Skip to main content

เข้าใจการเมืองในกลุ่มประเทศ GCC (4)

กลุ่มประเทศ GCC กับกระแสอาหรับสปริง

 

ดร.ศราวุฒิ อารีย์

ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป, ฝูงชน และ สถานที่กลางแจ้ง

ผมขอติดค้างเรื่องอิทธิพลและการเคลื่อนไหวของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในรัฐอ่าวอาหรับเอาไว้ก่อน เพราะกำลังศึกษาหาข้อมูลมานำเสนอ เอาเป็นว่าช่วง 2-3 วันนี้เราลองมาย้อนความหลัง ทบทวนกระแสอาหรับสปริงที่ลุกลามบานปลายจนคืบคลานเข้ามาสู่รัฐต่าง ๆ ในอ่าวอาหรับกันก่อน หลังจากนั้น (อาจเป็นวันพรุ่งนี้) ผมจะลองให้เหตุผลว่าทำไมรัฐต่าง ๆ ในอ่าวอาหรับเหล่านี้จึงอยู่รอดปลอดภัย ผ่านพ้นวิกฤตที่เป็นเหมือนมรสุมทางการเมืองอย่างกระแสอาหรับสปริงมาได้

เริ่มต้นอย่างนี้ครับ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2010 โลกอาหรับต้องเผชิญกับกระแสการชุมนุมประท้วงของประชาชน ซึ่งเริ่มขึ้นที่ตูนิเซียก่อน จนทำให้ประธานาธิบดี ซัยนุลอาบิดีน บิน อาลี ต้องลี้ภัยไปอยู่ในซาอุดีอาระเบีย ต่อมากระแสการลุกฮือก็เคลื่อนตัวไปยังอียิปต์ จนทำให้ประธานาธิบดี ฮุสนี มุบารัค ซึ่งครองอำนาจมายาวนาน 30 ปี ต้องยอมลงจากอำนาจภายในช่วงเวลาแค่ 18 วัน

กระแสการลุกฮือขึ้นของประชาชนได้แพร่ขยายต่อไปอีกหลายประเทศในย่านตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ โดยข้อเรียกร้องของการชุมนุมประท้วงของแต่ละประเทศก็แตกต่างกันออกไป บางส่วนเป็นการประท้วงขับไล่ผู้นำฉ้อฉลหรือระบอบที่ผูกขาดอำนาจมานาน บ้างก็ลุกขึ้นประท้วงเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง เรียกร้องการมีส่วนร่วมของประชาชน เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ

กลุ่มประเทศ GCC ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของตะวันออกกลางที่ได้รับผลกระทบจากกระแสอาหรับสปริงนี้

วิธีการของแต่ละรัฐบาลในการจัดการปัญหาการลุกฮือของประชาชนในกลุ่ม GCC เป็นไปในแนวทางเดียวกันครับคือ ฟังเสียงประชาชนมากขึ้น มีการต่อรองเพื่อลดทอนอำนาจของตนเองลงบ้าง แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม นอกจากนั้นยังทยอยออกมาเสนอนโยบายประชานิยม เพิ่มเงินงบประมาณด้านสวัสดิการ หรือแม้กระทั้งแจกจ่ายเงินแบบให้เปล่า บางรัฐบาลก็เลือกใช้มาตรการปราบปรามประชาชนจนทำให้เกิดการนองเลือด แต่ส่วนใหญ่คือใช้ทั้ง 3 แนวทางควบคู่ผสมปนเปกันไป

ในบาห์เรน สมเด็จพระราชาธิบดี ฮามัด บิน อีซา อัล-เคาะลีฟะฮ์ ตอบโต้การประท้วงดังกล่าวโดยปราบปรามการชุมนุมอย่างหนัก ขณะเดียวกันก็ขอความช่วยเหลือจากประเทศเพื่อนบ้านในคณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวเปอร์เซีย (GCC) และพยายามเรียกร้องให้กลุ่มผู้ชุมนุมมาเจรจา รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการสอบสวนแห่งบาห์เรน (BICI) เพื่อใช้รับมือกับการก่อความไม่สงบ และใช้เป็นเครื่องมือในการปูทางไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม

ขณะที่การจัดการปัญหาการลุกฮือของประชาชนในซาอุดิอาระเบียก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับบาห์เรน รัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้ทำการสลายการชุมนุมและจับกุมนักเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ขณะเดียวกันก็สนับสนุนมาตรการเอาใจประชาชน และสนับสนุนการปฏิรูปการเมือง ตัวอย่างเช่น ให้ผู้หญิงมีสิทธิโหวตและลงสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นได้ในปี 2015 โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ชายที่เป็นผู้คุ้มครอง พร้อมกันนั้นก็จัดให้มีการแต่งตั้งผู้หญิง 30 คนเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษา (Shura)

