Skip to main content

ฟารีดา ปันจอร์

สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ 

 

ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธในมินดาเนาทั้งแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร และแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร  หรือ MILF และ MNLF ที่ดำเนินมากว่า 50 ปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าแสนคนรวมทั้งมีผู้อพยพย้ายถิ่นเป็นจำนวนมาก ถือเป็นความขัดแย้งที่ยาวนานที่สุดในโลก การยุติปัญหามีมาเกือบทุกรัฐบาล ตั้งแต่การใช้นโยบายมุ่งการปราบปรามสู่การเปิดช่องทางให้ฝ่ายที่สามในสมัยประธานาธิบดีเบนนิกโน อากิโน ที่ 3 จนกระทั่งเวลาได้ล่วงเลยมาปัจจุบันภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีโรดิโก้ ดูเตอร์เต ซึ่งก่อนหน้านี้เขาได้ชูนโยบายหาเสียงว่า การสร้างสันติภาพเป็นสิ่งที่เขาต้องการดำเนินการอันดับแรก โดยแรงผลักดันสำคัญคือการที่ดูเตอร์เตมีพื้นเพเป็นชาวมินดาเนา ผู้มีความเข้าใจถึงผลกระทบของความขัดแย้งที่ยาวนานและมีความเข้าใจต่อการต่อสู้เพื่อการกำหนดชะตากรรมของชาวโมโร สิ่งที่ดูเตอร์เตกำลังทำคือ การเร่งสร้างความไว้วางใจระหว่าง MILF และ MNLF  ซึ่งเป็นความต่อเนื่องจากต้นทุนการทำงานสันติภาพของรัฐบาลในชุดก่อนหน้า

 

ความคืบหน้าของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

 

ในช่วงก่อนมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรัฐบาลต่อจากประธานาธิบดี เบนนิกโน อากิโน เกิดคำถามว่ากระบวนการสันติภาพจะคลี่คลายไปในทางใดเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งหลายฝ่ายได้ติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความต่อเนื่องของกระบวนการจัดทำร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรที่ได้รับเสียงวิจารณ์ว่ายังไม่ได้เปิดให้ MNLF เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ภายหลังเมื่อนายโรดิโก้ ดูเตอร์เต ได้รับเลือกตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี กระบวนการสันติภาพมินดาเนายังไม่ได้หยุดชะงัก มีความคืบหน้าเกิดขึ้นหลายประการในห้วงเวลาเริ่มต้นการทำงานของดูเตอร์เตที่ได้ดำเนินการตามข้อตกลงบังซาโมโรฉบับครอบคลุม (Comprehensive Agreement on Bangsamoro –CAB) ที่ได้ลงนามเมื่อปี 2014 ระหว่าง MILF และ รัฐบาลฟิลิปปินส์

 ในช่วงเดือนมีนาคม 2017 ที่ผ่านมาทั้ง MILF และรัฐบาล ได้ดำเนินการเดินหน้าทำบันทึกความเข้าใจร่วมที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยบันทึกความเข้าใจร่วมจำนวน 2 หน้า ระบุถึงขั้นตอนของการนำข้อตกลงไปปฏิบัติใช้ ซึ่งเป็นกระบวนการภายในและเปิดช่องให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งการอำนวยความสะดวกของฝ่ายที่สาม นอกจากนี้บันทึกความเข้าใจดังกล่าวเป็นการสร้างความมั่นใจในการติดตามกระบวนการขั้นตอนของฝ่ายนิติบัญญัติในการพิจารณาร่างกฎหมายบังซาโมโรที่จะมีขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ รวมทั้งการขยายอำนาจบทบาทหน้าที่ของคณะทำงานระหว่างประเทศในการติดตามและประเมินผลกระบวนการสันติภาพ (International Monitoring Team- IMT) และ คณะทำงานเฉพาะกิจ ( The Ad hoc Joint Action Group - AHJAG) จนถึงปี 2018

