Skip to main content

 

 

การกลับมาของคนหาย ได้สอนอะไรเราบ้าง

 

อัญชนา  หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ

 

หลายคนได้ติดตามข่าวกรณีผู้เสียหาย ประธานชมรม ตาดีกา ตำบลทุ่งพอ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ที่หายไประหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม 2560 เวลา 20:20 น และ ได้กลับมาถึงบ้านในวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 เวลา 14:00 น ก็นับได้ว่าได้หายไปเป็นเวลา 1 วัน 18 ชั่วโมง เราได้เรียนรู้อะไรจากกรณีนี้อย่างไรบ้าง

ตัวตนของผู้เสียหาย

ในหลายๆกรณีคนหายในจังหวัดชายแดนใต้แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีใครได้กลับมาเลยคนในครอบครัวต่างเฝ้ารอการกลับมาของคนที่เรารักทุกเมื่อเชื่อวัน และ อย่างใจจดใจจ่อ เมื่อเราสอบถามจากผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้รับการชี้แจงว่าคนที่สูญหาย เป็นผู้ที่มีคดีความมั่นคงติดตัว ต้องการหลบหนีคดีจึงได้สร้างสถานการณ์ว่ามีการอุ้มหายและบลาๆๆๆๆ ซึ่งไม่ว่าเขาจะเป็นใคร แต่เขาถือได้ว่าเป็นประชาชนที่รัฐมีหน้าที่จะต้องให้การปกป้องคุ้มครอง และสร้างความปลอดภัย กรณีนี้ผู้สูญหายเป็นประธานชมรมตาดีกาตำบลทุ่งพอ เป็นครูตาดีกามา 15 ปี ไม่มีประวัติการถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษและประวัติการเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ครอบครัวและเครือญาติมีหน้าที่การงานที่ดี เมื่อมีการบังคับให้สูญหาย ผู้เสียหายมีสติ ถึงแม้จะอยู่ท่ามกลางบุคคลที่มีอาวุธและปิดบังใบหน้าสามารถสื่อสารกับครอบครัวได้

เมื่อสื่อสารกับครอบครัวแล้วอย่างไรต่อ

ครอบครัวเมื่อรับทราบเวลา 20:40 น ได้มีการแจ้งให้ผู้นำทราบ แจ้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านประชุมด่วนหาวิธีการค้นหา ประสานงานไปยังหน่วยงานราชการ ติดตอทั้ง อำเภอ ตำรวจตะเวนชายแดน และทหาร ที่รับผิดชอบในพื้นที่ ญาติซึ่งมีความสนิทสนมได้แจ้งให้ตำรวจระดับสูงที่ยะลาทราบเรื่อง พร้อมทั้งไปติดตามกล้องวงจรปิดในหมู่บ้าน ซึ่งมีทั้งหมด 4 ตัวแต่ใช้งานไม่ได้ 1 ตัว ทางผู้ใหญ่บ้านได้แจ้งทางอำเภอเมื่อ 2 เดือนที่แล้วแล้ว เพื่อให้ซ่อมแซม พบว่ามีรถเก๋งสีขาวขับมาจากทางอำเภอสะบ้าย้อยและกลับรถที่บริเวณสามแยกเพื่อมาจอดที่หน้าบ้านผู้เสียหาย หลังจากนั้น ญาติไปแจ้งความที่สถานีตำรวจอำเภอสะบ้าย้อยในเวลา 21:00 น คือ ทันที ต่อมาในเวลา 21:15 น คนที่กำลังติดตามที่มีวิทยุสื่อสารก็ได้ยินเสียงคำสั่งให้สกัดรถต้องสงสัย ต่อมามีการกระจายข่าวเพื่อหาทางช่วยเหลือทั้งกระจายข่าวทางไลน์ สมาคมตาดีกา และมีการขอให้ละหมาดขอพรให้ผู้เสียหายปลอดภัยถึงแม้ทุกคนคิดว่าจะไม่มีทางเป็นไปได้ก็ตาม และต่อมามีการติดต่อจากผู้เสียหายในเวลา 5:30 ของวันที่ 14 พฤษภาคม ว่าเขาปลอดภัย แต่ก็ยังไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน จะกลับเมื่อไร จึงยังมีการกระจายข่าวอย่างต่อเนื่อง และในที่สุดเขาก็ได้กลับบ้าน

สิ่งที่เรามองเห็นคือ

• ผู้ใหญ่บ้าน และ ชุดคุ้มครองหมู่บ้าน เพื่อนบ้าน มีสติ มีการติดตามกล้องวงจรปิด ตรวจสอบเวลา

• มีการประสานงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ในการกระจายข่าวและขอความช่วยเหลือ

• ชุมชนมาให้กำลังใจครอบครัว โดยมีการมาสร้างความอุ่นใจให้ครอบครัวผู้เสียหาย ทั้งมาอยู่เป็นเพื่อน 100 คน มาละหมาดขอพร ในเวลา 23:30 ของวันที่ 13 พฤษภาคม และในเช้าวันที่ 14 พฤษภาคม

• ครอบครัวและผู้นำชุมชนรวมไปถึงชุมชนมีความมุ่งมั่นในการค้นหา ทั้งไปติดตามตามหน่วยงานราชการทุกหน่วย และประสานทางโทรศัพท์ทุกระยะ

หลังจากได้กลับบ้าน

สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปคือ

• ความปลอดภัยของผู้เสียหายทั้งการป้องกันมิให้ถูกบังคับให้สูญหายซ้ำและข้อกล่าวหาว่าไม่มีการถูกบังคับให้สูญหายเพราะมีการปฎิเสธโดยหน่วยงานรัฐว่าไม่ใช่การกระทำของเจ้าหน้าที่

• ผู้ใหญ่บ้านและชุมชนมีการประชุมต่อไปเพื่อสร้างมาตรการความปลอดภัยให้ชุมชนกลับคืนมา

• ความศรัทธาของชุมชนต่อเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคงเพราะมีความเชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

• สภาพจิตใจของผู้เสียหาย

เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพประชาชนไม่เฉพาะผู้เสียหายเท่านั้นแต่ได้สร้างความหวาดกลัวต่อประชาชนในวงกว้างเพราะถึงแม้ว่ารัฐจะปฎิเสธว่าไม่ได้กระทำ ไม่มีเหตุผลในการกระทำแต่รัฐมีหน้าที่สร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับประชาชนการกระทำครั้งนี้โดยกลุ่มคนไม่ทราบฝ่ายจึงทำลายความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และศรัทธานั้นเมื่อสูญเสียไปแล้วยากที่จะกลับคืน

สิ่งที่รัฐควรทำ

• ตรวจสอบภายในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา

• และมีมาตรการในการไม่ปกป้องคนผิด

• ให้หลักประกันหรือออกมาตรการในการสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับประชาชน