Skip to main content

 

การเดินทางของสันติภาพ: บทเรียนเมื่อได้ไปเยือนตวนแสลงและเจือกเอ็ก

 

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์

 

 

               ก่อนที่จะพาทุกท่านเดินทางไปดูการเดินทางของสันติภาพในบทความนี้ ผมขอสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน ผมได้รับเชิญจากคณะให้ร่วมเขียนบทความในหนังสือ “การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย” ในตอนแรกผมตั้งใจว่าจะเขียนสันติภาพของปาตานี (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) แต่พิจารณาในเล่มนี้คงมีหลายคนพุดถึงที่นี่และอีกทั้งในความเห็นของผมสันติภาพของปาตานีนั้นยังไม่สะเด็ดน้ำ กล่าวคือ ยังไม่ถึงจุดสิ้นสุดหรือจุดลงตัวของสันติภาพอย่างแท้จริง ยังคงต้องเดินทางไปอีกยาวไกลและในช่วงที่รัฐไทยหรือบางท่านเรียกขานว่าเจ้าอาณานิคมสยามนั้นยังจัดการเรื่องดุลยภาพของสัมพันธภาพทางอำนาจยังไม่เรียบร้อย ก็คงจะต้องคงสถานการณ์ที่นี้ไว้อย่างนี้ในความเห็นของเขา เอาล่ะครับผมคงต้องเขาเรื่อง ในเมื่อไม่พูดถึงเรื่องรัฐไทยหรือปาตานี ผมก็คงขอพาทุกท่านไปดูการเดินทางของสันติภาพอันหลากหลายในต่างประเทศ ไม่ต้องไปกันไกลครับ ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างพระราชอาณาจักรกัมปูเจียหรือกัมพูชา