ความคืบหน้าสำคัญต่อมาคือ การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านบังซาโมโร (Bangsamoro Transition Commission- BTC ) ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกกว่า 21 คนทั้งจากที่มาจากฝ่ายของ MILF และ รัฐบาลฟิลิปปินส์อย่างละครึ่ง คณะกรรมการดังกล่าวเป็นที่ปรึกษาหลักในการขับเคลื่อนข้อตกลงสันติภาพและการผลักดันร่างกฎหมายบังซาโมโร ขณะเดียวกัน สำนักงานที่ปรึกษาประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในกระบวนการสันติภาพ หรือ OPAPP ได้จัดทำแผนที่เดินทางหรือ Roadmap เพื่อรวมกลุ่มก่อความไม่สงบอื่นๆ กลับเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงทั้ง CAB ใน ปี 2014  ระหว่าง MILF - รัฐบาล ในปี 2014  และ Final agreement ปี 1996 ระหว่าง MNLF-รัฐบาล และการเกิดกระบวนการหารือสามฝ่าย ระหว่างรัฐบาล  องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) และ MNLF  เพื่อผลักดันร่างกฎหมายบังซาโมโรฉบับใหม่เพื่อเข้ามาทดแทนเขตปกครองมุสลิมมินดาเนา หรือ ARMM เดิม

อาจกล่าวได้ว่า สายสัมพันธ์ระหว่างผู้นำของ MNLF คือ Nur Misuri และดูเตอร์เต ที่มีมาก่อนหน้านี้ ทำให้การมีส่วนร่วมของ MNLF ในกระบวนการสันติภาพเป็นไปได้มากขึ้น ทั้งการเกิดแถลงการณ์และกระบวนการหารือสามฝ่ายทั้ง MNLF, OIC  และรัฐบาลู นอกจากนี้ยังมีเวทีร่วมมือระหว่าง MNLF- MILF ซึ่งริเริ่มโดยดูเตอร์เตเป็นครั้งแรก รวมทั้งข้อเสนอจากผู้บริหารเขตปกครองพิเศษมุสลิมมินดาเนา ARMM ที่สนับสนุนให้ทบทวนปรับปรุงร่างกฎหมายบังซาโมโร ให้มีความครอบคลุมถึงการใช้ ARMM และการมีรัฐบาลท้องถิ่นในการให้คำปรึกษาต่อร่างกฎหมายฉบับนี้

เมื่อกล่าวถึงผู้ไกล่เกลี่ยในกระบวนการสันติภาพ จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังคงต้องการให้มาเลเซียมีบทบาทสำคัญในการคลี่คลายปัญหาเพื่อสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศ ความต้องการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีดูเตอร์เตต้องการในการสร้างกระบวนการแบบพหุภาคี เพราะกระบวนการสันติภาพคือสิ่งที่สำคัญต่อความมั่นคงในภูมิภาค การเข้ามาเกี่ยวข้องของมาเลเซียและในฐานะการเป็นผู้นำ IMT เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ นอกจากนี้ จะมีการขยายสมาชิกคณะทำงาน IMT โดยมี ญี่ปุ่น บรูไน และสหภาพยุโรปเข้ามา เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่า สถานการณ์ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์จะไม่กลายเป็นฮอตสปอต ของกองกำลังติดอาวุธรัฐอิสลามหรือ ISIS

 

ผู้นำ MILF และ MNLF ได้พบปะกับประธาธิบดี โรดิโก้ ดูเตอร์เต และมีการพูดถึงถึงแผนสันติภาพ ช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2016 ที่มา: http://cnnphilippines.com/news/2016/08/12/Government-of-the-Philippines-...

