คุยเรื่อง “โรฮิงญา” จากกรุงโซลถึงกรุงเทพฯ (ตอนที่ 2) :
ผมเรียกโรฮิงญา เขาเรียกเบงกาลี
ดร.มาโนชญ์ อารีย์
โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ในการประชุมสันติภาพโลกระหว่างวันที่ 17-19 กันยายน ที่กรุงโซล มีการแบ่งกลุ่มภารกิจหารือกันในประเด็นต่าง ๆ ผมได้รับเชิญเข้าร่วมกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติภาพ (Peace Education Team) ซึ่งสมาชิกในกลุ่มย่อยของผมมีตัวแทนจากไทย รวันดา ซูดาน เนปาล และเมียนมาร์ โดยในช่วง 3 วันที่อยู่ด้วยกัน พอมีเวลาเราก็จะพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสถานการณ์ในรัฐยะไข่
นักวิชาการที่ผมคุยด้วยเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง (ขออนุญาตไม่เปิดชื่อครับ) อาจารย์ท่านนี้อาจไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรฮิงญาโดยตรง แต่ก็น่าจะเป็นตัวแทนที่สะท้อนมุมมองของคนระดับปัญญาชนของเมียนมาร์ได้ดี เขาบอกผมว่าเราเป็นเพื่อนบ้านกันจำเป็นต้องพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ผมเองก็อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในเมียนมาร์ เขาก็อยากเล่าเพราะต้องการให้ข้อมูลในมุมของเขา ซึ่งต้องย้ำนะครับว่าในมุมของเขาที่อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ตามข้อมูลที่เขาได้รับ แต่อย่างน้อยทำให้เรารู้ว่าเขาคิดอย่างไร
เกิดอะไรขึ้นในยะไข่ ในมุมมองของคนเมียนมาร์?
บทสนทนาเริ่มต้นด้วยคำถามของผมว่า ตอนนี้ทั่วโลกกำลังเป็นห่วงสถานการณ์ในรัฐยะไข่ คุณช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าจริง ๆ มันเกิดอะไรขึ้น ? เขาเล่าว่า “ที่ข่าวนำเสนอก็มีตรงบ้าง ไม่ตรงบ้าง ข่าวปลอมบ้าง แต่ที่แน่ ๆ ตอนนี้อองซาน ซูจี กำลังพยายามปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายอย่างจริงจัง (เขามองว่ากลุ่มติดอาวุธ ARSA ก่อเหตุทำร้ายและเผ่าบ้านเรือนผู้คนในรัฐยะไข่) หลังจากที่โจมตีด่านตำรวจหลายแห่งในช่วงปลายเดือนสิงหาคม กลุ่มพวกนี้ยังได้ทำร้ายและเผ่าบ้านเรือนผู้คนในรัฐยะไข่ อองซานต้องการกวาดล้างเฉพาะพวกผู้ก่อการร้ายเท่านั้น ไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ เราแยกระหว่างมุสลิมที่ดีกับพวกที่นิยมการก่อการร้าย เราไม่ได้มีปัญหาระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม จะเห็นได้ว่ามุสลิมในที่อื่น ๆ ของเมียนมาร์ก็ใช้ชีวิตได้อย่างปรกติ มีเฉพาะพื้นที่ตะวันตกเท่านั้นที่มีปัญหา (ตรงนี้ผมคิดว่าข้อมูลเขาอาจไม่ครบถ้วนนัก เพราะอย่างน้อยก็มีพระวีรธุปลุกกระแสต่อต้านมุสลิมในพม่าและในบ้างพื้นที่ชุมชนมุสลิมก็ถูกโจมตีในรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นผลมาการปลุกปั่นความเกลียดชังมุสลิมของกลุ่มชาตินิยมเมียนมาร์ )”
เรียกเบงกาลี มีนัยอะไร?
