Skip to main content

ผมกับพี่แทน NGO รุ่นพี่ที่ผมศรัทธาได้แวะเวียนไปปัตตานีด้วยกันอยู่บ้าง เราทั้งสองคนเป็นคนพุทธ แต่เพราะอยู่ที่จะนะและคลุกคลีกับพี่น้องมุสลิมมาทั้งชีวิต ก็มีความเข้าใจต่อโลกทัศน์และวิถีคิดความเชื่อความศรัทธาของพี่น้องมุสลิมอยู่ไม่น้อย และสิ่งนี้เองคือประเด็นที่ละเอียดอ่อนของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่ง สผ. คชก. และรวมถึงรัฐบาลนั้น ดูแคลนและไม่เข้าใจในความละเอียดอ่อนนี้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ระเบิดยิงรายวันเช่นนี้ ยิ่งต้องการความเข้าใจนี้อย่างยิ่ง รวมถึงพี่น้องคนพุทธทั้งประเทศที่ควรมีความเข้าใจด้วย

ผมจึงขอเขียนความน่าห่วงนี้ยาวๆ ด้วยความเข้าใจในพันธกิจการจัดหาพลังงานของ กฟผ. และภารกิจการพัฒนาปั้มจีดีพีให้โตวันโตคืนของรัฐไทย

โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 3,000 ไร่ ต้องกั้นรั้วเขตให้มัสยิดและกุโบร์(สุสาน) อยู่ขอบรั้วโรงไฟฟ้าล้อมสามด้าน ชุมชนต้องย้ายออกกว่า 250 หลังคาเรือน โรงเรียนปอเนาะตะเยาะซูตีบอหนึ่งแห่งต้องย้ายออกด้วย โดย กฟผ.จะจัดหาดินใหม่ให้และสร้างให้ใหม่ ท่ามกลางความงุนงงว่าเป็นกรณีวากัฟหรือไม่ (ที่ดินหรือทรัพย์สินที่มอบให้เพื่อศาสนา) เพราะหากเป็นกรณีวากัฟก็ไม่น่าจะย้ายได้ อีกทั้งวัดปากบางเทพาก็จะมีรั้วติดกับบ่อเก็บขี้เถ้าถ่านหิน ชุมชนมุสลิมริมรั้วโรงไฟฟ้าที่รายรอบในรัศมี 1 กิโลเมตร มีเป็นพันหลังคาเรือน มีมัสยิด โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก รวมนับสิบแห่ง นี่คือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ส่วนในรัศมี 5 กิโลเมตรตามรายงาน EHIA นั้นกระทบคนเทพานับหมื่นคน นี่จึงเป็นเรื่องใหญ่เป็นการพัฒนาที่สุ่มเสี่ยงต่อการสร้างบาดแผลให้กับพื้นที่เทพา ที่มีลมหายใจชายแดนใต้ในสายธารเดียวกับพี่น้องชายแดนใต้

ชายแดนใต้จะเอาไปเทียบกับมาเลฝั่งตะวันตกไม่ได้ ที่นั่นวิถีได้ปรับตัวสู่ทุนนิยมไปแล้ว แต่ที่นี่ยังคือระเบียงแห่งนครเมกกะ ยังมีความเคร่งครัดในวิถีแห่งศรัทธาอย่างแรงกล้า โลกนี้เป็นเพียงโลกชั่วคราวที่อยู่เพื่อการทำความดีและปฏิบัติศาสนกิจ เพื่อไปสู่โลกหน้าหลังวันสิ้นโลกกับพระเจ้าองค์อัลเลาะห์ผู้ยิ่งใหญ่ การพัฒนาใดๆที่ทำลายวิถีชุมชนที่เปี่ยมด้วยพลังแห่งศรัทธาจึงย่อมต้องมีปฎิกริยาเป็นธรรมดา