 

ความเปราะบางและคำแนะนำต่อกระบวนการสันติภาพ

 

สิ่งที่ผลักดันความหวังว่าร่างกฎหมายนี้จะประสบความสำเร็จ คือ การที่ประธานาธิบดีดูเตอร์เตให้คำมั่นสัญญาว่าจะเปลี่ยนระบอบประเทศเป็นสหพันธรัฐซึ่งเอื้อให้การขับเคลื่อนกฎหมายบังซาโมโร ซึ่งทั้ง MILF และ MNLF  เห็นตรงกันว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แม้สองฝ่ายไม่ได้มีเป้าหมายทางการเมืองที่ตรงกัน แต่ก็มีข้อกังวลจากผู้สังเกตการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขระบอบของประเทศเป็นสหพันธรัฐอาจกินเวลานาน และอาจกระทบต่อการนำข้อตกลงในปี 2014 มาปฏิบัติใช้ สิ่งที่เป็นข้อท้าทายรัฐบาลในสมัยปัจจุบันดูเหมือนว่าจะเต็มไปด้วยความซับซ้อนซึ่งคล้ายคลึงกับกระบวนการสันติภาพทั่วโลกที่ต้องใช้ช่องทางและความสนใจที่หลากหลายเข้ามาคลี่คลาย ซึ่งในระหว่างที่จะมีการเสนอร่างกฎหมายบังซาโมโรเข้าสู่สภา นักวิชาการได้ตั้งข้อสังเกตเชิงแนะนำต่อกระบวนการสันติภาพมินดาเนาเอาไว้หกประการด้วยกัน คือ ประการแรก แม้จะมีการปรับปรุงร่างกฎหมายบังซาโมโรต่อจากรัฐบาลชุดที่แล้วแต่การที่รัฐบาลประกาศว่าจะเดินหน้าระบอบประเทศไปสู่สาธารณรัฐซึ่งสามารถไปกันได้กับกฎหมายบังซาโมโรเป็นสิ่งที่ท้าย มีความยุ่งย่างและซับซ้อน การเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบผิดๆ ก็อาจทำลายสมดุลทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ  

ประการที่สอง รัฐบาลควรต้องเร่งรัดการดำเนินการต่างๆ ที่ประกาศไว้แต่ก็ไม่ควรจะเร่งรัดมากเกินไป เพื่อที่สร้างความมั่นใจว่าทุกคนได้รับประโยชน์ผลของการดำเนินงานสันติภาพตามข้อตกลงบังซาโมโรฉบับครอบคลุมในปี 2014 เช่น การเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยและบรรยากาศในการลงทุน การกลับสู่สังคมของกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งหากข้อตกลงไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติผลกระทบอื่นๆ อาจตามมาเช่น อาชญากรรมต่างๆ หรือแนวคิดสุดโต่งทางศาสนาเป็นต้น  

ประการที่สาม รัฐบาลดูเตอร์เตอาจต้องดำเนินกระบวนการสันติภาพที่มีเป้าหมายสอดรับกับความเป็นจริง ไม่สร้างแรงกดกันทางการเมืองหรือวิธีทางที่สุดโต่งเกินไปเพื่อที่จะได้รับการสนับสนุน

ประการที่สี่ แม้ว่ากระบวนการสันติภาพมีความต่อเนื่องแต่การรักษาความเชื่อมั่นในกระบวนการสันติภาพบังซาโมโร ต่อสมาชิก MILF และ MNLF ที่กำลังจะเข้าร่วมกับ ISIS เป็นที่ควรสนับสนุน

ประการที่ห้า  ไม่ว่ากระบวนการสันติภาพจะดำเนินไปอย่างไร ทุกฝ่ายเข้ามาในกระบวนการและในท้ายที่สุดจะต้องทำให้คนฟิลิปปินส์สนับสนุนกระบวนการสันติภาพให้ได้

และประการที่หก รัฐต้องพยายามประเมินประสิทธิภาพของโครงการที่พัฒนาทั้งในเชิงสังคมและเศรษฐกิจ เนื่องจากอาจมีช่องว่างทั้งในเรื่องของการยอมรับจาก MILF (ซึ่งปฏิเสธโครงการพัฒนาเพื่อมีเป้าหมายในการต่อต้านการก่อการร้าย) รวมทั้งการแก้ไขปัญหาความยากจนและปัญหาสังคมอื่นๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ในช่วงกลางของความขัดแย้ง

