Skip to main content

 

ประวัติศาสตร์การถือศีลอด

 

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

ในภาพอาจจะมี ข้อความ

อิสลามหากเริ่มนับกันที่นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ย่อมไม่ใช่ศาสนาแรกที่ถือศีลอด อัลกุรอานเองยังบอกไว้ในบทอัลบะเกาะเราะฮฺ 2: 183 ว่ามีชนกลุ่มอื่นถือศีลอดมาก่อนหน้ามุสลิมแล้ว ทั้งสำทับไว้ด้วยว่าอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงเป็นผู้กำหนดให้ชนเหล่านั้นถือศีลอด ย่อมหมายความว่าอิสลามมีมาก่อนนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) คำถามมีว่าการถือศีลอดหรือการถืออดอาหารเริ่มกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่

การอดอาหารเป็นกระบวนการหนึ่งในพิธีกรรมในหลายกลุ่มศาสนา ทั้งพุทธ พราห์มณ์ ฮินดู ซิกข์ มีเรื่องราวการถืออดอาหารทั้งนั้น กลุ่มเดียวที่ไม่เคยเห็นพิธีกรรมด้านอดอาหารทั้งยังถือว่าการอดอาหารเป็นบาปคือโซโรเอสเตอร์หรือกลุ่มลัทธิบูชาไฟ นอกนั้นมีเรื่องราวของการอดอาหารเพื่อสร้างสมาธิหรือการเข้าหาพระผู้เป็นเจ้าเป็นองค์ประกอบในพิธีกรรมทางศาสนาทั้งสิ้น

ในส่วนของอิสลามหากนับย้อนหลังไปจนกระทั่งถึงนบีคนแรกคือนบีอาดำ (อ.ล.) ยังไม่มีบันทึกเรื่องราวการอดอาหาร จนกระทั่งถึงนบีนุฮฺ (อ.ล.) เมื่อ 5,000 ปีล่วงมาแล้วนั่นแหละที่มีการกล่าวถึงการถืออดอาหาร นั่นคือวันที่ 10 เดือนมุฮัรรอมซึ่งเชื่อกันว่านบีนุฮฺ (อ.ล.) นำเรือที่หลบภัยจากน้ำท่วมใหญ่ขึ้นไปจอดบนยอดเขาญูดียฺตามที่ระบุไว้ในอัลกุรอาน ฮูด 11:44 โดยมีการค้นพบเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ว่าซากเรือนบีนุฮฺ (อ.ล.) ขึ้นไปอยู่บนยอดเขานั้นจริงๆ โดยวันนั้นในอดีตมีบันทึกเรื่องราวของชาวยิวไว้ว่ามีการถืออดอาหาร

ผ่านมาจนถึง 4,000 ปีที่ผ่านมาในยุคสมัยของนบีอิบรอฮีม (อ.ล.) มีบันทึกเรื่องราวการถือศีลอดของท่าน โดยมีหะดิษบันทึกไว้ว่าท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) กล่าวถึงการถือศีลอดของนบีอิบรอฮีม (อ.ล.) ว่าเป็นรูปแบบที่มุสลิมยึดถือกันในภายหลัง วันเวลาผ่านมาจนเมื่อ 3,500 ปีที่ผ่านมา มีเรื่องราวการถืออดอาหาร 40 วันสองช่วงของนบีมูซา (อ.ล.) ก่อนขึ้นเขาซีนาย โดยก่อนหน้านั้นวันที่ 10 เดือนมุฮัรรอมมีบันทึกถึงการถืออดอาหารของนบีมูซา (อ.ล.) และชาวยิวก่อนข้ามทะเลแดง บันทึกทั้งหมดนี้เป็นของอิสลามบ้าง คริสต์บ้าง ยิวบ้าง ซึ่งถือเป็นศาสนาที่ต่อเนื่องกัน

จนถึงยุคนบีอีซา (อ.ล.) ท่านถืออดอาหาร 40 วันในทะเลทรายก่อนเข้าเมืองเพื่อเผยแผ่ศาสนา การถืออดอาหารนี้เองที่ชาวคริสต์บางส่วนนำมาปฏิบัติในพิธีเข้าสู่ธรรมหรือมหาพรตช่วงอีสเตอร์หรือปัสกา กระทั่งผ่านมาจนถึงยุคนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ก่อนการเป็นนบีท่านถือตะฮันนุชซึ่งเป็นการผสมผสานการถือศีลอดกับการทำสมาธิในเดือนรอมฎอน

มาถึงวันนี้มุสลิมถือศีลอดตลอดเดือนรอมฎอน หากปฏิบัติกันตามแบบอย่างท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ท่านยังถือศีลอดเกือบทั้งเดือนในเดือนชะอฺบาน ถือศีลอดทุกวันจันทร์ พฤหัสบดีในเดือนอื่นๆ ถือศีลอดสองวันในวันที่ 9 และ 10 เดือนมุฮัรรอม และวันที่ 9 เดือนซุลฮิจยะฮฺ โดยในส่วนหลังแม้บันทึกไม่ชัดเจนนักแต่มุสลิมจำนวนไม่น้อยพากันถือศีลอดตามท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.)