Skip to main content

รัฐบาลอนุมัติการยืดอายุมาตรการพยุงราคายางพารา

มารียัม อัฮหมัด
ปัตตานี
 
    TH-rubber-tapper-1000
    ชาวสวนยางในจังหวัดยะลา กำลังเก็บขี้ยางเพื่อนำไปจำหน่าย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560
     เบนาร์นิวส์
     

    .

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

    ในอังคาร (13 มิถุนายน พ.ศ. 2560) นี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง หลังจากราคายางพาราตกต่ำลงจากเดือนพฤษภาคมจนเกือบจะถึงระดับที่ขาดทุน

    โดยที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีวาระที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอขอความเห็นชอบ 4 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมติของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ภายหลังราคายางพาราลดต่ำลง

    สำหรับมาตรการทั้งสี่ ประกอบด้วย หนึ่ง การขยายเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกร เพื่อรวมยางพาราภายใต้แนวทางยางพาราทั้งระบบ เป็นวงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและดูดซับผลผลิตที่จะออกมาสู่ตลาด โดยรัฐบาลจะชดเชยรับภาระดอกเบี้ยไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นงบประมาณที่รัฐต้องชดเชยทั้งสิ้น 300 ล้านบาท คาดการณ์ว่าจะสามารถดูดซับผลผลิตออกจากระบบได้ประมาณสองแสนตันในปี 60

    สอง การขยายระยะเวลาโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง เป็นวงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ซึ่งหมดอายุไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 ออกไปอีกหนึ่งปี  สาม การขยายระยะเวลาโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง (เพิ่มเติม) ออกไปอีก 90 วัน เพื่อรอรับเกษตรกรตกค้างประมาณ 1.1 หมื่นครัวเรือน และ สี่ การขยายระยะเวลาโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องหรือบัฟเฟอร์ฟันด์ ออกไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2563

    เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว นายทรงวุฒิ ดำรงกุล ประธานเครือข่ายชาวสวนยางพารา จังหวัดยะลา กล่าวว่า ราคายางได้ตกลงจนน่าตกใจ โดยในช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ราคายางพาราในตลาดกลาง อยู่ที่กิโลกรัมละ 68 บาท เมื่อถึงเดือนมิถุนายน ราคาลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือเพียง 52 บาท และมีแนวโน้มว่าราคาอาจจะลดลงเหลือไม่ถึงกิโลกรัมละ 20 บาท สำหรับต้นทุนการผลิตยางพารานั้น สำนักเศรษฐกิจการเกษตรประเมิณไว้ที่ 50.30 บาท ต่อหนึ่งกิโลกรัม

    สำหรับสาเหตุนั้น พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ กล่าวว่า เกิดจากการปล่อยข่าวลือของพ่อค้าเพื่อกดราคายางพารา ที่มีการซื้อขายกันล่วงหน้า โดยเฉพาะในช่วงการเปิดฤดูกาลกรีดยางฤดูกาลใหม่

    สำหรับข่าวลือที่เกิดขึ้น เช่น การปล่อยข่าวว่าโรงงานรถยนต์ไม่ซื้อยางพาราจากภาคอีสาน เพราะมีการปนเปื้อนกรดซัลฟุริค รัฐบาลจีนงดซื้อยางจากไทย เพราะขุ่นเคืองนายกรัฐมนตรีที่ตอบรับการเยือนสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

    “กรณีจีนตีกลับยางไทยนั้น เป็นกลไกตลาดของพ่อค้ายักษ์ใหญ่ 4-5 บริษัท ของเราสร้างกระแสออกมา เพื่อต้องการกดราคาจากเกษตรกรในพื้นที่ ความจริงจีนยังรับซื้อยางของเรา ส่วนปัจจัยอื่นที่ทำให้ราคาลดลงเพราะค่าเงินบาทแข็งตัว และราคาน้ำมันลดลงด้วย” นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดยะลา กล่าวชี้แจงต่อเบนาร์นิวส์ โดยหวังว่า หลังจากการออกมาตรการดังกล่าวแล้ว ราคายางจะดีขึ้นตามลำดับ ไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 60-70 บาท

    ด้านนายทรงวุฒิ ดำรงกุล ประธานเครือข่ายชาวสวนยางพาราจังหวัดยะลา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า แม้ว่ามาตรการทั้งสี่ที่เสนอ ครม. ในวันนี้ จะเป็นการช่วยเหลือชาวเกษตรกร เบื้องต้น แต่ก็ถือว่าสามารถบรรเทาปัญหาไปก่อนได้ ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญในการใช้ยางในประเทศให้มาก และแปรรูปยางให้มากกว่า เพราะปัจจัยที่ทำให้ราคายางตกช่วงนี้ ส่วนหนึ่งมาจาก การกดราคาจากนักธุรกิจรายใหญ่ และการบริหารจัดการของเราไม่ดีพอ

    “ตอนนี้ ทุกตลาดมีความพยายามนำยางจากเกษตรกรออกมาให้อยู่ในมือของตน เพื่อเก็บสต็อกไว้ ส่วนเกษตรกรก็ตกใจ เพราะคิดว่าราคาลดลงจริง แต่เป็นแผนของพ่อค้าบ้านเรา ที่ต้องการกดชาวเกษตรกร” นายทรงวุฒิ กล่าว

    ในเรื่องนี้ นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้มีการเชิญบริษัทค้ายางพาราที่ถูกตั้งข้อสงสัยเข้ามาชี้แจงแล้วโดยทั้งหมดกล่าวว่า ไม่ได้เป็นผู้ปล่อยข่าวลือเพื่อหวังกดราคารับซื้อแต่อย่างใด ซึ่งนายธีธัช กล่าวว่า รัฐบาลสามารถตรวจบริษัทค้ายางได้ด้วยการตรวจสอบบัญชี ตรวจสอบสต็อค ตามอำนาจพระราชบัญญัติควบคุมราคายางพารา พ.ศ. 2542

    นายทรงวุฒิ ยังได้กล่าวถึงโครงการชดเชยรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ที่ดำเนินมาเมื่อสองปีก่อนว่า ได้ชดเชยแก่เกษตรกร 7.1 ครัวเรือน และผู้ประกอบอาชีพกรีดยาง 6.7 แสนครัวเรือนเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งในวันพรุ่งนี้ จะมีการประชุมกระทรวงต่างๆ เพื่อผลักดันการซื้อยางพารามาใช้ในหน่วยงานของรัฐบาลตามโครงการที่มีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ยังข้อติดขัดเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ และข้อกำหนดว่าวัตถุดิบที่จะซื้อ ต้องผ่านเกณฑ์ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

    "ให้รัฐบาลใช้ยางในประเทศให้มาก นำพรบ.การยางมาใช้ให้เป็นรูปธรรม โดยที่รัฐบาลสัญญาจะนำน้ำยางพารามาทำเป็นพื้นถนน แปรผลิตภัณฑ์ยางพารา เหมือนประเทศมาเลเซียที่แปรผลิตภัณฑ์ยาง ที่ด่านนอก อ.สะเดา จ.สงขลา แล้วมาขายให้ประเทศไทย แต่ไทยเราไม่คิดจะทำ เราต้องแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางให้ได้ 30 เปอร์เซ็น ประเทศไทยเราก็อยู่ได้แล้ว" นายทรงวุฒิ ดำรงกุล ประธานเครือข่ายชาวสวนยางพาราจังหวัดยะลา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

     

    เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/news/TH-rubber-price-06132017144406.html