Skip to main content

รอฮานี จือนารา

ผู้ปฏิบัติงานศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ม.อ.ปัตตานี

เมื่อระหว่างปลายเดือนพฤษภาคม จนถึงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ดิฉันได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ YSEALI (Youth South East Asian leaders initiative) ซึ่งเป็นโปรแกรมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม หรือ Civic Engagement  เป็นโปรแกรมที่จัดร่วมโดย  The Mansfield Center of the University of Montana  ร่วมกับสถานทูตอเมริกาและมูลนิธิอาสาสมัคร (มอส.) ทั้งนี้โครงการ YSEALI นี้ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา เมื่อปี 2556  โดยให้โอกาสผู้นำเยาวชนตั้งแต่อายุระหว่าง 18-35 ปี จากประเทศอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ ลาว สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อมุ่งจัดการกับสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นความท้าทายสำคัญของภูมิภาคอาเซียนในยุคสมัยของตน  ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การศึกษา และการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม

-       42 วันฟรีที่มอนแทน่า “โครงการแลกเปลี่ยนสหรัฐอเมริกา” เปิดรับสมัครแล้ว…วันนี้ !!! 

-       โครงการ YSEALI 

รัฐที่ฉันได้ไปเยือนเพื่อศึกษาประเด็นดังกล่าวนั้น คือ เมืองมิสซูลา รัฐมอนแทน่า ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกของประเทศอเมริกา เป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศ จากชื่อมอนทานานั้นมีความหมายว่า 'ภูเขา' นั้นก็น่าจะบอกได้ว่าเป็นรัฐหนึ่งที่มีธรรมชาติสวยงามไม่แพ้ที่อื่นเลยค่ะ เป็นรัฐที่มีพื้นที่กว้างขวาง แต่ประกอบด้วยประชากรเพียงแค่ 8 แสนคนเท่านั้น   

สาเหตุที่ดิฉันสมัครในโปรแกรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาดิฉันได้มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศที่กำลังอยู่ในระหว่างที่มีความขัดแย้ง อย่างเช่น ประเทศอินเดีย เนปาล ศรีลังกา พม่า หรืออินโดนีเซีย จึงอยากเรียนรู้ว่า ภาคประชาสังคมในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศอเมริกานั้นประชาชนของพวกเขามีส่วนร่วมและช่วยเหลือชุมชนอย่างไรบ้าง

เมื่อได้ไปเยือนและสัมผัสแล้ว ก็รู้สึกว่า มันช่างแตกต่างกับบ้านเราหรือประเทศเพื่อนบ้านเราเป็นอย่างมาก เพราะประชาชนเขาตระหนักในปัญหาของชุมชน อีกทั้งใส่ใจต่อปัญหาของชุมชน เรียกได้ว่าใส่ใจผู้อื่นตั้งแต่คนในครอบครัวไปจนถึงคนในสังคมเลยทีเดียว

ดิฉันได้สัมผัสกับคนในชุมชนมิสซูล่าแล้ว รู้สึกน่าทึ่งมากเนื่องจากคนที่นั่นเขามีความเป็นกันเองมาก ๆ นั่นก็คือจะมีการทักทายกันแม้ว่าคนที่แปลกหน้าเจอกัน ก็จะทักทายและยิ้มให้กันและกัน หากถามไถ่เส้นทางพวกเขาก็จะใส่ใจและช่วยด้วยความจริงใจ ซึ่งภาพนี้เห็นได้ชัดตอนอาทิตย์สุดท้ายเราได้ไปที่ DC เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา  มันช่างแตกต่างกับเมืองมิสซูล่ามากๆ หากจะเทียบก็คือ คนในชนบทกับคนในเมือง ซึ่งคนในเมืองที่ต้องอยู่อย่างเร่งรีบและต่างคนต่างอยู่นั่นเอง แต่หากเทียบกับสภาพบ้านเรานั่นในเมืองส่วนใหญ่ก็จะคล้ายกับคนในเมืองใหญ่ๆ ที่ไม่ค่อยสนใจกันและกัน และต่างคนต่างอยู่มากกว่า ภาพของผู้คนในเมืองมิสซูล่าที่ทักทายกันและกันนั้น ฉันนึกภาพของอิสลามทีเจอกันแล้วก็ต้องกล่าวสลาม แต่เราก็มักจะกล่าวสลามกับคนที่เรารู้จักเท่านั้น 

