Skip to main content

ตอนไปอัมสเตอร์ดัม เราต้องเจอกับคนหลายชาติ หลายเผ่า

ทุกคนล้วนมีเรื่องต้องต่อสู้
ถ้าตัดเอาเฉพาะคนที่ไม่ได้มาจากรัฐบาล แทบทั้งหมดมีพื้นฐานมาจากการทำงานแบบเผชิญหน้ากับรัฐบาล

เพื่อนจากไทใหญ่ เป็นตัวแทนของสหพันธ์รัฐชาติไทใหญ่ซึ่งต่อสู้กับรัฐบาลกลางพม่ามาหลายสิบปี เพิ่งเซ็นสัญญาสงบศึกกันไม่กี่ปีที่ผ่านมา
อีกคนมาจาก สมาคมเยาวชนปาโอ๋ ชาติพันธ์หนึ่งในไทใหญ่
และจากฟิลิปปินส์ มาจาก NGO ด้านสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งต้องต่อสู้กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงสมัยรัฐบาลปัจจุบัน

มีเรื่องอะไรบางอย่างที่น่าสนใจจะมาเล่า
เวลาเราๆที่มาจากคนกลุ่มน้อยมาเจอกันแลกเปลี่ยนกัน ถึงแม้คนเกือบทั้งหมดเป็นนักต่อสู้เพื่ออะไรสักอย่างในประเทศตัวเอง แต่คนเหล่านี้รู้เรื่องการต่อสู้ในที่อื่นๆน้อยมาก ผมเองไม่รู้เรื่องไทใหญ่อย่างละเอียด รู้คร่าวๆว่าพม่ามีปัญหารบกับหลายชาติพันธ์ และชื่อแรกที่จะนึกได้คือกะเหรี่ยง ว้าแดง โรฮิงญา ส่วนฟิลิปปินส์อาจจะรู้คร่าวๆเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ไม่เคยเข้าถึงเรื่องราวพวกนี้ และกลับกัน คนทั้งหมดที่มาร่วมการประชุม อาจมีเพียงแค่คนเดียวด้วยซ้ำที่รู้ว่าชายแดนใต้มีกลุ่มคนที่ต่อสู้แบ่งแยกดินแดนกับรัฐบาลไทย และมีความไม่สงบเกิดขึ้นนับสิบปีแล้ว ที่น่าตกใจคือทั้งหมดที่เข้ามาล้วนเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง เป็นปัญญาชนที่สื่อสารได้หลายภาษา และเป็นคนหนุ่มสาว

นักต่อสู้มักจะอินกับเรื่องราวที่ตัวเองทำอยู่มากๆ มีอารมรณ์ร่วมมาก การแนะนำตัวทุกครั้งที่มีวิทยากรใหม่เข้ามาในคลาส จะเสียเวลาฟังเรื่องราวพวกนี้ซ้ำไปซ้ำมา บางคนใช้เวลานานถึงสิบนาทีในการปูพื้นเล่าเรื่องความขัดแย้งของกลุ่มของเขากับรัฐบาลกลาง ถ้าผมฟังครั้งเดียวยังพอไหว แต่ต้องฟังอย่างนี้สิบครั้งหลังๆก็ท่องได้ละ

การต่อสู้ในพื้นที่เล็กๆ คนที่อินจริงๆอาจมีไม่กี่คน แม้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เอง ก็หาคนที่จะรู้เรื่องราวที่มาที่ไป และพร้อมจะคิดหาทางออกให้เกิดสันติภาพได้น้อยมาก ยิ่งถามหาคนจากภูมิภาคอื่นๆของประเทศยิ่งยาก มิพักพูดถึงพื้นที่อื่นๆในโลก เราอาจไม่มีตัวตนเลยก็ได้

ต้องลองดูว่าถ้ามาเล่าเรื่องความสำเร็จที่เราอยากให้มี หรือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นแล้ว อาจมีคนอยากฟังมากกว่านี้มั้งนะ