 

ความท้าทายและโอกาสของภาคประชาสังคม

 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่เป็นข้อสังเกตในการทำงานขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพของภาคประชาสังคม ภาคประชาสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพในห้วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมีความหลากหลาย ทั้งการปกป้องพลเรือนในความขัดแย้ง การติดตามการหยุดยิง การให้การศึกษาด้านสันติภาพ การให้บริการทางสังคม การฟื้นฟูชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง หรือการดำเนินงานด้านการทูตของฝ่ายภาคประชาสังคมที่เชื่อมโยงการพูดคุยในฝ่ายต่างๆ นอกจากนี้ภาคประชาสังคมยังมีบทบาททางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนนโยบายและการพัฒนาประชาธิปไตยความพยายามของภาคประชาสังคม เหล่านี้ความพยายามในการสร้างสภาวะแวดล้อมที่สามารถนำไปสู่การพูดคุยสันติภาพ เพื่อก่อให้เกิดการสนับสนุนจากภาคส่วนสาธารณะและการสร้างความยั่งยืนของการเจรจาและการการเกิดข้อตกลง นักวิชาการเรียกว่างานการทูตในแทร็ก 2 ในบางครั้งภาคประชาสังคมก็มีความพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการพูดคุยสันติภาพในแทร็ก 1 ด้วย

ตั้งแต่ปี 2008 ประชาสังคมได้ถูกให้ความสำคัญในฐานะที่เป็นกลไกของโครงสร้างการทำงานเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับ MILF  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลไกเพื่อปกป้องพลเมืองและคณะทำงานระหว่างประเทศในการติดตามและประเมินผล (The Civilian Protection Component and the International Contact Group)  ซึ่งในความเป็นจริง การทำงานของภาคประชาสังคมมีความต่อเนื่องและหลากหลายมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันด้านการศึกษาและความขัดแย้งตั้งแต่ระดับรากหญ้า ภาคประชาสังคมได้พยายามแสดงถึงความเป็นเอกภาพและรวมหลายฝ่ายเข้ามาในกระบวนการสันติภาพในช่วงเวลาที่ความหวังต่างๆ ได้กำลังมอดลงและการมีตัวป่วนในกระบวนการสันติภาพ  ซึ่งทั้งหมดคือภาพใหญ่ที่ภาคประชาสังคมเห็นร่วมกันในเรื่องของแนวคิดและกระบวนการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ

อย่างไรก็ตามมีข้อวิจารณ์จากผู้สังเกตการณ์ที่มองว่า การทำงานของภาคประชาสังคมยังขาดการ บูรณาการและความเป็นเอกภาพในวาระสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน เหตุผลสำคัญคือ ภาคประชาสังคมมองข้อตกลงสันติภาพและร่างกฎหมายบังซาโมโรในมุมมองที่ต่างกันออกไปและแข็งขันกันเพื่อผลประโยชน์ในส่วนต่างๆ  นอกจากนี้ ประเด็นความเข้าใจที่แตกต่างกันในเรื่องรากเหง้าของความขัดแย้ง ทำให้สิ่งที่เป็นแกนปัญหาหลักของบังซาโมโรในการทำงานของภาคประชาสังคมมีทั้งที่ถูกให้ความสำคัญและที่ไม่ให้ความสำคัญ ในขณะที่กลุ่มอื่นๆ ยังเน้นการทำงานในเชิงโปรเจคซึ่งอาจทำให้มองข้ามภาพใหญ่ในการสร้างสันติภาพ บางส่วนเน้นทำงานให้บริการทางสังคมส่วนใหญ่ยึดโยงอยู่กับองค์กรระหว่างประเทศก็ไม่ได้เชื่อมต่อให้การทำงานเป็นการขับเคลื่อนทางการเมือง

