ข้อห่วงกังวลของชุมชนพุทธและมุสลิมในสังคมไทย
อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้
[email protected], http://www.oknation.net/blog/shukur
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
เมื่อ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมเวทีสาธารณะประเด็นข้อห่วงกังวลของชุมชนพุทธและมุสลิมในสังคมไทย ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยด้วยมุ่งหวังการเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างชุมชนต่างศาสนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมไทย โดยการนี้ได้มอบหมายคณะสังคมศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย หลักสูตรสันติศึกษา เป็นผู้ประสานจัดกิจกรรมดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จากการรวบรวมถอดบทเรียนที่ได้รับจากการจัดกิจกรรมได้พอสรุปได้ดังนี้
ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย ตัวแทนชาวพุทธซึ่งเป็นคณาจารย์ นิสิต จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย คณะพุทธศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะครุศาสตร์ หลักสูตรสันติศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย , ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ประชาชนที่สนใจ ร่วมทั้งสิ้น ๕๐ รูป/ท่าน ตัวแทนชาวมุสลิม จากสำนักวะสะฎียะฮ์ จุฬาราชมนตรี จำนวน ๔๐ ท่าน และตัวแทนของชาวพุทธ-มุสลิมในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน ๑๐ รูป/ท่าน
ประธานกล่าวเปิดงาน พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ รศ.ดร. รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานสานเสวนาในนาม พระพรหมบัณฑิต ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัย สรุปความว่า “วันนี้เรามาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในข้อกังวลภายในใจของเราในฐานะพี่น้องกัน เวลาเราขึ้นไปดวงจันทร์หรือที่สูง เรามองลงมาไม่มีอะไรแบ่งเขตแดนใดๆ สำหรับการอยู่ร่วมกัน เราจึงไม่จำเป็นต้องมีสงครามกันในนามศาสนาหรือ ความแตกต่าง ในช่วงเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา ทำให้เราใช้กระบวนการสันติวิธีอย่างชัดเจน มิใช่ทำให้คนมีความเหมือนกันแต่มีความแตกต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ในอดีตสหรัฐอเมริกาเคยใช้กระบวนการทำให้คนเหมือนกันแต่ไม่สามารถทำได้ เพราะคนมีความแตกต่างมีอัตลักษณ์ต่างกัน ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญของการทำความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างกัน จึงได้มีหลักสูตรสันติศึกษาในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในระดับปริญญาโทจนถึงระดับปริญญาเอก เรามีเวทีในการสื่อสารในเรื่องของข้อห่วงกังวลต่างๆ เรามีโมเดลของการอยู่ร่วมกันในความแตกต่างทางศาสนา คือ โมเดลกุฏีจีน ซึ่งเป็นแนวคิดของท่านอธิการบดีของมหาจุฬาฯ ด้วยการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง. . .”