                ประเทศกัมพูชา ถ้าหากจะเรียกให้ถูกตามที่เขาเรียกตัวเอง ก็คือ กัมปูเจีย ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศไทย ณ ราชธานีพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชานี้ มีสถานที่ท่องเที่ยวที่พลาดไม่ได้อยู่สองแห่งที่ชวนให้สลดหดหู่และรำลึกถึงประวัติศาสตร์ความรุนแรงเท่าที่มนุษย์จะกระทำต่อกันได้นั้น คือพิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตวนแสลง (The Tuol Sleng Genocide Museum) และทุ่งสังหารเจือกเอ็ง (Choeung Ek) ก่อนที่ไปสู่เรื่องราวนั้น ผมต้องขอเกริ่นนำประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างยาวนานของกัมพูชาอย่างสังเขปเป็นอย่างแรก ในประวัติศาสตร์ของกัมพูชานั้นถ้าถามหาเรื่องสันติภาพคงไม่ต้องถึงตั้งแต่ยุครัฐโบราณหลังจากยุคอังกอรหรือพระนครอันยิ่งใหญ่และรุ่งโรจน์สิ้นสุดลง (หลังศตวรรษที่ 13) กัมพูชาอยู่ภายใต้ไฟสงครามของการขยายอิทธิพลทั้งสยาม (อาณาจักรอยุธยา,ธนบุรี,รัตนโกสินทร์) และเวียดนาม จนในที่สุดต้องขอเป็น “เมืองใต้สองแผ่นฟ้า” กล่าวคือขอเป็นเมืองขึ้นทั้งสยามและเวียดนาม เพื่อยุติสงครามอันยาวนานลงไป ต่อมาในยุคจักวรรดินิยมล่าอาณานิคม ประมาณ 1890 ก็ถูกผนวกเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส ภายใต้การเป็นส่วนหนึ่งของ โคชินไช่น่า ซึ่งต่อมาเป็นที่มาของคำว่า อินโดจีน ที่หลายคนคุ้นเคย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กัมพูชาก็ได้พยายามดิ้นรนในการต่อสู้เพื่อให้ได้อิสรภาพ จนกระทั้งในปี 1953 ก็เป็นอิสรภาพจากฝรั่งเศสแต่หลังจากได้รับอิสรภาพแล้วนั้น สันติภาพก็หาได้เกิดขึ้นในกัมพูชาและภูมิภาคอินโดจีนไม่ เพราะในที่สุดก็ได้เกิดอภิมหาสงครามครั้งใหญ่คือ “สงครามเวียดนาม” ที่นำโดยสหรัฐอเมริกาในการยั้บยั้งอิทธิพลของสัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ซึ่งในขณะนั้นขยายตัวมาในประเทศจีนและเวียดนามเหนือ ตามการคาดการณ์ของทฤษฎีโดมิโน่ ที่ลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์จะขยายตัวไปทั่วเอเชีย ทำให้สหรัฐอเมริกาและชาติพันธุ์มิตรหนึ่งในนั้นมีประเทศไทย ได้ร่วมกันระดมสรรพกำลังถล่มเวียดนามเหนือและยับยั้งการขยายตัวของพวกเวียดกงและคอมมิวนิสต์  กัมพูชาในช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระนโรดมสีหนุ ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่สละราชบัลลังก์ลงมาเล่นการเมืองเพื่อบริหารประเทศ ได้เลือกที่จะให้กัมพูชาประกาศนโยบายความเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เสมือนกับว่ากัมพูชาจะเป็นสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย แต่ไฟสงครามรอบนี้กัมพูชาไม่สามารถหลีกหนีพ้นผลกระทบของสงครามได้ แม้จะชื่อว่าสงครามเวียดนาม แต่ผลกระทบกับลงกับกัมพูชาอย่างเต็มเหนี่ยว ภายใต้สงครามการเลือกข้างระหว่างโลกเสรีประชาธิปไตยและสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ กัมพูชาไม่ได้รับสิทธิที่จะเลือกบทบาทของตนในการเลือกความเป็นกลางในสงครามเย็น และเจ้าสีหนุเองก็ถูกมองว่ามีความเอนเอียงไปทางจีนแดง ทำให้สหรัฐอเมริกาโดย CIA กับนายพลลอนนอลและเจ้าสิริมาตัก ได้วางแผนโค่นล้มอำนาจของเจ้าสีหนุในปี 1969 และประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐขแมร์[1]ในปี 1970  ผมขอเกริ่นภาพรวมประวัติศาสตร์กัมพูชา ต่อไปคงจะได้กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งและสันติภาพนั้นจะเดินทางต่อไปอย่างไร

                ถ้าจะว่าไปนั้นปัญหาความขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองของกัมพูชา (1970-1991) นอกจากปัญหาจากผลกระทบของสงครามเวียดนามและอิทธิพลของการเมืองโลกในยุคสงครามเย็นดังที่ได้กล่าวในเบื้องต้น ปัจจัยภายในนั้นก็ถือว่ามีส่วนสำคัญ กัมพูชาในช่วงก่อนปี 1970 นั้น แม้ในเมืองหลวงอย่างพนมเปญจะดูเป็นเมืองที่ทันสมัย มีความเจริญ ถึงขนาดในช่วงปี 1965 ลีกวนยูนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ถึงกับต้องมาเยืยนกัมพูชาเพื่อดูงานการจัดการระบบระบายน้ำในพนมเปญ แต่พอออกไปนอกพนมเปญแล้ว ก็ช่างมีความต่างราวฟ้ากับดิน สังคมส่วนใหญ่ยังเป็นชนบท ระบบเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการเกษตรกรรมที่ล้าหลังและอุตสาหกรรมอย่างง่าย ๆ ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนข้นแค้นที่มีอยู่ชนบท  บ่อยครั้งมีการออกมาประท้วงของชาวนาในตามเมืองใหญ่เช่น เมืองพระตะบอง ซึ่งสุดท้ายก็จบลงด้วยการปราบปราบและเข่นฆ่าผู้ประท้วง ผู้รอดชีวิตบางคนก็ถูกตามไล่ล่าจนต้องหนีเข้าป่า ความยากจนข้นแค้นประกอบกับการกวาดล้างประชาชน  ทำให้เกิดการขยายตัวของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาในปี  1962 และหลังจากการโค่นล่มอำนาจของเจ้าสีหนุในปี 1969-1970  การปราบปรามประชาชนก็ดำเนินการไปอย่างเข้มข้นด้วยกองกำลังของสหรัฐที่เขามาช่วยจัดการ เพราะพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาใช้วิธีการเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน คือยุทธการป่าล้อมเมือง สร้างการจัดตั้งจากเกษตรกร ยิ่งการปราบปรามเข้มข้นและประกอบคำขวัญชวนเชื่อของคอมมิวนิสต์ในการสร้างสังคมที่เสมอภาคเท่าเทียม ก็ยิ่งทำให้ขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์ขยายตัวไปทั่วประเทศ จนกระทั่งในปี 1975 รับบาลแห่งสาธารณรัฐขแมร์เหลือฐานที่มั่นแค่เพียงกรุงพนมเปญ ที่ถูกรายล้อมด้วยขบวนการคอมมิวนิสต์ที่เรียกันว่า Khmer Rouge หรือรู้จักกันในนามว่า “เขมรแดง” ซึ่งเป็นที่มาของตวนแสงและทุ่งสังหารเจือกเอ็ก

