Skip to main content

 

บทความประมวลเรื่องราว “เมื่อโรงพยาบาลจะนะติดแผงโซลาร์เซล”

 

นาแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ

 

ในภาพอาจจะมี 3 คน, สถานที่กลางแจ้ง

 

พยาบาลจะนะ เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 72 เตียง ตั้งบนเนื้อที่ 7 ไร่ใจกลางเมืองจะนะ มีค่าไฟฟ้าเดือนละ 250,000 บาท นั่นหมายความว่าปีหนึ่งๆจ่ายค่าไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

โรงพยาบาลทุกแห่งมีลักษณะคล้ายกันคือ ใช้ไฟมากในช่วงกลางวัน พีคไฟฟ้าของโรงพยาบาลจะนะมีสองพีคคือ ช่วงเช้าพีคจะไต่ขึ้นจนสูงสุดราวสิบเอ็ดนาฬิกา แล้วก็ลดลงในช่วงเที่ยง แล้วกลับมาสูงอีกครั้งในช่วงบ่ายสองบ่ายสาม ก่อนจะลดลงไปเรื่อยๆ ทั้งนี้เพราะทุกห้องเปิดให้บริการในช่วงกลางวัน การซักผ้า อบผ้า ห้องประชุม เครื่องมือแพทย์ ระบบแอร์ปรับอากาศ ล้วนเปิดกันครบในช่วงเวลาราชการ ส่วนช่วงกลางคืนนั้นห้องที่เปิดให้บริการลดลงไปเหลือเพียงห้องฉุกเฉิน ห้องคลอด ตึกผู้ป่วยใน ซึ่งใช้แสงสว่างเป็นสำคัญเท่านั้น

เมื่อพีคไฟฟ้าสูงในช่วงกลางวัน คำตอบที่จะช่วยลดพีคไฟที่ดีที่สุดของโรงพยาบาลจะนะคือ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลบนหลังคา

อาคารตึกผู้ป่วยสี่ชั้นสร้างมาตั้งแต่ 2545 มีหลังคาเหล็กที่กันแดดกันฝน บัดนี้หลังคาอาคารแห่งนี้จึงถูกเลือกมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อเสริมระบบลดค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาล

โรงพยาบาลจะนะได้ใช้เงินบำรุงประมาณ 800,000 บาท ลงทุนในการซื้อแผ่นโซลาร์ อุปกรณ์วางราง เครื่องแปลไฟฟ้าหรือ invertor ระบบที่วางไว้จะใช้แผ่นโซลาร์ 68 แผ่น แต่ละแผ่นผลิตไฟฟ้าได้ 300 วัตต์ ดังนั้นกำลังผลิตติดตั้งจึงเท่ากับ 20 กิโลวัตต์ ทั้งนี้ระบบที่ติดตั้งเป็นระบบ on grid และไม่ใช้แบตตารีเก็บไฟ เพราะไฟที่ผลิตได้จะนำไปใช้ทันที ผลิตเต็มที่ก็ยังไม่พอใช้ เพราะกำลังผลิตนั้นยังน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณไฟที่ใช้ในช่วงกลางวัน

จากการประมาณการคาดว่าจะสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้เดือนละ 12,000 บาท หรือปีละ 150,000 บาท แม้จะไม่มากเมื่อเทียบกับค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่าย แต่ก็ใช้เวลาเพียง 5-6 ปีก็คืนทุนแล้ว อายุแผ่นโซลาร์ 25 ปี นั่นแปลว่าจะได้ใช้ไฟฟรีอีก 19-20 ปี

หัวใจของการติดตั้งในครั้งนี้คือ โรงพยาบาลจะนะได้ใช้งบเงินบำรุงซื้อของมาโดยไม่ได้จ้างเหมาบริษัทมาติดตั้ง แต่ทางโรงพยาบาลจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้คนที่สนใจได้มาช่วยกันติดตั้งเอง

