Skip to main content

         “ I have a Dream ”อมตะวาจาของผู้อหังการแห่งศตวรรษที่ 19 ที่ยังคงเต็มไปด้วยมนต์ขลังและเปี่ยมด้วยพลังและอำนาจแห่งกรต่อสู้ผู้ไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตาและการเอารัดเอาเปรียบและการเหยียดผิวของผู้ที่ได้ชื่อว่ามนุษย์ที่สมบูรณ์แบบอย่างชนตาสีน้ำข้าวที่กดขี่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างชนผิวสีอื่นๆของสังคมอเมริกาในขณะนั้นคำพูดของบุรุษหนุ่มนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มสาวและประชาชนทั่วโลกที่ถูกกดขี่ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องสิทธิเสรีภาพของสังคมเป็นวงกว้างเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน

          มาร์ตินลูเธอร์คิงจูเนียร์น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักบุรุษหนุ่มนักต่อสู้เพื่อสิทธิอันเท่าเทียมกันในสังคมอเมริกาสังคมที่ได้ชื่อว่าสิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าสิ่งใดๆประเทศที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตยของสังคมโลกในปัจจุบันแม้ว่ามาร์ตินจะไม่ได้เห็นผลิตผลของการลุกขึ้นต่อสู้ของตนเองที่เติบโตและเบิกบานในขณะนี้ก็ตามแต่หากแต่สิ่งที่สำคัญคือเจตนารมณ์ของเขาที่ยังคงมีคนสืบต่ออย่างแรงกล้าในการสร้างสังคมที่ทุกคนสามารถเท่าเทียมกันและสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม
           ผู้เขียนไม่ได้คาดหวังที่จะนำเสนอเรื่องราวหรืออัตชีวประวัติของมาร์ตินลูเธอร์คิงจูเนียร์แต่อย่างใดหรือนำเสนอเรื่องราวสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลกหรือแม้กระทั่งในพื้นที่ความขัดแย้งในบ้านตนเองเช่นสามจังหวัดชาแดนภาคใต้ที่ประเด็นสิทธิมนุษยชนดูจะเป็นที่สนใจขององค์กรภาคประชาสังคมสื่อต่างๆหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวทั้งในและต่างประเทศ
           แต่ผู้เขียนพยายามที่จะตั้งข้อสังเกตและสร้างความเข้าใจกับตนเองว่าแท้จริงแล้วความขัดแย้งในพื้นที่มีต้นต่อปัญหามาจากเรื่องสิทธิมนุษยชนเพียงอย่างเดียวอย่างนั้นหรือปัญหาอื่นๆสามารถที่จะแก้ไขได้ง่ายกระนั้นหรือแน่นอนว่าปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าไม่มีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้จริงปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจริงๆแต่การที่เราเน้นไปที่เรื่องราวเหล่านี้เพียงอย่างเดียวและบวกกับสื่อประโคมข่าวอย่างหนักจนทำให้เราละเลยในสิ่งที่ควรจะทำและนำเสนอปํญหาอื่นๆดูจะถูกกลบเกลือนไปกับสิ่งเหล่านี้จนหายไปจากการรับรู้ของผู้คนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาจนกลายเป็นปัญหาที่ทับถมและนับเป็นสิ่งที่อันตรายต่อความเป็นไปในอนาคต  ผู้เขียนพยายามทำความเข้าใจหลายครั้งจนพอที่จะสรุปใจความใหญ่ได้ว่าเรากำลังผจญกับม่านหมอกที่สำคัญอยู่ 2 ม่านหมอกคือ
 
 
 