นอกจากนั้นแล้วการใช้รถราบนท้องถนนก็ช่างแตกต่างกับบ้านเราเช่นกัน ก็คือ ทุกคนจะเคารพกฎจราจร จะให้เกียรติคนเดินเท้าเป็นอย่างมาก หากคนจะเดินผ่านถนนรถก็จะจอดให้คนเดินผ่านก่อน และหากใครที่เคยไม่ชอบหมา หากมาเยือนที่นี่แล้ว ทุกคนอาจจะเปลี่ยนใจก็ได้ เพราะหมาที่นี่เจ้าของจะฝึกอย่างดี แต่สำหรับฉันแล้วในฐานะทีเป็นมุสลิมจึงต้องระมัดระวังและวางตัวห่างไกลจากหมา เพราะเกรงว่าหมาจะเลียเพราะหากถูกเลียแล้วฉันต้องล้างน้ำตั้งเจ็ดครั้ง เลยขอหลีกเลี่ยงก่อน  ที่นี่คนในเมืองเขาจะรักสัตว์มาก ส่วนใหญ่มีสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นหมา บางบ้านมีแมว บางบ้านมีการเลี้ยงไก่ และบางบ้านก็มีทั้งหมา แมว และไก่

อาทิตย์แรกที่ได้เรียนรู้ก็จะเป็นภาพรวมทั่วไปของประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นการเมืองการปกครอง สภาพสังคมทั่วไป และองค์กรภาคประสังคมในสหรัฐอเมริกา และภาคประสังคมในรัฐมอนแทน่า

 

การระดมทุน (Fundraising)

 

สิ่งที่ประทับใจเกี่ยวกับภาคประชาสังคมในรัฐมอนแทน่า ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจแตกต่างกับบ้านเรานั่นก็คือ การดำรงอยู่ หรือการหล่อเลี้ยงขององค์กรนั้นก็ด้วยการระดมทุนจากชุมชน (Fundraising) โดย 80เปอร์เซ็นต์ขององค์ภาคประชาสังคมในอเมริกาส่วนใหญ่จะได้รับเงินทุนจากการระดมทุน ซึ่งการระดมทุนส่วนมากแล้วนั้นได้รับจากส่วนบุคคลที่องค์กรต่างๆ มักจะเข้าไปหาเพื่อพูดคุยกับบรรดาที่องค์กรคิดว่า น่าจะสนใจและสนับสนุนประเด็นขององค์กร โดยมีหลักคิดอย่างแน่วแน่ว่า เราไม่ใช่ไปขอทาน แต่เพื่อเปิดโอกาสให้คนในชุมชนทำความดี หรือช่วยเหลือสังคมมากกว่า การระดมทุนนอกจากจะขอบริจาคจากชุมชนแล้ว ยังมีลักษณะการระดมสิ่งของที่ไม่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องสำอางต่างๆ ที่ใช้ไม่หมด จากเครือข่าย เพื่อเอาไปขายเพื่อหารายได้สนับสนุน เขาเรียกว่า Garage Sale ซึ่งในเมืองมิสซูลา ก็จะมีการประกาศขายตามจุดต่างๆ ส่วนใหญ่ก็จะขายหน้าบ้านกัน โดยมีการประกาศตามโซเซียลมีเดีย หรือ ประชาสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ในเครือข่าย

ฉันได้มีโอกาสไปสังเกตและช็อปปิ้งตาม Garage Sale 3 ครั้ง ครั้งแรกผู้จัดพาไปแต่ครั้งแรกไม่ค่อยได้ซื้ออะไรมากมาย เพราะอากาศหนาวมาก และในแต่ละจุดเขาก็พาชมและจอดได้ไม่นาน จึงไม่ทันที่จะซื้อ เมื่อครั้นอยู่กับโฮสต์แฟมีลี่ Terry ได้พาไปซื้อปรากฏว่าได้ของมาเยอะเลยทีเดียว ทั้งนี้  Garage Sale นอกจากเป็นตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมแล้ว ยังเป็นร้านส่วนตัว เช่น บ้านไหนที่จะย้ายไปที่อื่น ก็เปิดขายสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านที่ยังมีสภาพดี บางบ้านเป็นบ้านเช่าของนักศึกษาที่เรียนจบไปแล้ว ก็จะเอาของมาขายหน้าบ้านเช่า ซึ่งราคาที่ขายค่อนข้างถูกมากๆ ของบางอย่างขายแค่ 1 เปอร์เซ็นต์จากราคาจริง แต่ของบางอย่างก็อาจจะแพงซึ่งของทุกอย่างสามารถขอลดราคาได้ ขึ้นอยู่กับสภาพสินค้า

