Skip to main content

เข้าใจการเมืองในกลุ่มประเทศ GCC (6)

ขบวนการภราดรภาพมุสลิม

 

 

ดร.ศราวุฒิ อารีย์

ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา

 

ในภาพอาจจะมี 1 คน, กำลังยิ้ม, ข้อความ

 

ที่ผ่านมากลุ่ม "อิควาน" หรือขบวนการภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ถูกฉายภาพให้เป็นกลุ่มสำคัญหลักในการขยายแนวคิดหัวรุนแรง และเป็นบ่อเกิดของ "กลุ่มก่อการร้ายมุสลิม" ในส่วนต่างๆ ของโลก มายาคติดังกล่าวนำไปสู่ความวิตกหวาดกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในตะวันออกกลางตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันวิกฤตทางการทูตในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับล่าสุดก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มอิควานอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะหนึ่งในเหตุผลที่ซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตรอ้างเพื่อตัดความสัมพันธ์ปิดล้อมกาตาร์คือ กาตาร์เป็นประเทศให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่ม หนึ่งในนั้นคือกลุ่มอิควาน

ฉะนั้น การทำความเข้าใจแนวคิดของกลุ่มอิควานผ่านผู้ก่อตั้งองค์กรอย่างฮาซัน อัล-บันนา (Hasan Al-Banna) และสถานะของกลุ่มในทางการเมืองจึงมีความสำคัญยิ่ง

 

จุดเริ่มต้นและการขยายตัว

อัล-บันนา ก่อตั้งขบวนการอิควานขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 1928 ณ เมืองอิสมาอิลียะห์ (Isma"iliya) ประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นเมืองที่เจ้าหน้าที่บริษัทคลองสุเอซชาวยุโรปอาศัยอยู่กันเต็มไปหมด ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พลังขบวนการต่อต้านอิทธิพลตะวันตกผุดขึ้นมาและเจริญงอกงามได้อย่างไม่ยากเย็นมากนัก

ก่อนที่จะตั้งขบวนการภราดรภาพมุสลิมขึ้น อัล-บันนา เป็นครูโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง แม้จะเป็นครูประจำแต่เขาก็ไม่ได้สอนเฉพาะนักเรียนเท่านั้น เมื่อมีเวลาว่าง เขายังไปสอนและเผยแพร่ศาสนาให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอียิปต์ที่ทำงานให้บริษัทคลองสุเอซ ตลอดรวมถึงคนยากคนจนและแรงงานด้อยโอกาส

สานุศิษย์ของเขา ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เห็นความฟุ่งเฟ้อสุรุยสุร่ายในการใช้ชีวิตและความเป็นอภิสิทธิชนของชาวตะวันตกที่มาอาศัยอยู่ในอียิปต์ จึงพร้อมที่จะรับฟังคำสั่งสอนที่เน้นในเรื่องการไม่ยึดติดกับวัตถุสิ่งของ แต่ให้ยกระดับความสำคัญของจิตวิญญาณด้านศีลธรรม

คำสอนของอัล-บันนา แพร่ออกไปอย่างกว้างขวางในหมู่คนระดับล่างของสังคม โดยที่พวกชนชั้นปกครองไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก อัล-บันนา มักเดินทางไปเยี่ยมเยือนพบปะผู้คนในทุกๆ พื้นที่ อีกทั้งยังบรรยายให้ความรู้แก่พวกแรงงานและชาวไร่ชาวนาอยู่เสมอ

ระหว่างปี 1928 ถึง 1933 เชื่อกันว่ามีสำนักงานสาขาต่างๆ ของอิควานทั่วประเทศเปิดดำเนินการไม่น้อยกว่า 50 สาขา โดยมีการจัดตั้งมูลนิธิการกุศล โรงงานทอผ้า มัสยิด ร้านขายยา สถาบันการศึกษา รวมอยู่ในอาคารของแต่ละสาขา

สานุศิษย์ของอัล-บันนา ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มมวลชนรากหญ้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนหนุ่มสาวที่อยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ และนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยที่มองเห็นศักยภาพของกลุ่มอิควานในฐานะขบวนการฟื้นฟูอิสลาม (Islamic Revivalist) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์อียิปต์

ในเวลาต่อมาสาขาของขบวนการได้ขยายออกไปนอกประเทศ ไปยังซูดาน ซีเรีย จอร์แดน ปาเลสไตน์ อิรัก กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ หรือแม้แต่ในยุโรป หนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ของขบวนการอิควานถูกแจกจ่ายออกไปทั่วโลกมุสลิม

 

แนวคิดของ "อัล-บันนา"