ทั้งนี้รูปแบบการดำเนินการสานเสวนา แบ่งเป็น ๒ ช่วง โดยช่วงแรกเป็นการแบ่งกลุ่มออกเป็น ๒ ห้อง ห้องที่ ๑ มีตัวแทนชาวพุทธภาคใต้สะท้อนให้ชาวมุสลิมได้รับฟังข้อห่วงกังวลของชาวพุทธในพื้นที่ฯ และห้องที่ ๒ มีตัวแทนชาวมุสลิมภาคใต้สะท้อนให้ชาวพุทธได้รับฟังข้อห่วงกังวลของชาวมุสลิมในพื้นที่ฯ และช่วงที่ ๒ ของการสานเสวนาเป็นการรวมกลุ่มและนำเสนอประเด็นที่ได้จากห้องย่อย โดยใช้วิธีการสานเสวนาแบบ SAMOON เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ร่วมแบ่งปันความเห็นหลังจากได้รับฟังข้อสรุปจากทั้ง ๒ ห้อง ผลจากการได้พูดคุย รับฟัง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้รวบรวมจากบันทึกของนิสิตปริญญาเอก สันติศึกษา รุ่น ๑ และบันทึกของตัวแทนผู้เข้าร่วมสานเสวนา สรุปได้ดังนี้
ห้องย่อย ๑ ความห่วงกังวลของชาวพุทธในพื้นที่ |
ห้องย่อย ๒ ความห่วงกังวลของชาวมุสลิมในพื้นที่ |
๑) ๑) การแก้ปัญหาความไม่สงบใน ๓ จชต.ที่ไม่คืบหน้าของรัฐ ๒) ๒) การตีความในข้อบังคับในศาสนาที่แตกต่างกันของมุสลิม ๓) ๓) เยาวชนพุทธ-มุสลิม ขาดโอกาสในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ๔) ๔) ความรู้สึกว่าได้รับปฏิบัติจากรัฐที่ไม่เท่าเทียมกัน ๕) ๕) สงสัยว่าเหตุใดมุสลิมจึงไม่สามารถกำกับดูแลคนในชุมชน โดยเฉพาะคนที่ใช้ความรุนแรง ๖) ๖) การที่พระสงฆ์ได้รับการปฏิบัติไม่ดีจากคนมุสลิมบางคน ๗) ๗) ผลกระทบของความรุนแรงใน ๓ จชต.ที่มีต่อประชาชนทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ๘) ๘) ความรู้สึกว่า พุทธ เป็นพลเมืองชั้นสอง ๙) ๙) การประกอบศาสนกิจ เช่น เสียงฮาซานรบกวน ๑๐) ๑๐) การสร้างมัสยิดโดยไม่จำกัดจำนวน ๑๑) ๑๑) สื่อสังคมสร้างความแตกแยก ๑๒) ๑๒) ปัญหายาเสพติด |
๑) ปัญหาที่เกิดจากการนำประวัติศาสตร์มาก่อให้เกิดความขัดแย้งและปลูกฝังเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีแนวคิดไปในทิศทางที่ก่อความรุนแรง :ในกรณีนี้ผู้นำทางศาสนาได้มีการพูดคุยและช่วยกันให้ข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจที่ดี ๒) ปัญหาจากความไม่เข้าใจของฝ่ายการปกครองหรือรัฐ ในเรื่องของความแตกต่างของศาสนา และ วิถีชีวิตในบริบทของพี่น้อง ๓ จังหวัดชายแดนใต้เช่น ในกรณีที่มีการส่งเจ้าหน้าที่จากต่างพื้นที่ลงมาปฏิบัติหน้าที่ใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ แต่ไม่ได้รับรู้ถึงบริบท ของ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ จึงนำมาสู่ความไม่เข้าใจ : ในกรณีนี้จำเป็นที่จะต้องแจ้งไปยังรัฐเพื่อการดำเนินการให้ความรู้และข้อมูลเรื่องศาสนากับเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อไม่ให้เป็นผิดพลาดต่อการปฏิบัติหน้าที่ ๓) ปัญหาจากการนำเอาวัฒนธรรมใหม่ๆ เข้าไปสู่ชุมชน จนทำให้ลืมวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ควรอนุรักษ์ไว้ : ในกรณีนี้ต้องให้ความรู้และความเข้าใจในบริบทและ ประเพณีวัฒนธรรมของพื้นที่ ๔) ปัญหาจากการให้ความรู้และการศึกษาไปในด้านความรุนแรง เช่น การนำคำสอนบางส่วนมาสอนให้เชื่อและเป็นไปในทางด้านความรุนแรงต่อการปฏิบัติตน :ในกรณีนี้ผู้นำทางศาสนาจะต้องให้ความใส่ใจและเข้มงวดต่อผู้สอนศาสนาของตน ๕) ปัญหาจากการที่ชาวไทยพุทธ มีความกังวลในเรื่องที่เป็นข่าวในสังคมเรื่อง ชาวมุสลิมจะครองประเทศ โดยมีการแสดง Road map การครองประเทศ :ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ฝ่ายนิยมความรุนแรง มักจะนำข้อมูลออกสู่ภายนอก และนำมาสู่ความรุนแรงและเกลียดชัง โดยขาดข้อมูลที่จริง ๖) ปัญหาจากสังคมออนไลน์ ข่าวสาร ที่กระตุ้นให้เกิดความกังวลและโกรธแค้นต่อกัน :ในกรณีนี้สังคมออนไลน์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกระแสไปในทางรุนแรง และ เป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคนั้นมีส่วนร่วมในทางความคิดในทุกรูปแบบโดยขาดการรับทราบข้อมูลที่แท้จริงก่อนที่จะนำไปเผยแพร่หรือส่งต่อ ๗) ความไม่เข้าใจในเรื่องงบประมาณที่รัฐบาลให้การสนับสนุน ๓๐ ล้าน :ในกรณีนี้เป็นการสนับสนุนโดยการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้ประกอบกิจการสามารถนำผู้ที่จะไปประกอบพิธีฮัทน์ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับชาวพี่น้องมุสลิม แล้วจะมีการดำเนินการจ่ายคืนกลับมา ๘) ความไม่เข้าใจของชาวไทยพุทธในเรื่องของการแย้งการสร้างพุทธมณฑลในพื้นที่ :ในกรณีนี้ได้มีการพูดคุยและดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีการให้เหตุผลถึงการสร้างในพื้นที่ครั้งแรกนั้น ประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาวมุสลิม จึงมีกรณีเกิดคำถามเกิดขึ้น แต่ปัจจุบันปัญหานี้ได้คลี่คลายลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ๙) เรื่องของโรงเรียนอิสลามที่เกิดขึ้นมาก จนเป็นปัญหาที่ชาวไทยพุทธเกิดความกังวล : ในกรณีนี้ทางผู้นำได้ให้การอธิบายถึงโรงเรียนอิสลามนั้น ทุกคนสามารถเข้าไปเรียนได้เช่นกัน ซึ่งไม่ต่างกับโรงเรียนทั่วไป |
ข้อห่วงกังวลของคนในพื้นที่ทั้ง ๒ ศาสนา สรุปเป็นประเด็นได้ ดังนี้ ประเด็นที่ ๑ เรื่องการนำคำสอนในศาสนาอิสลามไปแปรความใช้ยั่วยุให้เกิดความแบ่งแยก การใช้ความรุนแรง ประเด็นที่ ๒ เรื่องสื่อและการสื่อสารที่ขาดความเข้าใจขยายผลให้สร้างกระแสความเกลียดชังและความแตกแยก ประเด็นที่ ๓ เรื่องนโยบายการแก้ปัญหาของภาครัฐที่ยังขาดความเข้าใจบริบทของพื้นที่ ประเด็นที่ ๔ เรื่องความจริงใจในการแก้ปัญหาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีมากน้อยแค่ไหน
ห้องเสวนาย่อยทั้ง ๒ ห้อง มีการซักถามและแลกเปลี่ยนมุมมองความกังวลของผู้ที่อยู่นอกพื้นที่ทั้งสองศาสนา ทั้งนี้ตัวอย่างเสียงสะท้อนจากการสานเสวนา มีดังนี้
ประเด็นเรื่องคำสอนของศาสนาอิสลาม “ตัวแทนผู้นำศาสนาอิสลามได้ยืนยันและอธิบายถึงคำสอนของศาสนาว่า ไม่มีการสอนให้เหยียดศาสนาอื่นๆ แต่ตรงกันข้ามกับมีการสอนให้เกียรติต่อศาสนิกทุกศาสนาเพราะทุกคนคือมนุษย์บนโลกเดียวกันหากท่านใดเรียกตนเองว่าเป็น มุสลิม แต่ไม่รักสันติภาพ กลับยินดีในความรุนแรง ผู้นั้นไม่ใช่ผู้นับถืออย่างแท้จริง ในกรณีที่มีเยาวชนรุ่นใหม่ยินดีต่อความรุนแรงและกระทำพฤติกรรมไม่ดีต่อศาสนิกอื่นนั้น จำเป็นที่จะต้องช่วยกันดูแลและควบคุม” และมีข้อเสนอแนะว่า “ขอให้ทุกท่านกลับไปดูตนเองไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่ว่ามุสลิมสุดโต่งก็ตาม หากทุกคนย้อนกลับไปดูตนเองและดูแลกลุ่มของตน ก็จะช่วยให้ความเข้าใจผิดพลาดลดน้อยลง นอกจากนี้มีข้อเสนอแนะจากตัวแทนชาวพุทธว่า “การแก้ปัญหาถ้าเรายึดปฏิบัติเพียงตามตัวหนังสือ ก็คงไม่สามารถทำให้เกิดความสงบได้ ควรจะคำนึงถึงบริบทของความเป็นจริง” และ “อยากให้ทุกคนคำนึงถึงความเป็นคนไทย แล้วจะสามารถมองข้ามเรื่องศาสนาไป เพราะทุกคน คือ คนไทย และเหตุการณ์เกิดตรงไหน ก็ควรที่รีบแก้ไขที่นั่น”