             “เจ็ยโย ๆ ดรอปปรำปีเมซาโจ๊กเจย (ชโย ๆ 17 เมษา โชคชัยชนะ)” นี่คือหนึ่งในเนื้อร้องของเพลงชาติของเขมรแดง วันที่ 17 เมษายน 1975 กองทัพของเขมรแดงก็บุกเข้ายึดพนมเปญไว้ได้นั้นหมายความว่า พวกเขาสามารถยึดกัมพูชาได้ทั้งประเทศแล้ว สิ่งแรกที่เขมรทำคือ การไล่คนกว่าสองล้านออกจากพนมเปญภายใน 24 ชั่วโมง เพราะเขมรเห็นว่า เมืองที่เติบโตเดี่ยวอย่างพนมเปญนั้นคือเมืองหลักที่ดึงดูดทุกอย่างมารวมไว้ที่นี้ และตามมาด้วยการยกเลิกระบบเงินตรา เพราะเงินตราเหล่านี้คือ สิ่งที่ทำให้คนไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดคนรวยคนจนอย่างที่เคยมีมา และตามมาด้วยการสังหารคนในรัฐบาลของสาธารณรัฐขแมร์และชนชั้นสูง ซึ่งถือเป็นการเริ่มระบายความแค้นที่ตนถูกกดขี่ในความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งทั้งหมดนี้เขมรแดง ถือว่าเป็นการประกาศศักราชที่ศูนย์ของกัมพูชา อารยธรรมขแมร์(เขมร) สองพันปีถือเป็นอันสิ้นสุดและแบ่งประชาชนออกสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือประชาชนฐาน หมายถึง เกษตรกร ซึ่งเป็นฐานรากสำคัญพื้นฐานของสังคมกัมพูชา ซึ่งเป็นผู้คนที่อยู่ในชนบท ซึ่งจะถูกให้รวบรวมจัดตั้งสหกรณ์นารวม คือการผลิตเกษตรกรรมร่วมกัน แบบจัดสรรปันส่วนกัน ส่วนกลุ่มที่สองนั้นคือประชาชนใหม่ หมายรวมทั้ง คนที่อยู่ในเมือง เป็นนายทุน เป็นคนทำงานในเมือง เป็นข้าราชการ ซึ่งคนกลุ่มนี้ถ้าโชคดีก็ถูกนำเข้าสู่กระบวนการปรับทัศนคติเพื่อให้เป็นประชาชนฐาน แต่ส่วนใหญ่มักจะถูกฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ ในกระบวนการศูนย์กักขังความมั่นคงที่มีอยู่ทั่วประเทศ แต่ที่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ ศูนย์กักขังความมั่นคง (Security prison S-21) ซึ่งปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตวนแสลง ที่นี่จะมีการกักขัง ซ้อมทรมานด้วยวิธีที่พิสดาร ก่อนที่ทุกคนจะถูกนำไปสังหารที่ทุ่งสังหารเจือกเอ็ก ซึ่งอยู่นอกเมืองออกไป เฉพาะคนที่ถูกซ้อมทรมานและสังหารจากจุดนี้มีไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ซึ่งศูนย์กักขังและทุ่งสังหารเหล่านี้มีอยู่ทั่วประเทศทุกเมือง ตลอดระยะเวลา 3 ปีกว่า (17เมษายน 1975-7 มกราคม1979)ภายใต้การปกครองของเขมรแดงมีคนถูกสังหารตายไปกว่า 1.7 ล้านคน ประชากรในปี 1975 คือ 7 ล้านคน นั้นเท่ากับว่า 1 ใน 7 ของประชาชนต้องถูกฆ่าตายไปในระบอบการปกครองนี้  ถือเป็นระบอบการปกครองที่โหดร้ายทารุณเป็นอย่างมาก ซึ่งนี้มักจะเป็นบทสรุปของผู้คนในยุคหลังการปกครองของเขมรแดง นอกจากการฆ่าแล้ว ยังมีการใช้แรงงานอย่างทารุณภายใต้ระบบสหกรณ์นารวมอีกด้วย