ความแตกต่างดังกล่าว อาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้ภาคประชาสังคมยังเจอความท้าทายในระหว่างการ  ล็อบบี้หรือผลักดันร่างกฎหมายบังซาโมโร แต่ก็มีข้อแนะนำจากนักวิชาการว่าภาคประชาสังคมอาจต้องทำงานร่วมกันในสิ่งที่ยังเห็นต่างกันให้มากขึ้นเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในการสร้างฉันทามติร่วมกันเพื่อบรรลุสิ่งที่เรียกว่าสันติภาพยั่งยืน นอกจากนี้ ภาคประชาสังคมอาจต้องคำนึงว่าไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไม่ว่าจะมุ่งสู่ระบอบใด แต่ภาคประชาสังคมอาจต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายหลายประการด้วยกัน เช่น การจัดการกับวัฒนธรรมที่ไม่ต้องรับผิดที่ดำรงอยู่ในโครงสร้างและวิถีชีวิตมานานหลายทศวรรษ สนับสนุนความยุติธรรมเปลี่ยนผ่านที่จำเป็นต้องหยิบยกปัญหาด้านความไม่ยุติธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการกลายเป็นคนชายขอบ อาจกล่าวได้ว่า ภาคประชาสังคมมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการกำหนดนโยบายและเป็นหุ้นส่วนสำคัญในกระบวนการสันติภาพมินดาเนา ทั้งในแง่ของบทบาท พื้นที่ในการสร้างบทสนทนาในการกำหนดปัญหาและผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คน

เมื่อช่วงเดือนธันวาคมปี 2016 ท ผู้นำองค์กรภาคประชาสังคมที่หลากหลายรวม ในงานสมัชชาของภาคประชาสังคมเรียกร้องให้ MILF และ MNLF ร่วมมือกันในการสร้างสันติภาพ ที่มา: http://www.luwaran.net/home/index.php/news/22-davao-region/983-bangsamor...

 

 

ความท้าทายรอบใหม่ที่มาราวีและการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม

 

ในช่วงพฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่กลุ่ม Maute ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ต้องสงสัยว่าเชื่อมโยงกับ ISIS  และ Abu Sayyaf ได้ใช้กำลังอาวุธทำร้ายพลเรือนผู้บริสุทธิ์และบุกทำลายบางส่วนเมืองมาราวี ทำให้ประธานาธิบดีดูเตอร์เตได้ประกาศกฎอัยการศึกไปทั่วเกาะมินดาเนา กระนั้นก็ถูกตั้งคำถามทั้งจากสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศในทำนองที่ว่า ทำไมถึงขยายกฎอัยการศึกไปทั่วภูมิภาค การประการกฎอัยการศึกเป็นการสวนทางกับกระบวนการสันติภาพที่กำลังเดินหน้าหรือไม่ การประกาศกฎอัยการศึกเป็นการเอื้อให้ต่อนโยบายประกาศสงครามยาเสพติด หรือ เป็นการสกัดกั้นอิทธิพลของ ISIS ที่ขยายตัวไปทั่วภูมิภาคหรือไม่

สำหรับหุ้นส่วนในกระบวนการสันติภาพ ฝ่าย MILF ได้ประกาศถึงข้อกังวลและข้อเรียกร้องหลายประการที่จะผลกระทบในการประกาศใช้กฎอัยการศึกในกระบวนการเจรจาสันติภาพ ประการแรก  MILF ได้ร้องขอให้รัฐบาลสร้างความมั่นใจต่อกลไกหยุดยิงว่าจะมีความต่อเนื่อง ประการที่สอง ปฏิบัติการทางทหารที่มุ่งปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายรุ่นใหม่อย่าง Maute ต้องไม่เป็นการการกระทำที่ต่อต้านพลเรือนและเป็นการทำงานโครงสร้างและสถาบันต่างๆ และประการที่สาม MILF เรียกร้องให้ประธานาธิบดีนำข้อตกลงสันติภาพมาปฏิบัติใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการประกาศใช้กฎอัยการศึกไม่สามารถเป็นข้ออ้างยกเว้นในการนำข้อตกลงมาปฏิบัติใช้ อย่างไรก็ตามมีข้อวิจารณ์จากผู้นำกลุ่มคอมมิวนิสต์ต่างๆ ว่ากฎหมายฉบับนี้เช่นกันว่าเป็นการทำลายบรรยากาศที่เอื้อต่อการพูดคุยสันติภาพกับคอมมิวนิสต์ การปฏิบัติการทางทหารได้ทำลายชุมชนและชาวบ้านรอบนอกมาราวีไปแล้ว