สิ่งที่น่าสนใจคือ คนที่ขึ้นไปอยู่บนหลังคานั้น และคอยหยิบยื่นของนั่น ส่วนใหญ่คือนายช่างจริงๆ มาทั้งในอำเภอจะนะเอง มาจากหาดใหญ่ มีมาไกลถึงสิงหนคร มาอาสาช่วยกันติดตั้ง ไม่มีค่าแรงมีแต่ข้าว น้ำและขนม ทุกคนมีรอยยิ้ม มีความสุข ได้เรียนรู้จริงว่าติดอย่างไร วางรางอย่างไร เชื่อมต่อแต่ละแผ่นอย่างไร ติดระบบไฟกับเครื่องแปลงไฟอย่างไร โดยมีวิศวกรไฟฟ้าผู้มากประสบการณ์แห่งบริษัททีโซลาร์ คุณธีรภัทร เขมะธีรรัตน์ มาสอนและควบคุมงานตลอดวัน และยังมีนักข่าวเถื่อน พี่หวอด วันชัย พุทธทอง ที่มาไลฟ์สดในวันแรกทั้งวันด้วย ทำให้คนที่อยู่ไกลก็สามารถได้ชมและสร้างแรงบันดาลใจได้

วันแรก 16 ตุลาคม 2560 เป็นวันเริ่มต้น ส่วนใหญ่ยังไม่คล่อง วางรางบนหลังตาและติดตั้งเสร็จแค่ 8 แผ่น ก็ตกเย็นต้องแยกย้าย คำถามก่อนแยกย้ายคือ พรุ่งนี้จะยังมีช่างอาสามาช่วยกันอีกไหม ซึ่งเป็นคำตอบนั่นน่าลุ้นมาก

วันที่สอง ปรากฏว่า ช่างอาสามากันครบ อีกทั้งยังชวนเพื่อนมาเรียนรู้เพิ่ม เอาเครื่องมือช่างของตนเองที่ถนัดมือกว่ามาเพิ่มด้วย งานจึงเร็วขึ้นมาก ทุกคนเริ่มคุ้นเคยกับอุปกรณ์และเทคนิคแล้ว เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหลายคนก็แปลงร่างมาเป็นช่าง ช่วยกันอย่างสนุกสนาน แผ่นโซลาร์ 68 แผ่น ติดตั้งเสร็จตั้งแต่บ่ายสอง หลังจากนั้นจึงเริ่มวางรางสายไฟและเชื่อมระบบไฟ

วันที่ 3 ระบบเดินเสร็จทั้งหมด ไฟฟ้าจากแสงแดดสามารถจ่ายไฟเข้าระบบได้ ทุกคนมีความสุขมากสุขที่ได้เริ่มต้นพึ่งตนเองด้านพลังงาน ได้ช่วยลดค่าไฟฟ้าให้โรงพยาบาล เพื่อเงินที่ประหยัดได้จะได้นำมาดูแลผู้ป่วยให้มากขึ้น รวมทั้งได้ร่วมกันลดโลกร้อนเพื่อโลกสีฟ้าอันเปราะบางของเราด้วย

สำหรับผม เราโรงพยาบาลจะนะไม่ได้อยากติดแค่แผงโซลาร์ให้เสร็จเท่านั้น แต่เราอยากจะขยายความคิดความรู้และความเชื่อมั่นของพี่ๆน้องๆต่อโซลาร์เซลด้วย อยากให้ช่างพื้นที่สามารถติดตั้งทางเทคนิคได้ด้วย หากมีช่างใกล้บ้านทำได้ คนก็จะยิ่งสบายใจมั่นใจในการติดตั้งเพิ่มขึ้น

ปี 2561 โรงพยาบาลจะนะ ก็จะสะสมเงินบำรุงเพื่อนำมาติดตั้งระบบโซลาร์เพิ่มอีก 20 กิโลวัตต์ ซึ่งจะทำให้มีกำลังผลิตรวม 40 กิโลวัตต์ และจะเพิ่มเป็น 60 กิโลวัตต์ต่อไปในอนาคต และเมื่อเราคนละไม้คนละมือพึ่งพาพลังงานสะอาดมากขึ้น ความจำเป็นต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเช่นถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ ก็จะลดน้อยลงไป

หากทุกส่วนราชการ โรงพยาบาล โรงเรียน วัด อบต. เทศบาล สำนักงานต่างๆ ต่างช่วยกันพึ่งตนเองด้านพลังงาน(แม้จะไม่ได้ 100%) โลกนี้เปลี่ยนแน่นอน

 

ในภาพอาจจะมี 2 คน, ท้องฟ้า และ สถานที่กลางแจ้ง

ในภาพอาจจะมี ต้นพืช, ต้นไม้ และ สถานที่กลางแจ้ง