 
ประการแรกคือม่านหมอกแห่งความรุนแรง
          ตลอดระยะเวลาเจ็ดปีของการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าม่านหมอกแรกนี้ได้สร้างผลกระทบที่มหาศาลแก่สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนทั้งในแง่เศรษฐกิจสังคมการศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนต่างศาสนิกและวัฒนธรรมของพื้นที่จากการเปิดเผยของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้โดยผศ.ดร.ศรีสมภพจิตภิรมย์ศรีพบว่านับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ในปี 2547- เดือนมีนาคม 2552  มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นทั้งหมด 8,810 เหตุการณ์จำนวนผู้เสียชีวิต 3,418 รายบาดเจ็บ 5,624 ราย และดูเหมือนประชาชนทั่วไปจะเป็นผู้ที่เสียชีวิตสูงที่สุดที่ 1564 ราย              
          ม่านหมอกความรุนแรงจึงเป็นตัวแปรที่เบนความสนใจของหน่วยงานรัฐทั้งหมดไปที่การหาวิธีที่จะหยุดความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยยุทธวิธีทางทหารการปราบปรามตรวจค้นและตั้งด่านสกัดต่างๆการออกพระราชบัญญัติในสถานการณ์ฉุกเฉินสารพัดวิธีถูกนำมาใช้ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องแต่ดูเหมือนไม่สามารถหยุดความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพการเบนความสนใจของหน่วยงานรัฐดังกล่าวที่มุ่งในเรื่องการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบและการแย่งชิงมวลชนในพื้นที่ดังกล่าวทำให้หลายหน่วยงานดูจะหยุดการทำงานด้านอื่นๆลงไปหมดทั้งการพัฒนาการว่างงานและการศึกษาและเหล่านี้คือผลที่เกิดขึ้นจากม่านหมอกความรุนแรงดังกล่าวที่ปกคลุมและอันตธานปัญหาอื่นๆที่เกิดขึ้นจริง
ผู้เขียนไม่ได้ยกขึ้นมาลอยๆว่าปัญหาความรุนแรงบดบังการรับรู้ปัญหาอื่นๆเพราะว่ามีผลการวิจัยของหน่วยงานที่เรียกว่าสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี (CSCD) ได้เผยผลการวิจัยว่าปัญหาที่ดูเหมือนจะสำคัญที่สุดในพื้นที่คือปัญหาการว่างงานที่มี 90 %  ยาเสพติดตามมาเป็นอันดับสองที่ 85 % และปัญหาความไม่สงบมาเป็นที่สามที่ 50% นี่คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่และการดำเนินการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันดูเหมือนจะหลงทางไปจากความเป็นจริงอันเนื่องมาจากม่านหมอกความรุนแรงดังกล่าวมาบดบังจนมิด
 ประการที่สองคือม่านหมอกสิทธิมนุษยชน
          ม่านหมอกสิทธิมนุษยชนดูเหมือนจะมีอิทธิพลสูงในการกำหนดการรับรู้และความเข้าใจของผู้คนในสังคมต่อปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้อันเนื่องมาจากการที่เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยทุกความเคลื่อนไหวในเรื่องราวดังกล่าวจะถูกจับตามองจากองค์กรใหญ่ในโลกและสื่อมวลชนมีส่วนต่อการกำหนดการรับเรื่องราวดังกล่าวเราคงไม่ปฏิเสธว่าม่านหมอกนี้ไม่มีส่วนหรือเชื่อมโยงต่อม่านหมอกในเรื่องความรุนแรงเพราะสิ่งเหล่านี้ดูจจะเป็นของคู่กันในปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นเราคงไม่ปฏิเสธว่าการละเมิดมนุษยชนในพื้นที่ไม่ได้รุนแรงอะไร
 
          ยิ่งเวลาที่การก่อเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้นเท่าไรการปราบปรามตรวจค้นของเจ้าหน้าทหารก็จะเข้มข้นตามมาดูเหมือนปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็จะเล็ดลอดและแพร่หลายมากยิ่งขึ้นตามมาเป็นเหงาภายหลังการตรวจค้นต่างๆสงบลงสิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในทุกขณะยิ่งการกระจายข่าวแบบข่าวลือก็ยิ่งทำให้การแก้ไขปัญหาดูจะประสบปัญหาและสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นนำมาซึ่งความลำบากและการสูญเสียศรัทธาของประชาชนในพื้นที่และกลายเป็นวงจรความขัดแย้งที่หาทางลงได้ยากยิ่งขึ้นการประโคมข่าวก็จะยิ่งกระจายและบดบังปัญหาอื่นๆมากขึ้นมาตามตัวนับตั้งแต่การหายตัวไปของทนายสมชายนิละไพจิตรจนมาถึงประเด็นการฆ่าตัวตายของนายสุไลมานแนซาดูเหมือนจะยิ่งโหมกระหน่ำปัญหาเหล่านี้ให้รุนแรงมากยิ่งขึ้นจนยากต่อการแก้ไขภายในระยะเวลาอันสั้นและกลายเป็นปัญหาที่สร้างภาระหนักให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ยิ่งปัญหาเหล่านี้ถูกจับตามองจากองค์กรใหญ่ของโลกหลายๆองค์กรทั้งยูเอ็นแอมเนสตี้ฮิวแมนไรท์วอร์ชและโอไอซีทุกหน่วยงานจึงมุ่งไปที่ประเด็นเหล่านี้อย่างสนใจหลายๆหน่วยงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวเลยปล่อยเกียร์ว่างในการดำเนินการแก้ไขปัญหาอื่นๆที่มีความสำคัญเท่าเทียมกันเพราะไม่ได้มีคนคอยตรวจสอบการทำงานจนดูเหมือนทำแบบพอไปทีสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานที่กำกับอยู่ควรจะดำเนินงานไปพร้อมๆกันในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นไม่อย่างนั้นแล้วอาจจะสายเกินไป
         สรุปคือแม้ว่าปัจจุบันเรากำลังประสบกับสองม่านหมอกที่สำคัญที่กำลังบดบังปัญหาอื่นให้ด้อยคุณค่าลงไปในมุมมองของคนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ความขัดแย้งแห่งนี้ทั้งม่านหมอกความรุนแรงและม่านหมอกสิทธิมนุษยชนแต่รัฐบาลและองค์กรต่างรวมทั้งภาคประชาสังคมไม่ควรที่จะเน้นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงสองเรื่องดังกล่าวเท่านั้นหากแต่ควรที่จะใส่ใจกับเรื่องอื่นๆที่สำคัญไม่แพ้กันทั้งการว่างงานการศึกษาและการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติมิฉะนั้นแล้วเราคงจะไม่ได้อะไรจากการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนอกจากการสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นเท่านั้นคำตอบอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้นผู้เขียนคงจะไม่สามารถตอบได้หากแต่ขึ้นอยู่กับการคิดของแต่ละคนว่าจะพาสังคมไปในทางไหน

                                                                                                                                                                  * นายสุไลมาน เจะบาเฮง อดีตนักศึกษา มอ.ปัตตานี*ปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่และเรียนรู้สังคม ณ ประเทศอินเดีย