Skip to main content

 

คำถามจากการเดินทาง

     

อิมรอน ซาเหาะ

 

 

       ตลอดช่วงเวลา 29 ปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางไปยังต่างประเทศเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น  มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และตุรกี เป็นสามประเทศที่ผมเดินทางไปเยือน มันน่าแปลกตรงที่การเดินทางของผมมักจะไม่ค่อยเป็นไปเพื่อการท่องเที่ยวสักเท่าไหร่ แต่ไปพร้อมกับภารกิจที่จะได้เรียนรู้สังคมหรือเรื่องราวที่อยู่ในสังคมนั้นๆ ที่ในที่สุดแล้วจะต้องเอามาเชื่อมโยงกับบ้านเกิดของผมเอง ประเทศที่ผมไปบ่อยที่สุดแน่นอนว่าผู้อ่านย่อมเดาได้ไม่ยากว่าคงเป็นประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย การเดินทางไปยังมาเลเซียของผมก็ด้วยหลายๆ เหตุผล ไม่ว่าจะเป็นถูกเชิญไปร่วมงานแต่งงาน ประชุม อบรม ดูงาน ทำข่าว เก็บข้อมูลวิจัย ฯลฯ และจากบทบาทผู้สื่อข่าว กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ และผู้ช่วยนักวิจัยให้กับนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับขบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานีหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ญูแว” ทำให้มีโอกาสได้พบเจอกับแกนนำและสมาชิกของหลายขบวนการหรือหลายพรรคที่ปัจจุบันไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีแล้ว ซึ่งนับได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่และน่าสนใจสำหรับผม ก่อนเจอก็แอบเกร็งๆ และกลัวๆ เนื่องจากสื่อทำให้พวกเขากลายเป็นอะไรที่น่ากลัว ไม่เหมือนคนปกติทั่วไป เมื่อได้พบเจอแล้ว ผมพบว่าภายใต้ตัวตนที่ถูกสร้างขึ้นมา พวกเขาก็เป็นคนธรรมดาๆ อย่างเราๆ นี่แหละ หลายๆ คนก็จบการศึกษาในระดับสูง เป็น ดร. เป็นหมอ เป็นอาจารย์ เป็นศาสตราจารย์ เป็นบาบอ เป็นอุสตาซ ที่หากอยู่ในพื้นที่ก็จะได้รับการนับถือและไว้วางใจจากชาวบ้านเป็นอย่างสูง ดูได้จากผลการวิจัยเชิงสำรวจความเห็นของประชาชนหลายครั้งที่ผ่านมา

       หลังจากที่ได้พบเจอและพูดคุยกับพวกเขา คำถามที่ผุดขึ้นมาภายในใจก็คือ ทำไมคนที่มีการศึกษาสูงหรือคนที่ถูกจัดให้อยู่ในประเภทของคนเก่งหรือคนดีจึงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบของสังคม หรือว่าเป็นเพราะกฎนั้นมีปัญหาหรือยังมีจุดบกพร่องหรือไม่ดีพอที่จะทำให้สังคมดีขึ้นหรือไม่? คำถามจึงอยู่ตรงที่ว่าเมื่อคนเก่งและคนดีไม่ยอมทำตามกฎ แล้วปัญหาจริงๆ อยู่ที่คนหรืออยู่ที่กฎ? และเมื่อพูดถึงเรื่องหลักการต่างๆ โดยเฉพาะหลักการหรือแนวทางที่ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติในการเคลื่อนไหวของพรรคต่างๆ ของพวกเขากับหลักการของศาสนาอิสลาม เห็นได้ชัดว่าไม่ได้ขัดกันในเชิงหลักการ ทว่าสวนทางกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี ที่หลายๆ เหตุการณ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมว่าขัดกับหลักการของศาสนา คำถามคือ แล้วเกิดความผิดพลาดในส่วนใด เป็นไปได้ว่ามีสมาชิกของพรรคไม่ได้ทำตามหลักการของพรรค หรือว่าหลายๆ เหตุการณ์ที่ขัดกับหลักการเหล่านั้นพวกเขาไม่ได้ทำ? แต่หากไม่ได้ทำ เพราะเหตุใดจึงไม่เคยเห็นท่าทีการออกมาปฏิเสธเลยว่าไม่ได้ทำ? เหล่านี้ยังคงเป็นคำถามที่ยังคงค้างคาใจกันต่อไป