กระนั้น ดูเตอร์เตได้ขอร้องให้ทั้ง MILF  MNLF และ NPA  ( New People's Army หรือฝ่ายทหารของ Communist Party of the Philippines – CPP ) ร่วมกันให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการกำจัดภัยคุกคามจากกลุ่ม Maute และ กลุ่ม ISIS อื่นๆ แต่ผลกระทบของการใช้มาตรการทางทหารที่กระทบต่อแง่มุมของกระบวนการสันติภาพยังเป็นที่วิจารณ์กันน้อย ผู้สังเกตการณ์แนะนำว่า เราอาจต้องดูต่อไปว่ารัฐบาลจะใช้กฎอัยการศึกในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการกำจัดกลุ่มก่อการร้าย หรือ เป็นการขยายยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางอาวุธ ซึ่งได้ดำเนินอย่างต่อเรื่องหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ในส่วนของภาคประชาสังคมก็มีการรวมตัวกันทำงานเพื่อมนุษยธรรมในเหตุการณ์ความรุนแรงที่     มาราวี  เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยองค์กรพัฒนาบังซาโมโร หรือ บีดีเอ (The Bangsamoro Development Agency )เป็นผู้นำในการจัดประชุมร่วมกับองค์กรร่วมอื่น เช่น ภาคีองค์กรบังซาโมโร (League of Bangsamoro Organizations, LBO), เครือข่ายองค์กรมากูอินดาเนา (Maguindanao Network Organization, MAGNETO), สหภาพองค์กรเยาวชนมุสลิม (Union of Muslim Youth Organization, UMYO), องค์กรเยาวชนฟิลิปปินส์-สตรี (United Youth of the Philippines-Women), ยูนิฟิล-วีเมน (UNYPHIL-WOMEN), พันธมิตรมินดาเนาเพื่อสันติภาพ Mindanao Alliance for Peace, MAP), สหพันธ์องค์กรภาคประชาสังคมบังซาโมโร (Federation of Bangsamoro Civil Society Organization, FBCSO) และกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมบังซาโมโร (Consortium of Bangsamoro Civil Society Organization, CBCS)

การประชุมนี้เป็นผลจากการก่อตั้งองค์กรให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมบังซาโมโร (United Bangsamoro Humanitarian Assistance,UBHA)  ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุก่อการร้ายในพื้นที่เมืองมาราวี ซึ่งเป็นจังหวัดทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมีการวางระเบิดในเขตต่างๆ ของเมือง มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน ทำให้รัฐบาลประกาศกฎอัยการศึกทั่วเกาะมินดาเนาและส่งกำลังเข้าปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย นอกจากนี้ฝ่าย MILF ก็ได้เข้าร่วมเป็นอาสมัครในการปกป้องพลเรือน จากความรุนแรงของกลุ่ม Maute และ Abu Sayyaf ในมาราวี หลังจากที่รัฐบาลและ MILF เห็นชอบร่วมกันในการกำหนดให้มีมาตรการระเบียงสันติภาพ ( Peace Corridor ) หรือ เส้นทางปลอดภัยสำหรับพลเรือนที่ติดอยู่ในความรุนแรง เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาซึ่งสามารถช่วยชีวิตพลเรือนได้หลายร้อยคน  อนึ่ง อาสาสมัคร MILF ที่เข้ามาทำงานช่วยเหลือพลเรือน คือสมาชิกของคณะทำงานเฉพาะกิจ หรือ AHJAG ซึ่งเป็นกลไกในการป้องกันอาชญากรรมและการก่อการร้ายในเขตควบคุมของ MILF ที่กำหนดไว้ตามข้อตกลงสันติภาพเมื่อปี 2014

 

ที่มาราวี MILF เป็นอาสาสมัครในการช่วยชีวิตพลเรือนที่อยู่ท่ามกลางการสู้รบระหว่างรัฐบาลและกลุ่ม Maute ซึ่งมีอุดมการณ์เชื่อมโยงกับ ISIS และ Abu Sayyaf ที่มา: http://www.philstar.com/headlines/2017/06/12/1709222/milf-volunteer-resc...