แนวทางการเคลื่อนไหวของ อัล-บันนา ในระยะแรกให้ความสำคัญเรื่องหลักคำสอนของอิสลาม เขาสรุปเป้าหมายการฟื้นฟูอิสลามที่เป็นภาพรวมเอาไว้ว่าคือ "การหันกลับไปหาอิสลาม" และ "อัล-กุรอานถือเป็นธรรมนูญของพวกเรา" เขาเตือนสมาชิกของขบวนการเสมอให้หลีกห่างจากเรื่องการเมืองระบบพรรค และเสนอแนะให้มุ่งเป้าไปที่การทำงานด้านสังคมและศาสนาเป็นหลัก

แม้จะไม่ได้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในระยะแรก แต่ก็มิได้หมายความว่า อัล-บันนา จะเห็นดีเห็นงามกับระบบการเมืองที่เป็นอยู่หรือความเป็นไปของพัฒนาการทางการเมืองทีเกิดขึ้นในอียิปต์และในโลกมุสลิม

เมื่อเวลาผ่านไป อัล-บันนา จึงปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวองค์กร โดยได้อธิบายไว้ในหลายครั้งหลายโอกาสว่า “อิสลามมีความหมายที่กว้างขวางอย่างมาก มันเป็นตัวกำหนดกิจการทุกอย่างของมนุษย์ รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ และอิสลามก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เรื่องจิตวิญญาณและศาสนาเท่านั้น อิสลามเป็นศาสนาที่ครอบคลุม เป็นศาสนาแห่งสันติภาพและภราดรภาพ และเป็นศาสนาแห่งการร่วมมือทำงานกันอย่างจริงใจ”

อัล-บันนา ไม่พอใจกับการแข่งขันแสวงหาอำนาจกันในหมู่นักการเมืองที่คอร์รัปชั่นและไม่มีหลักธรรมประจำใจ เขาเรียกร้องให้ผู้นำรัฐและรัฐบาลนำหลักธรรมคำสอนทางศาสนามาประยุกต์ใช้ ด้วยเหตุนี้ การเริ่มต้นเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของอิควานจึงเป็นไปในลักษณะการวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมทางสังคมของผู้มีอำนาจที่ละเลยต่อหลักคำสอนทางศาสนา ต่อมาจึงเริ่มกล่าวหานักการเมืองว่าไม่ได้เป็นผู้ศรัทธาที่กระตือรือร้น พร้อมทั้งเรียกร้องให้แทนที่สถาบันที่มีลักษณะโลกวิสัย (Secular institution) ด้วยสถาบันอิสลาม

แม้อัล-บันนาจะคิดอย่างนั้น แต่คงไม่ถูกต้องนักหากจะกล่าวว่า ขบวนการอิควานพยายามจะสถาปนาระบบอิสลามขึ้นใหม่โดยจะไม่ปรับเปลี่ยนอะไรเลย เพราะพวกเขาออกมาอธิบายอยู่หลายครั้งว่า กฎระเบียบต่างๆ นั้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพการณ์ที่แปรเปลี่ยนไป แต่ประเด็นใหญ่คือต้องรักษาหลักการพื้นฐานของอิสลามไว้

ขบวนการอิควานอธิบายว่า ศาสนานั้นจะต้องเป็นพื้นฐานของระบบทางสังคม แต่รายละเอียดของมันก็คงต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพการณ์หรือเงื่อนไขทางสังคมที่เปลี่ยนไป

ในเรื่องของความสอดคล้องระหว่างอิสลามกับประชาธิปไตย ชาตินิยม สังคมนิยม โลกวิสัยนิยม และคอมมิวนิสต์นั้น อัล-บันนา เชื่อว่าสิ่งใดที่ดีที่มีอยู่ในระบบอื่น มันมีอยู่ในอิสลามอยู่แล้ว เขากล่าวว่าอิสลามโดยแก่นแท้แล้ว คือระบอบที่ประกันถึงอิสรภาพและความเท่าเทียม การมอบสวัสดิการและความยุติธรรมให้แก่ทุกคน และส่งเสริมให้มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นภราดรภาพและการมีศีลธรรมทางสังคม

เขาเชื่อว่ามุสลิมสามารถหยิบยืมแนวคิดและการจัดตั้งสถาบันจากสังคมอื่นๆ เนื่องจากอิสลามยอมรับระบบความคิดที่มีคุณค่าทุกอย่างที่มีความจำเป็น ดังนั้น เป้าหมายของขบวนการอิควานจึงไม่ใช่การเตรียมชุดแนวคิดใหม่ไว้ให้สมาชิกปฏิบัติตาม แต่ต้องการสร้างคนรุ่นใหม่ที่สามารถทำความเข้าใจกับความหมายของอิสลามที่แท้จริงได้

จากแนวคิดของอัล-บันนา ดังกล่าว ทำให้จุดยืนและกรอบการทำงานของกลุ่มอิควานเท่าที่ผ่านมาเน้นหนักไปทางการปฏิรูป มิใช่ขบวนการปฏิวัติที่ต้องการเห็นอียิปต์และโลกมุสลิมเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทันด่วน โดยใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ

 

อิควานในการเมืองอียิปต์และความรุนแรง

กลุ่มนายทหารอิสระที่ทำการปฏิวัติอียิปต์เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 1952 นั้น ความจริงมีแนวคิดที่คล้ายคลึงในหลายๆ แง่มุมกับขบวนการอิควาน โดยเฉพาะในเรื่องสังคม ถึงขาดที่นายทหารบางคนที่ร่วมปฏิวัติก็เคยเป็นสมาชิกของขบวนการอิควานมาก่อน ด้วยเหตุนี้ คณะปฏิวัติที่ขึ้นมาครองอำนาจใหม่ในยุคนั้น จึงขอความร่วมมือและการสนับสนุนจากอิควาน และไม่มีความคิดที่จะกำจัดอิควานแต่อย่างใด

แต่เมื่อกลุ่มอิควานตัดสินใจไม่ร่วมมือกับคณะปฏิวัติ เพราะมีทรรศนะไม่เห็นชอบกับแนวทางปกครองของผู้ปฏิวัติ จึงทำให้ กะม้าล อับดุล นัซเซอร์ (ผู้นำคณะปฏิวัติ) ถือว่าการปฏิเสธของกลุ่มอิควานเป็นแผนที่จะควบคุมอำนาจการปกครองไว้เสียเอง ความหวาดระแวงที่เกิดขึ้นนำไปสู่การจับกุมคุมขังสมาชิกกลุ่มอิควานใน ค.ศ.1954 และไล่ล่าติดตามสมาชิกอื่นๆ ที่หลบหนี โดยอ้างเหตุผลว่า กลุ่มอิควานได้วางแผนเพื่อสังหารประธานาธิบดีนัซเซอร์

นับจากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลยุคต่าง ๆ ของอียิปต์จึงปฏิเสธไม่ยอมรับขบวนการอิควาน พร้อมประกาศให้อิควานเป็นกลุ่มนอกกฎหมาย มีการจับสมาชิกกลุ่มอิควานขังคุกบ่อยครั้ง โดยยัดเยียดข้อหาก่อตั้งกลุ่มใต้ดินที่มีเป้าหมายปฏิวัติการปกครอง ทางรัฐบาลได้จำคุกและทรมานสมาชิกกลุ่มอิควานจำนวนมาก หลายคนถูกพิพากษาประหารชีวิต สมาชิกบางคนที่รอดออกมาจากการทรมานในคุกได้ จึงเริ่มก่อตั้งกลุ่มใหม่ที่ใช้ความรุนแรงและการก่อการร้ายตอบโต้ฝ่ายรัฐ และไม่ร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มอิควานที่เน้นแนวทางปฏิรูปอีกต่อไป

ฉะนั้น กลุ่มที่ใช้วิธีก่อการร้ายโจมตีเป้าหมายรัฐบาลและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เกิดขึ้นในอียิปต์เป็นระยะๆ ตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมา จึงไม่ใช่ฝีมือของกลุ่มอิควานอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นกลุ่มคนที่คับแค้นใจต่อการกระทำที่โหดเหี้ยมของฝ่ายรัฐ รวมถึงคนอย่างอัยมาน อัล-ซะวาฮิรี สหายคนสนิทของ อุซามาอ์ บิน ลาเดน ด้วย ซึ่งขณะนี้กลายเป็นผู้นำอัล-กออิดะฮ์ หลังการเสียชีวิตของบิน ลาเดน

 

ใครสนใจอ่านเรื่องราวของขบวนการอิควานในระยะเริ่มแรกแนะนำให้อ่าน 2 งานนี้ครับ

1. Ishaq Musa Al- Husayni. (1956). The Moslem Brethren, John F. Brown et al.,Trans. (Beirut: Kyayat’s Collage Book Cooperative).

2. Richard P Mitchell. (1969). The Society of the Muslim Brothers. London: Oxford University Press.

 

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

เข้าใจการเมืองในกลุ่มประเทศ GCC (1) : การเมืองว่าด้วยความชอบธรรม

เข้าใจการเมืองในกลุ่มประเทศ GCC (2) : ทำไมเยเมนจึงไม่ถูกรวมเป็นสมาชิกกลุ่ม GCC ?

ทำความเข้าใจการเมืองของกลุ่มประเทศ GCC (3) : “Rentier States”

เข้าใจการเมืองในกลุ่มประเทศ GCC (4) : กลุ่มประเทศ GCC กับกระแสอาหรับสปริง

เข้าใจการเมืองของกลุ่มประเทศ GCC (5) : ทำไมราชาธิปไตยในกลุ่มประเทศ GCC จึงดำรงอยู่อย่างมั่นคง?