       สิ่งที่ได้จากการเดินทางเรียนรู้กับพวกเขา ก็คือการเห็นเจตนารมณ์ในการเคลื่อนไหวของพวกเขาที่ต้องการให้สังคมในบ้านของพวกเขาดีขึ้นโดยการอยู่ภายใต้โครงสร้างทางสังคมที่ดี ซึ่งการจะได้โครงสร้างทางสังคมที่ดี พวกเขาคิดว่าจะต้องมีอำนาจเหนือดินแดนเสียก่อนจึงจะจัดการโครงสร้างให้ดีขึ้นเพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้นมาได้ ทว่าหลายๆ คนได้พูดในเชิงยอมรับความเป็นจริงว่าการจะได้อำนาจเหนือดินแดนปาตานีย่อมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก จึงจำเป็นที่จะต้องหาหนทางอื่นๆ ที่มีโอกาสมากกว่าในการทำให้สังคมดีขึ้นมาได้โดยไม่ต้องมีอำนาจเหนือดินแดนก็ได้ อย่างที่หลายๆ กลุ่ม หลายๆ ฝ่ายที่กำลังพยายามทำให้สังคมดีขึ้นได้โดยไม่ต้องมีอำนาจเหนือดินแดนใดๆ แต่ใช้พลังของความรู้เป็นอำนาจแทน ที่สำคัญกลุ่มอื่นๆ สามารถพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองได้พร้อมกับใช้ชีวิตตามปกติในแผ่นดินเกิดได้ ต่างจากพวกเขาที่กลับมาใช้ชีวิตในแผ่นดินเกิดไม่ได้ แววตาของพวกเขามันฟ้องว่าพวกเขาอยากกลับบ้าน

       ผมได้เรียนรู้จากการเดินทางอีกสองพื้นที่ ซึ่งทำให้ผมมองย้อนกลับมาทบทวนเรื่องราวที่บ้านเกิด ที่แรกคือหมู่เกาะมินดาเนาของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงคล้ายๆ กับพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีบ้านเรา แต่ต่างกันที่กระบวนการสันติภาพระหว่างขบวนการที่ต้องการปลดปล่อยมินดาเนาอย่าง MILF กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ไปไกลมากแล้ว โดยพื้นที่ทางการเมืองในพื้นที่มินดาเนาก็เปิดกว้างมาก ตัวอย่างเช่น องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่มินดาเนาสามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อสู้กลุ่มไหนหรือพรรคไหน เป็นต้น บทเรียนของมินดาเนาอย่างหนึ่งที่เราควรคิด คือก่อนหน้านี้ MILF ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพระหว่าง MNLF กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ กว่าจะเห็นด้วยและเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพก็ใช้เวลาร่วมกว่าสิบปี จากที่เคยคัดค้านและต่อต้านกระบวนการสันติภาพ สุดท้ายก็ต้องเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพ เพราะแน่นอนว่าทุกคนต่างก็ต้องการสันติภาพ แต่อีกไม่นานคาดว่าเราคงจะมีโอกาสได้เห็นสันติภาพเกิดขึ้นในมินดาเนา

       พื้นที่ที่สองคือประเทศตุรกีซึ่งก็มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เพราะตุรกีเป็นประเทศที่พัฒนาไปไกลและมีมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ หลายอย่างเป็นแบบอย่างให้เราได้ อย่างเรื่องความสะอาดที่พวกเขามีระบบการจัดการที่ดีมาก ในบริเวณที่มีคนมาตั้งวงรับประทานอาหารเป็นร้อยเป็นพันคน กลับไม่พบขยะสักชิ้นบนพื้นให้เราเห็น เรื่องนี้ต่างจากบ้านของเราเป็นอย่างมาก และที่เห็นควรเป็นแบบอย่างก็คือองค์กรภาคประชาสังคมหรือองค์กรการกุศลของเขากระจายออกไปให้ความช่วยเหลือกับผู้คนทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งในบ้านเราที่จะเห็นคนตุรกีมาให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นประจำ โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือแก่เด็กกำพร้า

       ความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีเริ่มเข้าสู่กระบวนสันติภาพที่เปิดเผยต่อสาธารณชนกว่าสี่ปีมาแล้ว หลายคนเริ่มเห็นความหวังว่าอยากจะเห็นกระบวนการสันติภาพที่เดินไปข้างหน้าเหมือนมินดาเนา ทว่าสิ่งที่เราทุกคนต้องการจริงๆ ก็คือ “สันติภาพ” ไม่ใช่ “กระบวนการสันติภาพ” ที่อาจต้องใช้เวลายาวนาน เพราะสุดท้ายแล้วเราก็อยากเห็นกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีเดินหน้าเหมือนในมินดาเนาเพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพโดยเร็ว เพราะสังคมจะพัฒนาได้รวดเร็วนั้นย่อมต้องอยู่ในสภาวะที่สังคมมีสันติภาพเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดแล้วเราก็อยากเห็นบ้านของเราพัฒนาเหมือนกับตุรกี เพื่อที่เราจะสามารถออกไปให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องของเราในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกต่อไปได้ คำถามที่น่าคิดทิ้งท้ายตรงนี้สำหรับผมก็คือ เราต้องการสันติภาพจริงๆ หรือไม่ และหากจริง สันติภาพหน้าตาแบบไหนกันที่เราต้องการให้เกิดในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีแห่งนี้

บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือเรื่อง การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย เป็นหนังสือที่ระลึกในงานเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2560 ณ หอประชุม ม.อ.ปัตตานี ชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ (หอประชุมสำนักงานอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี) วิทยากรโดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ, ฮาดีย์ หะมิดง, ยาสมิน ซัตตาร์ และ อัยมี่ อัลอิดรุส ดำเนินรายการโดย อ.สุวรา แก้วนุ้ย โดยในหนังสือเล่มนี้มีผู้เขียนทั้งหมด 12 ท่าน 

 

ดาวน์โหลดหนังสือ

การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย [หนังสือ]

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

การเดินทางของความประหลาดใจ โดย อับกอรี เปาะเดร์

ความเกลียดชังที่รวันดา โดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

การเดินทางและสันติภาพ โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย โดย อัยมี่ อัลอิดรุส

การเดินทาง ความหลากหลาย และความขัดแย้ง โดย ยาสมิน ซัตตาร์

การเดินทางของความรู้ต่อความรุนแรงทางชาติพันธุ์แบบสุดโต่งฯ โดย อาทิตย์ ทองอินทร์

เริ่มแรก โดย รอมฎอน ปันจอร์

เมื่อสันติภาพเดินทาง โดย ต่วนอิสกันดาร์ ดาโต๊ะมูลียอ

คัชการ์ ฉันมาช้าไป โดย อาฎิล ศิริพัธนะ

คำถามจากการเดินทาง โดย อิมรอน ซาเหาะ

การเดินทางของสันติภาพ: บทเรียนเมื่อได้ไปเยือนตวนแสลงและเจือกเอ็ก โดย สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์

นิราศ โดย รอฮีมะห์ เหะหมัด

การเดินทาง การถูกกักตัว กับการได้รับรู้ และการได้กลับบ้าน โดย ชานิตยา จีน่า ดานิชสกุล

เก็บตกจากเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

เสียงจากเยาวชนผู้จัดงานเสวนากระเป๋าเป้และแว่นตาฯ โดย ริซกี มะสะนิง

"คำตอบเรื่อง ต้นทุนชีวิตที่ต่างกันและการเดินทาง" โดย อาฎิล ศิริพัธนะ

วงกลม 3 วง กับการเดินทางของผู้ชายที่ชื่อ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล โดย มุลยานา ดะอุแม

ชะโงกทัวร์ที่อาร์เมเนีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

โหดสัสรัสเซีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

โคลอมเบีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

ประมวลภาพงานเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" โดย อิมรอน ซาเหาะ

อาทิตย์นี้แล้วน่ะ “วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล” กับคนรุ่นใหม่ใฝ่สันติภาพ ในเวที‘กระเป๋าเป้และแว่นตาฯ’ที่ ม.อ.ปัตตานี โดย อิมรอน ซาเหาะ