โดยสรุป กระบวนการสันติภาพมินดาเนา เป็นกระบวนการที่มีความต่อเนื่องและดำรงอยู่ท่ามกลางสภาวการณ์ทางการเมืองและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จุดเด่นของกระบวนการคือ การเน้นย้ำการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายถือเป็นโอกาสและความพร้อมในการเปิดช่องทางที่หลากหลายของการแก้ไขปัญหา ตั้งแต่กระบวนการสันติภาพที่เป็นทางการระหว่างรัฐบาลและกลุ่มขบวนการฝ่ายต่างๆ ที่พยายามผลักดันให้มีกฎหมายซึ่งจะให้สิทธิและอำนาจกับคนโมโรและชนกลุ่มน้อยมากขึ้นกว่าในอดีต นอกจากนี้ยังมีช่องทางอื่นที่ทุกฝ่ายสามารถเข้ามีส่วนร่วมได้ คือของการนำข้อตกลงบังซาโมโรไปปฏิบัติ แม้จะเต็มไปด้วยข้อวิจารณ์และสิ่งท้าทายที่หลายฝ่ายกำลังจับตามอง ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงรอบใหม่ที่เกิดขึ้นในมาราวีทั้งที่เป็นดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสันติภาพ แต่อีกด้านหนึ่งหลายฝ่ายเห็นด้วยว่าการเดินตามข้อตกลงสันติภาพคือ ความจำเป็นอย่างยิ่งต่อทุกฝ่ายในการยับยั้งและสกัดกั้นความรุนแรง

 

อ้างอิง

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ). ภาคประชาสังคมบังซาโมโรรวมเป็นหนึ่งเพื่อเยียวยามาราวี ที่ถูกกลุ่มฝักใฝ่ IS ถล่ม [Online]: http://deepsouthwatch.org/dsj/th/11183, 2560.

Alquitran, N and Unson, J. MILF volunteer, rescue workers cited [Online]: http://www.philstar.com/headlines/2017/06/12/1709222/milf-volunteer-resc..., 2017

Alim,G. PEACETALK: Role of CSOs in Peace Building and Political Transition in Mindanao  [Online]:

http://www.mindanews.com/mindaviews/2016/10/peacetalk-role-of-csos-in-peace-building-and-political-transition-in-mindanao/, 2016.

Bernama. Philippines wants Malaysia to continue helping peace process in Mindanao [Online]: http://www.theborneopost.com/2017/01/16/philippines-wants-malaysia-to-continue-helping-peace-    process-in-mindanao/, 2017.

Basman, A.T. and Rood, S.  What’s Next for Mindanao Peace Process Under Duterte Leadership? [Online]: http://asiafoundation.org/2016/06/01/whats-next-mindanao-peace-process-d..., 2016.

Federer, J. P. THE BANGSAMORO PEACE PROCESS IN THE PHILIPPINES: WHAT NEXT? [Online]: https://iapsdialogue.org/2017/04/20/the-bangsamoro-peace-process-in-the-philippines-what-next/, 2017.

Manila Bulletin. Mindanao peace within reach: Gov’t, MILF implementing panels sign terms of reference [Online]: https://www.pressreader.com/philippines/manila-bulletin/20170323/281487866173102, 2017.

 

Palatino, M. What Does Duterte’s Martial Law Mean for the Philippine Peace Process? [Online]: http://thediplomat.com/2017/05/what-does-dutertes-martial-law-mean-for-the-philippine-peace-process/, 2017