ผมบอกเขาว่าผมเรียกชาวมุสลิมในยะไข่ว่าชาวโรฮิงญา แต่รู้มาว่าคนเมียนมาร์ทั่วไปไม่ได้เรียกพวกเขาแบบนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของคุณก็มาพบรองนายกของผมแล้วขอให้เรียกพวกนี้ว่า “เบงกาลี” ตรงนี้มันมีนัยอะไร ? เขาตอบว่า “ใช่ เราเรียกพวกนี้ว่าเบงกาลี แต่อันที่จริงมันไม่ได้มีความสำคัญอะไรเลย ไม่ว่าจะเรียกว่าโรฮิงญา เบงกาลี หรือชื่ออะไรก็แล้วแต่ หรือไม่ว่าจะมาจากไหนมาเมื่อไร พวกเขาก็สามารถอยู่ในเมียนมาร์ได้อย่างปรกติ แต่ต้องไม่ก่อความไม่สงบหรือเป็นภัยคุกคามความมั่นคง เราไม่ยอมให้มีพวกก่อการร้ายในบ้านแน่นอน แต่ถ้ามุสลิมอยู่อย่างสงบก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะในเมียนมาร์ก็มีมุสลิมอาศัยอยู่ทั่วไป” ผมคิดว่าเขาค่อนข้างเชื่อแน่ว่ามีกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมในรัฐยะไข่และมองความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการต่อสู้กับการก่อการร้าย เขาให้ความชอบธรรมต่อปฏิบัติการของกองทัพและรัฐบาลเมียนมาร์อย่างไม่ต้องสงสัย
ทำไมถึงเกิดคลื่นผู้อพยพมหาศาล?
ทำไมถึงเกิดคลื่นผู้อพยพมหาศาลขนาดนั้นภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน ? สื่อหลายสำนักรายงานว่ารัฐบาลเมียนมาร์และกองทัพใช้กำลังปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญาอย่างหนัก มีภาพการกระทำที่ทารุณทั้งการทรมานและการฆ่ามุสลิมโรฮิงญาอย่างโหดเหี้ยม รวมทั้งการเผาบ้านเรือนประชาชนจนต้องอพยพออกจากพื้นที่ จริงหรือไม่? เรื่องภาพเขาบอกว่า “ส่วนหนึ่งก็เป็นภาพเก่าที่เกิดขึ้นนานแล้ว แต่ถูกนำมาเผยแพร่ใหม่ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ขณะนี้คือการปราบปรามผู้ก่อการร้ายมุสลิมในยะไข่ เพราะพวกนี้ไล่ฆ่าผู้คนและเผาบ้านเรือน ไม่ว่าจะเป็นคนพุทธ ฮินดู หรือแม้กระทั่งคนมุสลิมในพื้นที่ก็ถูกทำร้ายด้วยเช่นกัน จนไม่มีใครกล้าอาศัยอยู่ที่นั้นและต้องอพยพออกไปอย่างที่เห็น”
ว่าแล้วเขาก็หยิบโทรศัพท์มือถือเขาขึ้นมา เปิดแอปพลิเคชั่น facebook ที่รูปโปร์ไฟล์เป็นหน้าอองซาน ซูจี กับธงชาติเมียนมาร์ จากนั้นก็โชว์คลิปวิดีโอการนำเสนอข่าวโรฮิงญาของสำนักข่าวภายในประเทศ ความยาวของคลิปน่าจะประมาณ 8-10 นาที เป็นการสัมภาษณ์ชาวพุทธเมียนมาร์กลุ่มหนึ่งที่อพยพออกนอกพื้นที่ ในคลิปพูดคุยกันเป็นภาษาเมียนมาร์ แต่มีข้อความแปลเป็นภาษาอังกฤษด้านล่างของจอ ทั้งนี้ ในคลิปจะเห็นว่ามีทหารเมียนมาร์คอยดูแลกลุ่มนี้อยู่ เนื้อหาหลัก ๆ ผู้ให้สัมภาษณ์เล่าว่า “มีผู้ชายในหมู่บ้านมากระจายข่าวว่าพวกเบงกาลี (ชาติพันธ์หนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณอ่าวเบงกอลในอดีตและบังกลาเทศปัจจุบัน) กำลังเตรียมก่อจลาจลในพื้นที่ ผู้ใหญ่บ้านจึงสั่งให้เด็กหนุ่ม 2-3 