกว่าคนที่ไม่มีความรู้ใดๆเกี่ยวกับหิมะ หรือที่รู้ว่ามันเกิดจากน้ำฝนที่แข็งตัวเนื่องจากความเย็นเพียงเท่านั้น"

ฟรานซิส เบคคอน (Sir Francis Bacon) นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงเคยกล่าวว่า “รู้ปรัชญาเพียงน้อยนิดจะนำไปสู่ลัทธิปฏิเสธพระเจ้า แต่การทำความเข้าใจปรัชญาอย่างลึกซึ้งจะนำความคิดของมนุษย์สู่ความเชื่อเกี่ยวกับการมีอยู่จริงของพระเจ้า เพราะบางทีความคิดของมนุษย์จะหยุดเพียงการค้นพบสาเหตุในระดับทุติยภูมิ ที่มีลักษณะยุ่งเหยิง ไร้ระเบียบ แต่หากเขาพินิจพิเคราะห์ และศึกษาอย่างลึกซึ้ง [จนสุดถึงสาเหตุในระดับปฐมภูมิ] เขาจะพบกับความสัมพันธ์ของสาเหตุระหว่างกันและกัน ซึ่งขณะนั้นไม่มีหนทางใดอีก นอกจากจะต้องยอมสยบต่ออำนาจของพระเจ้าเท่านั้น”

นี่คือการยอมรับของนักวิทยาศาสตร์ และนักปรัชญาที่ได้ศึกษา วิจัย อย่างลึกซึ้ง การยอมรับดังกล่าวเป็นการเพิ่มพูนความศรัทธา ขณะที่ความคลางแคลงใจและการปฏิเสธพระเจ้านั้นเกิดจากการศึกษาความรู้เพียงเปลือกนอก หรือศึกษาวิชาปรัชญาอย่างผิวเผินเท่านั้น ดังที่ท่านเบคคอนได้กล่าวไว้ข้างต้น

ความจริงแล้ว ความเชื่อในพระเจ้ามิใช่เป็นเพียงการผลักดันของธรรมชาติในตัวของมนุษย์เท่านั้น แต่มันยังเป็นความจำเป็นทางสติปัญญาอย่างหนึ่ง เพราะถ้าหากปราศจากความเชื่อเช่นนี้ คำถามดังที่อัล-กุรอานได้ตั้งไว้ก็จะไร้ซึ่งคำตอบ

أَمْ خُلِقُوا مِنْ غَيْرِ‌ شَيْءٍ أَمْ هُمُ الْخَالِقُونَ ۚ أَمْ خَلَقُوا السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْ‌ضَ

{หรือว่าพวกเขาถูกบังเกิดมาโดยไม่มีผู้ให้บังเกิด หรือว่าพวกเขาเป็นผู้ให้บังเกิดตนเอง หรือว่าพวกเขาเป็นผู้สร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินนี้ | อัฏ-ฏูรฺ 52:35-36}

พวกเขาจะไม่เกิดขึ้นมาโดยปราศจากผู้สร้างอย่างแน่นอน เพราะพวกเขาไม่อาจเกิดขึ้นหรือสร้างตัวของพวกเขาเองได้ ยิ่งกว่านั้น ไม่มีผู้ใดก่อนหน้าหรือหลังพวกเขา ที่กล้าบังอาจประกาศว่าเขาเป็นคนสร้างชั้นฟ้าและโลกทั้งมวล ถ้าเช่นนั้น ใครล่ะที่เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งมวล? แล้วใครล่ะที่เป็นผู้สร้างที่แท้จริง?

| ผู้สร้าง

ชัยค์ ยูสุฟ อัล-เกาะเราะฎอวีย์

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

The Questions of Life: 1/6 โดย ชัยคฺ ดร.ยูสุฟ อัล เกาะเราะฎอวียฺ

The Questions of Life: 2/6 โดย ชัยคฺ ดร.ยูสุฟ อัล เกาะเราะฎอวียฺ