โรงไฟฟ้าถ่านหินถอยกรูดมาจากประจวบ มานครศรีธรรมราช ข้ามไปกระบี่ก็ถูกคัดค้านทุกพื้นที่จนสร้างไม่ได้ จนมาปักหลักที่มั่นที่เทพา ทั้งๆที่ที่นี่ ความเหมาะสมน้อย ความเสี่ยงสูง แต่ที่ต้องเลือกเทพาเพราะระดับบนถูกให้ข้อมูลที่บวกๆจนมั่นใจว่า "เอาอยู่" แต่ผมว่าเป็นความคิดที่ดูเบาความจริงเกินไป

ลำพังการแก้โจทย์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการติดสารพัดเครื่องฟอกเครื่องบำบัดสารพิษนั้น ช่วยให้คนไกลนอกพื้นที่เทพามีความรู้สึกที่ดีที่ไม่เอาเปรียบคนเทพา แต่แท้จริงคนที่นี่และคนสามจังหวัดเขายังมีความข้องใจอีกมาก และแก้ไม่ได้ด้วยเครื่องจักรราคาแพง

คนที่นี่เขาต้องการร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาที่จะสนับสนุนการรักษาอัตลักษณ์ของเขา คนที่นี่เขาต้องการร่วมกำหนดการพัฒนาที่ตรงตามหลักศาสนา ไม่ทำลายล้าง แบ่งปัน เกื้อกูลและไม่เหลื่อมล้ำ แต่ที่ผ่านมารัฐไทยกำหนดการพัฒนามาจากกรุงเทพตลอดห้าหกสิบปีที่ผ่านมา เมื่อยิ่งพัฒนา คนพื้นที่ยิ่งสูญเสียอัตลักษณ์ ยิ่งจนลง ปัญหาสังคมรุมเร้า ความเข้มแข็งของศาสนาและชุมชนจางลงไป จึงระเบิดเกิดเป็นปัญหาความไม่สงบชายแดนใต้

ผมไม่เห็นด้วยกับเหตุความไม่สงบที่ทำร้ายผู้คนจนชายแดนใต้เป็นพื้นที่สีแดง และไม่อยากให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาหรือโรงไฟฟ้าถ่านหินปะนาเระเป็นอีกหนึ่งชนวนที่จะโหมพัดเป็นภัยแทรกซ้อนที่จะตามมา

ผมได้กลิ่นโชยมาอ่อนๆ คล้ายๆกับว่า "รัฐไทยอาจเลือกจัดการใส่ความกลุ่มคนค้านถ่านหินว่ามีความคิดฝักใฝ่ฝ่ายขบวนการ" เพื่อจะได้ลงมือนำกำลังทหารมาคุมพื้นที่แล้วลงมือก่อสร้างให้เสร็จ แบบเดียวกับตอนก่อสร้างโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียที่จะนะ ซึ่งมีการเอา ตชด.นับพันคนมาคุมพื้นที่นานหลายปีในช่วงก่อสร้างจนสร้างเสร็จ เป็นที่ภาคภูมิใจในการใช้อำนาจของรัฐไทย แต่ฝ่ายความมั่นคงก็รู้ดีว่าสถานการณ์ที่เทพานั้นไม่เหมือนกัน

ที่นี่เทพา เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีความไม่สงบที่ทำลายชีวิตคนอยู่ทุกวัน มีความละเอียดอ่อนอย่างมากในหลายมิติ ขอให้รัฐไทยอย่าดูแคลนพื้นที่เทพาและรวมทั้งปะนาเระที่จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน การทำมวลชนอย่างหนักที่เทพานั้นยังไม่ตอบโจทย์การยอมรับของคนพื้นที่ หากเราคลุกคลีในพื้นที่ เราจะเข้าใจว่า ลมหายใจของคนชายแดนใต้ไม่ว่าปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวมมาถึงจะนะ เทพา สะบ้าย้อย นั้นคือลมหายใจเดียวกัน เลือดเนื้อเดียวกัน และมีพลังแห่งศรัทธาเดียวกัน