Skip to main content

แต่อย่าเดินคนละทาง
เพราะด้ามขวานเปราะบางอยู่แล้ว

นูรฮิกมะฮ  วันอิสเมล 

นักข่าวชาวบ้าน
(Jurnalis Desa : JD)

      ประเด็นร้อนๆสถานการณ์ชายแดนใต้ในสัปดาห์นี้นอกจากปัญหาภัยพิบัติแล้วเป็นประเด็นความไม่ลงรอยของการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ 5 อำเภอ คือ อ.เบตง อ.กาบัง จ.ยะลา, อ.สุคิริน อ.แว้ง จ.นราธิวาส, และ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ตามข้อเสนอของ กระทรวงมหาดไทย

      เป็นความไม่ลงรอยระหว่างฝ่ายพลเรือนระดับสูงกับฝ่ายความมั่นคงที่ให้เหตุผลว่า เข้าใจสถานการณ์ชายแดนใต้มากกว่า

      เป็นฝ่ายความมั่นคงที่ให้เหตุผลว่า สมควรประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เฉพาะพื้นที่ อ.เบตง และ อ.กาบัง จ.ยะลา เท่านั้น เพราะว่าเป็น 2 อำเภอ ใน 33 อำเภอ ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ฝ่ายความมั่นคงค่อนข้างรู้สึกมั่นใจว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

      มีแค่ 2 อำเภอ ใน 33 อำเภอ ที่ฝ่ายความมั่นคงมั่นใจได้ ซึ่งนับว่าน้อยมาก น้อยมากจนไม่สมดุลกับกำลังพล 7 หมื่นนายพร้อมอาวุธยุทธโธปกรณ์ครบชุดที่เกาะติดทุกพื้นที่

      ความไม่ลงรอยดังกล่าวเป็นเหมือนต่างฝ่ายต่างมีรายงานสถานการณ์ชายแดนใต้คนละชุด เป็นเหมือนนั่งประชุมคนละโต๊ะ เป็นเหมือนต่างหน้าที่ก็ยังต่างทำงาน  และเป็นเหมือนต่างฝ่ายต่างอ่านและออกเสียงต่างกันอีกด้วย

      เพราะมันจะสะท้อนถึงประสิทธิภาพของการใช้ยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหาร ซึ่งก่อนหน้านี้ทางผู้ใหญ่ที่มีอำนาจตัดสินใจการแก้ปัญหาชายแดนใต้ประกาศเป็นสูตรหลักในการใช้เป็นธงนำไปแก้ปัญหาความไม่สงบ

      ถึงแม้จะดูไร้เอกภาพแต่ต่างฝ่ายมีเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องการสร้างสันติสุขในพื้นที่ชายแดนใต้ได้ในเร็ววัน

      แต่ประเด็นดังกล่าวมันไม่น่าสนใจเท่ากับว่า ถึงแม้จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ยังมี พ.ร.บ.ความมั่นคงฯแทนเป็นเสมือนดาบอาญาสิทธิ์เล่มใหม่ 

      แต่ที่น่าสนใจกว่าอีกคือ ทำไม่รัฐถึงมีความกังวลมากต่อขบวนการก่อความไม่สงบทั้งที่ มีดาบอาญาสิทธิ์เล่มใหม่เป็นเครื่องมือ มีกำลังพลและอาสาสมัครเฉียดแสนที่เกาะติดทุกพื้นที่ และเครื่องมือที่ทันสมัย พร้อมกับงบก้อนหมื่นล้านที่ทุ่มสำหรับภารกิจการเมืองนำการทหาร

      หรือในขณะที่รัฐมีความพร้อมและมีกำลังภายในสูง ฝ่ายขบวนการฯสามารถเขย่าขวัญเจ้าหน้าที่  และชักนำประชาชนยังได้อยู่ เพราะเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาท่ามกลางกระแสข่าวการเฝ้าระวังจากเจ้าหน้าที่อย่างเข้มก็ยังมีการลอบวางระเบิดยี่สิบกว่าจุดในสามจังหวัด ประกอบกับเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีการรายงานถึงความพยายามของของผู้แทน OIC (Organisation of the Islamic Conference องค์การการประชุมอิสลาม) ที่จะหารือกับผู้นำขบวนการที่เคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในประเทศมาเลเซียเพื่อพูดคุยหาแนวทางที่จะคลี่คลายปัญหา แต่ถึงแม้ว่าเรื่องนี้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลไทยจะออกโรงไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่ปฎิเสธเรื่องการเคลื่อนไหวของผู้แทน OIC ในมาเลเซีย และ ที่ซาอุดีอาราเบีย