ทั้งนี้การระดมทุนของแต่ละองค์กร นอกจากจะมีการขอบริจาคโดยประชาสังคมตามสื่อต่างๆ แล้ว ในแต่ละปี องค์กรจะมีการจัดงานพูดคุยกับชุมชนและผู้ให้บริจาค เพื่อบอกเล่าเนื้อหาการทำงานและผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการรายงานการทำงานหรือประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม ดังนั้นแล้วนอกจากจะสร้างความสัมพันธไมตรีกับบุคคลที่ให้ทุนหรือชุมชนที่ได้รับประโยชน์แล้ว ยังเป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อขอบริจาคเพิ่มเติมอีกด้วย

ฉันเคยร่วมงานขององค์กรหนึ่ง ลักษณะการจัดการดังกล่าว ก็จะมีเพื่อนๆ ในเครือข่ายและกลุ่มคนที่ให้ทุนกับองค์กรดังกล่าว ในงานก็จะมีของกินเล่น สามารถหยิบกินฟรี ส่วนเครื่องดื่มก็จะขายสามารถเลือกซื้อตามใจชอบ ถือเป็นรายได้ส่วนหนึ่งขององค์กรอีกทางหนึ่ง นอกจากนั้นมีเอกสารผลการทำงานมาแจก ซึ่งราคาสมาชิกกับคนทั่วไปจะไม่เหมือนกัน  การพูดคุยก็จะเป็นกันเอง และจะเชิญคนต่างๆ มาพูดคุยบนเวที โดยแต่ละคนก็จะพูดสั้นๆ เช่น มีคนหนึ่งอายุราว 60 กว่าปีเป็นผู้ให้ทุนและบริจาคเงินให้กับองค์กรนี้ เขาแนะนำตัวเสร็จและพูดว่า “ผมรักมอนแทน่า” และเขาก็น้ำตาซึม พูดไม่ออกและพูดต่อว่า “ขอให้ทำต่อไป...” และก็จบแค่นั้น งานดังกล่าวนี้ใช้เวลาสั้นๆ ประมาณ4-5 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการจัดการที่ไม่ทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกเสียเวลามากเกินไป

เคล็ดลับการระดมจากชุมชนมอนแทน่า คือ การให้การศึกษาแก่ชุมชน เรื่องปัญหาที่เขาทำ และหลังจากนั้นเป็นการเข้าหาบุคคลที่เขาคิดว่า น่าจะเห็นด้วยและสนับสนุนการทำงานของเขา จึงเข้าไปหาเพื่อพูดคุย และขอความช่วยเหลือ สิ่งสำคัญคือ ช่วงที่ไปถามเพื่อขอบริจาคนั้น ต้องคิดเสมอว่า เราไม่ใช่ไปขอทาน แต่เพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้ลงทุนสิ่งที่สำคัญยิ่ง หรือช่วยเหลือสังคมมากกว่า และแหล่งทุนที่ให้การสนับสนุนนั้น เราต้องสร้างความสัมพันธ์เป็นอย่างดี อย่างน้อยทุกครั้งที่มีกิจกรรมก็ต้องส่งรายงานกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำไว้ โดยเฉพาะได้ทำอะไรบ้าง และเกิดผลการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างตามอีเมลล์หรือส่งเป็นจดหมายแล้วแต่สะดวก ก็เหมือนกับสิ่งที่เรารายงานกับแหล่งทุนทั่วไป และเป็นการขอบคุณอีกด้วย แต่การส่งอีเมลล์ในทุกๆ ระยะ ก็จะทำให้ผู้ให้การสนับสนุนนั้นอยากช่วยเหลือต่อไป และรู้สึกว่าสิ่งที่เขาสนับสนุนนั้นเป็นประโยชน์ต่อชุมชนจริงๆ