คนคอยลาดตระเวนตรวจตาสถานการณ์รอบ ๆ หมู่บ้าน ทันใดเราเราก็ได้ยินเสียงร้องตะโกนว่าพวกเบงกาลีกำลังไล่ฟันผู้คน พวกผู้ก่อการร้ายพุ่งเข้าโจมตีหมู่บ้านเราจากรอบทิศทาง ( มีการเปลี่ยนจากคำว่า “เบงกาลี” มาเป็น “ผู้ก่อการร้าย” ) แม้แต่พวกเบงกาลีสกปรก ( the dirty Bengalis) ก็อยู่ไม่ได้ (ต้องหนีเหมือนกัน)” ผู้ให้สัมภาษณ์พูดในทำนองเดียวกับนักวิชาการเมียนมาร์ที่คุยกับผมว่า “ถ้าพวกเขาต้องการอยู่ที่นี้ ทำไมพวกเขาไม่อยู่อย่างสันติ ทำไมพวกเขาต้องทำลายชีวิตและทรัพย์สินด้วย”
กาลาร์ คืออะไร? เกี่ยวอะไรกับเบงกาลี และผู้ก่อการร้าย
ผมมาสดุดอยู่คำหนึ่งในประโยคบทสัมภาษณ์ข้างต้นว่า “The Kalar who attacked us used to work near the village” แปลว่าพวกกาลาร์ที่โจมตีเราคือพวกที่ทำงานอยู่ใกล้หมู่บ้าน ผมสงสัยมากว่าคำว่า Kalar คืออะไร จึงถามเขาไป ได้คำตอบมาสั้น ๆ ชัดเจนว่าคือ “พวกเบงกาลี” จากนั้นผมก็มารู้ที่หลังว่ากาลาร์คือคำดูถูกเหยียดหยามที่ค่อนข้างรุนแรงและหยาบคายมาก ๆ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่ากาลาร์คือคำเหยียดหยามที่หมายถึงเบงกาลี แล้วในความเข้าใจของเขาผู้ก่อการร้ายก็คือพวกเบงกาลี ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงอคติและความเกียดชังชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ แต่ผมก็ไม่ได้คิดว่าคนเมียนมาร์ส่วนใหญ่จะมีอคติแบบนี้ จากที่เคยได้ฟังข้อมูลจากคนโรฮิงญาในประเทศไทยปรากฎว่าความเกลียดชังหรืออคติที่รุนแรงแบบนี้เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง เมื่อก่อนชาวโรฮิงญากับชาวพุทธในยะไข่ก็อยู่ด้วยกันดี ไม่มีปัญหาอะไร จะมีปัญหาก็แต่กับทหารที่ใช้ความรุนแรงกับพวกเขา ความเกียจชังและอคติทั้งหลายจึงเพิ่งถูกโหมกระพือเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งถูกปลุกปั่นมาจากกระแสชาตินิยมบวกกับกระแสอิสลามโมโฟเบียที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมไปถึงความเกี่ยวข้องกับกลุ่มผลประโยชน์ที่หวังผลในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ว่าด้วยทรัพยากรพลังงานที่อุดมสมบูรณ์ในดินแดนยะไข่ด้วย
ทหารและไอ้โม่งในยะไข่ เล่ากันคนละเรื่อง
จากที่ได้พูดคุยและประมวลข้อมูลข่าวสารหลาย ๆ ทาง สรุปได้ว่านอกจากปฏิบัติการของทหารแล้ว อาจจะมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกอะลาวาดโจมตีไล่ฆ่าและเผ่าบ้านเรือน ขู่เข็ญหรือสร้างความหวาดกลัวให้กับคนในพื้นที่โดยต้องการให้พวกเขาออกจากพื้นที่ จนนำไปสู่การเกิดขึ้นของคลื่นผู้อพยพมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 4 แสนคนข้ามมายังฝั่งบังกลาเทศภายในหนึ่งเดือน อีกจำนวนหนึ่งเป็นคนพุทธและฮินดูที่หนีออกนอกพื้นที่โดยไปอยู่ในความคุ้มครองของทหารเมียนมาร์
