Skip to main content

(บทความที่ 1 จากมาเลเซียที่เขียนถึงปัญหาระหว่างซาอุดิอารเบียกับกาตาร์ ในอีกมุมมองหนึ่ง)

แปลจาก Saudi Vs Qatar: Kawan Dan Lawan โดย AYMAN RASHDAN WONG

แปลโดย รุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ   อาจารย์คณะภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมลายา กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย

 

_____________________________________________________________________________

ซาอุดิอาระเบีย vs กาตาร์ : มิตรและศัตรู

การตัดความสัมพันธ์ทางการทูตของซาอุดีอาระเบียกับกาตาร์ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ครั้งล่าสุดคือในช่วงเดือนมีนาคม 2014 ซาอุดิอารเบียอ้างเหตุผลว่ากาตาร์สนับสนุนกลุ่มอิควานมุสลิมและในปี 2002 ก็เคยเกิดขึ้นแล้วเช่นกัน

ในครั้งนี้ด้วยเหตุผลที่อ้างว่ากาตาร์สนับสนุนการก่อการร้าย ซึ่งผู้ก่อการร้ายครั้งนี้ไม่ได้หมายถึงกลุ่มอิควานมุสลิม แต่หมายถึงชีอะห์ ข้อกล่าวหาของซาอุดีอาระเบียสอดคล้องกับสิ่งที่โดนัลด์ ทรัมป์กล่าวไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประณามอิหร่านว่าให้การสนับสนุนการก่อการร้ายในซีเรียและเยเมน

ดังนั้นเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นสิ่งที่ต่อเนื่องจากการมาเยือนของทรัมป์ และเป็นเรื่องของสงครามเย็นระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน

ส่วนสาเหตุหลักของซาอุดิอารเบียและพันธมิตร ตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ครั้งนี้นั้น เนื่องจากเมื่อ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา Sheikh Tamim ผู้นำรัฐบาลกาตาร์ ได้โทรศัพท์ถึงประธานาธิบดี Hassan Rouhani แห่งอิหร่าน แสดงความปรารถนาที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ

ซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรพยายามที่จะกดดันกาตาร์เพื่อยกเลิกเป้าหมายดังกล่าว ในเวลาเดียวกันนี้เช่นกันถือเป็นโอกาสทองสำหรับซาอุดิอารเบีย ที่จะแสดงบทบาทผู้นำของตนในกลุ่มประเทศ GCC ซึ่งประกอบด้วยซาอุดีอาระเบีย, กาตาร์, ยูเออี, บาห์เรน, คูเวตและโอมาน

GCC ก่อตั้งขึ้นในปี 1981 เพื่อคานการขยายอิทธิพลของอิหร่าน ซึ่งในตอนนั้นดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุก (สงครามอิรัก-อิหร่าน) และถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อประเทศในภูมิภาคนี้ ซาอุดีอาระเบียเป็นแกนนำสำคัญของ GCC และซาอุดิอาระเบียมีเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้นคือการทำให้ GCC เป็นกลุ่มประเทศที่ต่อต้านอิหร่านและต่อต้านชีอะห์

แต่หลังจากที่สงครามอิรัก- อิหร่านสิ้นสุดลงในปี 1989 ประเทศ GCC อื่น ๆ เริ่มที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งกาตาร์, คูเวต, UAE และโอมาน ที่มีส่วนแบ่งของแหล่งน้ำมันและก๊าซร่วมกับอิหร่าน

ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา เกิดปัญหาความขัดแย้งในกลุ่มประเทศ GCC ด้วยกันเองมาตลอดเป็นระยะๆ คู่ขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดคือระหว่างซาอุดีอาระเบียและกาตาร์ แม้ว่าทั้งสองประเทศจะมีนิกายและมาจากเผ่าทามิมเหมือนกันก็ตาม หนึ่งในปัญหาความขัดแย้งนั้นคือการที่กาตาร์ให้ที่พิงพักแก่บรรดาผู้นำกลุ่มอิควานมุสลิม เช่น Yusuf Al- Qaradawi