      หากสถานการณ์เป็นอย่างที่กล่าวมา แสดงว่า การปราบปรามฝ่ายขบวนการฯเกือบ 7 ปีที่ผ่านมายังไม่เป็นที่พอใจและต้องเป็นไปกันอีกยาว และดูเหมือนจะยกระดับของปัญหาสู่เวทีสากล

      ยาวนานจนทำให้ประชาชนต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และมีความรู้สึกเบื่อหน่าย มินำซ้ำรัฐมีโอกาสผิดพลาดที่ซ้ำซากในระหว่างเดินทางแก้ปัญหา ซึ่งมันเป็นจุดอ่อนของรัฐที่ฝ่ายตรงข้ามนำไปเป็นเงื่อนไขได้และเมื่อใดปัญหายกระดับถึงเวทีสากล ซึ่งในวิถีทางการทูตจะสะท้อนถึงปัญหาไม่เฉพาะรัฐบาลกำลังมีปัญหากับขบวนการฯเท่านั้นแต่ยังจะสะท้อนถึงประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังมีปัญหาเช่นกัน ซึ่งเป็นปัญหาของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่มีศาสนาที่ต่างกัน วัฒนธรรมที่ต่างกัน ยังไม่ถูกแก้ให้จบโดยรัฐบาลของเขาสักที

      รัฐไม่สามารถสามารถอ้างและปิดกั้นการเคลื่อนไหวของขบวนการฯที่จะยกระดับปัญหาสู่เวทีสากลได้ ในเมื่อรัฐเองเคยมีความผิดพลาดอย่างกรณีตากใบ กรณีการซ้อมทรมาน กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ และปัญหาการใช้กระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่ถูกร้องเรียนโดยประชาชนในพื้นที่ต่อหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้อง ส่วนองค์กรระหว่างประเทศทั้งองค์กรติดตามการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ตลอดจนทูตต่างประเทศต่างจับตาและเกาะติดปัญหาแบบสายตรง ทำให้เกิดเป็นรายงานจำนวนมากที่ออกสู่สาธารณชนสากลประเด็นประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลของพวกเขาเอง

      ทำให้มันเป็นสงครามเงื่อนไขที่รัฐผูกขึ้นมาเองภายในตัว เป็นการกลับ จากที่รัฐจะโดดเดี่ยวขบวนการกับประชาชนส่วนใหญ่ ก็กลับไปเป็นรัฐไปโดดเดี่ยวรัฐเองกับประชาชนส่วนใหญ่ ดังนั้นเงื่อนไขทางความรู้สึก ที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นรัฐควรเอาใจใส่ให้มากกว่าที่เป็นอยู่จริงๆ

      เพราะหากถึงเวลานั้นอย่ามาว่าประชาชนไม่รักชาติ เพราะในสายตาและความรู้สึกนึกคิดของประชาชนนั้น เจ้าหน้าที่รัฐคือ ตัวแทนของชาติเพราะเป็นผู้นำอำนาจของชาติไปใช้ หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่เคารพประชาชนแล้วจะให้ประชาชนเปล่งเสียงว่ารักชาติได้อย่างไร?

      ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ว่า หากจะยึดหลัก “ประชาชนนำการเมือง การเมืองนำการทหาร” ไปใช้ในการแก้ปัญหา เพราะหากใช้ “การเมืองนำการทหาร” กลัวว่าจะสับสนว่าการเมืองนำการทหารคืออะไร จะให้การเมืองนำอย่างไร และประชาชนคือส่วนหนึ่งของการเมืองหรือเปล่า

      เพราะประชาชนพุทธ และมุสลิม ทั้ง ออแรนายู ไทยแท้ และลูกจีน ต้องการอยู่อย่างสันติสุข และต้องการที่จะเปล่งเสียงว่า “รักชาติ” อย่างภาคภูมิใจ