             ในความเห็นของผมนั้นผมก็เห็นว่าการปกครองของเขมรนั้นโหดร้ายทารุณอย่างแน่นอน ผมได้ไปทั้งที่ตวนแสลงและทุ่งสังหารเจือกเอ็กทั้งสิ้น 3 ครั้ง ผมรับรู้ทั้งความโหดร้ายทารุณและความทุกข์ทรมานของผู้คนที่จบชีวิตที่นั้น ทุกคนที่ออกมาจากสถานที่สองแห่งนี้ ต้องรู้สึกถึงความสลดหดหู่อย่างบอกไม่ถูก แต่การสรุปแค่นั้นเราคงจะไม่เห็นปัญหาอย่างแท้จริง ในบริบทความขัดแย้งทางการเมืองของโลกในยุคสงครามเย็นคือสาเหตุสงครามกลาง แต่อะไรเหล่านี้คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการฆ่ากันตายขนาดมโหฬารได้ขนาดนั้น การแย่งชิงอำนาจทางการเมืองนั้นจะทำให้เกิดตายได้ขนาดนี้หรือ โดยทั่วไปนั้นจะมีการเรียกเหตุการณ์นี้ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดง” แต่ปัญหาของความขัดแย้งนี้คือ นัยยะของชนชั้น คนที่ถูกฆ่าตายนั้นโดยส่วนใหญ่ จะเป็น คนที่อยู่ในเมือง ข้าราชการ คนมีการศึกษา นายทุน แม้กระทั่งคนที่ใส่แว่นตาก็จะถูกสังหาร และกระบวนการทารุณและสังหาร จะถูกดำเนินการโดยคนของเขมรแดงที่เป็นประชาชนฐาน มาจากคนในชนบท เกษตรกรบ้าง คนที่เคยถูกกระบวนการกวาดล้างทางการเมืองของรัฐบาลก่อน คนที่ได้รับผลกระทบจากการกวาดล้างคอมมิวนิสต์ บวกกับความเหลื่อมล้ำและความยากจนข้นแค้น ซึ่งพวกเขามองว่า คนเหล่านี้คือที่มาของปัญหาเหล่านี้ คนพวกนี้กดขี่และเหยียดหยามมาในอดีต ตักตวงผลประโยชน์และความเจริญเอาไว้แต่ในเมืองหรือในชนชั้นสูงและกลาง ปล่อยในคนในชนบทต้องลำบาก เหล่านี้คืออคติทางชนชั้นที่ถูกหล่อเลี้ยงมาในสังคม จนวันหนึ่งเหยื่อจากกระบวนการพัฒนาอย่างไม่เสมอภาค เหยื่อจากความเหลื่อมล้ำในชนบทจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเข้าสู่อำนาจและรักษาอำนาจของเขมรแดง จะกลายมาเป็นผู้สังหารมนุษยชาติที่น่าสพรึงกลัวในหน้าประวัติศาสตร์กัมพูชาและประวัติศาสตร์โลก