อาหรับสปริงส์ในปี 2011 เปิดโอกาสให้ซาอุฯ ใช้ความพยายามอย่างหนักในการทำให้ GCC เป็นแนวร่วม แอนตี้-อิหร่าน ซาอุดีอาระเบียส่งทหารเข้าไปในบาห์เรนในเดือนมีนาคม 2011 เพื่อปราบปรามการประท้วงของประชาชนบาห์เรนที่ส่วนใหญ่เป็นชีอะห์ ในเดือนมีนาคม 2015 ซาอุดิอาระเบียก็เริ่มเข้าไปแทรกแซงในเยเมน ซาอุดีอาระเบียต้องการที่จะเป็นผู้นำหลักในภูมิภาคนี้ในการปกป้องภัยคุกคามของชีอะห์

แต่อุปสรรคสำคัญของซาอุดีอาระเบียก็คือกาตาร์ กาตาร์ในทางปฏิบัติไม่ได้ทำตามสคริปต์ต่อต้านชีอะห์ที่เขียนโดยซาอุดิอาระเบีย ความมั่งคั่งของกาตาร์ก็ทัดเทียมกับซาอุดิอาระเบีย แต่ทั้งสองประเทศก็ร่วมมือกันเข้าไปแทรกแซงในประเทศที่เกิดปัญหา โดยมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน เช่นในอียิปต์ซาอุดิอาระเบียสนับสนุนมูบารักและอาซีซี ในขณะที่กาตาร์สนับสนุนกลุ่มอิควานมุสลิม

ตอนนี้ซาอุดิอาระเบียพยายามที่จะใช้ความสัมพันธ์ที่ดีของเขาที่มีกับโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อที่จะกดดันกาตาร์ ที่นอกจากคูเวตและโอมานแล้ว สมาชิก GCC ที่เหลือต่างโปรซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งอาซีซีแห่งอียิปต์ ยังใช้โอกาสนี้กดดันให้กาตาร์เลิกให้การสนับสนุนกลุ่มอิควานมุสลิม

ดราม่าในครั้งนี้จะจบลงด้วยการประนีประนอมของกาตาร์อย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2014 ซึ่งตอนนั้นกาตาร์ยอมขับผู้นำอิควานมุสลิมบางส่วนออกไปจากกาตาร์ แต่ในยุคการนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เป็นความท้าทายของกาตาร์ ที่จะดำเนินนโยบายไม่เลือกข้างระหว่างซาอุอารเบียหรืออิหร่าน

แต่กาตาร์ก็มีอำนาจในการต่อรองเช่นกัน เพราะกาตาร์เป็นฐานที่มั่นใหญ่ของกองทัพสหรัฐในตะวันออกกลาง (ที่ Al-Udeid) เมื่อเทียบกับประเทศซาอุดิอารเบีย, กาตาร์มีภาพที่ทันสมัยและมีความก้าวหน้ามากกว่า และมีความขัดแย้งกับโลกตะวันตกน้อยกว่า เพียงแค่ว่าตอนนี้ไม่แน่ใจว่าทรัมป์ จะยังสนใจประเด็นนี้อยู่อีกหรือไม่

ในส่วนของอิหร่านแล้วก็มีจุดยืนของตัวเอง การเป็นมิตรกับกาตาร์นั้น อิหร่านหวังที่จะทำลายความสามัคคีของกลุ่ม GCC เพื่อที่จะไม่สามารถร่วมกันเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพมาต่อกรกับตน และอิหร่านก็ยังสามารถที่จะกระจายอิทธิพลในภูมิภาคนี้ต่อไป

ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับกาตาร์ จะเป็นแบบมิตรและศัตรูกันต่อไป แต่ไม่ถึงกับสู้รบกัน ดราม่าครั้งนี้เป็นอีกฉากของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจภายในกลุ่ม GCC และยังอาจกระพือโหมเป็นการปะทะกันระหว่าง GCC และอิหร่านก็เป็นได้

......บททดสอบทางโลกในช่วงรอมฎอน.....

 

ต้นฉบับ : https://www.thepatriots.asia/archives/2423

เผยแพร่ครั้งแรกที่ facebook : Rosenun Chesof