สำหรับโอมาน รัฐบาลมีนโยบายควบคุมการชุมนุมอย่างเด็ดขาด อย่างเช่น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2013 นักเคลื่อนไหวกว่า 40 คนถูกจับขังคุก นอกจากนี้ สุลต่านยังจัดตั้งหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและการเมือง เช่น เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำของภาคเอกชน ให้สิทธิประโยชน์แก่คนว่างงาน ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน จัดตั้งหน่วยงานเพื่อเฝ้าระวังราคาและการค้ากำไรเกินควร และเพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้า ยุบกระทรวงเศรษฐกิจแห่งชาติ (ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีการคอรัปชั่นสูงมาก) แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังได้ให้เงินอุดหนุนหนึ่งหมื่นล้านดอลลาห์สหรัฐสำหรับสร้างที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ

แม้การลุกฮือของประชาชนในโลกอาหรับไม่ได้ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) แต่รัฐบาลยูเออีก็พยายามป้องกันการประท้วงโดยใช้การปฏิรูปและมาตรการทางการเงินตัวอย่างเช่น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2011 รัฐบาลได้เพิ่มขนาดของสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ชาวยูเออีสามารถโหวตและเลือกสมาชิกครึ่งหนึ่งของสภาแห่งชาติ ต่อมายังได้จัดสรรงบประมาณ 5,700 ล้านยูเออี ดิรฮัม (ประมาณ 1,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อปรับปรุงโครงข่ายน้ำประปาและไฟฟ้าสำหรับพื้นที่ยากจนในประเทศ แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ทำการจับกุมและปราบปรามนักเคลื่อนไหวเช่นกัน

กาตาร์คล้ายกับยูเออี คือการลุกฮือของประชาชนในโลกอาหรับไม่ได้นำไปสู่การประท้วงทางสังคมและการเมืองอย่างจริงจัง กาตาร์มีความไม่สงบเล็กน้อยภายในประเทศ ซึ่งรัฐบาลรับมือโดยประกาศการปฏิรูปย่อยๆ เช่น จัดการเลือกตั้งสภาที่ปรึกษา (Shura) ในครึ่งหลังของปี 2013 (ติดค้างเรื่องกาตาร์ไว้อีกเรื่องหนึ่งครับ เพราะผมจะกลับมาอธิบายประเด็นนี้ในวันหลัง)

ถึงแม้กระแสการเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองจะส่งผลให้สถาบันกษัตริย์หลายประเทศในภูมิภาคพยายามปรับตัวเข้าสู่การปกครองภายใต้หลักนิติรัฐมากขึ้น แต่นักวิเคราะห์บางส่วนยังมองว่า การปฏิรูปที่กำลังดำเนินอยู่ในหลายประเทศ เป็นเพียงกลยุทธการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์โดยปราศจากความจริงใจที่จะส่งมอบอำนาจให้แก่ปวงชนอย่างแท้จริง และคณะกรรมการปฏิรูปหรือคณะกรรมการสมานฉันท์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศก็เป็นเพียงการซื้อเวลาและซื้อใจประชาชนเท่านั้น

รายงานวิจัยของ Arab Center for Research and Policy Studies (2015) ได้สรุปเกี่ยวกับประเด็นปัญหาการเมืองของกลุ่มประเทศ GCC ไว้อย่างน่าสนใจครับว่า การปฏิรูปการเมืองถือเป็นความท้าทายเร่งด่วนที่กลุ่มประเทศนี้กำลังเผชิญร่วมกัน แม้กลุ่มประเทศนี้จะค่อนข้างมีเสถียรภาพทางการเมืองหลังผ่านมรสุมจากกระแสอาหรับสปริงเมื่อปี 2011 แต่ความไม่สมดุลทางโครงสร้างในระดับพื้นฐานยังคงดำรงอยู่ นั่นคือความไม่สมดุลระหว่างก้าวย่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจกับการพัฒนาทางการเมือง

ปัจจัยดังกล่าวนี้ ประกอบกับพลังทางสังคมที่ปรากฏขึ้นในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาและผู้หญิง เริ่มเรียกร้องการปฏิรูปที่กระจายไปทั่วกลุ่มประเทศ GCC

ขณะที่กลุ่มประเทศเหล่านี้ต่างกำลังเผชิญปัญหาทางการเมืองที่คล้ายคลึงหรือเหมือนกัน ความล้มเหลวที่จะสนองตอบข้อเรียกร้องการปฏิรูปของทุกประเทศตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยังผลให้กระแสเรียกร้องของประชาชน แปรเปลี่ยนไปเป็นการใช้ความรุนแรงจนกลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงภายในที่ส่งผลกระทบไม่เฉพาะแต่ประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ยังปรากฏขึ้นทั่วภูมิภาคโดยรวม

ด้วยเหตุนี้ หากกลุ่มประเทศ GCC เล็งเห็นและให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน ทิศทางอนาคตของกลุ่มประเทศเหล่านี้จึงมีทางเลือกไม่มากนักนอกเสียจากต้องริเริ่มโครงการปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจังและเป็นการปฏิรูปที่ยั่งยืนด้วยครับ

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

เข้าใจการเมืองในกลุ่มประเทศ GCC (1) : การเมืองว่าด้วยความชอบธรรม

เข้าใจการเมืองในกลุ่มประเทศ GCC (2) : ทำไมเยเมนจึงไม่ถูกรวมเป็นสมาชิกกลุ่ม GCC ?

ทำความเข้าใจการเมืองของกลุ่มประเทศ GCC (3) : “Rentier States”