Skip to main content

กรณี เสียโอกาสการสร้างสันติภาพและแก้ปัญหาชายแดนใต้

คำแถลงของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เนื่องในโอกาสการครบรอบ 3 ปีแห่งการทำรัฐประหารโดย คสช.

"3 ปีที่เสียของ"  3 ปีแห่งการสูญเสียของสังคมไทยภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร

วันที่  22 พฤษภาคม 2560 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

แม้หัวหน้า คสช. ประกาศจะ “ขจัดความเลวร้ายต่างๆ” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ภายใน 6 เดือน อีกทั้งยังได้แต่งตั้ง buy trusted tablets pharmacy ครม. ส่วนหน้าเป็นตัวแทนพิเศษของรัฐบาลมาแก้ปัญหา แต่สถานการณ์ความรุนแรงและปัญหาชายแดนใต้ก็ไม่ได้คลี่คลายลง เนื่องภายใต้ระบอบ คสช. แนวทาง “การทหาร” ถูกนำมาใช้เหนือแนวทาง “การเมือง” โดยปฏิบัติการทางทหารหลายครั้งไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐและสิทธิพลเมือง มีการเหวี่ยงแห เหมารวม และละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน (ดังกรณีการตรวจค้น จับกุม คุมขังนักศึกษาและเยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเขตกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา) ขณะที่ปฏิบัติการทางการเมืองก็ยังมีข้อกังขาว่าไม่มีความจริงใจ เป็นเพียงการสร้างภาพ (เช่น ภาพนายทหารชั้นผู้ใหญ่ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปรับคนเข้าโครงการพาคนกลับบ้าน การนำผู้ต้องสงสัยเข้าอบรมจริยธรรมทางศาสนาในค่ายทหาร) อีกทั้งยังปล่อยให้มีปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าว (IO) โจมตีนักกิจกรรมภาคประชาสังคมและมีการขู่จะใช้มาตรการทางกฎหมายกับนักสิทธิมนุษยชนที่เปิดเผยเรื่องการซ้อมทรมานด้วยในกระบวนการรีดข้อมูลด้วย

นอกจากนี้ ในยุค คสช. อุดมการณ์ชาตินิยมแบบแข็งตัวถูกตอกย้ำและผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น แม้ คสช.จะสานต่อการพูดคุยสันติภาพ แต่ก็ดำเนินการได้จำกัดอย่างมากเนื่องจากวางอยู่บนฐานคิดแบบชาตินิยม ส่งผลทำให้รัฐไทยกลายเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขการเจรจาแต่เพียงฝ่ายเดียว บนฐานของความหวาดกลัวและหวาดระแวงต่อองค์กรและกฎกติการะหว่างประเทศ จึงไม่สามารถรวมกลุ่มกองกำลังติดอาวุธต่างๆ ให้เข้ามาร่วมกระบวนการเจรจาได้อย่างเต็มใจ

ในด้านการมีส่วนร่วม ทหารได้เข้ามาสังเกตการณ์และจับตากิจกรรมขององค์กรในภาคประชาสังคมอย่างใกล้ชิดมากขึ้น มีความพยายามเรียกพบผู้ปฏิบัติงานเพื่ออบรมสั่งสอนให้มีความคิดและการทำงานภายใต้กรอบที่รัฐบาลทหารกำหนด รวมทั้งได้เข้ามาตรวจสอบแหล่งทุนของภาคประชาสังคมด้วย  

ประการสำคัญ ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร การส่งเสริมความเข้าใจและเคารพในความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา และการศึกษาได้ลดน้อยลงไปมาก มีการคุกคามการแสดงออกด้านอัตลักษณ์ (ดังกรณีการจัดการกับกลุ่มนักศึกษาที่แสดงป้าย “ขออนุญาตเรียกตัวเองว่า ‘คนปาตานี’ ” ในขบวนพาเหรดกีฬา) รวมทั้งการกำหนดตัวชี้วัดด้านการด้านงบประมาณแผ่นดินประจำปีเพื่อช่วงชิงนักเรียนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามให้มาเรียนในโรงเรียนรัฐ

ส่วนการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชายแดนใต้ คสช. เน้นการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ที่มักส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม แทนที่จะมองและพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานของวัฒนธรรมและศาสนาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ขณะที่ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาเหล่านี้ก็มักเป็นผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นมากกว่าชาวบ้านทั่วไปหรือผู้ประสบปัญหาหรือว่าผู้มีความต้องการช่วยเหลือ