ประเด็นเรื่องสื่อและการสื่อสารที่ขาดความเข้าใจ ได้ขยายผลสร้างกระแสความเกลียดชังและความแตกแยก มีเสียงสะท้อนว่า “การแก้ปัญหาที่มีมานาน แต่ยังไม่สำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากว่าผู้ที่เป็นปัญหาไม่มีโอกาสที่ได้เข้ามาพูดคุยอย่างแท้จริง เพราะคนฟังไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้ฟัง ตลอดจนปฏิกิริยาของภายนอกชุมชนที่แสดงต่อต่างศาสนาเป็นการก่อให้เกิดความขัดแย้งได้ง่าย” นอกจากนี้ยังมีผู้เสนอว่า “เพราะข้อมูลที่ได้รับในทุกฝ่ายไม่มีความชัดเจน และไม่ถูกกระจายในเรื่องที่ดี จึงเกิดการเข้าใจผิดและเป็นปัญหาสืบเนื่อง ควรจะมีการจัดทำคู่มือผสมผสานวัฒนธรรม และนำเรื่องราว” และจากการสานเสวนาสิ่งที่ทุกคนมีความคิดเห็นพ้องกัน คือ “ควรที่จะนำทางสายกลาง มาช่วยกันเพื่อก่อให้เกิดสันติภาพและเพื่อการอยู่ร่วมกันการถ่ายทอดและกล่อมเกลาความเป็นทางศาสนามาจากครอบครัว ผู้มีสติ คือ ผู้ชนะ ปัจจุบันเราจะเห็นไอดอลของความรุนแรง ซึ่งไอดอลทางด้านการรักสันติมีน้อยมาก เรื่องของความรุนแรงเนื่องมาจากบุคคลต่อบุคคล ซึ่งประเด็นสำคัญคือ ต้องพูดความจริง”
ประเด็นเรื่องนโยบายการแก้ปัญหาของภาครัฐ เสียงสะท้อนจากตัวแทนมุสลิมว่า “ไม่ใช่ว่ามีแต่ชาวพุทธที่ถูกกระทำ มุสลิมเองก็ถูกกระทำจากพวกที่สุดโต่งทางศาสนาเช่นกัน และยอมรับว่า มีมุสลิมที่เป็นพวกหัวรุนแรงจริง มีกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งตลอดเวลา ที่ผ่านมา เหตุการณ์ความไม่สงบ ส่วนมากก็เกิดจากกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งมีปัญหากับเจ้าหน้าที่รัฐ น้อยมากที่ชาวบ้านจะมีปัญหากันเอง หรือแทบไม่มีเลย” และ “อย่างท่าด่าน ก็มีปัญหาเรื่องคนมุสลิมที่ฆ่ากันเอง เพราะผลประโยชน์ทางการเมือง เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก มากกว่าเหตุการณ์ความไม่สงบที่เราเข้าใจกันซะอีก บาบอพูดเชิงตั้งคำถามว่า น่าแปลกใจ ที่ถ้าเป็นกรณีมุสลิมฆ่ากันเอง เจ้าหน้าที่มักไม่ค่อยมีการดำเนินการ และปล่อยให้เหตุการณ์พวกนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า” เรื่องยาเสพติด นี่เป็นปัญหาใหญ่มาก มีเสียงสะท้อนจากบาบอเล่าให้ฟังว่า “บางชุมชน บางพื้นที่ ปรากฏว่า เด็กวัยรุ่นมุสลิมติดยาเสพติดทั้งชุมชนเลย บาบอก็พูดเชิงตั้งคำถามอีกเหมือนกันว่า น่าแปลกใจ ที่ทำไม ยาเสพติดจำนวนมาก ถึงลงไปสู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างง่ายดายทั้งทั้งที่มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตราดูแลอยู่เป็นจำนวนมาก” มีเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมสานเสวนาชาวพุทธได้นำเสนอว่า “ฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ทั้งทหารตำรวจเด็กเยาวชนแม้แต่กลุ่มชนของมุสลิมเอง ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้เกิดจากมุสลิมกับมุสลิมด้วยกันที่เห็นต่างและหวังยึดครองแผ่นดินไทยดังกล่าวแล้วจึงไม่เกี่ยวกับคนไทยพุทธ ฉะนั้นมุสลิมหรือองค์กรอิสลามและจุฬาราชมนตรีจะต้องมีกลไกหรือหน่วยงานต่างๆ ไปประสานงานกับภาครัฐและใช้ความเป็นมุสลิมด้วยกันเข้าไปเจรจาหรือดำเนินการอื่นใดอันเป็นไปเพื่อความสงบสุขของพี่น้องชาวไทยพุทธและมุสลิมที่ ๓ จชต.