 

บทสรุปและเส้นทางสู่สันติภาพ

            ในที่สุดระบอบการปกครองอันโหดร้ายอันเป็นมาจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็ถึงจุดสิ้นสุด ในวันที่ 7 มกราคม 1979 เมื่อกองกำลังกู้ชาติและกองทัพเวียดนามได้บุกยึดพนมเปญ ด้วยเหตุผลในเรื่องสิทธิมนุษยชน กองกำลังเขมรแดงก็ถอยร่นมายังบริเวณชายแดนไทย จนกระทั่งมีการจัดตั้งรับบาลใหม่ชื่อว่า สาธารณรัฐประชาชนกัมปูเจียนำโดย เฮงสัมรินและฮุนเซน ภายใต้การคุ้มครองของกองกำลังเวียดนาม ในปี 1979 จนถึงปี 1991  ได้มีการเจรจาที่เรียกว่า “การเจรจาเขมร 4 ฝ่าย”เพื่อยุติสงครามกลางเมือง ประกอบด้วยเขมรเสรีนำโดย ซอนเซน เขมรฝ่ายเจ้าสีหนุ เขมรฝ่ายรัฐบาลเฮงสัมริน,ฮุนเซน และเขมรแดงด้วย ต่อมาประชาคมโลกได้ตระหนักถึง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดง ว่าเป็น อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ทำให้เขมรแดงต้องออกไปจากเวทีเจรจา เหลือแค่ 3 ฝ่ายลงนามสันติภาพในปี 1991 และสหประชาชาติ ในชื่อว่า UNTAC ได้เข้าจัดการและบริหารในช่วงเปลี่ยนผ่าน จนถึงปี  1993 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติให้กัมพูชาปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ มีการจัดการเลือกตั้งอย่างประเทศเสรีประชาธิปไตย แต่เขมรแดงซึ่งตกเวทีเจรจาและเป็นอาชญากรต่อมวลมนุษยชาติ ก็ยังคงปะทะสู้รบกับรัฐบาลกัมพูชาจนกระทั่งปี 1999 ฐานที่มั่นสุดท้ายถูกรัฐบาลยึดได้ มีกระบวนการนำเหล่าผู้นำเขมรขึ้นศาลพิเศษของสหประชาชาติ และจัดการเรื่องที่ดินและเครื่องมือทำกินให้กับเหล่าทหารนักรบของเขมร เป็นกระบวนเปลี่ยนนักรบให้กลับไปเป็นประชาชน ถือเป็นการสิ้นสุดสงครามกลางเมืองและการฆ่าล้างเผ้าพันธุ์ที่โลกต้องจดจำเป็นบทเรียน

           บทความนี้ต้องการชวนทุกท่านพินิจมองดูจากสถานที่สองแห่งคือตวนแสงและทุ่งสังหารเจือกเอ็กอันเป็นอนุสรณ์ถึงความโหดร้ายทารุณของระบบเขมร สำหรับผมมันคืออนุสรณ์ของความขัดแย้งทางการเมืองและอนุสรณ์ความขัดแย้งทางชนชั้นอีกด้วย  ปัจจัยที่สำคัญของสันติภาพ อาจจะต้องหมายรวมถึง การกินอยู่ดีของประชาชน การไม่มีหรือการลดความเหลื่อมล่ำทางสังคม อคติทางชนชั้นที่ควรปราศจากออกไปจากสังคม เหล่านี้อาจไม่ใช่สาเหตุสำคัญของสงครามกลางเมืองหรือปัจจัยที่จะถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญของสันติภาพ แต่มันก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อบวกกับความขัดแย้งทางชนชั้น เป็นสิ่งนำมาซึ่งการทำลายล้างมนุษยชาติขนาดไหน และสิ่งที่จะนำไปสู่สันติภาพ คงมิใช่แค่การวางอาวุธเพื่อหยุดสู้รบเท่านั้น แต่ยังต้องหมายถึง การทำให้ประชาชนมีอยู่มีกิน และยืนหยัดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือยืนหยัดอัตลักษณ์ อุดมการณ์ ความคิดที่หลากหลาย และสุดท้ายคือสังคมที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำจนถึงจุดผู้อดทนไม่ได้ นี่ละครับมันจะเป็นการท้าทาย การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย ว่าจะเป็นอย่างไร และมวลมนุษยชาติจะสรุปบทเรียนนี้อย่างไร ?