นอกจากนั้น การถามเพื่อขอบริจาคนั้น เราต้องขยันที่จะถามและใช้เวลาอย่างเต็มที่และบางคนที่ถูกถามอาจจะปฏิเสธได้ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่หน้าที่ของคนที่ขอบริจาคก็คือการถามหรือขอบริจาคต่อไปโดยพยายามใช้สื่อทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นโซเซียลมีเดีย หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์และวิธีที่ดีที่สุด คือ การเข้าไปหาเป็นการส่วนตัว  ซึ่งสักวันคนๆ นั้นอาจจะเปลี่ยนใจเพราะเขาอาจจะมีความสะดวกหรือมีความเข้าใจต่อปัญหาในประเด็นนั้นๆ ซึ่งเราต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเขาต่อไป โดยการเชิญมาร่วมงานระดมทุนเพื่อให้เขาได้เห็นผลกระทบขององค์กร และเมื่อเขาได้บริจาคให้แล้วก็ต้องหาโอกาสในการขอบคุณ ไม่ว่าจะเป็นทางอีเมลล์ และถ้าเป็นไปได้ ต้องมีตัวแทนเข้าไปพบเป็นการส่วนตัวเพื่อกล่าวขอบคุณ

ทั้งนี้เราไม่จำเป็นต้องถามแต่คนรวยเท่านั้น แต่ถามคนทุกประเภทโดยไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทใหญ่ๆ และให้มีฐานข้อมูลของคนที่เราจะไปขอให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณตัวแทนที่เข้าไปถามเพื่อขอบริจาคด้วย

การเข้าไปพูดคุยหรือการประกาศขอบริจาคนั้นต้องมีความชัดเจน และห้ามพูดว่า “การขอบริจาคนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่มีใครชอบ ... " หรือ "ถ้าคุณไม่สามารถให้เงินได้
ก็ไม่เป็นไร" หรือ "แม้แต่หนึ่งดอลลาร์ก็จะช่วยได้" กล่าวคือ เราสามารถเสนอจำนวนเงินที่เราต้องการได้เลย ส่วนเงินที่เขาจะให้เท่าไหร่นั้นก็ขอให้เขาเสนอมาด้วยตัวเอง  
ในเมืองนี้ก็มีกลุ่มมิจชฉาชีพที่ทำมาหากินที่ไม่สุจริต โดยใช้รูปแบบการโทรตามบ้านเพื่อขอบริจาค ครั้งหนึ่งที่อยู่ที่บ้านของเทอรี่ กับเคน ก็มีโทรศัพท์มา เทอรี่รับสายเขาบอกว่า
 เมื่อกี้น่าจะเป็นมิจฉาชีพที่ขอบริจาค ซึ่งเขาก็บอกว่า มีหลายครั้งที่โทรศัพท์มาเพื่อขอบริจาค ซึ่งพวกเขารู้ว่าหากจะบริจาคเงินให้กับองค์กรภาคประชาสังคมนั้น ต้องบริจาคผ่าน
องค์กรโดยตรง หรือมีการติดต่อเขาโดยตรง ไม่ใช่ติดต่อทางโทรศัพท์แบบนี้

 

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับบริบทบ้านเรา การระดมทุนเพื่อสนับสนุนหรือช่วยเหลือสังคมนั้นส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ศาสนา หรือช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส หากแต่การระดมทุนเพื่อช่วยเหลือองค์กรภาคประชาสังคมนั้นยังคงมีน้อย แต่ก็มีความเป็นไปได้ ทั้งนี้ต้องสร้างวัฒนธรรมของการบริจาคตลอดจนสร้างความเข้าใจและความตระหนักให้แก่ชุมชนให้เกิดการสนับสนุน เพื่อให้บ้านเรามีองค์กรภาคประชาสังคมที่สามารถทำงาน และรังสรรค์งานที่สร้างสรรค์อันเป็นช่องโหว่จากการปฏิบัติงานของภาครัฐต่อไปได้ เพราะทุกวันนี้ภาคประชาสังคมบ้านเราส่วนใหญ่มักจะได้รับทุนจากต่างประเทศซึ่งไม่มีความต่อเนื่องและอาศัยปัจจัยหลายอย่างทำให้องค์กรดังกล่าวไม่มีความยั่งยืนอีกด้วย