ด้วยการสานเสวนาและดำเนินการจับกุมบุคคลผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติและผู้ที่สร้างความรุนแรงต่อพี่น้องไทยพุทธและมุสลิม นำตัวมาดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม และต้องปกป้องผู้บริสุทธิ์อย่าง เต็มศักยภาพ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ผู้บริสุทธิ์”
ประเด็นเรื่องความจริงใจในการแก้ปัญหา มีเสียงสะท้อนจากผู้ร่วมสานเสวนาที่อยู่พื้นที่ภาคใต้ว่า “ปัญหาส่วนใหญ่ที่มาจากภายนอกทั้งสิ้น แต่ปัญหาภายในอย่างแท้จริงคือ ปัญหาแห่งความหวาดกลัว บางท่านอาจจะมีความเห็นพ้องกับข่าวและสื่อที่ได้รับ พร้อมกับเห็นรูปแบบวิถีความเป็นอยู่ของพี่น้องไทยพุทธและมุสลิม ทำให้คิดว่าเป็นไปตามนั้น แต่หากรู้ถึงวิถีชีวิตของสังคมใต้ ณ ปัจจุบัน จากลักษณะของการดูเหมือนต่างคน ต่างอยู่ ต่างคน ต่างทำ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ ความกลัว เกิดขึ้นจากภายใน ความกลัวในความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตของตนเองและครอบครัว อันสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่มีมาเป็นระยะเวลาพอสมควร กลุ่มขบวนการที่นิยมความรุนแรงนั้น ไม่ยินดีต่อการพูดคุยหรือร่วมมือกัน พร้อมกับกลุ่มคนเหล่านี้ได้มีการสายลับของตนเองคอยสอดส่องดูว่า หากทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์เป็นไปในทางที่ดี ก็จะก่อปัญหาในแต่ละจุดตั้งแต่เหตุการณ์เล็กน้อย จนถึงการสังหารบางคน เพื่อเป็นการข่มขู่ชาวบ้านทั้งสองฝ่าย และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวบ้านตกอยู่ภายใต้ ความกลัว จนกลายเป็นวิถีชีวิตที่ต้องห่างเหินจากเดิม ที่เคยมีความสัมพันธ์ในฉันท์มิตร พฤติกรรมที่ดูว่าต่างฝ่ายต่างนิ่งเฉยต่อการมีปฏิสัมพันธ์กัน เพระความกลัวภัยนั้นเป็นมูลเหตุ เช่น หากมีพี่น้องชาวมุสลิม โดยเฉพาะผู้นำในชุมชนท่านใดเป็นการนำในการร่วมวงสานเสวนา หรือแกนนำต่อการต่อต้านความรุนแรง บางท่านก็จะมีภัยเกิดขึ้นกับตนเอง จากเหตุการณ์ต่างๆนี้ ทำให้ต่างฝ่ายต้องระวังซึ่งกันและกัน เพื่อช่วยไม่ให้อีกฝ่ายมีภัย พี่น้องไทยพุทธ ก็ต้องระวังกับการที่จะเข้าไปพูดคุย สนทนากับพี่น้องมุสลิมที่เคยเป็นเพื่อนกันมาเช่นกัน ภาพที่ปรากฏในสังคมปัจจุบัน จึงดูเสมือนว่า ทั้งสองฝ่ายนั้นขัดแย้งกัน ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของกลุ่มขบวนการสร้างความไม่มั่นคงและนิยมความรุนแรงตลอดจนเรื่องราวของ อำนาจ อิทธิพล ผลประโยชน์มหาศาล และนี่คือประเด็นที่ไม่มีใครกล้าพูด เหตุการณ์ของสามจังหวัดชายแดนใต้ จึงเป็นที่อีกแห่งหนึ่งที่ดูเหมือนเป็นดินแดนสนธยา” และมีผู้เสนอว่า “หากเรามีปัญหากับคนข้างบ้านเราควรเดินเข้าไปพูดคุยกันสื่อสารกันสร้างความเข้าใจ เราไม่ควรให้คนอื่นมาคุยแทนเรา แต่เราต้องคุยกันเอง สื่อสารกัน ทุกปัญหามีทางออก อย่าให้ทุกทางออกเป็นปัญหา สิ่งหนึ่งคือ เราต้องมาสื่อสารกันบ่อย ๆ ทุกศาสนาฝึกขันติธรรมทางศาสนา อยู่ร่วมกันอย่างสันติ”
