Skip to main content

 

คำถามถึง “พื้นที่ปลอดภัย” หลังระเบิดปัตตานี?

 
ซากจากแรงระเบิดImage copyrightREUTERS
คำบรรยายภาพพื้นที่สาธารณะปลอดภัย" เป็นข้อเรียกร้องที่คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ผลักดันมาโดยตลอดให้มีการพูดคุยบนโต๊ะเจรจาสันติภาพ

เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นที่ห้างสรรพสินค้ากลางเมืองปัตตานี ไม่เพียงทำให้ผู้หญิงและเด็กซึ่งถูกมองว่าเป็น "เป้าหมายอ่อนแอ" ได้รับบาดเจ็บ ยังทำให้เกิดคำถามว่า "พื้นที่ปลอดภัย" ที่กำหนดร่วมกันระหว่างรัฐไทยกับฝ่ายผู้เห็นต่างจะเปลี่ยนไปหรือไม่ ท่ามกลางความห่วงในของคนในพื้นที่ว่าแผนพูดคุยครั้งนี้อาจ "ถอยหลัง"

คณะทำงานพูดคุยสันติสุขฯ อ้าง บีอาร์เอ็นยังให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก

นายฉัตรชัย บางชวด ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สล.คพส.) กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นบริเวณห้างสรรพสินค้าในจังหวัดปัตตานี วานนี้ (9 พ.ค.) เป็นฝีมือของขบวนการใด แม้มีรายงานข่าวจากชุดสอบสวนคลี่คลายคดีคาดการณ์ว่าเป็นปฏิบัติการของขบวนการบีอาร์เอ็น และข้อวิเคราะห์ของนักวิชาการที่ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ออกมาชี้ว่าอาจเป็นฝีมือของบีอาร์เอ็น ที่ต้องการส่งสัญญาณขอเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุขฯ จากประเทศมาเลเซียเป็นองค์กรระหว่างประเทศ

 

แต่หัวหน้าสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพูดคุยสันติสุขฯ ระบุว่ายังไม่อาจสรุปเช่นนั้น เพราะในระหว่างตัวแทนรัฐไทย ไปพูดคุยกับฝ่ายผู้เห็นต่างที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม "มาราปาตานี" สมาชิกฝ่ายเห็นต่างทั้ง 6 กลุ่มร่วมถึงบีอาร์เอ็น ซึ่งอยู่ภายใต้ร่มของ "มาราปาตานี" ก็ยอมรับในบทบาทของมาเลเซีย บรรยากาศในการพูดคุยก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี

คำให้สัมภาษณ์ของนายฉัตรชัยต่างจาก คำให้สัมภาษณ์ของ นายอับดุล การิม คาลิด ผู้แทนจากแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ ( Barisan Revolusi Nasional - BRN) ให้สัมภาษณ์กับ บีบีซีแผนกภาษาอินโดนีเซียเมื่อต้นเดือนเม.ย.ว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นมีความประสงค์ที่จะเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทยโดยตรง และมีสักขีพยาน เป็นผู้แทนจากนานาประเทศร่วมสังเกตการณ์ เพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาสันติภาพที่รัฐบาล มาเลเซียเป็นผู้ประสานงานให้ทางการไทยได้เจรจากับกลุ่มมาราปาตานี ที่รวมผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มต่าง ๆ เข้าด้วย เนื่องจากบีอาร์เอ็น "ไม่เห็นด้วยกับข้อบังคับ และมองว่าการดำเนินการไม่มีความเท่าเทียม"

ส่วนการก่อเหตุในชุมชนและโจมตีเป้าหมายอ่อนแอจะส่งผลต่อการกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" (เซฟตี้โซน) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่นั้น นายฉัตรชัยเห็นว่าไม่น่าจะเชื่อมโยงโดยตรง เพราะขณะนี้คณะทำงานด้านเทคนิคของทั้ง 2 ฝ่ายเพียงแต่เห็นชอบในหลักการให้กำหนดพื้นที่ปลอดภัย แต่ยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าตำบลหรืออำเภอไหนคือพื้นที่ปลอดภัย

 

สถิติเหตุคาร์บอมบ์

ตั้งแต่ 2547- ปัจจุบัน

52 ครั้ง

รวมทั้งหมด

23 ครั้ง

จ.นราธิวาส

  • 13 ครั้ง จ.ปัตตานี

  • 12 ครั้ง จ.ยะลา

  • 3 ครั้ง จ.สงขลา

  • 1 ครั้ง จ.สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย)

Reuters

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.พ. พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์ เลขาคณะพูดคุยสันติสุขฯ ออกมาระบุว่าการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยเป็นไปเพื่อ "ทดสอบความไว้วางใจซึ่งกันและกัน" ในส่วนของไทยจะทดสอบว่าฝ่ายผู้เห็นต่างสามารถควบคุมกำลังในพื้นที่ และลดเหตุความรุนแรงได้จริงหรือไม่ พร้อมยอมรับว่าพื้นที่ปลอดภัยจะไม่ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากยังมีปัจจัยเรื่องภัยแทรกซ้อนอยู่ จึงกำหนดร่วมกันว่าสามารถเกิดเหตุได้ 3 ครั้ง และต้องพิสูจน์ว่าใครเป็นผู้กระทำ หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ ก็ให้ยกเลิกพื้นที่ปลอดภัย

พื้นที่สาธารณะปลอดภัย ต้องไม่ใช่แค่พื้นที่นำร่อง

น.ส.ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ หนึ่งในองค์กรสมาชิกคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เหตุการณ์ระเบิดที่ห้างบิ๊กซีปัตตานี มีผลทำให้สภาวะที่เอื้อต่อการพูดคุยสันติสุขลดลง และเห็นว่าหากผู้ก่อเหตุที่ไม่สามารถคาดเดาฝ่ายได้ต้องการสร้างกระบวนการสันติภาพ ไม่ควรจะใช้วิธีการเช่นนี้

น.ส.ปาตีเมาะ เห็นว่าความรุนแรงครั้งนี้ทำให้การขยายข้อเสนอพื้นที่สาธารณะปลอดภัยอยู่ในสถานะที่ "ถอยหลัง" แม้ว่าก่อนหน้านี้ ทั้งฝ่ายรัฐและผู้เห็นต่าง จะตกลงสร้างพื้นที่ปลอดภัยนำร่องที่ชายแดนใต้ใน 5 อำเภอแล้วเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา แต่พื้นที่อื่นที่ไม่อยู่ในข้อตกลง ก็ควรยุติการใช่้ปฏิบัติการทางอาวุธทุกรูปแบบ ทั้งการสร้างความหวาดกลัว การก่อเหตุ และสร้างความสูญเสียแก่คนในพื้นที่

 

"ไม่ว่าจะ 5 อำเภอหรือตรงไหนก็ตาม สถานที่สาธารณะก็ไม่ควรจะให้เกิด ถึงแม้ว่าสถานที่อย่างบิ๊กซีจะไม่อยู่ในพื้นที่ที่ถูกเลือกเป็นพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง แต่เป็นพื้นที่สาธารณะที่ใช้สอยร่วมกัน"

นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ ยังให้ความเห็นว่ารัฐควรเพิ่มความเข้มงวดด้านการรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น และทำงานเพิ่มขึ้นในการสร้างความไว้วางใจให้กลับคืนมา เพื่อให้กระบวนการคุยสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้

ที่มา http://www.bbc.com/thai/thailand-39871581