ผู้อพยพเหล่านี้ออกมาด้วยความเชื่อและเรื่องเล่าที่แตกต่างกัน ชาวพุทธและฮินดูส่วนหนึ่งที่หนีไปอยู่ในความดูแลของทหารเมียนมาร์เชื่อว่าผู้ที่ก่อเหตุรุนแรงคือ “พวกผู้ก่อการร้ายมุสลิมเบงกาลี” ในขณะที่ชาวโรฮิงญาที่หนีตายไปบังกลาเทศมั่นใจว่าเป็นฝีมือของทหารร่วมกับกลุ่มชาตินิยมสุดโตงที่สมคบกัน
ข้อสังเกตผม 2 ประการ
ความจริงจะเป็นอย่างไรคงยากที่จะหาคำตอบเพราะรัฐบาลเมียนมาร์ยังไม่เปิดให้องค์กรภายนอกเข้าไปตรวจสอบ แต่ประเด็นที่ผมอดตั้งข้อสังเกตไม่ได้คือ
1) ไม่ว่าจะเป็นไอ้โม่งกลุ่มไหนที่ก่อเหตุรุนแรงครั้งนี้ เหตุใดรัฐบาลและกองทัพเมียนมาร์ถึงไม่สามารถคุ้มครองคนในพื้นที่ได้ เหตุใดถึงไม่สามารถระงับเหตุให้ทันท่วงที่ ส่งผลให้เกิดคลื่นผู้คนอพยพมากกว่า 4 แสนคนในหนึ่งเดือน
2) หากกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาหรือ ARSA เป็นผู้ก่อเหตุและเผ่าทำลายบ้านเรือนโดยมีเป้าหมายผลักดันคนจำนวนมากที่เป็นโรฮิงญาด้วยกันให้กลายเป็นผู้อพยพ คำถามคือทำไปเพื่ออะไร ? เป็นเรื่องที่แปลกและอธิบายได้ยากมากในเชิงทฤษฎี เพราะในการต่อสู้ของกลุ่มติดอาวุธแยกดินแดนหรือเพื่อประกาศอิสรภาพโดยเฉพาะในการสงครามกองโจรไม่ว่าจะที่ไหน มักจะใช้ประชาชนในพื้นที่เป็นแนวร่วมหรือไม่ก็เป็นโล่ห์กำบัง พอก่อเหตุก็มักจะแฝงตัวกับมวลชนคนทั่วไป แต่แปลกว่าทำไมกลุ่มติดอาวุธมุสลิมโรฮิงญา นอกจากไม่ใช้ยุทธศาสตร์นี้แล้วยังก่อเหตุผลักดันให้คนโรฮิงญาอพยพหนีตายไปบังกลาเทศเกือบครึ่งล้าน ทำให้หมู่บ้านหลายแห่งกลายเป็นพื้นที่ร้าง กองทัพสามารถเข้ายึดครองที่ดินได้ง่าย ๆ คำถามคือกลุ่มติดอาวุธได้อะไร ชาวโรฮิงญาได้อะไร แล้วมันจะตอบโจทย์การต่อสู้เพื่อเอกราชหรือสิทธิของชาวโรฮิงญาอย่างไร ?
โรฮิงยาขี้เกียจ มีลูกเยอะ ไม่ทำงานจริงหรือ?
นอกเหนือจากเรื่องสถานการณ์ความรุนแรง นักวิชาการเมียนมาร์ยังได้วิจารณ์โรฮิงญาในแง่ลบหลายเรื่องเช่น ชอบมีลูกเยอะ ไม่ค่อยทำงาน ขี้เกียจ เป็นต้น ซึ่งผมก็เคยได้ยินข้อวิจารณ์แบบนี้ในบ้านเรา จึงถามกลับไปว่าทำไมเขาถึงเป็นแบบนั้น แล้วจริงหรือไม่ที่รัฐบาลจำกัดสิทธิในการทำงานและโอกาสทางการศึกษาของชาวโรฮิงญา รวมทั้งจำกัดสิทธิการเดินทางด้วย? สรุปว่าผมไม่ได้คำตอบ เขาแค่ยิ้ม ๆ แล้วพยักหน้า
อันที่จริงถ้าไปดูชีวิตโรฮิงญาในประเทศต่าง ๆ จะเห็นว่ามีฐานะทางเศรษฐกิจและมีงานทำที่ค่อนข้างดี ขัดกับที่ได้ยินมาว่าเป็นคนขี้เกียจ
เรื่องโรฮิงญามีลูกเยอะ ผมก็แลกเปลี่ยนกับเขาไปว่าถ้ามองในแง่ดีการมีลูกเยอะก็มีประโยชน์ทั้งต่อครอบครัวและประเทศชาติในระยะยาว เพราะเมื่อสัก 30 กว่าปีที่แล้วหลายประเทศรวมทั้งไทยมักส่งเสริมให้มีการวางแผนครอบครัวด้วยวิธีการคุมกำเนิด โดยวลีเด็ดที่มักเป็นคำพูดเชิงเสียดสีสำหรับประเทศโลกที่ 3 คือ “มีลูกมากแต่ยากจน” คนก็เลยเข้าใจว่ามีลูกน้อยจะดีต่อคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ แต่ปัญหาคือทุกวันนี้ประเทศที่คิดแบบนี้กำลังเผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุหรือ ageing society ขาดแคลนแรงงานวัยรุ่น หลายประเทศจึงหันกลับมาส่งเสริมนโยบายให้คนมีลูกมาก ๆ เพื่อการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต แต่ก็จะมีบางประเทศที่มีมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อยและไม่นิยมการคุมกำเนิดถูกมองอย่างหวาดระแวงว่าสักวันหนึ่งจะกลืนประชากรส่วนใหญ่ ทั้ง ๆ ที่คนเหล่านั้นมีลูกตามอัตราปกติของพวกเขา แต่คนส่วนใหญ่ต่างหากที่เลี่ยงการมีลูกเยอะเพราะไม่ต้องการแบกรับภาระทางเศรษฐกิจและความรับผิดชอบที่จะตามมา
ผมบอกไปว่ามีสำนักข่าวไทยไปถามโรฮิงญาที่อพยพข้ามไปบังกลาเทศว่าทำไมถึงชอบมีลูกเยอะ คนโรฮิงญาบอกว่า “มีลูกเยอะทำให้พวกเขารู้สึกอบอุ่นและมีความสุข” ผมมานั่งคิดว่าทุกคนต้องการความอบอุ่นเหมือนกันหมด แต่ความอบอุ่นในความหมายของคนโรฮิงญาอาจลึกซึ้งกว่าเราท่ามกลางสถานการณ์ของการเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกข่มเหงรังแกมากที่สุดในโลก การมีสมาชิกครอบครัวมากเป็นหลักประกันเดียวว่าถ้าพ่อไม่อยู่ลูก ๆ จะได้ดูแลแม่ หรือถ้าไม่มีแม่แล้ว พี่น้องจะได้ช่วยดูแลซึ่งกันและกัน เพราะภาพเหตุการณ์ที่เราเห็นทุกวันนี้มันเป็นแบบนั้น คือ ลูกแบกพ่อแม่หนีตายข้ามประเทศ พี่อุ้มน้องลุยป่าหาทางรอด เด็กกว่า 1,400 คน ข้ามมายังบังกลาเทศโดยไม่มีผู้ปกครอง ชีวิตต้องดูแลกันเองต่อไป โชคดีหน่อยก็มีพี่น้องดูแลกัน ฯลฯ
ในวันที่ 19 กันยายน เราแยกย้ายกันเดินทางกลับประเทศไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ ออง ซานซูจี จะออกแถลงการณ์เป็นครั้งแรก ผมลาเขาด้วยประโยคว่า “ไม่ว่าเราจะเรียกเขาว่าเบงกาลี กาลาร์ หรือมุสลิมโรฮิงญา แต่ก็ขอให้เห็นแก่ความเป็นมนุษยด้วยกัน ถ้าคุณมีโอกาสสื่อสารไปถึงคนเมียนมาร์และผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง ช่วยฝากข้อความจากเพื่อนบ้านคนหนึ่งว่าขอให้ช่วยกันยุติความรุนแรงในยะไข่ให้เร็วที่สุดเพื่อเห็นแกคนบริสุทธิ์ สตรีและเด็ก ที่ไม่ควรได้รับผลกระทบจากความรุนแรงนี้ เราเป็นห่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาก”
พอกลับถึงไทย ก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณอุรชัย ศรแก้ว ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสเกี่ยวกับมุมมองของโลกมุสลิมต่อปัญหาโรฮิงญา ต่อมาวันที่ 27 กันยายน ได้ไปร่วมสัมมนาในหัวข้อ “วิกฤตโรฮิงญากับบทบาทของอาเซียน” แล้วจะมาเล่าต่อในตอนหน้าครับ
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
คุยเรื่อง “โรฮิงญา” จากกรุงโซลถึงกรุงเทพฯ (ตอนที่ 1) : อดีตประธานาธิบดีตูนิเซียพูดถึงปัญหาโรฮิงญา