 

บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือเรื่อง การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย เป็นหนังสือที่ระลึกในงานเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2560 ณ หอประชุม ม.อ.ปัตตานี ชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ (หอประชุมสำนักงานอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี) วิทยากรโดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ, ฮาดีย์ หะมิดง, ยาสมิน ซัตตาร์ และ อัยมี่ อัลอิดรุส ดำเนินรายการโดย อ.สุวรา แก้วนุ้ย โดยในหนังสือเล่มนี้มีผู้เขียนทั้งหมด 12 ท่าน 

 

ดาวน์โหลดหนังสือ

การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย [หนังสือ]

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

การเดินทางของความประหลาดใจ โดย อับกอรี เปาะเดร์

ความเกลียดชังที่รวันดา โดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

การเดินทางและสันติภาพ โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย โดย อัยมี่ อัลอิดรุส

การเดินทาง ความหลากหลาย และความขัดแย้ง โดย ยาสมิน ซัตตาร์

การเดินทางของความรู้ต่อความรุนแรงทางชาติพันธุ์แบบสุดโต่งฯ โดย อาทิตย์ ทองอินทร์

เริ่มแรก โดย รอมฎอน ปันจอร์

เมื่อสันติภาพเดินทาง โดย ต่วนอิสกันดาร์ ดาโต๊ะมูลียอ

คัชการ์ ฉันมาช้าไป โดย อาฎิล ศิริพัธนะ

คำถามจากการเดินทาง โดย อิมรอน ซาเหาะ

การเดินทางของสันติภาพ: บทเรียนเมื่อได้ไปเยือนตวนแสลงและเจือกเอ็ก โดย สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์

นิราศ โดย รอฮีมะห์ เหะหมัด

การเดินทาง การถูกกักตัว กับการได้รับรู้ และการได้กลับบ้าน โดย ชานิตยา จีน่า ดานิชสกุล

เก็บตกจากเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

เสียงจากเยาวชนผู้จัดงานเสวนากระเป๋าเป้และแว่นตาฯ โดย ริซกี มะสะนิง

"คำตอบเรื่อง ต้นทุนชีวิตที่ต่างกันและการเดินทาง" โดย อาฎิล ศิริพัธนะ

วงกลม 3 วง กับการเดินทางของผู้ชายที่ชื่อ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล โดย มุลยานา ดะอุแม

ชะโงกทัวร์ที่อาร์เมเนีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

โหดสัสรัสเซีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

โคลอมเบีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

ประมวลภาพงานเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" โดย อิมรอน ซาเหาะ

อาทิตย์นี้แล้วน่ะ “วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล” กับคนรุ่นใหม่ใฝ่สันติภาพ ในเวที‘กระเป๋าเป้และแว่นตาฯ’ที่ ม.อ.ปัตตานี โดย อิมรอน ซาเหาะ



[1] ชื่อชนชาติหรือชาติพันธุ์ที่ถูกต้องของประชาชนในกัมพูชาคือ Khmer (ขแมร์) เขมร นั้นเป็นการเรียกโดยความหมายเชิงเหยียด