คุยเรื่อง “โรฮิงญา” จากกรุงโซลถึงกรุงเทพฯ (ตอนที่ 1) :
อดีตประธานาธิบดีตูนิเซียพูดถึงปัญหาโรฮิงญา
ดร.มาโนชญ์ อารีย์
โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ในระหว่างวันที่ 17-19 กันยายน ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดสันติภาพโลกครั้งที่ 3 ณ กรุงโซล จัดโดยองค์กร NGO ของเกาหลีใต้ที่ใช้ชื่อว่า Heavenly Culture, World Peace, and Restoration of Light (HWPL) โดยเชิญตัวแทนและนักกิจกรรมด้านสันติภาพจากทั่วโลกมาร่วมหารือแนวทางการสร้างสันติภาพโลกผ่านการสร้างความสมานฉันท์ทางศาสนา การเสนอกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อการยุติสงคราม บทบาทของของวัยรุ่นคนหนุ่มสาวและผู้หญิงในการผลักดันให้เกิดสันติภาพ รวมทั้งการส่งเสริมสันติภาพศึกษาทั่วโลก ในการประชุมครั้งนี้มีตัวแทนมากกว่าหนึ่งร้อยประเทศเข้าร่วม
ปรกติเวลาไปร่วมงานแบบนี้ นอกจากเนื้อหาของการประชุมแล้วผมจะชอบสนทนากับผู้คนจากประเทศต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้แลกเปลี่ยนกัน แต่คราวนี้ผมจะให้ความสนใจพูดคุยกับตัวแทนจากประเทศเมียนมาร์เป็นพิเศษเพราะอยากรู้มุมมองความคิดต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ได้ทำให้เห็นว่าปัญหานี้มันร้าวลึกมาก พอกลับถึงประเทศไทยก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณต้น อุรชัย ศรแก้ว ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสที่เกาะติดสถานการณ์โรฮิงญาอย่างรอบด้าน ผมจึงอยากนำเสนอประเด็นสนทนาเรื่องโรฮิงญาที่เกิดขึ้นจากกรุงโซลถึงกรุงเทพฯ เพื่อแลกเปลี่ยนกันครับ
องค์กร HWPL มีแนวคิดการสร้างสันติภาพแบบของตัวเอง โดยจะเน้นที่ 1) การสร้างความกลมเกลียวกันระหว่างศาสนาต่าง ๆ เขาอาจมองว่าศาสนามีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดสันติภาพหรือความขัดแย้งในโลก 2) การผลักดันกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อสันติภาพและการยุติสงคราม โดยผู้นำของประเทศต้องร่วมมือกัน เชื่อว่ากฎหมายจะนำความสงบสุขเรียบร้อยมาสู่โลกได้ 3) การส่งเสริมคุณค่าแห่งสันติภาพ เชื่อว่าหากทุกคนยึดคุณค่าบางอย่างร่วมกันจะนำไปสู่ความสงบสุข ไม่ว่าจะเป็นการเคารพซึ่งกันและกัน การไม่ใช้ความรุนแรง การยอมรับในความแตกต่าง ฯลฯ สรุปรวมคือองค์กรนี้ให้ความสำคัญต่อการยุติความขัดแย้ง สงครามและการสร้างสันติภาพด้วยกลไกที่กล่าวมา โดยไม่เน้นให้ความสำคัญหรือพิจารณารากเหง้าสาเหตุของปัญหา ซึ่งก็เป็นอีกวิธีคิดหนึ่งในการสร้างสันติภาพที่สามารถดึงดูดแนวร่วมได้หลากหลายเพราะถ้าเมื่อไรที่ลงลึกถึงรากของปัญหาก็จะตามมาด้วยการปะทะโต้เถียงและขัดแย้งจนนำไปสู่ความแตกแยกในกลุ่มแนวร่วม