ปัญหาเรื่องการสร้างพุทธมณฑลมีเสียงสะท้อนจากตัวแทนมุสลิมว่า “อย่างเรื่องสร้างพุทธมณฑลที่ปัตตานีและมีกระแสคัดค้าน ยอมรับว่าเพราะคนมุสลิมไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับพุทธมณฑลคืออะไร ยังไง แต่เมื่อทราบและรู้รายละเอียดภายหลัง และมีการทำความเข้าใจกัน ก็ตกลงให้มีดำเนินการสร้างได้ ตอนนี้เรื่องพุทธมณฑลที่ปัตตานี อยู่ในระหว่างการดำเนินการแล้ว คือ เปลี่ยนจากที่จะสร้างเดิมซึ่งเป็นแหลมงอกยื่นออกไปในทะเล ซึ่งเป็นที่สาธารณะ มาเป็นที่อื่น ก็มีการอนุญาตให้จัดสร้างได้” อย่างไรก็ตามมีข้อเสนอแนะว่า “คนมุสลิมในสามจังหวัดไม่ได้มีปัญหากับการสร้างศาสนสถานของคนพุทธ แต่ขอให้มีความหลักแหลมหน่อย ทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่และเลือกที่จะสร้างให้มันถูกต้อง ก็ไม่มีปัญหาอะไรสามารถอยู่ร่วมกันได้”
ความรู้สึกของผู้เข้าร่วมสานเสวนา สำหรับชาวพุทธในพื้นที่ ๓ จชต. รู้สึกว่าการได้มามหาจุฬาฯ ได้รับฟังชาวพุทธส่วนกลางแสดงความรู้สึกห่วงใยและมีความปรารถนาที่จะช่วยหาทางออกและให้กำลังใจชาวพุทธในพื้นที่เป็นสิ่งที่ตนปรารถนา และผู้เข้าร่วมจากพื้นที่ส่วนกลางสะท้อนว่า “ประโยชน์ของการสานเสวนา คือ ทำให้เราได้รับทราบถึงปัญหาที่มีอยู่จริง ให้เรา (หมายถึงคนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งจริงจริง) ได้มีพื้นที่ ในการนำปัญหาเหล่านั้นมาบอกเล่า ต่อกันและกัน โดยเฉพาะก็กับคนอีกฝ่ายหนึ่ง ที่เราคิดว่า เขาไม่ได้กำลังเข้าใจเราในแนวคิดที่มันถูกต้องตามที่เป็นจริง เป็นการเปิดอกพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งแน่นอนว่า วิธีการแบบนี้ดีกว่าการที่เรา ไม่ได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกันเลย แล้วต่างฝ่ายต่างก็คาดเดา วิเคราะห์ ตีความข้อมูลที่ได้รับเฉพาะจากกลุ่มคนของฝ่ายของตนเองเท่านั้น ซึ่งข้อมูลในลักษณะนี้ ส่วนมากมักนำไปสู่ความหวาดระแวงความขัดแย้งและความเกลียดชัง มากกว่าการจะสร้างความเข้าใจระหว่างกันให้ดียิ่งขึ้น” การเรียนรู้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน จะสร้างความเข้าใจกันมากขึ้น จึงควรมีโอกาสเรียนรู้ศาสนาผ่านวัฒนธรรมและเชิงวิชาการ การเสวนาในครั้งนี้ เป็นการฝึกการฟังด้วยหัวใจ การสื่อสารอย่างสันติ ฝึกความอดทนในความแตกต่าง การให้เกียรติซึ่งกันและกัน และ เรียนรู้ศาสนาผ่านการเสวนาภายใต้ " ความใจกว้าง ความเคารพ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน "
จากรายงานการสรุปครั้งนี้ผู้เขียนหวังว่าทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญในข้อเสนอแนะต่างๆและร่วมด้วยช่วยกันในหน้าที่ที่ตัวเองรับผิดชอบโดยเฉพาะการสร้างเยาวชน นักเรียนและนักศึกษารุ่นใหม่ที่จะเป็นบุคคลากรสำคัญในอนาคตในการสร้างภาวะแวดล้อมต่อกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้และสังคมไทย
-----------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ ผู้เขียนขอขอบคุณ
รวบรวมสรุปโดย
อ.ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์
ข้อมูลโดย
-พระปราโมทย์ วาทโกวิท
-ภิกษุณีธํมมกมลา
(นิสิตปริญญาเอก สาขาวิชาสันติศึกษา)
๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