ดังนั้น ในการประชุมครั้งนี้ซึ่งมีตัวแทนจากหลายๆ กลุ่มประเทศ ศาสนา ความเชื่อและนิกายต่าง ๆ บุคคลสำคัญหลายท่านที่ได้รับเชิญให้แสดงปาฐกถาจะเน้นพูดถึงความสำคัญของสันติภาพในภาพกว้าง ๆ และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อไม่ให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจกัน พูดง่าย ๆ ก็คือการพูดถึงสันติภาพโดยไม่แตะประเด็นวิกฤตปัญหาหรือความขัดแย้งใด ๆ อย่างไรก็ตาม แม้แนวคิดแบบนี้จะมีข้อดีในเชิงของการสร้างแนวร่วม แต่อาจจะมีจุดอ่อนคือการมองข้ามรากเหง้าของปัญหาและไม่ได้เน้นแก้ปัญหาที่สาเหตุ
ปัญหาความรุนแรงในรัฐยะไข่ที่จัดว่าเป็นวิกฤติฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และส่งผลให้เกิดผู้ลี้ภัยละลอกใหม่แล้วกว่า 4 แสนคน ก็ไม่ได้ถูกหยิบยกมาพูดถึงเลย มีเพียง H.E. Moncef Marzouki อดีตประธานาธิบดีตูนิเซียเท่านั้นที่กล่าวถึงประเด็นโรฮิงญา โดยชี้ว่า “ความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับมุสลิมในเบอมาร์ (เมียนมาร์) ยิ่งตอกย้ำว่าความรุนแรงและความเกลียดชังในทุกหนทุกแห่งต้องได้รับการแก้ไข......มีหลายสงครามในขณะนี้ที่กำลังดำเนินอยู่โดยอ้างศาสนาเพื่อสร้างความชอบธรรม มีการก่อการร้ายหลายครั้งที่กระทำต่อชาวมุสลิมหรือต่อชาวตะวันตกที่อ้างว่าเป็นการกระทำในนามศาสนาอิสลาม เช่น การก่อการร้ายของกลุ่มอัลกออิดะห์และกลุ่มไอซิส การลบล้างกลุ่มชาติพันธุ์ (โรฮิงญา) ในเมียนมาร์ก็ถูกอ้างความชอบธรรมจากบางคนว่าเป็นการปกป้องศาสนาพุทธ ......วันนี้สิ่งที่แปลกและเจ็บปวดมากคือการที่พระสงฆ์ส่วนหนึ่งในเมียนมาร์ออกมาเรียกร้องให้กำจัดชนกลุ่มน้อยมุสลิมในประเทศ”
H.E. Moncef Marzouki เสนอว่า ผู้นำศาสนาทั้งหมดในโลกนี้และโดยเฉพาะผู้นำที่รวมตัวกันในการประชุมครั้งนี้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง (ในการร่วมกันแก้ไขปัญหา) ความโหดร้ายที่อ้างการกระทำในนามศาสนาไม่ว่าจะเป็น อิสลาม คริสเตียน พุทธ ยูดาย ต้องถูกประณามอย่างชัดเจน ทั้งจากที่ประชุมแห่งนี้และจากผู้นำทางทางศาสนาสำคัญ ๆ เหล่านี้
ตามที่ได้เกร่นไว้แล้วว่า โดยปรกติแนวคิดขององค์กร HWPL หรือในการประชุมสุดยอดของเขา เนื้อหาส่วนใหญ่จะเน้นการพูดถึงสันติภาพและความร่วมมือ มากกว่าหยิบประเด็นปัญหาใดปัญหาหนึ่งมาให้เป็นที่ถกเถียงกันหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นในลักษณะของสุนทรียสนทนากันมากกว่า แต่ด้วยวิกฤตที่ชาวโรฮิงญากำลังเผชิญอยู่ อดีตประธานาธิบดีตูนีเซียคงรู้สึกไม่สบายใจในแง่มนุษยธรรมหากไม่ได้พูดถึงความเดือดร้อนของชาวโรฮิงญา
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางคนนับแสนที่ฟังการแสดงปาฐกถาเต็มพื้นที่สนามกีฬาแห่งหนึ่งในกรุงโซล คนที่นั่งข้าง ๆ ผมคือเพื่อนใหม่นักวิชาการชาวพุทธเมียนมาร์ ซึ่งผมก็สังเกตว่าเขาฟังอย่างใจจดใจจ่อและปรบมือเป็นระยะๆ
ตอนหน้าจะมาเล่าประเด็นสนทนากับเพื่อนนักวิชาการเมียร์มาร์คนนี้เกี่ยวกับวิกฤตชาวโรฮิงญาครับ ผมเรียก "โรฮิงญา" แต่เขาเรียก "เบงกาลี"